Skip to main content

มิจฉาทิฐิว่าด้วย“24 มิถุนาคือการรัฐประหารไม่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ คือใช้อำนาจทหารล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน” "ถ้าเอาวันประกาศเอกราช ก็เอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพจากพม่าสิ" และ "วันชาติคือวันรวมใจคนทั้งชาติ ในยุคสมัยผมใจพวกเราทุกดวงอยู่ที่ในหลวงก็ควรเอาวันที่ ๕ ธันวานี่ล่ะเหมาะที่สุด"

 

 

สถานะของ “Viengrat Nethipo” ในเฟซบุ๊ก โพสต์เมื่อ 25 มิ.ย.56

มิจฉาทิฐิแห่งชาติ ๑ :

“24 มิถุนาคือการรัฐประหารไม่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ คือใช้อำนาจทหารล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน”
 

ข้อความข้างต้นสะท้อนการมองแต่ปรากฏการณ์ผิวเผิน ไม่ดูบริบทที่กว้างออกไป ไม่ดูผลกระทบสืบเนื่องจากนั้น คือดึงตัวเหตุการณ์โล้น ๆ ออกมาจากประวัติศาสตร์ แล้วก็สรุปเลย

การปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ใช้วิธีการรัฐประหารในการยึดอำนาจ เพราะในเงื่อนไขภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองลงแข่งขันเลือกตั้งได้, ไม่สามารถก่อม็อบหน้ากากขาวประท้วงได้ ขืนทำก็หัวขาดเท่านั้นเองครับ

ในเงื่อนไขรัฐมีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของราษฎร (ABSOLUTE MONARCHY) ราษฎรไร้สิทธิทางการเมืองที่จะชุมนุม ตั้งพรรค ออกเสียงเลือกตั้ง วิธีการเดียวที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ในฐานะข้าราชการและสามัญชนนอกวัง ก็คือรัฐประหารเท่านั้นเอง (ถ้าอยู่ในวังอาจก่อ palace coup)

แต่สิ่งที่ทำให้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่ใช่แค่การรัฐประหารก็คือ คณะราษฎร ยึดอำนาจรัฐมา แล้วใช้อำนาจรัฐนั้น เปลี่ยนระบอบปกครอง (เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจในประเทศ) ยกเลิกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนฐานะราษฎรไทยทุกคน จากผู้ไร้สิทธิ ชีวิตร่างกายทรัพย์สินอยู่ใต้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ของกษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๒๔๗๕ --> มาเป็นพลเมือง (citizens) ผู้ทรงสิทธิ์เหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของตนเอง จำกัดอำนาจรัฐลง รัฐเปลี่ยนรูปจากรัฐที่มีอำนาจไม่จำกัดหรือมีอำนาจสมบูรณ์แบบ (unlimited or absolute government) มาเป็นรัฐที่มีอำนาจจำกัด (limited government) โดยอำนาจรัฐถูกจำกัดด้วยสิทธิเสรีภาพของพลเมือง (ของดีที่ได้มาในวันที่ ๒๔ มิ.ย. คือสิทธิเสรีภาพประจำตัวทุกคน รัฐจะมาทำอะไรกับร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของเราไม่ได้ ต้องขออนุญาตเราก่อน, จะมาปกครองเราตามใจชอบไม่ได้ ต้องให้เราเห็นชอบก่อน โดยเลือกตั้งส่งผู้แทนของเราไปอนุมัติในสภา)

๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่ใช่แค่การรัฐประหาร เพราะมันเปลี่ยนรัฐไทย คนไทย จากสมบูรณาญาสิทธิ์/ไพร่ราบ ไปเป็น รัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ/พลเมือง มันเป็นการปฏิวัติแห่งลัทธิรัฐธรรมนูญ (constitutionalist revolution) ด้วยเหตุนี้

ขณะที่รัฐประหารครั้งอื่น ๆ ตั้งแต่นั้นมา ไม่มีนัย “ปฏิวัติ” แบบนั้นเลย


นักวิชาการคนที่มอง ๒๔๗๕ แล้วเห็นแค่ “รัฐประหาร” ก็แคบ ตื้น และไร้ประวัติศาสตร์ ไม่ต่างจากข้อความข้างต้นนั่นแหละ

 

มิจฉาทิฐิแห่งชาติ ๒ :

"ถ้าเอาวันประกาศเอกราช ก็เอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพจากพม่าสิ"

หลายประเทศเลือกวันกู้อิสรภาพ ประกาศเอกราช จากระบอบอาณานิคมต่างชาติ เป็น "วันชาติ" ของประเทศตน เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย เป็นต้น

แต่วันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพของกรุงศรีอยุธยาจากกษัตริย์พม่านั้น เป็นประวัติศาสตร์ยุคก่อนมีชาติและก่อนมีสำนึกชาติด้วยซ้ำไป

ความสัมพันธ์สำนึกเป็นกลุ่มก้อนหน่วยเดียวกันในยุคนั้น ถือกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง แล้วลดหลั่นเป็นลำดับชั้นตามเส้นสายราชูปถัมภ์ จากกษัตริย์ ไปสู่ขุนนางศักดินา และไพร่ทาส, จากราชธานี (เมืองที่ประทับของกษัตริย์) ไปสู่หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอกและประเทศราช

ความสัมพันธ์แนวดิ่ง ที่เหลื่อมล้ำและยึดกษัตริย์เป็นศูนย์กลางดังกล่าว ต่างจาก ความสัมพันธ์แบบชาติ ที่เป็นแนวราบ เสมอภาค และยึดความเป็นสมาชิกร่วมชุมชนจินตนากรรมเดียวกันเป็นหลัก

ชาติไทย/ชาติสยาม ไม่ได้มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ได้มีมาตั้งแต่เทือกเขาอัลไต อ้ายลาว น่านเจ้า สุโขทัย อยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์... เอาเข้าจริงสำนึกความเป็นชาติไทย/ชาติสยามเพิ่งก่อกำเนิดเริ่มต้นในช่วงรัชกาลที่ ๔ ต่อที่ ๕ เท่านั้นเอง ก่อนหน้านั้นเป็นสำนึกก่อนชาติที่ถือกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ลดหลั่นลงมาสู่ขุนนางและไพร่ทาส

ชาติมีไม่ได้ ถ้าไม่มีพลเมืองที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน และพลเมืองไทยที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งชั้นโดยชาติกำเนิดเป็นเจ้า/ขุนนาง/ไพร่/ทาส นั้น สมัยพระนเรศวรและกรุงศรีอยุธยา ไม่มี

ชาติไทยที่ประกอบไปด้วยพลเมืองที่มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกันเพิ่งเกิดเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เท่านั้นเอง นี่คือแนวคิดเบื้องหลังการเลือกวันนั้นเป็นวันชาติ หรือนัยหนึ่งวัน Happy Birthday to ชาติไทยที่คนไทยเสมอภาคเท่าเทียมกันไม่แบ่งแยกชั้นเจ้า/ขุนนาง/สามัญชน

ถ้าหลงคิดว่ามีพลเมืองที่เสมอภาคกันสมัยนั้น หลงคิดว่ามีชาติในยุคนั้น คุณก็กำลังเพ้อฝันทั้งเพ แล้วเอาความเข้าใจปัจจุบันไปตีความอดีตใหม่ ให้ความหมายอดีตใหม่อย่างตรงจริตของปัจจุบัน อย่างบิดเบือนอดีต แค่นั้นเอง

 

มิจฉาทิฐิแห่งชาติ ๓ :

"วันชาติคือวันรวมใจคนทั้งชาติ ในยุคสมัยผมใจพวกเราทุกดวงอยู่ที่ในหลวงก็ควรเอาวันที่ ๕ ธันวานี่ล่ะเหมาะที่สุด"

๕ ธันวาฯ ได้รับการเฉลิมฉลองในฐานะวันเฉลิมพระชนมพรรษา และโดยที่พสกนิกรมากหลายรักเทิดทูนพระองค์ จะยกย่องวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นวันรวมใจคนทั้งชาติก็เป็นได้

แต่ถ้าเรายึดถือแนวคิดเรื่องชาติ ว่าหมายถึงชุมชนที่รวมของพลเมืองผู้มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน, วันที่สะท้อนความเป็นชาติไทยที่สุด ก็ควรเป็นวันที่พลเมืองไทยได้สิทธิเสมอภาคนั้นมาเป็นของตน ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ของรัฐเหนือร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินของตนอีกต่อไป

วันนั้นในประวัติศาสตร์คือวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ชาติไทยควรเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อพสกนิกรแสดงออกซึ่งความรักเทิดทูนองค์พระประมุขในดวงใจ แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลอันใดที่จะไม่ให้ชาติไทยมีวันชาติ เฉลิมฉลองวันชาติ หรือนัยหนึ่งมีและเฉลิมฉลองวันที่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศของพลเมืองที่มีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ชาติไทยน่าจะได้เฉลิมฉลองทั้งวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ ๕ ธันวาคม และวันชาติที่ ๒๔ มิถุนายนของทุกปี และเราก็ได้ทำอย่างนั้นกันมาในอดีตจาก พ.ศ. ๒๔๘๒ (เริ่มประกาศให้ ๒๔ มิถุนาฯ เป็นวันชาติ ปี ๒๔๘๑ และเริ่มฉลองหนแรก ปี ๒๔๘๒) จนรัฐบาลเผด็จการทหารสฤษดิ์ยกเลิกวันชาติไป โดยไม่ถามคนไทยทั้งประเทศสักคำ เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๓

จะเอาอย่างและสืบทอดมรดกเผด็จการสฤษดิ์หรือ? ได้เวลาล้างมรดกทำลาย "วันชาติ" ของสฤษดิ์ - เผด็จการทหารเสือผู้หญิงจอมปล้นชาติ คนนั้นหรือยัง?

 

(หมายเหตุถบทความนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก "Kasian Tejapira" มิจฉาทิฐิแห่งชาติ๑, มิจฉาทิฐิแห่งชาติ๒ และ มิจฉาทิฐิแห่งชาติ๓ วันที่ 25 มิ.ย.56)

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง