Skip to main content
 
บทความ “A Sea of Dissent: nonviolent waves in China” ของ Michael Caster นักวิจัยและเคลื่อนไหวอิสระผู้เน้นศึกษาเรื่องความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเอเชีย ได้ประมวลข้อมูลและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวมวลชนระยะใกล้ในจีนไว้อย่างน่าสนใจ ผมขอนำมาเล่าต่อบางส่วนดังนี้ 
 
-ซุนหลินปิง นักสังคมวิทยาชาวจีน ประเมินว่าจำนวน “กรณีมวลชน” ทั่วประเทศจีนได้ทะลุเลย ๑๘๐,๐๐๐ ครั้งไปแล้วเฉพาะในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ มากกว่าสองเท่าของเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๖ เสียอีก
 
-ขณะเดียวกัน งบประมาณแผ่นดินจีนที่จัดสรรให้งานรักษาความมั่นคงภายในในปี ๒๐๑๓ ก็ขึ้นถึง ๑๒๔,๐๐๐ ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ สูงกว่างบประมาณทหารเพื่อป้องกันประเทศจากภัยภายนอกด้วยซ้ำไป
 
-เหตุแห่งความทุกข์ยากเดือดร้อนขัดแย้งจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวลุกฮือของมวลชนจีนมีหลายประการ เรียงตามลำดับจากหนักไปเบาได้ดังนี้: 
 
๑) การรื้อไล่บ้านช่องที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอย่างผิดกฎหมายเนื่องจากการพัฒนาและสร้างเมืองอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทุจริตฉ้อฉลหากำไรจากโครงการพัฒนาผิดกฎหมายและปราบปรามชาวบ้านที่ต่อต้านอย่างโหดร้าย คุมขังชาวบ้านโดยพลการ ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชน 
 
๒) การรุกล้ำยึดครองที่ดินและเอาเปรียบแรงงาน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด, แรงจูงใจให้ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว, สหภาพแรงงานถูกพรรคคุม ไม่เป็นอิสระ, คนงานอพยพจากชนบทกว่า ๒๕๐ ล้านคนมีสิทธิจำกัดเนื่องจากระบบหูโข่ว (ระบบจดทะเบียนภูมิลำเนาท้องถิ่น), ศาลตุลาการไม่เป็นอิสระ
 
เกี่ยวกับเหตุ ๒ ข้อแรกนี้ ขอขยายข้อมูลการวิเคราะห์ว่ารัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศจีนริบยึดที่ดินจากชาวบ้านชนบทโดยมิชอบราว ๓ – ๔ ล้านคนทุกปี, ทั่วประเทศมีชาวนาพลัดถิ่นด้วยเหตุนี้ราว ๕๐ ล้านคน, ๖๕% ของการประท้วงแต่ละปีก็เกิดจากเหตุนี้ สาเหตุเบื้องลึกเกิดจากรัฐบาลกลางยกเลิกภาษีเกษตรกรรมในปี ๒๐๐๖ รัฐบาลท้องถิ่นจึงหันไปหารายได้จากการขายที่ดินในท้องที่ให้นักพัฒนาอสังหาฯแทน จนรายได้จากการขายที่ดินอยู่ระหว่าง ๔๐ – ๗๔% ของรายได้รัฐบาลท้องถิ่นจีนทั้งหมด เมื่อประจวบกับรัฐบาลกลางเดินนโยบายลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯลงด้วยมาตรการการเงิน/ดอกเบี้ย ส่งผลกระทบให้รายได้รัฐบาลท้องถิ่นลดลง แต่ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกลับถูกประเมินผลงานจากการที่ตนกระตุ้น GDP ให้โตขึ้นได้เท่าไหร่ พวกเขาจึงหาทางออกโดยริบยึดที่ดินชาวบ้านไปขายให้นักพัฒนาฯโดยไม่จ่ายชดเชยชาวบ้านอย่างคุ้มค่าเป็นธรรมแทน
 
๓) การบอยคอตสินค้าแบบชาตินิยม มักพุ่งเป้าใส่ญี่ปุ่นเป็นหลัก
 
๔) ขาดเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะทางสื่อมวลชนและการเซ็นเซ่อร์ชุมชนพลเมืองเน็ตออนไลน์ ทำให้คนชั้นกลางจำนวนมากที่ไม่สนใจการเมืองมาก่อนได้รับผลกระทบแรงกระแทกจากรัฐอำนาจนิยมลิดรอนสิทธิเสรีภาพจนกลับตื่นตัวเป็นนักเคลื่อนไหวไป เช่น เฉพาะเดือนส.ค. – ก.ย. ศกนี้ ทางการก็ได้ระดมจับกุมและกักบริเวณพลเมืองเน็ตจีนไปแล้วกว่า ๔๐๐ คน
 
๕) ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขซึ่งกระทบคนวงกว้างและเป็นช่องให้เกิดการเคลื่อนไหวรณรงค์ได้ยั่งยืน
 
ยุทธวิธีเคลื่อนไหวรณรงค์ของมวลชน มีอาทิ:
 
-ทำหนังสือร้องทุกข์ต่อทางการ
-แขวนป้ายผ้าในที่สาธารณะ
-ออกคำแถลงและจดหมายเปิดผนึกลงชื่อเป็นบัญชีหางว่าว
-ปฏิบัติการรวมหมู่นานารูปแบบเช่น นัดหยุดงาน, นั่งประท้วง, ปิดถนน, เดินขบวน, เปิดโรงเรียนการเมือง ฯลฯ
-ไว้อาลัยหรือไปคำนับหลุมศพบุคคลมีชื่อเพื่อแสดงออกทางการเมือง, อดข้าวประท้วง, แต่งชุดแฟนซีการเมือง, แสดงละครการเมือง
-นักกฎหมาย/นักกิจกรรมปกป้องสิทธิ์ ซึ่งคอยปกป้องสิทธิของนักเคลื่อนไหวที่ถูกรัฐข่มเหงคุกคามรังแกควบคุมตัว โดยวางบทบาทการเคลื่อนไหวของตัวเองอยู่ในระบบสถาบันของทางการ ด้วยภาษาวาทกรรมของรัฐ/พรรคผู้ละเมิดสิทธินั้นเอง
 
ตัวอย่างการเคลื่อนไหวครั้งเด่น ๆ:
 
-๒๐๐๔ คนงานหญิง ๖,๐๐๐ คนประท้วงการแปรรูปโรงงานสิ่งทอที่มณฑลกวางตุ้งเป็นของเอกชน
-๒๐๐๔ ชาวบ้านหลายร้อยที่เป็นตัวแทนชาวบ้านทั้งหมดถึง ๑๕๐,๐๐๐ คนในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำฮันหยวน มณฑลเสฉวน รวมตัวกันประท้วงการบังคับขับไล่อพยพชาวบ้านและปิดถนนเข้าหลายหมู่บ้าน ตำรวจเข้าสลายการประท้วงยิงชาวบ้านตายไป ๑๗ คน บาดเจ็บ ๔๐ คน
-๖ มี.ค. ๒๐๐๖ คนงานโรงงานสิ่งทอที่ยูนนานหลายพันนัดหยุดงานเรียกร้องขอมีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างบริษัท
-๒๐๐๖ นักเคลื่อนไหวประสานนัดอดข้าวประท้วงใน ๑๐ มณฑลทั่วจีนเพื่อท้าทายการปราบปรามของรัฐบาลและหนุนช่วยเพื่อนผู้เห็นต่าง
-๒๐๑๑ ชาวบ้านหมู่บ้านหวู่กัน มณฑลกวางตุ้ง ๕,๐๐๐ คนเดินขบวนไปเมืองหลูเฟิงเพื่อนั่งประท้วงการยึดที่ดินเอาไปขายนายทุนนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยมิชอบและโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านของเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น นำไปสู่การประท้วง ลักพาตัวผู้แทนชาวบ้าน จนคนหนึ่งถูกซ้อมเสียชีวิตในที่คุมขัง ตำรวจปิดล้อมหมู่บ้าน ในที่สุดชาวบ้านเหลืออดลุกฮือปะทะกับตำรวจและอันธพาล ปลดปล่อยหมู่บ้านดำเนินการปกครองกันเองแรมเดือน ในที่สุดก่อนจะบานปลายไปกว่านี้ ฝ่ายนำพรรคระดับมณฑลเข้ามาแทรกแซงเจรจาเองจนต่อรองไกล่เกลี่ยตกลงกับตัวแทนประชาชนในหมู่บ้านได้ มีการปลดเจ้าหน้าที่พรรคท้องถิ่น เปิดเลือกตั้งอิสระแบบลับจริง ๆ ขึ้นในหมู่บ้านเป็นครั้งแรก เรื่องจึงคลี่คลายไป
-๒๐๑๒ ตำรวจจีนกระจายจับผู้คนกว่า ๒,๐๐๐ ที่นัดกันเดินทางไปชุมนุมไว้อาลัยทีหลุมศพจ้าวจื่อหยาง อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เห็นต่างจากการปราบปรามเทียนอันเหมินปี ๑๙๘๙ จนถูกปลดและคุมตัว
-มี.ค. ๒๐๑๓ นักเคลื่อนไหวพากันอดข้าวประท้วงโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เมืองเหอเฝ่ยที่ไม่ยอมรับลูกสาววัย ๑๐ ขวบของนักโทษการเมืองเข้าเรียน
-ก.ค. ๒๐๑๓ ผู้ประท้วงกว่า ๒๐๐ คนนั่งประท้วงที่กระทรวงต่างประเทศในปักกิ่งนาน ๒ สัปดาห์เพื่อเรียกร้องขอมีส่วนร่วมและจัดทำการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจีนต่อสหประชาชาติให้โปร่งใสขึ้น
 
รัฐ/พรรคจีนตอบโต้โดยมุ่งสกัดขัดขวางการก่อตัวของการเคลื่อนไหวมวลชนด้วยระบบเฝ้าระวังติดตามไฮเทคและกลไกเซ็นเซ่อร์ พยายามจำกัดวงการประท้วงต่อต้านให้อยู่ในท้องที่หนึ่ง ๆ หรือประเด็นเฉพาะหนึ่ง ๆ ไม่ขยายตัวกว้างและไม่ผูกปมเป็นประเด็นระดับชาติ

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
จาก "บทอาเศียรวาทของมติชน" ถึง "กาแฟลวกมือของ "ทราย เจริญปุระ" สู้ "การิทัตผจญภัย" นิยายปรัชญาการเมืองที่ตอนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะของชุมชนนครหนึ่ง ที่ "เจตนาของผู้พูดผู้แต่งไม่สำคัญ ยึดเอาการตีความของผู้อ่านผู้ฟังเป็นสรณะ แล้วตัดสินวินิจฉัยตามนั้นเลย"
เกษียร เตชะพีระ
คำอธิบายของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคกรณีดำเนินการกับพนักงานที่โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย: ประเด็นไม่ใช่สีไหน แต่คือกระทำอะไร (Professionalism, not ideology, is the issue.) และตรรกะเบื้องหลังวิธีคิดและการกระทำสุดโต่งทางการเมือง
เกษียร เตชะพีระ
ข้ออ้างคำโตแค่ว่าตลาดข้าวหรือตลาดสินค้า/บริการด้านใดด้านหนึ่งเป็นระเบียบศักดิ์สิทธิ์ ห้ามรัฐยุ่งเกี่ยวแตะต้องสภาพดังที่เป็นอยู่ อันเป็นข้อถกเถียงแบบฉบับของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกระแสหลักที่ระแวงการเมือง เกลียดรัฐแทรกแซง แบบตายตัวบ้องตื้นนั้น ฟังไม่ขึ้น มิพักต้องยกมากรอกหูอีกต่อไป
เกษียร เตชะพีระ
ไม่มีประชาธิปไตยแน่ ๆ คือสภาตรายางและการเลือกตั้งที่มีเก๊ทั้งนั้น หลังฉากจัดตั้งของพรรคคุมเข้มตลอด, ประชาชนลำบากเดือดร้อนก็หาทางประท้วงต่อต้านนโยบายรัฐลำบาก การรอนสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของประชาชนหนักข้อมาก และไม่มีหลักนิติรัฐครับ ยืนยันได้ว่าไม่มี เพราะพรรคอยู่เหนือศาลและอยู่เหนือความพร้อมรับผิดทางการเมืองและกฎหมาย
เกษียร เตชะพีระ
ความสัมพันธ์อันมั่นคงยืนนานตั้งอยู่บนความรักโดยสมัครใจ ซึ่งกว่าจะได้มาก็ใช้เวลายาวนานในการปลูกสร้างสั่งสมจนเชื่อมั่นไว้วางใจกัน เพราะได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลอุปถัมภ์กันในยามยากและยามคับขัน ให้อภัยกันในยามหลุดปากพลั้งมือผิดพลาดต่อกัน ต่างฝ่ายต่างเข้าใจว่าเราตั้งใจจะคงความสัมพันธ์นี้ต่อไปและเราจะอยู่ด้วยกันอย่างยาวนานได้ก็ด้วยการปฏิบัติต่อกันเยี่ยงนี้
เกษียร เตชะพีระ
"..ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร.."
เกษียร เตชะพีระ
วิธีคิดที่เหมารวมการวิพากษ์วิจารณ์ทุกอย่างว่าเป็น hate speech นั้นไม่ต่างจากวิธีคิดของคนจำนวนมากในสังคมไทยต่อกฎหมายม. ๑๑๒ คือไม่สามารถแยกแยะระหว่าง วิพากษ์วิจารณ์ กับ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เลย ถ้าเราเริ่มคิดแบบนั้น เราก็กำลังเดินตรรกะเดียวกับผู้จงรักภักดีที่ไม่อาจแยกแยะแบบนั้นได้ น่าแปลกใจไหมครับ?
เกษียร เตชะพีระ
ตกลงประชาชนมีดุลพินิจถ่องแท้เที่ยงธรรม หรือ อ่อนเปราะพลิ้วไหวถูกคนอื่นชักจูงให้รังแกข่มเหงคนอื่นด้วยอคติกันแน่?
เกษียร เตชะพีระ
บางทีที่น่ากลัวที่สุดไม่เพียงแต่เป็น hate speech แต่รวมทั้ง love speech ด้วย อะไรที่สุดโต่งและไม่ฟังไม่ยับยั้งชั่งใจ คิดว่า สิ่งนี้ สำคัญ กว่าชีวิตคน น่ากลัวทั้งนั้น ไม่ว่ามันจะมาในนามอะไร? ความจงรักภักดี, สิทธิเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำเหล่านี้ใช้เป่าคาถาฆ่าคนมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีคำไหนไม่เปื้อนเลือด คำถามจึงไม่ใช่แค่กำจัดคำ แต่จะทำอย่างไรให้เงื่อนไขการใช้คำฆ่าคน น้อยลง
เกษียร เตชะพีระ
..ในสังคมสาธารณ์ที่ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกบ่อนทำลายลงจากความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ทุกวี่วัน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลับเพิ่มพูนขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ และในทางกลับกัน พื้นที่เหล่านั้นก็กลับสาธารณ์หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงทุกทีเหมือนกัน..
เกษียร เตชะพีระ
คนเพิ่งอพยพจากชนบทเข้าเมืองไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนสำมะโนครัวประชากรทางการ ทำให้เข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ เช่น น้ำประปา, สาธารณสุข, โรงเรียน ยาก คนที่รายได้ไม่เข้าเกณฑ์ทางการ (ต่ำไม่พอ) ทำให้ไม่มีสิทธิ์ลงชื่อในทะเบียนคนจน ก็เลยพลอยไม่ได้สวัสดิการสำหรับคนจนของรัฐไปด้วย
เกษียร เตชะพีระ
...สันติวิธีหรือปฏิบัติการไม่รุนแรงเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าความรุนแรง และมีคุณค่าทางจริยธรรมในตัว สมควรได้รับการพิจารณาสำหรับผู้ต้องการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ว่าเพื่อเป้าหมายใดก็ตาม