ผมดูการกลับมาของคุณทักษิณ แล้วนึกถึงชีวิตของเด็กๆ ที่เร่ร่อนไร้บ้านอีกหลายคน ที่ต่างก็พเนจรไปในที่ต่างๆ ไม่ได้กลับบ้าน หรือบ้างก็ไม่มีบ้านอยู่อาศัย ซึ่งชะตากรรมของเขาหลายๆ คน ถือว่า "หนัก" กว่าคุณทักษิณหลายเท่า และไม่ค่อยได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างจริงจังเหมือนเจ้าหน้ารัฐแห่กันไปดูแลคุณทักษิณ ...
สถานการณ์ข้อมูลเรื่องเด็กเร่ร่อนล่าสุด ที่ทางอาจารสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ทำการศึกษาวิจัยสถานการณ์และปัญหาเด็กเร่ร่อนในประเทศไทย เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกการแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนในระยะ 3 ปี (พ.ศ.2549-2551) 1 พบว่า เด็กเร่ร่อนในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสาเหตุของโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมมหภาคเปลี่ยนไป เกิดปัญหาการสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม การกระจายรายได้ที่แตกต่างกัน เกิดการขยายตัวตามเมืองใหญ่ๆ ประชาชนละทิ้งถิ่นฐานอพยพเข้าสู่ตัวเมืองในสภาพที่ไม่พร้อม ขัดสนยากจนต้องอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด สองข้างทางรถไฟ บุกรุกที่สาธารณะ ประกอบกับมีเด็กเร่ร่อนต่างชาติที่หลั่งไหลมาจากประเทศเพื่อนบ้านติดพรมแดนไทย ได้แก่ สหภาพพม่า ลาว และกัมพูชา ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนเด็กเร่ร่อนในประเทศไทยมากขึ้น
รายงานวิจัยประมาณการว่า ในเวลานี้มีเด็กเร่ร่อนในประเทศไทยทั้งสิ้น 20,000 คน และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 คน ขณะที่องค์กรของภาครัฐบาลและองค์กรเอกชนเข้าช่วยเหลือได้เพียง 5,000 คน ยังคงมีเด็กเร่ร่อนนอกระบบจำนวนมากในหลายพื้นที่ที่ต้องรีบเข้าไปให้ความคุ้มครองปกป้อง สงเคราะห์ เยียวยาและบำบัดรักษาอีกเกือบ 15,000-20,000 คน
สำหรับเส้นทางของเด็กเร่ร่อนจะค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้ามารวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ โดยมีจุดพักอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ในแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ เด็กเร่ร่อนจำนวนไม่น้อยมาจากเด็กชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ข้ามฝั่งชายแดนแม่สายบริเวณ จ.เชียงรายและจังหวัดอื่นๆ มีขบวนการค้ามนุษย์ซื้อเด็กราคาถูกเข้ามาเลี้ยงให้เติบโต เพื่อนำไปสู่การเป็นขอทานและแรงงานเด็ก
สถานการณ์ตามภาคต่างๆ ในรายงานมีดังนี้....
ในภาคตะวันออก บริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา ใน จ.สระแก้วเด็กยากจนและเด็กเร่ร่อนจะอยู่บริเวณชายแดนเป็นจำนวนมากในรูปของเด็กเร่ร่อน ยากจน ขอทาน และแรงงานเด็กข้ามชาติ เด็กบางคนถูกนายหน้าซื้อจากพ่อแม่ และส่งต่อเข้าสู่ตัวเมือง จ.สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ กทม. เกิดรูปแบบของวงจรเด็กขอทานและแรงงานเด็กที่มีการจัดส่งอย่างเป็นระบบ
เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเกิดเด็กเร่ร่อนเกือบทุกจังหวัด และบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว มีเด็กเร่ร่อนหนีเข้ามาในบริเวณ จ.อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี และศูนย์พักรวมอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ก่อนเคลื่อนย้ายเข้าสู่กรุงเทพฯ และมีเส้นทางไปกลับ กทม.-พัทยาบ่อยครั้ง เพื่อการขายบริการทางเพศให้แก่ชาวต่างชาติ
กรณีของภาคใต้ แนวโน้มของเด็กเร่ร่อนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดเด็กกำพร้าและเด็กเร่ร่อนมากขึ้น มีการเคลื่อนตัวเข้าสู่อำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา ในพื้นที่ภาคใต้เองมีเด็กเร่ร่อนเกิดขึ้นในหลายจังหวัด นับแต่สภาพชุมชนดั้งเดิมหลายจุดในอำเภอเมือง และมีจุดใหญ่รวมเด็กเร่ร่อนมากขึ้นใน จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวตามชายหาดต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวและบริเวณห้างสรรพสินค้าจะพบเด็กเร่ร่อนเดินทางมาจากจังหวัดอื่นๆ แทบทุกภูมิภาค
เมื่อสืบถึงภูมิหลัง แหล่งที่มา ครอบครัว การศึกษา ประวัติเด็ก พบว่าเด็กเร่ร่อนเหล่านี้เกิดขึ้นมาในสภาพไร้ตัวตน ขาดหลักฐานทางราชการ ไร้โอกาสทางการศึกษา มีสภาพถูกกระทำในรูปแบบต่างๆ เมื่อเริ่มออกเร่ร่อนอาจมีอายุยังน้อย เส้นทางเดินของเด็กบางคนกำหนดเองได้ แต่จำนวนไม่น้อยถูกขบวนการค้ามนุษย์ซื้อมาเลี้ยงให้เติบโตขึ้น และถูกบังคับให้ทำงาน สุดท้ายเด็กเร่ร่อนจะค่อยๆ เดินทางเข้าสู่ตัวเมืองใหญ่ๆ มีจุดพักเมืองท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค แล้วมารวมกันที่ กทม.ตามเส้นทางอันตรายของการเป็นเหยื่อและเครื่องมือทางเพศ ยาเสพติด ขอทาน แรงงานเด็กและอื่นๆ
หากดูประสบการณ์ของกลุ่มที่ทำงานด้านเด็กเร่ร่อนอย่าง "มูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก" ซึ่งทำงานในพื้นที่เชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ใน http://www.vgcd.org ว่า จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่อันดับสองของประเทศได้ถูกกระแสทุนนิยมตามระบบของประเทศ โดยเฉพาะการถูกวางให้เป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่จึงเป็นปัจจัยดึงดูดผู้คนต่างถิ่นให้อพยพเคลื่อนย้าย เข้ามารวมถึงเด็กเร่ร่อน นอกจากนี้กลุ่มชนเผ่าที่อาศัยบนภูเขาหรือตะเข็บชายแดนก็เป็นอีกกลุ่มที่เข้ามาสู่การหารายได้ในเมือง เช่นกัน โดยเฉพาะการให้เด็กเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการหารายได้ เช่น จากการขอทาน ขายดอกไม้ ขายสินค้าต่าง ๆ กับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งพบได้ตามท้องถนนยามค่ำคืน
เด็กวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนเป็นกลุ่มที่ขาดทางเลือก ขาดการศึกษา บางกลุ่มไม่มีสัญชาติและมีเด็กจำนวนมากต้องถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากผู้ใหญ่และเพื่อนรุ่นพี่ จนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการขายบริการทางเพศเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตนเอง และเยาวชนเร่ร่อนยังมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เช่น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ การใช้ยาเสพติด ดื่มเหล้า ดูดยาบ้า ดมกาวแล้วมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย เยาวชนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเพศศึกษาและโรคเอดส์ ขาดทักษะชีวิตในการคิดวิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง ตัดสินใจที่เหมาะสม การปฏิเสธต่อรอง การตระหนักต่อคุณค่าของตนเอง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ เช่น บาร์เหล้าเบียร์ สถานเริงรมย์ กลุ่มเพื่อนที่ใช้ยาเสพติด
สาเหตุเหล่านี้จึงทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กเร่ร่อนบางคนได้รับเชื้อ เอชไอวีแล้ว แต่ไม่ยอมรับตัวเอง ยังคงมีการขายบริการทางเพศและมีเพศสัมพันธ์กับเยาวชนกลุ่มอื่น ๆ เช่น นักเรียน นักศึกษาและไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะขาดความตระหนักหรือมีทัศนคติด้านลบที่อยากแพร่เชื้อ ไม่สนใจผู้อื่น
เท่าที่ศึกษาเอกสารข้อมูลจากงานวิจัยและการทำงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องทำให้เห็นว่าการที่เด็กและเยาวชนที่ไม่มีบ้าน ต้องเร่ร่อนไร้บ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งนั้น จะทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การเข้าถึงการศึกษา หรือแม้แต่สวัสดิการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ครั้งหนึ่ง ผมเดินขึ้นสะพานลอยย่านห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เห็นน้องๆ เด็กๆ สองสามคน แต่งกายมอมแมมไปคุ้ยหาอะไรสักอย่างจากถังขยะ ผู้คนเดินผ่านมองไปมาด้วยสายตาที่บอกไม่ถูกนัก ผมตัดสินใจว่าจะเข้าไปถามว่าต้องการอะไร ถ้าอยากกินข้าวจะไปซื้อมาให้ ช่วงขณะที่กำลังจะเดินเข้าไปถาม น้องๆ ก็วิ่งหนีไปด้วยความตกใจ
ผมไม่รู้ว่าพวกเขามาจากที่ไหน อายุเท่าไหร่ แต่สิ่งที่เห็นอยู่นี้คือสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ เพราะเด็กๆ ควรจะมีที่พักอาศัยได้อยู่ แม้ว่าบางครั้งเขาไม่อยากอยู่บ้าน หรือผู้ปกครองไม่สามารถดูแลได้ แต่อย่างน้อยรัฐเองก็ต้องเข้ามาดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็ก
ที่สำคัญเด็กๆ หลายคนย่อมเข้าไม่ถึงการศึกษาและเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเขาจะเข้าหาหมอได้อย่างไร แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการช่วยเหลือเด็กๆ เช่น มีครูข้างถนน (โครงการที่ทางมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ดำเนินการ - http://www.fblcthai.org) โดยทางมูลนิธิจะดำเนินการ คือ
1. ส่งครูข้างถนนไปตามพื้นที่ต่างๆ ที่สำรวจพบเด็กหรือได้รับแจ้งว่ามีเด็กเร่ร่อนใช้ชีวิตอยู่
2. ครูข้างถนนจะคลุกคลีและสร้างสัมพันธ์ที่ดีเพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับเด็ก
3. นำเด็กที่ยินยอมพร้อมใจแล้ว เข้าสู่บ้านเปิดหรือหน่วยงานที่เหมาะสม เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาเด็กต่อไป
4. ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในลักษณะของเครือข่ายเพื่อร่วมกันป้องและแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าถึงจะไม่มีครูข้างถนนแต่ "พวกเรา" ทุกคนหากพบเห็นเด็กๆ ที่เร่ร่อนไร้บ้านก็อาจจะเข้าไปสอบถาม และลองหาทางช่วยเหลือดู เพราะเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือคนๆ หนึ่งให้เขาได้รับสิทธิการคุ้มครองสวัสดิภาพด้วย
แม้ว่าเราจะไม่รู้จักพวกเขาเหมือนที่เรารู้จักคุณทักษิณ แต่เราสามารถจะให้ปีกเด็กน้อยได้โบยบินสู่บ้านอย่างปลอดภัยได้เช่นกัน....
1 หนังสือมติชนรายวัน ประจำวัน อาทิตย์ ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549