Skip to main content

ควินติน สกินเนอร์ (ค.ศ. ๑๙๔๐ – ปัจจุบัน) เป็นนักวิชาการด้านประวัติความคิดการเมืองชาวอังกฤษสำคัญที่สุดคน หนึ่งในปัจจุบัน เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังกัดวิทยาลัยควีนแมรี มหาวิทยาลัยลอนดอน เดิมทีเขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นผู้ก่อตั้งสำนักเคมบริดจ์ที่ทรงอิทธิพลด้านการศึกษาประวัติความคิด การเมืองร่วมกับนักวิชาการมีชื่อได้แก่ จอห์น ดันน์และเจ.จี.เอ. โพค็อก โดยสำนักนี้เน้นศึกษาประวัติความคิดการเมือง ตะวันตกเชื่อมโยงกับภาษาและโวหารการเมืองของบรรดานักคิดร่วมสมัย ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์ที่แวดล้อม มันอยู่

เขาได้ให้สัมภาษณ์ริชาร์ด มาร์แชลแห่งรายการวิทยุ 3:AM เกี่ยวกับงานค้นคว้าประวัติความคิดเรื่องเสรีภาพและ เสรีนิยมของตะวันตกตลอดชีวิตของเขาโดยภาพรวม (แนวคิดมหาชนรัฐ, มาเคียเวลลี, ฮ๊อบส์, การปฏิรูปศาสนา, เชคสเปียร์, มิลตัน, ฯลฯ) และเว็บออนไลน์ openDemocracy ได้ขอให้สกินเนอร์เขียนตอบเพิ่มเติมในประเด็นอำนาจ บรรษัทเอกชนใหญ่และการเฝ้าสอดส่องติดตามประชาชนของรัฐในปัจจุบันว่าส่งผลกระทบต่อเสรีภาพอย่างไร แล้วนำออกเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ (http://www.opendemocracy.net/ourkingdom/quentin-skinner-richard-marshall/liberty-liberalism-and-surveillance-historic-overview) บทสัมภาษณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจทางปรัชญาและการเมืองที่ชวนคิดทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ ผมจะทยอยแปล ลงในสเตตัสไปเป็นลำดับ:

 

คำถาม: คุณเป็นที่รู้จักในฐานะนักประวัติศาสตร์การเมืองชั้นนำโดยเฉพาะในเรื่องการก่อตัวของแนวคิดที่ล้อมรอบประเด็นเสรีภาพของมนุษย์  ความคิดสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่คุณเขียนไว้ได้แก่สิ่งที่คุณเรียกว่า “เสรีภาพนีโอโรมัน”  ความคิดนี้เริ่มขึ้นย้อน หลังไปในสมัยโรมโบราณซึ่งเสรีภาพถูกนำไปเปรียบตัดกับความเป็นทาสใช่ไหมครับ?  พอจะบอกเราได้ไหมครับว่า ลักษณะโดดเด่นเป็นเฉพาะของมันคืออะไรบ้าง?

 

ควินติน สกินเนอร์: วิสัยทัศน์ว่าด้วยเสรีภาพส่วนบุคคลที่ผมสนใจถูกถกแถลงไว้อย่างชัดเจนที่สุดใน กฎหมายโรมัน ฉบับย่อ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำไมผมอยากจะเรียกการแสดงออกในชั้นหลังของมันว่าเป็นตัวอย่างของเสรีภาพแบบ “นีโอโรมัน”  การจำแนกแยกแยะขั้นมูลฐานที่แสดงไว้ตอนต้นของกฎหมายโรมันฉบับย่อก็คือการจำแนกระหว่างเสรีชน (liber homo) กับทาส (servus)  กฎหมายต้องเริ่มด้วยการเปรียบต่างอันนี้ก็เพราะกฎหมายประยุกต์ใช้แต่กับบรรดา เสรีชนเท่านั้น  ไม่ใช้กับทาสทั้งหลาย  ดังนั้นคำถามสำคัญยิ่งข้อหนึ่งก็คืออะไรทำให้คนกลายเป็นทาส?  คำตอบที่ให้ไว้ใน ตัวบทกฎหมายก็คือทาสได้แก่คนที่ตกอยู่ใต้อำนาจมูลนาย (in potestate) โดยเปรียบต่างกับบางคนที่สามารถกระทำ การได้ด้วยตัวเอง (sui iuris)  เป็นเวลานานก่อนที่ข้อถกเถียงเหล่านี้จะถูกสรุปย่อไว้ในตัวบทกฎหมาย มันได้ถูกอธิบาย ขยายความอย่างพิสดารโดยนักศีลธรรมและประวัติศาสตร์โรมันจำนวนหนึ่ง ที่เด่นกว่าเพื่อนได้แก่ซัลลัสท์  ลิวี และ แทซิทัส  นักเขียนเหล่านี้สนใจคำถามที่กว้างกว่าว่าเวลาเราพูดว่าบุคคลหลาย ๆ คนหรือแม้กระทั่งประชาชนทั้งมวลหลาย ๆ กลุ่มก้อนถูกทำให้ดำรงชีพอยู่เยี่ยงทาสนั้นมันหมายถึงอะไร  คำตอบที่พวกเขาให้ก็คือว่าถ้าคุณตกอยู่ในสภาพต้อง ขึ้นต่อเจตจำนงตามอำเภอใจของใครอื่นสักคน ในลักษณะที่ว่าคุณได้แต่พึ่งพาอาศัยความประสงค์ดีของเขาเท่านั้นแล้ว ก็พอจะพูดได้ว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะข้าทาสไม่ว่าฐานะของคุณในสังคมจะถูกยกให้สูงส่งเพียงใดก็ตาม  ดังนั้นเองแทซิทัส จึงเอ่ยถึงภาวะข้าทาสของชนชั้นวุฒิสมาชิกทั้งหมดภายใต้จักรพรรดิทิเบริอุส ในฐานะที่พวกเขาล้วนแต่ต้องขึ้นต่อ อำเภอใจมรณะของพระองค์เท่านั้น

 

คำถาม: มันพัฒนาเป็นความคิดการเมืองที่น่าเกรงขามระหว่างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของอิตาลีใช่ไหมครับ?  มาเคียเวลลี (Niccolò Machiavelli, ค.ศ. ๑๔๖๙ - ๑๕๒๗) ได้รับอิทธิพลจากมันไม่ว่าจะในทางลบหรือบวกหรือเปล่า?

 

ควินติน สกินเนอร์: ใช่ครับ วิสัยทัศน์เสรีภาพอันนี้แหละที่เป็นฐานรองรับการอภิปรายในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของ อิตาลีเรื่อง vivere libero ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญชนิดที่จำเป็นสำหรับการธำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตเสรี  ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มาเคียเวลลีได้รับอิทธิพลจากความคิดเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง  คุณถามว่าอิทธิพลนี้เป็นไปในทางบวกหรือเปล่า  ถ้าคุณหมาย ความว่าเขาเห็นด้วยกับข้อวิเคราะห์แบบนีโอโรมันหรือไม่ ผมว่าเขาเน้นย้ำยอมรับสนับสนุนมันเลยทีเดียว

ข้อเขียนหลักของมาเคียเวลลีที่ขบคิดใคร่ครวญทรรศนะเรื่องเสรีภาพแบบนีโอโรมันจะพบได้ในงานเขียนชุด Discorsi (วาทกรรม) เรื่องต่าง ๆ ของเขาซึ่งเขียนเสร็จราว ค.ศ. ๑๕๒๐  งานเขียนชุด วาทกรรม เหล่านี้อยู่ในรูปบทวิจารณ์ประวัติ ศาสตร์กรุงโรมของลิวี ๑๐ เล่มแรก  ในประวัติศาสตร์กรุงโรม ๒ เล่มแรก ลิวีได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสภาพ ขาดไร้เสรีภาพที่โรมต้องทนรับภายใต้กษัตริย์องค์แรก ๆ ของตนกับ civitas libera หรือรัฐเสรีที่ประชาชนสามารถก่อตั้งขึ้น ได้โดยเลือกตั้งกงสุลเป็นผู้ปกครองแทนที่กษัตริย์สืบราชวงศ์หลังขับไล่ราชวงศ์ทาร์ควินออกไปได้  มาเคียเวลลียอมรับสนับ สนุนสมมุติฐานของลิวีอย่างเต็มที่ ๆ ว่าคำถามมูลฐานที่ต้องตั้งเมื่อคิดถึงเรื่องเสรีภาพทางการเมืองก็คือความแตกต่างเป็น เอกเทศระหว่างเสรีภาพกับความเป็นข้าทาส และเขายังเห็นด้วยอีกว่าอำนาจตามอำเภอใจที่กษัตริย์องค์แรก ๆ ของโรมใช้ นั้นทำให้ผู้คนพลเมืองดำรงชีวิตอยู่เยี่ยงทาส  เขาใช้คำว่า servitù เสมอเวลาพูดถึงว่าปัจเจกบุคคลหรือประชาชนทั้งมวลที่ ต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้อำนาจดุลพินิจของผู้อื่นนั้นจะสูญเสียเสรีภาพไปอย่างไร ไม่ว่าอำนาจที่ว่านั้นจะอยู่ภายในสังคม การเมือง (ในรูปเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินหรือคณาธิปไตยที่ปกครองควบคุมโดยพลการ) หรือภายนอกก็ตาม (ในรูปอำนาจของ เจ้าอาณานิคม)

 

คำถาม: แล้วมัน (แนวคิดเสรีภาพแบบนีโอโรมัน) มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของสิทธิที่จะประท้วง,ต่อต้านและกบฏที่ออกมา จากพวกนิกายลูเทอรัน (ตีความคริสต์ศาสนาตามมาร์ติน ลูเทอร์ บาทหลวงนักปฏิรูปชาวเยอรมัน ค.ศ. ๑๔๘๓ – ๑๕๔๖), กาลแวงนิสต์ (ตีความคริสต์ศาสนาตามจอห์น กาลแวง บาทหลวงนักปฏิรูปชาวฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๕๐๙ – ๑๕๖๔) และกลุ่ม ศาสนาอื่น ๆ ของสมัยนั้นไหมครับ?

ควินติน สกินเนอร์: สิทธิในการต่อต้านซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงการต่อสู้ปฏิรูปคริสต์ศาสนา (นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์และ จอห์น กาลแวงในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖) นั้นส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนแนวคิดคลาสสิก แต่ด้านหลักแล้วก็อิงคติบทกฎหมาย โรมันที่ว่า vim vi licet repellere กล่าวคือการต่อต้านการใช้กำลังที่อยุติธรรมด้วยกำลังย่อมชอบด้วยกฎหมายเสมอ  ข้อเปรียบต่างระหว่างเสรีภาพกับความเป็นข้าทาสย่อมสำคัญสำหรับนักคิดชั้นนำแห่งการปฏิรูปคริสต์ศาสนาอย่าง แน่นอน รวมทั้งสำหรับลูเทอร์และกาลแวงด้วย  แต่ด้านหลักแล้วนี่ก็เป็นเพราะพวกเขาเชื่อเรื่องชะตาลิขิตของพระผู้เป็น เจ้า และปฏิเสธความคิดเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ในนามข้ออ้างว่าเราล้วนตกเป็นทาสของบาปและจะได้รับการปลดปล่อย ให้เป็นไทก็แต่โดยพระกรุณาธิคุณอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

 

คำถาม: แล้วความคิดเสรีภาพแบบนีโอโมันพัฒนาขึ้นอย่างไรในอังกฤษ?  มันใช่ความคิดเกี่ยวกับโรมประเภทที่เชคสเปียร์ (วิลเลียม เชคสเปียร์, เอกอัครมหากวีและนักแต่งบทละครชาวอังกฤษ ค.ศ. ๑๕๖๔ - ๑๖๑๖) น่าจะรับรู้และนำเสนอหรือ เปล่า?

ควินติน สกินเนอร์: เชคสเปียร์พูดเอาไว้มากทีเดียวในบรรดาละครเกี่ยวกับโรมของเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง จูเลียส ซีซาร์ เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ว่าถ้าหากสังคมการเมืองหนึ่งตกอยู่ภายใต้เจตจำนงของบุคคลคนเดียว มันก็จะกลายเป็นทาส เหมือนดังที่บุคคลทั้งหลายกลายเป็นทาสหากต้องขึ้นต่อมูลนาย  เมื่อบรูตุสกล่าวแถลงกับชนชั้นล่างของโรมในองค์ที่ ๓ ของละคร จูเลียส ซีซาร์ นั้น เขาให้เหตุผลความชอบธรรมที่ต้องลอบสังหารซีซาร์ว่ามรณกรรมของซีซาร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อ ธำรงกรุงโรมไว้ให้เสรีต่อไปและป้องกันไม่ให้พลเมืองของโรมกลายเป็นทาส

 

คำถาม: แนวคิดเสรีภาพแบบนีโอโรมันโดดเด่นขึ้นมาระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษแห่งคริสต์ทศวรรษที่ ๑๖๔๐ ใช่ไหมครับ?  มิลตัน (จอห์น มิลตัน, กวีเอก นักปราชญ์และข้าราชการชาวอังกฤษในสมัยการปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ผู้นำในการปฏิวัติโค่นระบอบกษัตริย์และสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง, ค.ศ. ๑๖๐๐ - ๑๖๔๙) พัฒนา ความคิดของเขาล้อมรอบแนวคิดการเมืองที่ต่อต้านระบบทาสมิใช่หรือครับ?

ควินติน สกินเนอร์: ใช่ครับ จอห์น มิลตันนำเสนอทรรศนะแบบนีโอโรมันล้วน ๆ เกี่ยวกับเสรีภาพและรัฐเสรีทั้งหลายใน ข้อเขียนหลักเกี่ยวกับการเมืองทั้งสองชิ้นของเขาที่ตีพิมพ์หลังการสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง  ในงานเรื่อง การครอง ราชย์ครองตำแหน่งของท้าวพระยามหากษัตริย์ (ค.ศ. ๑๖๔๙) เขาเถียงว่าเว้นเสียแต่ว่าประชาชนจะสามารถปกครองตน เองได้แล้ว พวกเขาก็จะต้องอยู่เยี่ยงทาสร่ำไป เนื่องจากพวกเขาจะต้องอยู่ภายใต้เจตจำนงของผู้อื่น  ในช่วงจวนจะฟื้นฟู ระบอบกษัตริย์ เขาก็ตีพิมพ์งานเรื่อง วิธีการพร้อมทำได้และง่ายดายในการสถาปนาจักรภพเสรี (ค.ศ. ๑๖๖๐) ซึ่งเขาเสนอ ว่าระบอบกษัตริย์เป็นรูปแบบการปกครองที่เอาคนลงเป็นทาส  ข้อถกเถียงของเขาคือขึ้นชื่อว่ากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งอำนาจ พิเศษเสมอ และอำนาจเยี่ยงนั้นย่อมเป็นอำนาจดุลพินิจโดยนิยาม  แต่การดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ดุลพินิจของคนอื่นนั้นก็คือ ความหมายของการอยู่อย่างทาสนั่นเอง  ดังนั้นในงานเขียนทั้งสองชิ้นเขาจึงเรียกร้องผลักดันให้ประชาชนรักษาอำนาจไว้ ในมือตัวเองในฐานที่เป็นวิถีทางเดียวที่จะธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพทางการเมืองของตน

 

คำถาม: ฮ๊อบส์ (โธมัส ฮ๊อบส์, นักปรัชญาการเมืองเสรีนิยมสมัยใหม่ชาวอังกฤษผู้สร้างทฤษฎีสัญญาประชาคมสนับสนุน ให้ความชอบธรรมแก่องค์อธิปัตย์แห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. ๑๕๘๘ - ๑๖๗๙) คัดค้านทรรศนะเรื่องเสรีภาพ แบบมหาชนรัฐโรมันมิใช่หรือครับ?  เขานำเสนอทรรศนะเรื่องเสรีภาพแบบใดที่แตกต่างออกไป?  เขากำลังอ้างอิง ธรรมเนียมเสรีภาพที่ผิดแผกแปลกต่างออกไปมาใช้ หรือว่าเขากำลังพัฒนาความคิดของตนขึ้นมาผ่านวิวาทะ ในทำนอง ด้นมันขึ้นมาใหม่จากข้อถกเถียงอะไรก็ตามแต่ที่เถียงชนะในตอนนั้น?

ควินติน สกินเนอร์: ฮ๊อบส์เปลี่ยนใจเรื่องธรรมชาติของเสรีภาพทางการเมือง  เมื่อเขาเผยแพร่อรรถกถาการเมืองเล่มแรก ของเราเรื่อง เชื้อมูลของกฎหมาย ในปี ค.ศ. ๑๖๔๐ เขายังยอมรับทรรศนะคลาสสิกว่าปัจเจกบุคคลย่อมไม่เสรีหากพวกเขา ขึ้นต่อเจตจำนงของผู้อื่น  อย่างไรก็ตามเขาเถียงว่าเพื่อค้ำประกันสันติภาพและป้องกันไม่ให้หวนกลับไปสู่ภาวะธรรมชาติ ซึ่งเขาถือว่าเท่ากับภาวะสงครามนั้นอีก มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องก่อตั้งรูปแบบสิทธิอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณาญาสิทธิ์ ซึ่งเราสยบยอมขึ้นมา  แต่เขาเห็นด้วยว่าถ้าคุณสยบยอมต่อเจตจำนงขององค์อธิปัตย์แบบนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่าคุณยอม สละเสรีภาพอันประกอบไปด้วยการไม่สยบยอมและไม่ขึ้นต่อใด ๆ ในแบบนั้น  ในขั้นนี้คำตอบของเขาคือถ้าสิ่งที่คุณ    ต้องการคือสันติภาพแล้ว คุณก็ต้องยอมสละเสรีภาพ  แต่ครั้งเขาพิมพ์งานการเมืองชิ้นถัดไปของเขาเรื่อง De cive ในปี ค.ศ. ๑๖๔๒ เขาก็เปลี่ยนใจไปแล้ว  ตอนนี้เขาเถียงใหม่ว่าในการสถาปนาอำนาจอธิปไตยขึ้นนั้น เราไม่จำต้องสละเสรี- ภาพของเรา และเขาชี้แจงประเด็นนี้โดยเถียงว่าทุกคนล้วนแต่เข้าใจลักษณะที่แท้ของเสรีภาพส่วนบุคคลผิดทั้งสิ้น  มา คราวนี้เขายืนยันว่าเสรีภาพส่วนบุคคลหาได้อยู่ตรงเป็นอิสระจากเจตจำนงของผู้อื่นไม่ แต่อยู่ตรงไม่ถูกขัดขวางมิให้ กระทำการอย่างที่เราต้องการแค่นั้นเอง  เสรีภาพไม่ใช่การไม่ต้องขึ้นต่อใคร มันเป็นแค่การไม่มีอุปสรรคภายนอกมากีด ขวางการเคลื่อนไหวเท่านั้นแหละ  ทรรศนะที่ว่านี้หยั่งยึดอยู่ในความเชื่อพื้นฐานของฮ๊อบส์ที่ว่าไม่มีอะไรจริงในโลกนี้นอก จากวัตถุที่เคลื่อนที่  ด้วยภววิทยาดังกล่าว เขาจึงยึดมั่นถือมั่นทรรศนะที่ว่านัยเดียวที่เราจะเข้าใจความคิดเรื่องเสรีภาพ ของมนุษย์ได้ก็คือการคิดว่ามันเป็นเสรีภาพของสิ่งต่าง ๆ ที่จะเคลื่อนไหวนั่นเอง  ตามนัยนี้ คุณจึงไม่เสรีถ้าหากการเคลื่อน ไหวของคุณถูกสกัดขัดขวางโดยสิ่งกีดขวางภายนอก แต่คุณเสรีถ้าหากคุณสามารถเคลื่อนไหวได้โดยไม่ถูกขัดขวาง

 

คำถาม: ถ้างั้นฮ๊อบส์ก็คิดว่าผู้คนยังเสรีต่อให้อยู่ภายใต้กฎหมายที่บังคับขับไสที่สุดก็ตามน่ะซีครับ  เขาเถียงแบบนั้นได้ อย่างไรในเมื่อดูผิวเผินแล้วมันฟังไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่เลย?

 

ควินติน สกินเนอร์: ข้อถกเถียงของฮ๊อบส์เกี่ยวกับกฎหมายและเสรีภาพ ซึ่งเขาพัฒนาคลี่คลายมันออกไปอย่างสมบูรณ์ที่ สุดในบทที่ ๒๑ ของ เลอเวียธัน ชื่อ “ว่าด้วยเสรีภาพของคนในบังคับ” นั้นพึ่งพิงทรรศนะของเขาว่ากฎหมายทำงานอย่างไร  เขายืนกรานซึ่งแน่นอนว่าฟังขึ้นว่าเหตุผลหลักที่ทำไมผู้คนเชื่อฟังทำตามกฎหมายก็เพราะพวกเขาหวาดวิตกผลลัพธ์ที่จะ เกิดขึ้นหากขัดขืนมากกว่า  แต่ก็อย่างที่เขาเถียงตอนนี้แหละครับว่าความกลัวหาได้พรากเสรีภาพไปไม่  ตามนิยามใหม่ ของฮ๊อบส์นั้น เสรีภาพถูกพรากไปได้ก็แต่โดยสิ่งกีดขวางทางกายภาพภายนอกต่อการเคลื่อนไหวเท่านั้น  แต่ความกลัวไม่ ใช่สิ่งกีดขวางภายนอกนี่นา  ตรงกันข้าม ความกลัวเป็นแรงขับดันในใจและเป็นแรงขับดันที่โดยทั่วไปมักผลักดันให้เรา เชื่อฟังทำตามด้วย  ฉะนั้นเขาจึงยืนยันว่าเมื่อเราเชื่อฟังทำตามกฎหมาย เราทำโดยเสรีเสมอนั่นแหละ และเราก็เสรีที่จะ ขัดขืนเสมอด้วย  ผมเห็นด้วยว่าหะแรกข้อถกเถียงนี้ฟังไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ แต่หากคุณหวนระลึกว่าฮ๊อบส์นิยามเสรีภาพ ของมนุษย์อย่างไรแล้ว คุณก็พอจะเห็นได้ว่าอย่างน้อยมันก็คงเส้นคงวาโดยตลอดทีเดียว

 

คำถาม: ทำไมฮ๊อบส์ถึงคัดค้านแนวคิดโรมันขนาดนั้น?  ใช่ไหมว่าเขาต้องการสันติภาพไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไร หรือว่า เขาไม่ชอบพวกสมาชิกรัฐสภาโดยส่วนตัว?

 

ควินติน สกินเนอร์: เราก็ได้แต่คาดเดาล่ะนะครับ แต่ผมมีภาพประทับใจว่าฮ๊อบส์กังวลว่าจะมีการตั้งข้อเรียกร้องในนาม ของเสรีภาพกันเตลิดเปิดเปิงไปไกลถึงขนาดไหนหากแม้นทฤษฎีแบบนีโอโรมันไม่ถูกใครท้าทาย  ทฤษฎีนีโอโรมันมีนัยสืบ เนื่องที่สำคัญและชัดเจนยิ่งว่าคุณอาจจะไม่เสรีก็ได้ต่อให้ไม่มีภัยคุกคามที่จะบังคับขับไสอันใดอยู่เลยก็ตาม  ทั้งนี้ก็เพราะ หากคุณดำรงชีวิตอยู่โดยพึ่งพาความประสงค์ดีของคนอื่นแล้ว แน่นอนเลยว่าคุณจะเซ็นเซ่อร์ตัวเองโดยหวังว่าจะได้ไม่หา เรื่องเดือดร้อนใส่ตัว  แต่นี่จะส่งผลจำกัดเสรีภาพของคุณเอง  อย่างไรก็ตามการจำกัดเสรีภาพที่ว่านี้เกิดจากสถานะของ คุณในความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเท่านั้นเอง หาได้จำเป็นจะต้องเกิดจากการกระทำบังคับขับไสใด ๆ ของเขาไม่  ฉะนั้น เพื่อประกันเสรีภาพของคุณให้มั่นคง สิ่งที่จะต้องช่วงชิงให้ได้มาก็คือเสรีภาพของคุณจากการพึ่งพาขึ้นต่อใด ๆ ทำนองนั้น  แต่นั่นมันเป็นการเรียกร้องสูงมากจากรัฐ และดูเหมือนฮ๊อบส์จะรู้สึกว่านั่นเป็นการเรียกร้องเกินเลยไป  ผมคิดว่าอีกเหตุ ผลหนึ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกันที่ทำให้ฮ๊อบส์เป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดนีโอโรมันได้แก่ความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเขาที่จะ  พิสูจน์ความถูกต้องของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวนกระแสพวกนิยมสาธารณรัฐในยุคของเขา  ดังที่เราได้เห็นมา แล้วว่าในมือของนักเขียนอย่างมิลตันนั้น ระบอบกษัตริย์ถูกตราหน้าว่าเป็นแหล่งที่มาของการตกเป็นทาสอย่างมิอาจ หลีกเลี่ยงได้  ฮ๊อบส์อยากปกป้องระบอบกษัตริย์ในฐานรูปแบบการปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเขาจึงต้องปัด ปฏิเสธทรรศนะที่ก่อนนี้เขาเคยสมาทานที่ว่าการพึ่งพาขึ้นต่อโดยตัวมันเองพรากเสรีภาพไป

 

คำถาม: กระนั้นแล้วหลังช่วงนี้ เกิดอะไรขึ้นกับเสรีภาพสองชนิดนั้นหรือครับ? ผมคะเนถูกใช่ไหมว่าล็อค (จอห์น ล็อค, นักปรัชญาการเมืองเสรีนิยมคลาสสิกชาวอังกฤษและนักคิดยุครู้แจ้งที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่ง ทฤษฎีสัญญาประชาคม ของเขาส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อแนวคิดมหาชนรัฐคลาสสิกและการเมืองเสรีนิยม ค.ศ. ๑๖๓๒ - ๑๗๐๔) มอง เรื่องเสรีภาพค่อนไปทางฮ๊อบส์มากหน่อยและรุสโซ (จัง-จ๊าค รุสโซ นักปรัชญาการเมืองประชาธิปไตยชาวนครเจนีวา แนว คิดการเมืองของเขามีอิทธิพลสูงต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสและสังคมการเมืองสมัยใหม่ ค.ศ. ๑๗๑๒ - ๑๗๗๘) คิดเห็นออกไป ทางโรมันมากกว่า?

ควินติน สกินเนอร์: ทรรศนะของฮ๊อบส์ไม่ได้เป็นที่ยอมรับนับถือในวาทกรรมการเมืองภาษาอังกฤษโดยทันทีทันใด หรอกนะครับ  ตรงกันข้าม มีอะไรในทำนองปฏิกิริยาต่อต้านมันด้วยซ้ำ  ล็อคยังคงยืนกรานต่อไปว่าอำนาจตามอำเภอใจ พรากเสรีภาพไป  อันที่จริงคำกล่าวอ้างนี้เป็นฐานข้อถกเถียงหลักที่เขาใช้พัฒนาทรรศนะเกี่ยวกับสิทธิในการต่อต้าน ระบอบทรราชย์ของเขาขึ้นมาทีเดียว  กว่าคำกล่าวอ้างของฮ๊อบส์ที่เป็นคู่แข่งว่าเสรีภาพไม่ได้อยู่ที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่อยู่ ที่ไม่มีอะไรกีดขวางต่างหากนั้น จะกลายมาเป็นความเชื่อสามัญที่ยอมรับกันทั่วไปในทฤษฎีการเมืองอังกฤษ ก็เมื่อลัทธิ ประโยชน์นิยมคลาสสิกรุ่งเรืองขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ แล้ว  ฮูม (เดวิด ฮูม, นักปรัชญา ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และนักเขียนความเรียงชาวสก๊อต มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวยุครู้แจ้งของสก๊อตและปรัชญาตะวันตกโดยทั่วไป เป็นที่รู้จักในฐานะตัวแทนปรัชญาประสบการณ์นิยมและกังขาคติ, ค.ศ. ๑๗๑๑ - ๑๗๗๖) ได้เย้ยหยันแนวคิดที่ว่าการ พึ่งพาโดยตัวมันเองพรากเสรีภาพไปเอาไว้ในความเรียงของเขาหลายชิ้น และพอถึงกรณีเบนแธมและพาเลย์ตอนปลาย คริสต์ศตวรรษนั้น (เจเรมี เบนแธม, นักปรัชญา นิติศาสตร์และนักปฏิรูปสังคมชาวอังกฤษ ถือเป็นผู้ก่อตั้งลัทธิประโยชน์ นิยมสมัยใหม่ ค.ศ. ๑๗๔๘ - ๑๘๓๒; วิลเลียม พาเลย์, นักปรัชญาประโยชน์นิยมและนักเทววิทยาคริสเตียนชาวอังกฤษ ค.ศ. ๑๗๔๓ - ๑๘๐๕) คุณก็จะพบถ้อยแถลงแสดงทรรศนะอย่างชัดแจ้งว่าเราเสรีตราบที่ไม่มีใครก้าวก่ายแทรกแซง การใช้กำลังอำนาจด้านต่าง ๆ ของเรา  โดยเปรียบต่างกัน รุสโซกลับเป็นนักเขียนชั้นนำที่ยังคงยืนกรานทรรศนะเรื่อง เสรีภาพแบบโรมันต่อไปอย่างที่คุณว่าจริง ๆ สำหรับรุสโซแล้ว คุณไม่มีวันจะอ้างได้ว่าเสรีถ้าหากคุณขึ้นต่อเจตจำนงของ คนอื่นไม่ว่าใคร  รุสโซหมกมุ่นอยู่กับความสำคัญของการรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระของเราและหลีกเลี่ยงการสยบสมยอม ซึ่งเขาเห็นอยู่รายรอบตัวเต็มไปหมด

 

คำถาม: แล้วมาร์กซ (คาร์ล มาร์กซ ปัญญาชนปฏิวัติชาวเยอรมันเชื้อสายยิวผู้ร่วมกับเฟดเดอริค เองเกลส์ก่อตั้งลัทธิและ ขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ค.ศ. ๑๘๑๘ - ๑๘๘๓) จะตระหนักถึงความแตกต่างเป็นเอกเทศระหว่างเสรีภาพแบบโรมัน กับเสรีภาพแบบฮ๊อบส์ไหมครับ? ตกลงแล้วเขาเข้าข้างหรือน่าจะเข้าข้างฮ๊อบส์หรือแนวคิดแบบโรมันกันแน่?

ควินติน สกินเนอร์: นี่เป็นคำถามที่น่าจะถูกสอบสวนค้นคว้ายิ่งกว่าที่เคยทำกันมาอีกเป็นอันมาก  ผมเองรู้สึกตื่นใจที่ มาร์กซใช้ศัพท์แสงการเมืองนีโอโรมันในแบบของเขาเองมากขนาดนั้น  เขาพูดถึงทาสรับจ้างและเผด็จการของชนชั้น กรรมาชีพ  เขายืนกรานว่าถ้าคุณมีแค่เสรีภาพที่จะขายแรงงานของคุณละก็ คุณก็ไม่เสรีเลยแม้แต่น้อย  เขาตราหน้า ทุนนิยมว่าเป็นรูปแบบความเป็นข้าทาสอย่างหนึ่ง  ทั้งหลายทั้งปวงนี้อ่านแล้วก็รู้เลยว่าเป็นการยึดมั่นถือมั่นคติ ศีลธรรมแบบนีโอโรมัน

 

คำถาม: ดูเหมือนความแตกต่างเป็นเอกเทศระหว่างความคิดเรื่องเสรีภาพสองแนวนี้จะสำคัญยิ่งและอาจช่วยอธิบายได้ ว่าทำไมแนวคิดมหาชนรัฐจึงดูจะปรองดองรองรับทรรศนะการเมืองได้กว้างขวางมากมายขนาดนั้น จากอำนาจนิยมสุด โต่งในนามของเสรีภาพไปจนถึงลัทธิรวมหมู่หรือเปล่าครับ?  อาการตาบอดทางประวัติศาสตร์ของเราเป็นตัวกีดขวางความ สามารถที่เราจะเข้าใจกระแสแนวคิดหลายหลากมากมายที่พาดผ่านตัดกันไปมาในสถานการณ์ร่วมสมัยของเราใช่ไหม?  ผมเดาว่าประเด็นตรงนี้ได้แก่เรื่องบทบาทของประวัติศาสตร์และการมีมุมมองเชิงประวัติศาสตร์น่ะครับ

ควินติน สกินเนอร์: ตัวผมเองไม่ผูกโยงทฤษฎีนีโอโรมันต่าง ๆ เข้ากับสิ่งที่คุณเรียกว่าลัทธิอำนาจนิยมในนามของเสรีภาพ หรอกนะครับ  ในสายตาผมแล้ว โดยทั่วไปดูเหมือนลัทธิอำนาจนิยมแบบนั้นจะบังเกิดขึ้นจากฐานคติที่ว่ามีเป้าหมาย ปลายทางที่แท้จริงบางอย่างสำหรับมนุษยชาติ และเสรีภาพก็ประกอบไปด้วยการเดินตามเป้าหมายปลายทางที่ว่านั้น  ตัว อย่างหนึ่งคงได้แก่ความเชื่อแบบอริสโตเติ้ล (นักปรัชญาและสัพพัญญูชาวกรีก ศิษย์คนหนึ่งของเพลโตและครูของพระเจ้า อเล็กซานเดอร์มหาราช หนึ่งในสามผู้ก่อตั้งปรัชญาตะวันตกร่วมกับโสเครติสและเพลโต ๓๘๔ - ๓๒๒ ปีก่อนคริสต์กาล) ที่ ว่าเสรีภาพของเราจะประจักษ์เป็นจริงได้ดีที่สุดโดยการรับใช้ชุมชน  อีกตัวอย่างน่าจะได้แก่ความเชื่อแบบคริสต์ศาสนาที่ เป็นคู่แข่งกันที่ว่าเราบรรลุเสรีภาพที่แท้ (“เสรีภาพแบบคริสเตียน”) ได้ก็แต่โดยการรับใช้พระเจ้าเท่านั้น  ข้อถกเถียงที่เป็น ปฏิทรรศน์เหล่านี้ซึ่งเชื่อมโยงเสรีภาพเข้ากับการรับใช้แตกต่างจากแก่นอุดมคตินีโอโรมันที่ว่าเสรีภาพอยู่ตรงเป็นอิสระจากเจตจำนงตามอำเภอใจของผู้อื่น  ไม่จำเป็นที่ความปรารถนาที่จะเป็นอิสระจากอำนาจดุลพินิจดังกล่าวจะต้องเป็นผลของ ความเชื่อที่ว่าเราสมควรดำเนินการใช้อิสรภาพของเราไปทำการในลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งอย่างใด  ทฤษฎีนีโอโรมันไม่ สนใจที่จะบอกคุณว่าคุณควรใช้เสรีภาพของคุณอย่างไร  มันแค่ต้องการให้คุณสมาทานทรรศนะเฉพาะเจาะจงบางอย่าง ว่าควรเข้าใจเสรีภาพเช่นใดเท่านั้น 

 

ผมเห็นด้วยกับคุณอย่างยิ่งเมื่อคุณพูดเรื่องอาการตาบอดทางประวัติศาสตร์ของเราทุกวันนี้  ผมคิดว่าเราได้ปิดกั้นตัวเรา เองจากการเข้าใจประวัติศาสตร์ของเราตั้งมากมายโดยมองไม่เห็นว่าจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เองแนวทรรศนะเรื่องเสรี ภาพเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปในลักษณะที่เดี๋ยวนี้เราไม่คุ้นชินหรือแม้แต่ยากที่จะเข้าใจ  เรามักคิดถึงเสรีภาพว่าโดยแก่นแท้ แล้วมันเป็นเรื่องภาคแสดงของการกระทำต่าง ๆ  ทว่าธรรมเนียมแต่ก่อนกลับถือว่าโดยแก่นแท้แล้วเสรีภาพเป็นชื่อเรียก ฐานภาพอย่างหนึ่ง อันได้แก่ฐานภาพของบุคคลเสรีที่เปรียบต่างจากทาส

 

ผมขอปิดท้ายโดยคิดตามกระแสความคิดสุดท้ายของคุณดู  ผมเชื่อว่ามีความหมายนัยอย่างหนึ่งอยู่แน่ ๆ ที่เราไม่เข้าใจ ลักษณะบางประการของสถานการณ์ร่วมสมัยของเราเนื่องจากเราไม่ได้ยึดกุมวิธีคิดเรื่องเสรีภาพแบบนีโอโรมัน  สำหรับ นักคิดนีโอโรมันแล้ว สถานการณ์หลายอย่างซึ่งในสังคมตลาดถือว่าเสรีหรือแม้กระทั่งเป็นแม่บทกระบวนทัศน์ของความ เป็นเสรี จะดูเหมือนตัวอย่างของการตกเป็นข้าทาสในสายตาของพวกเขา  ชะตากรรมของแรงงานที่ไม่ได้รวมตัวกันเป็น สหภาพ ของบรรดาผู้ดำรงชีวิตในสภาพต้องพึ่งพาคนอื่นทางเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ต้องอยู่อย่างพึ่งพา คู่ชีวิตที่ชอบใช้ความรุนแรง รวมทั้งของพลเมืองทั้งหมดโดยรวมซึ่งสมัชชาผู้แทนของตนได้สูญเสียอำนาจไปให้กับฝ่าย บริหารนั้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้จะดูเหมือนตัวอย่างของการถูกทำให้ต้องอยู่อย่างข้าทาสในสายตาของนักทฤษฎีนีโอโรมัน

 

คำถาม: ในบรรดาสิ่งที่คุณขึ้นบัญชีว่าเป็นภัยคุกคามเสรีภาพนั้น มีทั้งสภาพพึ่งพาทางเศรษฐกิจของแรงงานซึ่งไม่ได้จัดตั้ง เป็นสหภาพ, บทบาทของความรุนแรงแบบทรราชย์ในครอบครัว, และอาการที่รัฐสภาตกเป็นเบี้ยล่างอำนาจบริหารที่ไม่ได้ มาจากการเลือกตั้ง แต่คุณไม่ยักเอ่ยถึงอำนาจบรรษัทที่รุ่งเรืองขึ้นมาด้วย  คุณเห็นว่าตลาดเสรีจำเป็นอย่างยิ่งต่อเสรีภาพ ในความหมายเต็มสมบูรณ์ที่คุณป่าวร้องสนับสนุนอย่างนั้นหรือ?

ควินติน สกินเนอร์: ในสายตาผม อำนาจของบรรษัททั้งหลายดูจะสามารถคุกคามเสรีภาพอย่างร้ายแรงโดยเฉพาะอย่าง ยิ่งโดยผ่านสมรรถนะของบรรษัทเหล่านี้ในการกดดันรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐกำลังพัฒนา  สมมุติว่าบรรษัทแห่งหนึ่ง อยากลงทุนในประเทศหนึ่งแต่พบว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อมหรือกฎระเบียบเรื่องแรงงานของประเทศนั้นเรียกร้องสูงเกินไป จนไม่สะดวก  มันง่ายมากที่บรรษัทดังกล่าวจะกดดันรัฐบาลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีรัฐกำลังพัฒนาทั้งหลาย ให้ยกเว้นบรรษัทตัวเองจากกฎระเบียบเหล่านี้  ไม่ต้องถึงขั้นออกปากคุกคามว่าจะไม่ลงทุนหากไม่ได้อภิสิทธิ์พิเศษเหล่านี้ หรอก  แค่รัฐบาลตระหนักว่าอาจเสียการลงทุนไปได้เว้นแต่ยอมให้อภิสิทธิ์พิเศษเหล่านี้ก็เพียงพอจะทำให้รัฐบาลยอม ตามแล้ว  พูดอีกอย่างก็คือรัฐบาลตกอยู่ใต้พันธะผูกมัดกะเกณฑ์ให้ต้องประพฤติตัวแบบสยบยอมในลักษณะที่อาจไม่ เป็นประชาธิปไตยอีกด้วยในเมื่อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งบรรดาผู้แทนประชาชนได้แสดงความเห็นชอบไว้อาจต้องถูกเพิกเฉย ละเลยไป  นี่ไม่ได้เป็นปัญหาแต่กับกรณีอำนาจของบรรษัทข้ามชาติในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐกำลังพัฒนาเท่านั้น  ลอง นึกถึงการยกเว้นภาษีต่าง ๆ ที่บรรดาบรรษัทข้ามชาติได้รับในประเทศนี้สิ (อังกฤษ) รวมทั้งการเปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่ามีการ ปล่อยให้บางบรรษัทยังกับไม่ต้องจ่ายภาษีบรรษัทเลยก็ได้ด้วยซ้ำ

 

คำถาม: การเปิดโปงเมื่อเร็ว ๆ นี้ทำให้เห็นชัดว่าหน่วยงานข่าวกรองของรัฐที่เชื่อมผนึกกับบรรษัทชำนาญเฉพาะทางกำลัง พยายามเข้ามา “เป็นนายเหนืออินเทอร์เน็ต” หรือได้เข้ามาเป็นเรียบร้อยแล้วอย่างแน่นอน  อีกทั้งได้จัดทำแผนที่และ บันทึกเมตาดาต้าของเราทั้งหมด (Metadata หรือ “อภิข้อมูล” หมายถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกจัดโครงสร้างมาแล้ว ซึ่ง พรรณนา, อธิบาย, ระบุตำแหน่งที่ตั้งหรืออื่น ๆ ที่ทำให้สามารถเรียกคืน, ใช้ หรือจัดการแหล่งข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น จึง มักเรียก Metadata ว่า “ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูล” หรือ “ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร”) แกะรอยความสัมพันธ์อิเล็ก- ทรอนิกส์, การค้นเว็บ, สนทนาผ่านสไกป์, และการส่งข้อความทุกชิ้นทุกอันที่เราทำ  ปรากฏว่าปฏิกิริยาสนองตอบต่อเรื่อง นี้โดยทั่วไปจากสื่อมวลชนอังกฤษทุกฝ่ายทุกแขนงตั้งแต่บีบีซี หนังสือพิมพ์เดลีเทเลกราฟ ไปจนถึงสิ่งพิมพ์ในเครือของ เมอร์ดอค (หมายถึง คีธ รูเพิร์ต เมอร์ดอค เจ้าพ่อสื่อมวลชนอเมริกันเชื้อสายออสเตรเลีย เป็นผู้ก่อตั้ง ประธานและหัวหน้า เจ้าหน้าที่ บริหารของบริษัท News Corp และ 21st Century Fox ซึ่งรวมกันแล้วนับเป็นเครือธุรกิจสื่อมวลชนใหญ่ที่สุด อันดับสองของโลก) ก็คือ “คุณจะคาดหวังให้เป็นอื่นไปได้อย่างไร? ทุกคนก็ทำกันอย่างนี้ทั้งนั้น ว่าแต่คุณน่ะมีอะไรจะซุก ซ่อนรึ?” ข้อถกเถียงของคุณจะกระทบกับประเด็นปัญหาการเฝ้าสอดส่องติดตามนี้อย่างไรบ้างครับ?

ควินติน สกินเนอร์: ความคิดที่ว่าไอ้การเฝ้าสอดส่องติดตามนี่มันไม่เป็นปัญหาอะไรหรอกตราบเท่าที่คุณไม่มีอะไรจะซุก ซ่อนน่ะมันก็เพียงแต่ชี้ให้เห็นความหลงพึงพอใจในตนเองของทรรศนะเรื่องเสรีภาพแบบเสรีนิยมเมื่อนำไปเปรียบตัดกับ ทรรศนะแบบมหาชนรัฐนั่นเอง  พวกเสรีนิยมคิดว่าคุณเสรีตราบเท่าที่คุณไม่ถูกบังคับขับไส  แน่ล่ะว่าพวกมหาชนรัฐเห็น ด้วยว่าถ้าหากคุณถูกบังคับขับไสละก็ คุณย่อมไม่เสรี  แต่สำหรับพวกมหาชนรัฐแล้ว เสรีภาพไม่ได้อยู่ตรงแค่เสรีจากการ ถูกบังคับขับไสในแง่ที่เกี่ยวกับการกระทำบางอย่างเท่านั้น หากอยู่ตรงเสรีจากความเป็นไปได้ของการถูกบังคับขับไสในแง่ ที่เกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวมากกว่า

 

เมื่อวิลเลียม เฮก (รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษคนปัจจุบัน) บอกสภาสามัญว่าไม่มีใครต้องกลัวอะไรตราบเท่าที่พวกเขา ไม่ได้ทำอะไรผิดนั้น เขากำลังหลงประเด็นสำคัญขั้นอุกฤษฏ์เกี่ยวกับเสรีภาพเลยทีเดียว  เพื่อจะอยู่อย่างเสรี ไม่เพียงแต่ เราไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแทรกแซงเท่านั้น แต่เราพึงไม่ต้องกลัวว่าจะสามารถเกิดการแทรกแซงขึ้นได้ด้วย  แต่ความมั่นใจ ประการหลังนี้แหละที่ไม่มีใครสามารถให้ได้ถ้าหากการกระทำของเราตกอยู่ใต้การเฝ้าสอดส่องติดตาม  ตราบเท่าที่มีการ เฝ้าสอดส่องติดตามอยู่ เสรีภาพในการกระทำของเราก็สามารถถูกจำกัดได้เสมอถ้าเกิดใครบางคนเลือกที่จะจำกัดมัน  ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาอาจไม่เลือกที่จะจำกัดเราเช่นนั้นก็หาได้ทำให้เราไม่เสรีน้อยลงแต่ประการใดไม่ ทั้งนี้เพราะเราไม่ได้ ปลอดพ้นจากการเฝ้าสอดส่องติดตามและความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้มันเล่นงานเรา  จนกว่าเราปลอดพ้นจากความเป็น ไปได้ที่สิทธิของเราจะถูกล่วงล้ำดังกล่าวนี้เท่านั้น เราถึงจะเสรี  และเสรีภาพที่ว่านี้จะได้รับการค้ำประกันก็ต่อเมื่อปราศจาก การเฝ้าสอดส่องติดตามเท่านั้น

ผมคิดว่ามันสำคัญที่ข้อเท็จจริงแค่ว่ามีการเฝ้าสอดส่องติดตามเพียงเท่านั้นก็พรากเสรีภาพไปจากเราแล้ว  ในสายตาผม ที่ผ่านมาดูเหมือนปฏิกิริยาตอบโต้ของบรรดาผู้วิตกกังวลเรื่องการเฝ้าสอดส่องติดตามจะถูกผูกออกมาว่าเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวท่าเดียวมากเกินไป  มันจริงแท้แน่นอนล่ะครับว่าความเป็นส่วนตัวของผมถูกละเมิดถ้าใครบางคนอ่านอีเมล์ของผมโดยผมไม่รู้  แต่ประเด็นของผมคือเสรีภาพของผมก็กำลังถูกล่วงละเมิดไปด้วย และมันถูกล่วง ละเมิดไม่เพียงด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าใครบางคนกำลังอ่านอีเมล์ของผมเท่านั้น หากยังด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าใครบางคนมีอำนาจ ที่จะเปิดอีเมล์ของผมออกอ่านหากพวกเขาเลือกที่จะทำเช่นนั้นด้วย  เราจำต้องยืนกรานว่าสิ่งนี้โดยตัวมันเองก็พรากเอา เสรีภาพไปจากเราแล้วเพราะมันทอดทิ้งให้ชะตากรรมของเราขึ้นอยู่กับความเมตตาของอำนาจตามอำเภอใจ  มันเปล่า ประโยชน์ที่พวกที่ถือครองอำนาจนี้จะมาสัญยิงสัญญาว่าพวกเขาไม่จำเป็นจะต้องใช้อำนาจนี้ก็ได้ หรือจะใช้อำนาจนี้เพื่อ ประโยชน์สุขส่วนรวมเท่านั้น  สิ่งที่รุกล้ำก้าวร้าวต่อเสรีภาพก็คือการดำรงคงอยู่ของอำนาจตามอำเภอใจในลักษณะนี้ต่างหาก

สถานการณ์ยิ่งถูกทำให้เลวร้ายลงอีกมากเมื่อคุณรู้ดังที่พวกเราทุกคนรู้แล้วตอนนี้ว่าเอาเข้าจริงเราถูกเฝ้าสอดส่องติดตาม  มาบัดนี้มีอันตรายที่ว่าเราอาจเริ่มเซ็นเซ่อร์ตัวเองเบื้องหน้าข้อเท็จจริงที่รับรู้กันว่าเราอาจกำลังถูกเพ่งเล็งตรวจตราโดยพลัง ที่ทรงอำนาจและอาจกลายเป็นอริกับเราได้  ปัญหาไม่ใช่เรารู้ว่าจะเกิดบางอย่างขึ้นกับเราถ้าเราพูดบางสิ่งบางอย่างออก ไป  ปัญหาอยู่ตรงเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเราแน่ต่างหาก  บางทีอาจไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยก็ได้  แต่เราไม่รู้ไงและฉะนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้อย่างยิ่งเลยว่าเราจะหุบปากหรือเซ็นเซ่อร์ตัวเอง  แต่ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพ แม้กระทั่งในบรรทัดฐานแบบเสรีนิยมเอง  พวกเสรีนิยมกับพวกมหาชนรัฐน่าจะเห็นพ้องต้องกันได้แน่ ๆ ว่าถ้าหากโครงสร้างอำนาจเป็นไปในลักษณะที่ผมรู้สึกถูกผูกมัดเหนี่ยวรั้งให้ต้องจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของผมเองแล้วละก็ เสรีภาพของผมย่อมถูกบ่อนทำลายลงในระดับที่ว่านั้น

แน่นอนอาจมีการคัดค้านว่าเสรีภาพเป็นแค่คุณค่าอย่างหนึ่งเท่านั้น และบางทีก็อาจจะต้องยอมลดทอนเสรีภาพลงเพื่อเห็น แก่คุณค่าที่ถือว่าเหนือกว่าอย่างอื่น ๆ อาทิเช่นความมั่นคงปลอดภัย  คำตอบหนึ่งที่บอกได้ก็คือบางทีขณะนี้เราอาจจะยิน ยอมพร้อมใจเกินไปที่จะปล่อยให้คำถามเรื่องความมั่นคงปลอดภัยมีน้ำหนักเหนือกว่าคำถามเรื่องเสรีภาพ  แต่ต่อให้ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ว่านั้น ในสายตาผม สถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดูเหมือนไม่อาจปล่อยให้เกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย  เอาเป็นว่าเราเห็นตรงกันว่ามันเป็นพันธะหน้าที่ประการหนึ่งของรัฐอย่างไม่ต้องสงสัยที่จะต้องธำรงรักษา ความมั่นคง  เอาเป็นว่าเรายอมอ่อนข้อให้ด้วยว่านี่อาจเรียกร้องต้องการการเฝ้าสอดส่องติดตามในบางระดับ  แต่ถ้าอำนาจต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากความจำเป็นดังกล่าวข้างต้นจะถูกเอาไปใช้อย่างเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็จะต้องกำหนด ข้อจำกัดเหนี่ยวรั้งหลายอย่างหลายประการไว้คอยกำกับอำนาจที่ว่านั้นซึ่งตอนนี้ไม่มีอยู่สักข้อเลย  ตัวอย่างเช่นผู้คนควร ต้องรู้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนแม่นยำว่ากิจกรรมใดบ้างถูกเฝ้าสอดส่องติดตามและเพราะเหตุใด  และมีโทษทัณฑ์ประการใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดขึ้นได้  และการเฝ้าสอดส่องติดตามนั้นควรต้องมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งต้อง ตอบรับต่อรัฐสภา ไม่ใช่ต่อฝ่ายบริหารเท่านั้นซึ่งบ่อยครั้งเราไม่มีเหตุอันควรที่จะไว้ใจเอาเสียเลย

 

(บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก "Kasian Tejapira" ตั้งแต่วันที่ 1 - 10 ต.ค.ที่ผ่านมา)

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ปม ‘พล.ท.นันทเดช’ นำเสนอเกรดของ 7 นักศึกษา 'ดาวดิน' ระบุเกรดไม่ดี จวกไม่เคยคิดเรียน ‘เกษียร’ สวนชกเด็กใต้เข็มขัด ชี้ไม่ควรลืมว่า ‘Steve Jobs’ ก็เรียนไม่จบ ระบุสำหรับนักศึกษาที่ทำกิจกรรม การเรียนย่อมได้รับผลกระทบบ้างเป็นธรรมดา
เกษียร เตชะพีระ
ตอบกระทู้พันทิป หลังมีผู้เรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการให้ทุนการศึกษาต่างประเทศสำหรับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยยกตัวอย่าง ‘สมศักดิ์-วรเจตน์’
เกษียร เตชะพีระ
รายงานของ Freedom House ชี้ ปี 2014 เป็น “ปีที่หม่นหมองเป็นพิเศษ” เกิดการปะทุของการก่อการร้ายรุนแรงและยุทธวิธีที่ก้าวร้าวทั่วโลก ระบุตะวันออกกลางสูญเสียเสรีภาพชัดเจนสุด พร้อมฟันธงว่าความผิดพลาดใหญ่ที่สุดที่ระบอบประชาธิปไตยจะทำลงไปคือการยอมรับความคิดว่าไม่มีปัญญาจะทำอะไรได้เมื่อเผชิญกับจอมเผด็จการที่ใช้กำลังหรือข่มขู่คุกคาม กลับเป็นปุถุชนพลเมืองสามัญต่างหากผู้พร้อมจะลุกขึ้นมาท้าทายผู้ปกครองเหล่านี้
เกษียร เตชะพีระ
"มาตรา 10 ของ ร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ ขยายอำนาจการดักจับ แฮ็กบัญชี ยึดคอมพิวเตอร์ แฮ็กระบบ อันนี้คือขยายอำนาจของเจ้าหน้าที่ จากที่เคยต้องขอหมายศาล พรบ. แก้ใหม่ ไม่ต้องขอหมายศาล ทำได้เลย แล้วคนพวกนี้เป็นใคร ไม่รู้" จอห์น วิญญู กล่าวในรายงานเจาะข่าวตื้น ผมเห็นด้วยกับคุณจอห์น วิญญู และชอสนับสนุนด้วยข้อถกเถียงจากมุมมองหลักนิติธรรม (the rule of law) 
เกษียร เตชะพีระ
พม่าเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างในไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผ่อนคลายการจำกัดปิดกั้นสื่อมวลชนลง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง การลงทุนต่างชาติเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมากในกองทัพพม่า ปัจจุบันพม่ากำลังเตรียมการเลือกตั้งในปีใหม่นี้ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ทว่าน่าวิตกว่ากระบวนการปฏิรูปกำลังตกอยู่ในสภาพล่อแหลมต่ออันตราย
เกษียร เตชะพีระ
วิพากษ์ข้อเสนอหลักของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.หรือสังกัดพรรคการเมือง, ส.ส. มาจากระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม และส.ว.ไม่เกิน ๒๐๐ คนมาจากการแต่งตั้งและคัดสรร ไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ฯลฯ
เกษียร เตชะพีระ
รายงานล่าสุด ILO ชี้ค่าแรงยังต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในโลกยิ่งเพิ่ม, ค่าจ้างประเทศรวยสูงกว่าประเทศจน 3 เท่า, การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้คนตกงานเว้ยเฮ้ย! 
เกษียร เตชะพีระ
ความคิดเห็นต่อเนื่องจากกรณีที่เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ ถึงกรณีที่มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขียนโน้ตถึงอาจารย์ที่ปรึกษาให้ติดต่อกลับ  โดยระบุถึงสิ่งที่สำคัญมากกว่าในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือ ...
เกษียร เตชะพีระ
ในฐานะที่ "รัฐ" ตามคำนิยามของเวเบอร์ 1. สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง 2. โดยชอบธรรม และ 3 ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ
เกษียร เตชะพีระ
ข้อแนะนำถึงคสช.และรัฐบาล. คืนความปกติให้สังคมเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ลดมาตรการใช้อำนาจผิดปกติให้เหลือต่ำสุด ความแตกต่างขัดแย้งทางความคิดเห็นและผลประโยชน์ในสังคมพหุนิยมที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ
เกษียร เตชะพีระ
สำหรับผมและเพื่อนพ้อง “คนเดือนตุลา” จำนวนหนึ่ง รัฐประหาร ๒๒ พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจยิ่ง