Skip to main content

Kasian Tejapira

ในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ เราทำให้ขนมมาร์ชมอลโลส์หุ้มช็อคโกแลตพองขึ้นเพื่อดูว่ามันจะระเบิดแตกออกยังไง ปรากฏว่าในชั้นเรียนวิชานี้ ๓ วัน ครูของเราเรียกมันด้วยคำเยอรมันเก่าว่า “จุมพิตนิโกร”แทนที่จะใช้คำใหม่ซึ่งก้าวร้าวน้อยกว่าว่า “จุมพิตช็อคโกแลต” ตกเย็น ผมเล่าเรื่องนี้ให้แม่ผมซึ่งอยู่ในคณะกรรมการความหลากหลายของโรงเรียนฟัง วันรุ่งขึ้น แม่ก็เขียนอีเมล์ถึงโรงเรียนบอกว่า “เราอยากเห็นพ้องต้องกันไม่ใช่หรือคะว่าคำ ๆ นั้นมันไม่เหมาะ?” พอเข้าวันที่สาม ครูก็พูดคำว่า “จุมพิตนิโกร” อีก แล้วก็ทำท่ายกมือป้องปากแล้วบอกว่า “โอ้ แต่ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้พูดแบบนั้น” ครูถามว่ามีใครจะอธิบายได้ไหมว่าทำไม ผมยกมือแล้วตอบว่าเราไม่ใช้คำว่า “จุมพิตนิโกร” เพราะคนเขาใช้คำนั้นดูถูกคนผิวดำ แต่ครูกลับขอดูโทรศัพท์มือถือของผมและบอกว่าผมต้องใช้มันโทรฯบอกเรื่องนี้กับแม่ผมแน่ เรื่องของเรื่องคือเราไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน ผมบอกครูว่าผมไม่ได้โทรฯบอกแม่ ผมบอกเธอต่อหน้าเรื่องคำ ๆ นี้ตอนเย็นต่างหาก และครูก็ใช้คำ ๆ นี้ตั้ง ๓ ครั้งแล้ว ครูตอบว่าเธอใช้คำนี้แค่ครั้งเดียวแล้วก็ริบโทรศัพท์มือถือของผมไป วันต่อ ๆ มาผมก็ต้องเอาโทรศัพท์มือถือให้ครูเก็บไว้อีกและกว่าผมจะได้คืนก็ตอนเลิกชั้นเรียนแล้ว ครูทำแบบนี้ไม่หยุดจนพ่อเลี้ยงผมบ่นเรื่องนี้กับเธอต่อหน้าด้วยตัวเอง แต่กระนั้นครูก็ไม่เคยขอโทษเลย
 
“ฉันมาจากรัสเซียและอาศัยอยู่ในเยอรมนีมา ๑๕ ปีแล้ว ความจริงที่ว่าฉันมีงานทำ ได้แต่งงานกับคนเยอรมัน และไม่ได้พึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่กระนั้นฉันก็ยังไม่ได้ใบอนุญาตพำนักอาศัยถาวรที่นี่ .... นั่นไม่ใช่เรื่องที่ฉันอยากพูดถึงตอนนี้ ฉันติดใจรายละเอียดเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งมากกว่า สองเดือนก่อนฉันมีธุระไปพบเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหนล่าสุดและมันฝังใจฉันมาก เจ้าหน้าที่ที่นั่นขอพิมพ์ลายนิ้วมือของฉัน บอกว่ามันเป็นข้อกำหนดอย่างหนึ่งที่ฉันต้องทำเพื่อให้ได้สิทธิ์พำนักอาศัยถาวร ดังนั้นเขาก็เลยพิมพ์ลายนิ้วมือฉันเก็บไว้ ฉันถามเพื่อนชายชาวเยอรมันของฉันซึ่งไปพบเจ้าหน้าที่ด้วยกันว่าเขาต้องผ่านขั้นตอนเดียวกันนี้เพื่อให้ได้บัตรประชาชนเยอรมันหรือเปล่า เจ้าหน้าที่เยอรมันชิงอธิบายว่าพลเมืองเยอรมันไม่จำต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ เฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้นที่ต้องทำ ลายนิ้วมือดังกล่าวเอาไว้ใช้ตามล่าตัวพวกอาชญากร ซึ่งนั่นก็หมายความว่าตัวฉันในฐานะคนต่างชาติถูกถือโดยอัตโนมัติว่าอาจเป็นอาชญากรได้ ขณะที่คนเยอรมันเองไม่ถูกถือเช่นนั้น”
 
“ผมเล่นเป็นกองหน้าของทีมผม จะด่าทอกันมากระหว่างแข่งขัน - มันก็เป็นส่วนหนึ่งของกีฬากายภาพแบบเล่นเป็นทีมหรือการเล่นกีฬาประชิดตัวแบบถึงลูกถึงคนนั่นแหละ แต่ตอนเล่นเกมลีกฤดูหนาวปี ๒๐๑๑ กับทีมหนึ่งจากครึ่งล่างของการจัดอันดับลีก กองกลางฝ่ายตรงข้ามสองคนมันด่ายั่วผมตั้งแต่นาทีแรกสุดเลย - ทั้งหยาคาย เล่นใต้เข็มขัด น่าเจ็บใจมาก ผมไม่อยากเอ่ยซ้ำคำที่พวกมันใช้ แต่มันเหยียดเชื้อชาติมากและมีแต่เรื่องโคตรเหง้าศักราชและสีผิวของผม ผมพยายามทำหูทวนลมแต่สุดท้ายก็โมโหเสียจนหมดสมาธิจะเล่นเกมอีกต่อไป โค้ชดึงตัวผมออกจากสนามในนาทีที่ ๗๐ แลวเราก็ตัดสินใจร่วมกันว่าจะรายงานกรณีนี้ ซึ่งนำไปสู่การไต่สวนของศาลกีฬา ก่อนหน้านั้นผมกังวลบางอย่างเหมือนกัน เช่น ถ้าเกิดพวกเขาไม่เชื่อผมล่ะ? แต่โชคดีมีพยานหลายคนยืนยันคำให้การของผม กองกลางทั้งสองคนก็เลยโดนแบน อีกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ทำให้ผมคิดหนักก็คือจำเลยคนหนึ่งกำลังฝึกอบรมเป็นผู้กำกับการตำรวจอยู่ด้วยตอนนั้น”
 
“เมื่อใดก็ตามที่ผมบอกใครต่อใครว่าผมเป็นนักดนตรีอาชีพ ผมจะได้คอมเมนต์น่ารำคาญตอบกลับมาเสมอ พวกเขาจะพูดว่า ว่าแล้วไหมล่ะเพราะถึงไงดนตรีก็อยู่ในสายเลือดของผม คำตอบมาตรฐานของผมต่อคอมเมนต์แบบนั้นก็คือ “เปล่านะ ผมหัดเอาต่างหาก” ผมมองว่านี่เป็นลัทธิเหยียดเชื้อชาติอีกแบบหนึ่ง คนเขาก็ไม่ได้หมายความไปในทางร้ายหรอก ผมรู้ดี แต่การพูดแบบนั้นน่ะ พวกเขากำลังแสดงออกซึ่งภาพลักษณ์แบบฉบับทางเชื้อชาติและเผยแพร่ลัทธิเหยียดเชื้อชาติออกไปโดยไม่ยั้งคิดเลยว่ากำลังทำอะไรอยู่ ยังกับว่าพอเป็นคนผิวดำก็หมายความโดยอัตโนมัติเลยว่าจะต้องรู้วิธีร้องรำทำเพลง”
 
“หลังจบปริญญาตรีปี ค.ศ. ๒๐๑๑ ฉันอยากฝึกงาน ฉันเจอประกาศรับฝึกงานบนออนไลน์เยอะมาก แต่ทุกที่ ๆ ฉันสมัครไป ฉันถูกปฏิเสธหมด ทุกครั้งจะได้คำตอบทำนองว่าตำแหน่งฝึกงานนั้นรับบรรจุไปแล้ว นักศึกษาชาวเวียดนามในโครงการเดียวกับฉันก็มีประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน ขณะที่นักศึกษาเยอรมันแทบไม่เคยมีปัญหายุ่งยากในการหาที่ฝึกงานเลย ท้ายที่สุดฉันก็เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทเพื่อตัวเองจะได้อยู่ระดับที่สูงขึ้น”
 
“แปดปีก่อน ฉันตัดสินใจใส่ผ้าคลุมผมและนับแต่นั้นมาชีวิตของฉันก็เปลี่ยนไป เดิมทีพ่อของฉันอพยพจากโมร็อกโกมาอยู่ฮัมบูร์ก ท่านทำงานที่ท่าเรือแล้วต่อมาก็เป็นผู้อำนวยการกีฬาให้กับทางตำรวจ แม่ของฉันเป็นคนเยอรมัน ไม่มีใครบังคับให้ฉันใส่ผ้าคลุมผม ฉันตัดสินใจของฉันเอง ไม่นานมานี้ ฉันอยู่ที่ป้ายรถเมล์และวางของห่อหนึ่งทิ้งไว้ครู่เดียว ปรากฏว่าบรรดาคนเดินผ่านพากันตื่นตกใจ คิดไปว่าฉันกำลังจะวางระเบิด ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตลิด์ล อยู่ดี ๆ ตาแก่คนหนึ่งก็เริ่มด่าว่าฉันอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย “แกมาทำอะไรที่นี่หือ? เราไม่ต้องการคนอย่างแกที่นี่!” คนขับรถเมล์ไม่เอ่ยทักทายฉันอีกแล้วนับแต่ฉันเริ่มใส่ผ้าคลุมผม ตอนฉันใส่ชุดว่ายน้ำแบบมิดชิดทั้งตัว (เบอร์กินี) ไปสระว่ายน้ำ ยามกู้ชีพก็ตำหนิฉัน อ้างว่าชุดว่ายน้ำของฉันรบกวนคนอื่น ๆ ที่มาว่ายน้ำ บางคนเห็นฉันเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมที่ว่ากันว่าโบร่ำโบราณคร่ำครึซึ่งกีดกันผู้หญิง ส่วนคนอื่นก็มองฉันเป็นพวกสุดโต่งอันตราย เป็นพวกลัทธิอิสลามหัวรุนแรง ฉันไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้หญิงใส่ผ้าคลุมผมที่มั่นใจในตัวเอง”
 
“ฉันมาจากเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย และฉันมาอยู่เมืองโซลิงเกนในเยอรมนีกับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็กบางทีคนเจอฉันตามท้องถนนก็จะพูดว่า “แม่หนูช่างน่าสงสารจัง” แล้วก็ให้เงินฉัน ๕ มาร์ค ต่อมาฉันเรียนวิศวกรรมศาสตร์ที่เมืองมานน์ไฮม์และโคโลญ แล้วทำงานเป็นวิศวกรอุตสาหกรรมที่กรุงเบอร์ลินเพื่อนร่วมงานของฉันที่นั่นรีบแสดงออกชัดเลยว่าคิดยังไงกับฉัน นั่นคือพวกเขาไม่เห็นหัวฉันเลย เมื่อเรานั่งลงในห้องกาแฟของบริษัทด้วยกัน ทันใดนั้นพวกเขาก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแอฟริกา ทำยังกับว่าแสนรู้ไปหมดเกี่ยวกับทวีปนั้น รู้ดีกว่าฉันเสียอีก แต่สุดท้ายเรื่องนั้นก็น่าเบื่อเกินไปสำหรับพวกเขา จู่ ๆ ข้อมูลก็เริ่มหายไปจากคอมพิวเตอร์ของฉัน เวลาฉันนำเสนองาน ก็จะหาเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ไม่เจอ ฉันก็เลยต้องวางกลยุทธ์รับมือ โดยล็อกเอาท์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเย็นก่อนกลับบ้าน เก็บสำรองข้อมูลของฉันไว้ในแท่งยูเอสบี และทำสำเนาการนำเสนอโครงงานต่าง ๆ ของฉันเผื่อไว้ ฉันจะไม่เผยไต๋มากไปกว่าที่พวกเขาเผย และแล้วสัญญาจ้างงานของฉันก็หมดอายุลง”
 
“มิหนำซ้ำหมอนี่ยังเป็นชาวกรีกอีกแน่ะ! นั่นคือสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์จำนวนมากคิดเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๑ตอนที่ผมกลายเป็นเหรัญญิกของเมืองโอเบอร์เฮาเซนซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ติดหนี้สินรุงรังที่สุดในเยอรมนี และนั่นก็ประมาณว่าเป็นสิ่งที่พวกเขาเขียนด้วยเหมือนกัน มันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับพวกเขา น่าพิศวง และมันก็โอเคอยู่ล่ะครับในตอนแรก ไอ้ที่ไม่โอเคก็คือหลังจากผ่านไปกว่าปีแล้ว โคตรเหง้าเชื้อสายกรีกของผมก็ยังเป็นเรื่องอยู่นั่นแหละ มันยังเป็นสาระส่วนหนึ่งที่สื่อสารกัน สำหรับนักหนังสือพิมพ์จำนวนมาก ประเด็นไม่ใช่เนื้อหา ไม่ใช่คำถามว่าคุณวางแผนจะแก้ไขปัญหาของเมืองโอเบอร์เฮาเซนยังไง? แต่คำถามกลับเป็นว่า คุณมาจากไหน? มากกว่า บ๊องชิบหาย! ผมเกิดในเยอรมนี ที่เมืองฮิลเดนในไรน์แลนด ์ ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ในเยอรมนี พ่อแม่ผมอพยพจากประเทศกรีซมาเยอรมนีตั้งนมนานแล้ว สมัยต้นคริสตทศวรรษที่ ๑๙๖๐ ในสถานะที่เขาเรียกกันยุคนั้นว่า “คนงานรับเชิญ” แต่เรื่องนั้นน่ะมันไม่เกี่ยวข้องกับงานของผมในฐานะเหรัญญิกเลย เผอิญเหมือนกันว่าในเมืองโอเบอร์เฮาเซนเองภูมิหลังของผมไม่เคยเป็นประเด็นเลย ไม่มีชาวเมือง เพื่อนร่วมงานในคณะบริหารเมืองหรือแม้แต่คู่ต่อสู้ทางการเมืองคนไหนเคยเอ่ยปากออกความเห็นเรื่องนี้เลย มันเป็นเรื่องที่ผมต้องต่อสู้ทางสื่อกับพวกนักหนังสือพิมพ์ล้วน ๆ เลยล่ะ”
 
“ผมพูดไม่ได้หรอกว่าเคยเจออะไรที่มันเลวร้ายมากเป็นพิเศษ ผมกับแม่มาที่นี่จากรัฐเบลารุสแล้วก็ไปเข้าเรียนชั้นเตรียมความพร้อมเข้าโรงเรียน และตอนแรกทุกอย่างมันก็เรียบร้อยดี แต่พอผมเริ่มไปโรงเรียนจริง ๆ ก็เริ่มเจออคติเข้าด้วย พวกเขาเรียกผมว่า “ไอ้รัสเซีย” และเวลาพ่อผมขับรถค่อนข้างหรูไปส่งผมที่โรงเรียน พวกเขาก็จะพูดว่า “ขี่รถหรูแบบคนรัสเซียเลยว่ะ” พวกเขาไม่ได้บอกว่าเป็นรถที่“ขโมย” มาหรอกครับ แต่นัยมันก็ชัดในห้องเรียน ต่อมาพอขึ้นชั้นมัธยมฯ ครูของผมคนหนึ่งจะจ้องผมเขม็งเมื่อใดก็ตามที่เอ่ยเรื่องปูติน อย่างตอนผู้หญิงวง “จิ๋มจลาจล” (Pussy Riot) ถูกจับ ทำยังกับผมจะทำอะไรเรื่องนั้นได้แน่ะ ยังกับผมเป็นปูติน ยังกับคนรัสเซียทั้งหมดเป็นปูติน มันก็ไม่ได้แย่มากมายอะไรแต่มันน่ารำคาญน่ะครับ และมันก็น่ารำคาญด้วยเวลาผมอยู่ในร้านค้าและโทรฯคุยกับญาติเป็นภาษารัสเซีย ผมเห็นเลยว่าพวกผู้หญิงบางคนดึงกระเป๋าตังค์ไปแนบตัวแล้วหนีบไว้แน่นยังไง”
 
“ในสายตาลูกค้าหลายคน หัวล้านของผมทำให้ผมกลายเป็นแมงดาและเคราของผมก็ทำให้ผมกลายเป็นพวกเคร่งอิสลาม ผมเกิดที่ตลาดปลาและโตขึ้นมากับธุรกิจส่งออกของพ่อบนถนนรีเปอร์บาห์นของเมืองฮัมบูร์ก ตอนนี้เรามีกิจการร้านสะดวกซื้อ ผมแน่ใจเลยว่ามันต้องมีที่ประชุมลับที่ไหนสักแห่งที่ชาวบ้านเรียนรู้คำถามมาตรฐานที่จะตั้งเอากับเจ้าของร้านชาวตุรกี อย่างเช่น คุณเป็นเจ้าของร้านนี้หรือเปล่า? ธุรกิจค้ายา(เสพติด)เป็นไงมั่ง? การรีดไถเงินค่าคุ้มครองล่ะ? ครอบครัวเจ้าพ่อดูแลคุณอยู่ใช่ไหมหือ? ครอบครัวเจ้าพ่อน่ะนา? นั่นคงหมายถึงน้องสาวเล็ก ๆ ๓ คนของผมล่ะซีนะ”
 
“ผมคิดว่าเยอรมนีเป็นประเทศน่าอยู่และผมดีใจที่อยู่ที่นี่ แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่มันไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อผมอายุ ๒๔ ปีและได้เป็นหัวหน้าพ่อครัว เพื่อนของเจ้านายผมตอนนั้นพูดกับเจ้านายผมว่า “ลื้อคงไม่เอาคนตุรกีมาเป็นหัวหน้าพ่อครัวหรอกนะ ใช่มั้ย?” และก่อนผมไปฮัมบูร์กเพื่อรับโอนกิจการภัตตาคารแห่งแรกของผมตอนอายุ ๒๘ ปี ผมก็อ่านเจอในหนังสือพิมพ์ว่า “อีกไม่ช้าก็จะมีเคบับแพงระยับที่ภัตตาคารเลอ กานาร์ดแล้วใช่ไหม?” นั่นมันกระเทือนใจผมแรงมากเลยทีเดียว ที่อยู่เบื้องหลังคำพูดนั้นก็คือความคิดเหยียดเชื้อชาติว่าเพราะผมชื่ออาลีและผมสีดำ ผมคงทำเป็นแต่เคบับอย่างเดียวเท่านั้น ผู้คนพากันคิดว่า เจ้านี่น่ะรึอยากเข้าไปยึดกิจการเลอ กานาร์ด ภัตตาคารแพงที่สุดแห่งหนึ่งของเยอรมนี? คนมากมายพูดแบบนั้น แต่สำหรับผมแล้ว มันก็ช่วยเป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน หลังผ่านไปราวปีหนึ่ง ภัตตาคารก็ได้ดาวเรตติ้งดวงแรกมา แล้วคุณรู้อะไรไหมครับ? คอมเมนต์แบบเก่านั้นหายหมดเลยทีเดียว คือถ้าคุณเป็นชาวต่างชาติแค่นั้น มันก็เป็นเรื่องไม่ดี แต่ถ้าคุณ
เป็นชาวต่างชาติและแถมประสบความสำเร็จด้วยแล้ว มันก็โอเคเลยล่ะ ผมต้องทำงานหนักมากเพื่อให้เป็นที่ยอมรับนับถือ ทุกวันนี้เรื่องทำนองนั้นส่วนใหญ่ที่ยังเกิดขึ้นในภัตตาคารมันดูน่าขำสำหรับผม มันไม่ส่งผลกระทบอะไรกับผมแล้ว ตัวอย่างเช่นเมื่อลูกค้าคนหนึ่งพูดว่า “คุณกุนกอร์มุส ผมกับเมียไปบ้านเกิดคุณที่อีสตันบูลมาเมื่อเร็ว ๆ นี้” ผมก็ตอบว่า “อา, ดีครับ ผมชอบไปเที่ยวอีสตันบูลเหมือนกันแต่มันไม่ใช่บ้านเกิดผมหรอกนะ” หรือลูกค้าอีกคนซึ่งปกติก็เป็นคนใจกว้างและอยากเอ่ยชมฝีมือผมบอกว่า
 
“รสชาติผสมผสานกันเหล่านี้คงมาจากภูมิภาคที่คุณจากมา...” ผมก็ถามกลับอย่างเรียบ ๆ ว่า “คุณหมายถึงรสชาติอะไรจากภูมิภาคไหนหรือครับ?” เขาก็ตอบว่า “ง่า ก็ปลาเทอร์บอตกับซินนามอนจากบ้านเกิดคุณไง...” ผมก็บอกว่า “คุณทราบไหมครับ ผมเติบโตในเมืองมิวนิคและที่นั่นน่ะไม่มีซินนามอนขึ้นนะครับ”

“ผมอายุได้ ๙ ขวบเมื่อผมกับครอบครัวถูกเนรเทศไปค่ายกักกันเอาสช์วิตซ์ พวกนาซีสังหารชาวซินติและโรมา (ชาวยิปซีในยุโรปกลางและที่อื่น ๆ) ไปกว่าครึ่งล้านคน ผมจึงต่อสู้กับความโง่เขลาและอคติมาตราบเท่าทุกวันนี้ เมื่อผมย้ายมาอยู่เมตเตนไฮม์เมื่อ ๕๐ ปีก่อน คนก็พูดกันว่ากลุ่มบุคคล “ต่อต้านสังคม” กำลังเข้ามาตั้งหลักแหล่งในหมู่บ้าน ผมเปิดร้านขายวัตถุโบราณและสร้างบ้านขึ้นที่นี่ แต่กระนั้นบางทีผมก็ยังถูกเรียกหาอย่างดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็น “ยิปซี”
 
“ออมนิปูร์ ลื้อมันแขกอพยพ (kanake คำด่าทอใช้เรียกผู้อพยพจากบรรดาประเทศทางใต้) ซุ่มซ่ามซี้ซั้วนี่หว่า ข้างในค่ายทหารเป็นไงลื้อยังไม่เคยเห็นเลย” ใครคนหนึ่งคอมเมนต์ถึงผม เผอิญนโยบายป้องกันประเทศเป็นเรื่องเชี่ยวชาญเฉพาะของผม แต่ไม่ว่าคอมเมนต์ออนไลน์เอย อีเมล์เอย จดหมายเอย มันก็ออกมาอีหรอบเดียวกันนี่แหละ ผมต้องทนอ่านของพรรค์นี้แทบทุกวัน สต๊าฟของผมจะแยกมันออกเป็นจดหมายประเภทเกลียดกลัวต่างชาติกับประเภทเกลียดกลัวอิสลาม แล้วจัดแบ่งเป็นข้อเขียนในบล็อก, คอมเมนต์บนเฟซบุ๊ค, และจดหมายธรรมดาอีกที ผมออกจากอิหร่านมายังแฟรงค์เฟิร์ตเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี ตอนนี้หลังทำงานอยู่ในรัฐสภามาหลายปี ผมพยายามไม่นำพาคำด่าทอดูถูกพวกนี้มาปรารมภ์อีกแล้ว อารมณ์ขันเป็นทางออกจากสถานการณ์แบบนี้ที่ดีที่สุด เมื่อใครสักคนเรียกผมซึ่งเป็นชาวอิหร่านว่า “ไอ้ห่าอาหรับ” และบอกให้ผม “กลับไปตุรกีซะ” ผมก็ได้แต่หัวเราะที่นักคอมเมนต์บางคนมันช่างโง่ซะจริง ๆ”
 
“ทั้งฉันกับสามีเกิดในเบอร์ลินและเรากำลังหาอพาร์ตเมนท์ใหม่ที่นี่ มันกลายเป็นเรื่องยากกว่าที่เราคาด เราเป็นคนแอโฟร-เยอรมัน แต่เวลาคุยโทรศัพท์กัน คนเขาย่อมฟังไม่ออกและพวกเจ้าของห้องเช่าก็มักคิดว่าชื่อของฉันเป็นภาษาฝรั่งเศส เราทั้งคู่ได้เงินเดือนดีและเราก็ได้นัดหมายให้ไปลองเยี่ยมชมอพาร์ตเมนท์เสมอ แต่พอเราไปถึงที่นั่น บรรยากาศก็เย็นชาลงอย่างเห็นได้ชัด เรามองหาอยู่หลายเดือนแต่โชคไม่เข้าข้างเราเลย ดังนั้นฉันกับสามีก็เลยตัดสินใจว่าเขาอย่ามาเยี่ยมชมอพาร์ตเมนท์ด้วยอีกเลยจะดีกว่า พอเหลือฉันคนเดียว ดูเหมือนว่าฉันคงท่าทางน่ากลัวน้อยกว่าผู้ชายผิวดำ มีหนหนึ่งนายหน้าอสังหาฯที่โทรฯคุยกันชอบใจเรามาก ฉันเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ไปเยี่ยมชมอพาร์ตเมนท์และฉันก็ชอบมัน ฉันก็เลยขอแบบฟอร์มต่าง ๆ จากนายหน้าเพื่อจะมากรอก เขาถามว่าฉันวางแผนจะเช่าอพาร์ตเมนท์หรือและพอฉันตอบว่าใช่เขาก็บอกว่าน่าเสียดาย คงไม่ลงตัวหรอก เมื่อฉันถามว่าทำไม เขาก็ตอบคลุมเครือเลี่ยงไปเลี่ยงมา ทำนองว่ามีคนสนใจตั้งหลายรายแล้ว แล้วเขาก็ถามชื่อตัวของสามีฉันพอฉันบอก เขาก็พูดว่ามันคงจะยากมากเลยทีเดียวสำหรับเรา เมื่อฉันกลับถึงบ้าน ฉันกับสามีก็โทรฯไปสำนักงานต่อต้านการเลือกปฏิบัติสังกัดวุฒิสภาของเมือง เจ้าหน้าที่ที่เราคุยด้วยบอกว่านี่เป็นกรณีเหยียดเชื้อชาติชัดเจนและแนะนำให้เราลองให้คนอื่นติดต่อไปเพื่อเปรียบเทียบกันดู ฉันก็เลยให้แม่ลองโทรฯหานายหน้าคนนั้น ปรากฏว่าเขาขมีขมันพูดคุยชักชวนแม่ให้มาเยี่ยมชมอพาร์ตเมนท์และไม่เฉลียวใจแต่อย่างใดว่าแม่เกี่ยวข้องกับฉัน ถึงตอนนี้เรามีหลักฐานพอจะเอาคดีนี้ฟ้องศาลแล้ว แต่ท้ายที่สุดเราก็ตัดสินใจว่าอย่าดีกว่า มันอาจลงเอยเป็นแค่เรื่องจะเชื่อใครระหว่างปากคำของเรากับของนาย
หน้าคนนั้น”
 
“แล้ววันหนึ่งผมถึงได้รู้ว่าเอาเข้าจริงเพื่อนร่วมงานมันคิดยังไงกับผม ระหว่างกินมื้อเที่ยงกัน เมื่อผมแกะห่อซาลามียี่ห้อไบไฟ เขาก็พูดว่า “นายกินเนื้อหมูเหรอ? ไม่เคยเห็นคนตุรกีที่ไหนกินเลย ถึงไงเราก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ทำไมมุสลิมไม่กินเนื้อหมูล่ะ เซ่อชิบเป๋ง” ผมทำงานที่นั่นมาสองปีแล้ว แต่ไม่มีใครสักคนเอาธุระที่จะรู้จักชื่อแซ่ผม ถ้าใครสักคนหาตัวผม ก็จะเรียกว่า “ไอ้ตุรกีนั่นมันอยู่ไหนวะ?” ตลอด ความจริงผมไม่ใช่มุสลิมและไม่ใช่คนตุรกี ผมเป็นชาวเยอรมัน เกิดในเมืองโคโลญ เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมออกเดตกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอรู้จักแต่ชื่อตัวผม และผมก็เพิ่งโกนหนวดเคราทิ้ง ระหว่างคุยกัน เธอก็พูดว่า “ฉันไม่แน่ใจหรอกนะ แต่ขอบคุณพระเจ้าที่คุณไม่ใช่คนตุรกี” หลังจากนั้นผมก็ไม่โทรฯหาเธออีกเลย”
 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
๓ ขั้นตอน ของ ลัทธิช็อก ประชาชนถูกช็อกด้วยวิกฤต, ประชาชนถูกช็อกด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ผลักดันผ่านออกมา และ ในความเป็นจริง ประชาชนผู้ต่อต้านคัดค้านนโยบายดังกล่าวยังมักจะถูกรัฐบาลกวาดล้างจับกุมไปทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะการช็อกด้วยไฟฟ้า 
เกษียร เตชะพีระ
โดรน (Drone) หรือเครื่องบินไร้คนขับเพื่อสอดแนมและสังหาร นักฆ่าหน้าจอตัดสินใจด้วยเกณฑ์ใดว่าจะกดปุ่มให้โดรนสังหารยิงถล่มคุณหรือไม่? อนุสนธิจากข่าว “โดรนโจมตีในเยเมน เสียชีวิต ๑๒ ราย” 
เกษียร เตชะพีระ
ถาม-ตอบกับคำถามประเมินความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้แค่ไหนอย่างไร, อะไรคือเงื่อนไขการเมืองที่รองรับการจัดการลักษณะนี้, จะมีรัฐประหารไหม และ แนะนำอะไรได้บ้างในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้
เกษียร เตชะพีระ
ปัญหาชนชั้นกับการปฏิวัติกระฎุมพี, ลักษณะเด่นร่วมเชิงโครงสร้างของการปฏิวัติกระฎุมพี ๔ ประการ, เงื่อนไขและลักษณะของการปฏิวัติกระฎุมพีที่เปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์, การศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ของคณะนิติราษฎร์มีลักษณะเด่นน่าสังเกตบางประการ และคำถามทิ้งท้าย
เกษียร เตชะพีระ
บทวิเคราะห์เรื่องนี้ของผมถึงเงื่อนไขความเป็นไปได้ของการปราบปรามด้วยความรุนแรงเป็นหลักเมื่อเทียบกรณีอียิปต์ปัจจุบันกับไทยหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ..มีความต่างที่น่าสนใจนำมาเปรียบเทียบบางประการในความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องรัฐประหารโดยกองทัพ ระหว่างเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ กับอียิปต์ในปีปัจจุบัน ๒๕๕๖
เกษียร เตชะพีระ
ผมทำกราฟฟิคขึ้นไว้เพื่อประมวลสรุปความเข้าใจของตัวเองและใช้ประกอบการสอนนักศึกษา แต่สังเกตว่ามีเพื่อนชาว Facebook สนใจพอควร จึงคิดว่าควรเขียนคำอธิบายประกอบถึงที่มาที่ไปและเนื้อหาของมันโดยสังเขป
เกษียร เตชะพีระ
ฝันสลายของคนชั้นกลางอเมริกัน = ฝันสลายของตลาดส่งออกใหญ่ของเอเชียตะวันออกรวมทั้งไทย = ฝันสลายของตัวแบบเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (EAEM - East Asian Economic Model) รวมทั้งไทยด้วย
เกษียร เตชะพีระ
๕ ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย, ๔ concepts หลักที่ Chatterjee ประยุกต์มายึดกุมทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในชนบทเอเชีย การสะสมทุนขั้นปฐมภูมิ, พิเคราะห์ชาวนาเอเชีย ชนิดของทุนและที่ตั้งทางเศรษฐกิจใหม่ของชาวนายุคโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่อุปถัมภ์, ไม่ใช่กบฎชาวนา, ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน, และไม่ใช่ประชาสังคม
เกษียร เตชะพีระ
 รัฐเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านชาวนาชนบทแล้ว ชาวนาไม่ได้เผชิญหน้ากับการขูดรีดทางชนชั้นหรือรัฐโดยตรง เปลี่ยนอาชีพเพราะมองเห็นโอกาสยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ หนุ่มสาวชาวชนบทรุ่นใหม่ที่ได้เรียนหนังสือและเสพสื่อสารมวลชนสมัยใหม่อยากเลิกเป็นชาวนา ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดกับชาวนาเอเชียในทรรศนะ Partha Chatterjee หนึ่งในเจ้าพ่อ Subaltern Studies ชาวอินเดีย 
เกษียร เตชะพีระ
กองทัพอียิปต์เป็นสิ่งมีชีวิตทางการเมืองที่น่าสนใจมาก แปลงสีได้ตามสภาพแวดล้อมเหมือนกิ้งก่า, ไม่ซื่อกับใครเหมือนงูในอ้อมอกชาวนา, และแว้งกัดทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนด้วย
เกษียร เตชะพีระ
ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้อคิดจากรัฐประหารในอียิปต์: ประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งล้มง่ายเข้าและสร้างยากขึ้นทุกที จำเป็นต้องพัฒนากลไกมิติริเริ่มใหม่ต่าง ๆ เพื่อเปิดกว้างการใช้อำนาจแก่สังคมการเมือง