Skip to main content

          ถ้าพูดถึงหนังซัมเมอร์บล็อกบัสเตอร์ในปีนี้ที่ผมอยากดูใจจะขาดชนิดว่า แทบคลั่งแบบรอไม่ไหวแล้วที่จะต้องไปดูให้ได้นั้นย่อมไม่มีหนังเรื่องไหนทำให้ผมเกิดอาการคลั่งได้มากพอ ๆ กับหนังเรื่อง ก็อตซิลล่า (Godzilla) ของ กาเรธ เอ็ดเวิร์ด ที่เป็นการนำก็อตซิลล่ามาสร้างใหม่อีกครั้งในแบบหนังฮอลลีวู้ด หลังจากมีการนำมาสร้างในปี 1998 ไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก แม้จะทำเงินไปพอสมควรก็ตาม แต่ตัวหนังกลับได้รับการสาบส่งจากบรรดาแฟน ๆ หนังก็อตซิลล่าว่า นี่มันไม่ใช่ก็อตซิลล่าเฟ้ย จนกระทั่งมาสมหวังเอาภาคนี้นั่นเองครับ ที่ก็อตซิลล่ากลายเป็นราชันแห่งสัตว์ประหลาดสมใจเลย

          ทว่านัยยะของก็อตซิลล่าในภาคนี้กลับทำให้หลายคนสงสัยไม่ใช่น้อยว่า รากเหง้าที่แท้จริงของก็อตซิลล่านั้นมันคืออะไรกันแน่ เพราะอย่างที่เห็นก็อตซิลล่าในภาคนี้คือ วางตัวให้เป็นพลังธรรมชาติที่มีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลของโลก แน่นอนว่า ถ้าแทนคำพูดง่าย ๆ ก็คือ ก็อตซิลล่าภาคนี้คือ ผู้พิทักษ์ที่เคยปกปักษ์และช่วยเหลือมนุษย์นั่นเองครับ ซึ่งแน่ล่ะว่า มันคือภาพลักษณ์ในความทรงจำของใครหลายคนที่จดจำว่า ก็อตซิลล่าเป็นฝ่ายธรรมะ จากความทรงจำของใครหลายคน แต่เอาจริงแล้ว รากเหง้าของก๊อตซิลล่านั้นคืออะไรกันแน่ ผมจะพาทุกท่านไปสำรวจเรื่องราวก็อตซิลล่าในช่วงยุคสมัยต่าง ๆ กันว่า ตัวตนที่แท้จริงของราชาสัตว์ประหลาดผู้นี้คือ สิ่งใดกัน

          Gojira (1954)

          ถ้านัยยะแรกสุดของก็อตซิลล่าตั้งแต่วันที่มันถือกำเนิดในฐานะสัตว์มหันตภัยทำลายอันเกิดขึ้นจากพิษสงของระเบิดนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งส่งผลให้จบสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงในที่สุด แน่นอนว่าความพ่ายแพ้และพิษสงของนิวเคลียร์นั้นยังคงเป็นสิ่งที่ฝังใจของบรรดาชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นไม่ใช่น้อย ในฐานะของอาวุธที่ทรงพลานุภาพที่สุดบนพื้นพิภพและมนุษย์สร้างขึ้นมาส่งผลให้ก็อตซิลล่านั้นมีนัยยะในการพูดถึงระเบิดนิวเคลียร์ในเชิงว่า มันคือสิ่งที่น่ารังเกียจและเป็นบาดแผลที่ยังคงตอกย้ำถึงความพ่ายแพ้และหายนะได้อย่างน่าสนใจ

          ก็อตซิลล่าในภาคนี้จึงเป็นหายนะที่มนุษย์ทำให้เกิดขึ้น อันเป็นเสมือนการลงโทษของธรรมชาติที่มีต่อมนุษย์ผู้หลงคิดว่า ตัวเองคือ พระเจ้า ได้หวนคิดว่า คุณไม่สามารถควบคุมธรรมชาติได้ และ ธรรมชาติก็พร้อมจะลงโทษมนุษย์ได้ตลอดเวลา การมาของก๊อตซิลล่าคือ ภาพของเกรี้ยวโกรธของธรรมชาตินั่นเอง

          แน่นอนว่า ภาพของก๊อตซิลล่าที่ทำลายเมืองอย่างบ้าคลั่ง และไม่มีอะไรหยุดยั้งได้ เป็นภาพที่สะท้อนได้ทั้งการนำภาพความพินาศจากนิวเคลียร์เมื่อหลายปีกลับมาย้ำเตือนให้คนญี่ปุ่นไม่ลืมเรื่องบาดแผลสงครามนี้ และบอกว่า ธรรมชาติเป็นสิ่งที่พร้อมลงโทษมนุษย์ให้กับการกระทำอหังการของพวกเขาอยู่เสมอไป

          แน่ล่ะว่า ก็อตซิลล่าในช่วงนี้เป็นภาพสะท้อนของภัยธรรมชาติ ภัยที่ชาวญี่ปุ่นต้องหาทางเอาสยบมันให้จงได้ จะว่าไป ถ้าแทนก็อตซิลล่าเป็นนิวเคลียร์แล้วล่ะก็ มันคือ ช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จะรับมือกับอาวุธมหาประลัยนี้อย่างไรดีมากกว่า และยังไม่มีใครหาวิธีใช้งานนิวเคลียร์ในเชิงอื่นนอกจากการเป็นอาวุธสงครามได้เลย

          แน่นอนว่าในหนังก็อตซิลล่าภาคต่อ ๆ มาจนกระทั่งถึงภาค Ghidorah the three headed monster (1964) ซึ่งเป็นภาคแรกที่ก็อตซิลล่าหันมาช่วยมนุษย์ฟัดกับสัตว์ประหลาดอย่าง คิงกิโดร่า ตามคำขอร้องของนางฟ้าโชบิจินแม้จะไม่เต็มใจนัก เพราะ ก็อตซิลล่ามองว่า มนุษย์เป็นตัวสร้างปัญหา ซึ่งสะท้อนนัยยะของธรรมชาติที่มองมนุษย์ด้วยสายตาไม่พอใจกับการกระทำของมนุษย์เท่าใดนัก     

          แต่สุดท้ายมนุษย์ก็สามารถควบคุมก็อตซิลล่า หรือ อย่างน้อยนับจากก๊อตซิลล่าก็เป็นสัตว์ประหลาดฝ่ายธรรมะที่เข้ามาช่วยมนุษย์แทบทุกครั้ง

          ซึ่งแน่ล่ะว่า ถ้าเทียบกับก็อตซิลล่าเป็นอาวุธนิวเคลียร์ก็เหมือนว่า มนุษย์สามารถนำอาวุธร้ายชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ได้แล้วนั่นเอง เหมือนเช่นที่มีการนำพลังงานนิวเคลียร์ไปสร้างเป็นโรงฟ้าฟ้ากันอย่างมากมายทั่วโลก และ ญี่ปุ่นเองก็มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากมายเช่นกัน

          นั่นคือ การเปลี่ยนมหันตภัยร้ายให้กลายเป็นมิตรด้วยมือของมนุษย์เอง

          แต่ทว่า ภัยเงียบ ๆ ของมันก็ยังคงคงซ่อนอยู่เหมือนเดิมราวกับรอเวลาระเบิดอีกครั้งในกาลต่อมา

          The Return of Godzilla (1984)

          หลังกลายเป็นมิตรแห่งความเที่ยงธรรมหรือสัตว์ประหลาดผู้พิทักษ์อันแสนดีของมนุษย์กว่า 20 ปี ก็อตซิลล่าก็ถูกกลับมาสร้างในรากเหง้าเดิมของมันอีกครั้ง ในฐานะหายนะเดินได้จากมหันตภัยนิวเคลียร์ที่ดุร้ายและไม่เป็นเพื่อนที่แสนดีของมนุษย์อีกแล้ว แน่นอนว่า การกลับมาของมันในครั้งนี้นั้นมีนัยยะที่น่าสนใจในการบอกเตือนมนุษย์ที่กำลังใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างบ้าคลั่งในฐานะสิ่งสะดวกสบายในการสร้างพลังงานว่า มันอาจจะมีคุณมากมาย แต่ก็มีโทษมหาศาลเช่นกัน ยกตัวอย่างการระเบิดของโรงฟ้าฟ้านิวเคลียร์ที่เชอร์นาบิลเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ หรือโรงฟ้าฟ้าอื่น ๆ และร่วมทั้งการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิเองที่สะท้อนภาพให้เห็นว่า นิวเคลียร์ยังเป็นภัยร้ายที่มีทั้งคุณละพิษภัยนั่นเอง ก็อตซิลล่าในภาคนี้เป็นเสมือนเครื่องย้ำเตือนให้คนญี่ปุ่นในยุคหลังไม่ลืมเลือนบาดแผลของเหตุการณ์ครั้งนั้น นัยยะของมันคือ จงอย่าประมาทในชีวิต เพราะขนาดก็อตซิลล่าที่นึกว่าตายไปแล้วยังฟื้นขึ้นมาได้ ก็หมายความว่า โลกก็พร้อมเข้าสู่ความชิบหายได้ทุกห้านาทีเหมือนกัน

          เอาจริงแล้วหนังเรื่องนี้มีภาพสะท้อนความตรึงเครียดของโลกที่เกิดจากสงครามเย็นระหว่างสองขั้วมหาอำนาจโลกอย่าง โซเวียตและอเมริกา ที่ต่างทำสงครามประสาทด้วยการสะสมอาวุธร้ายแรงต่าง ๆ รวมทั้งนิวเคลียร์ไว้มากมายเพื่อข่มขู่ขยายอำนาจของตัวเองซึ่งกันและกันผ่านสงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกส่งผลให้โลกตรึงเครียดอย่างรุนแรง จนภาพของก็อตซิลล่าที่โผล่ขึ้นมานั้นมีสภาพเหมือนการท้าทายสองประเทศนี้ไปกลาย ๆ ยิ่งหนังแสดงถึงการพยายามแทรกแซงของสองชาติกับประเทศญี่ปุ่นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสะท้อนของโลกที่กำลังถูกจุ้นจ้านโดยมหาอำนาจสองขั้วนี้ที่ไม่รู้ตัวเลยว่า ยิ่งยุ่งมันก็ยิ่งวุ่นไปกันใหญ่

          แน่ล่ะว่า ก็อตซิลล่าในยุคนี้น่าจะเป็นก็อตซิลล่ายุคใหม่ที่มีสภาพไม่เข้าใครออกใคร คือ ในนัยหนึ่งมันคือ สัตว์ประหลาดขึ้นมาถล่มเมืองแบบไร้เหตุผลจนต้องหาอาวุธต่าง ๆ มาปราบอยู่เสมอ ๆ แต่ก็มีบางครั้งที่มันมาช่วยมนุษย์ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น ลูกของมันโดนจับตัวไปโดยก็อตซิลล่าอวกาศ มันเลยต้องร่วมมือกับมนุษย์ หรือ กระทั่ง การต่อสู้กับเดสทรอยเยอร์ที่มันโกรธแค้นเพราะ ลูกของมันถูกฆ่าเป็นต้น ก็อตซิลล่าในยุคนี้จึงเป็นก็อตซิลล่าที่ดูมีชีวิตชีวาที่สุดและดูสง่างามที่สุดและน่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนจดจำมันได้อย่างไม่ลืมเลือนเลยทีเดียว

          เช่นเดียวกับการตายของมันในภาค Godzilla vs Destoryah (1995) นั้นได้แสดงให้เห็นความผูกผันของคนญี่ปุ่นกับก็อตซิลล่าได้อย่างดีที่เดียว (มันเป็นฉากที่หลายคนอึ้งมากนะว่า จะได้เห็นภาพก็อตซิลล่าผู้ไร้เทียมทานตายเช่นนี้ได้) ราวกับเป็นนัยยะบอกว่า ไม่มีสิ่งใดจีรังแม้แต่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งที่สุดอย่างก็อตซิลล่ายังตายได้นับประสาอะไรกับมนุษย์ตัวกระจ้อบอย่างเราเล่า

          กระนั้นเองหนังมันก็ยังทิ้งความหวังไว้เมื่อ ก๊อตซิลล่า จูเนียร์ที่น่าจะตายไปแล้วกลับฟื้นขึ้นมาและกลายเป็นก็อตซิลล่าตัวใหม่ในที่สุด

          ราวกับจะบอกว่า มีตายก็ย่อมมีเกิดเป็นของธรรมดานั่นเอง

          Godzilla (1998)

          เอาจริงแล้วก๊อตซิลล่าในฉบับอเมริกันของผู้กำกับหนังจอมถล่มโลกอย่าง โรแลนด์ เอเมอริช อาจจะไม่ที่ถูกใจของบรรดาแฟนพันธุ์แท้ของก็อตซิลล่าเท่าใดนักด้วยเหตุผลว่า ก็อตซิลล่าในภาคนี้นั้นดูอ่อนแอ น่าสงสาร น่าสมเพช จนไม่มีออร่าแห่งความเป็นราชันย์เลย ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่า มันไม่มีออร่าของความก็อตซิลล่าจริง ๆ กระนั้นเองเมื่อลองมองดูองค์ประกอบของหนังหลาย ๆ อย่างที่เหมือนจะพยายามแยกตัวเองตีความก็อตซิลล่าเสียใหม่ก็เรียกว่า เป็นหนังสัตว์ประหลาดที่สนุกมาก ๆ อย่างน้อยตัวเรื่องราวหรือฉากแอ็คชั่นหลาย ๆ ฉากก็ค่อนข้างสนุก จัดเป็นหนังที่บันเทิงเอามาก ๆ แถมที่สำคัญสิ่งที่ก็อตซิลล่าภาคนี้มีแต่ภาค 2014 ไม่มีก็คือ ทฤษฏีหรือการวางบทให้สมจริง แบบที่ภาคนี้ทำ หนังอธิบายหมดว่า เจ้าสัตว์ประหลาดตัวนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร (แน่นอนว่า มันพูดถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ส่งผลต่อพันธุกรรมของสัตว์ต่าง แน่นอนว่า หนังยกไส้เดือนขึ้นมาว่า มันได้รับรังสีจนโตขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ แล้วเจ้ากิ้งก่าที่ได้รับผลรังสีเข้าไปล่ะมันจะมีสภาพแบบไหน)

          เอาจริงแล้วนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการอ้างถึงทฤษฏีว่าด้วยการตั้งคำถามว่า ก็อตซิลล่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในหนัง เพราะ ก่อนหน้านี้ในหนังเรื่อง Godzilla vs King ghidorah (1991) หนังได้บอกเราว่า ก็อตซิลล่านั้นเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไดโนเสาร์นาม ก็อตซิลล่าซอรัสที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง และได้รับผลกระทบจากนิวเคลียร์ที่ทิ้งมาในตอนนั้นจนกลายเป็นก็อตซิลล่า หากจะพูดว่า หนังได้อธิบายการกำเนิดก่อเกิดก็อตซิลล่าในเชิงที่เป็นไปได้ในวิทยาศาสตร์ (แม้หลายคนจะบอกว่า เวอร์ก็ตาม) แต่หนังก็ถือว่า มีทิศทางการอ้างอิงที่ดี และที่สำคัญคือ มันฟังขึ้นมากกว่าการมานั่งอ้างว่า ก็อตซิลล่าคือ พลังปรับสมดุลของธรรมชาติ ที่ภาคใหม่ว่าไว้เสียอีก

          เอาจริงแล้วผมก็แอบคิดเล่น ๆ ฮ่า ๆ ว่า การที่หนังมันแสดงภาพว่า อเมริกาสามารถสยบราชันย์อสูรได้ง่าย ๆ ด้วยมิซไซต์เพียงไม่กี่นัดก็เหมือนนัยยะที่สะท้อนให้เห็นว่า อเมริกาจะบอกว่า พวกเขาแข็งแกร่งที่สุดที่สามารถสยบอสูรที่ญี่ปุ่นต้องใช้วิธีฆ่ากว่า สี่สิบปีได้ง่าย ๆ แน่ล่ะว่า มันเป็นการดูถูกเล็ก ๆ ที่ชาวตะวันตกมีให้กับสัตว์ประหลาดในตำนานตัวนี้อย่างร้ายแรงส่งผลให้ญี่ปุ่นตัดสินใจคืนชีพก็อตซิลล่าแบบดั่งเดิมขึ้นในกาลต่อมา

          เพื่อบอกว่า ก็อตซิลล่าของแท้นั้นแค่มิซไซส์สามลูก มันไม่ตายง่าย หรอกเฟ้ย

          ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผมแล้วฉบับปี 1998 นั้นสนุกและดูเพลิน ๆ เอามาก ๆ เลยทีเดียว

          Godzilla (2014)

          อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ก็อตซิลล่าในภาคนี้นั้นถูกวางตัวให้เป็นสัตว์ประหลาดผู้พิทักษ์ที่คอยรักษาสมดุลของธรรมชาติ แน่นอนว่า หมายถึงมันต้องคอยปกป้องโลกจากบรรดาสัตว์ประหลาดต่าง ๆ ที่ทำลายสมดุลของโลก และแน่นอนในภาคนี้เป็นสัตว์ประหลาดโบราณนาม มิวโต ที่เกิดและเติบโตจนมีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยการกินกัมมันตภาพรังสีจากนิวเคลียร์เป็นอาหารส่งผลให้โรงฟ้าฟ้าที่ญี่ปุ่นในปี 1999 ถล่มจนมีผู้เสียชีวิตมากมายรวมทั้งภรรยาของโจ โบรดี้ นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ ที่ตายในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย ส่งผลให้เขาหมกมุ่นกับการค้นหาว่า มันเกิดอะไรขึ้นในวันนั้นกันแน่ และเขาก็ได้พบว่า เหตุการณ์ในวันนั้นมีสัตว์ประหลาดนามว่า มิวโตข้องเกี่ยวและมันกำลังเดินทางไปยังอเมริกาเพื่อทำบางอย่างที่ปลุกให้ก็อตซิลล่าที่หลับใหลลืมตาตื่นขึ้นมาด้วย

          ความเห็นส่วนตัวของผมต้องบอกว่า ก็อตซิลล่าภาคนี้นั้นนับว่า เป็นการกลับมาที่ยิ่งใหญ่และสมศักดิ์ศรีของสัตว์ประหลาดที่หลายคนรอคอย ลบภาพของสัตว์ประหลาดในปี 1998 ที่หลายคนไม่อยากจดจำไปได้สนิท ทว่า สำหรับผมแล้วนี่กลับเป็นก็อตซิลล่าที่รู้สึกสนุกและดูได้เพลิน ๆ แต่รู้สึกว่า ฟินน้อยกว่าที่ตั้งความหวังพอสมควร

          แน่นอนว่า หากต้องอธิบายเหตุผลความฟินนั้นก็คือ การเห็นภาพของก็อตซิลล่าที่ในตัวอย่างหนังถูกวางไว้เป็นสัตว์ประหลาดสุดโหดที่ทำลายโลกเหมือนเมื่อครั้งแรกที่มันปรากฏตัวในปี 1954 และ ปี 1984 จนผมแอบคิดว่า จะได้เห็นเพลิงพิโรธของธรรมชาติที่มาในรูปแบบสัตว์ประหลาดยักษ์ทำลายเมืองในแบบที่มันเป็น ปรากฏว่า มันพลิกเป็นก็อตซิลล่าคือ ผู้พิทักษ์สมดุลของโลกที่ออกมาฟัดกับสัตว์ประหลาดซะงั้น

          ไม่รู้จะขำยังไงดีเนี่ย ผมแอบนึกถึงหน้าเต่ายักษ์บินได้สักตัวขึ้นมาเลยในแบบนี้ เพราะเจ้าตัวนั้นมันเป็นผู้พิทักษ์อยู่แล้วน่ะนะแต่กับก็อตซิลล่าถึงมันจะเคยเป็นสัตว์ประหลาดฝ่ายธรรมมะมาก่อน แต่เอาจริงรากเหง้าของมันคือ ภัยพิบัติของธรรมชาติที่เป็นเครื่องเตือนมนุษย์ต่างหากเล่า

          พอแบบนี้ผมเลยผิดหวังไม่ใช่น้อยนะ

          นั่นเองที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ก็อตซิลล่าในปี 1998 ยังดูดีกว่าอย่างน้อยก็มีเหตุสมเหตุสมผลให้ผมพอเข้าใจอะไรหลายอย่าง ไม่เหมือนภาคนี้ที่จู่ ๆ มาก็เล่าว่า มันเป็นผู้พิทักษ์โลกเฉย ๆ

          โอเคครับ หนังมันตั้งใจจะพูดถึงการไถ่บาปของอเมริกาที่มีต่อญี่ปุ่นในเรื่องนิวเคลียร์ผ่านตัวละครของด๊อกเตอร์เซริซาว่าที่ยื่นนาฬิกาให้กับผู้พันที่คิดจะยิงนิวเคลียร์เพื่อหยุดยั้งสัตว์ประหลาดทั้งสามตัวนี้โดยไม่สนใจผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งฉากนั้นเรียกได้ว่า เป็นเหมือนการเตือนอเมริกันชนให้รู้ว่า สิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องพบกับความพินาศ ไม่สิ ต้องบอกว่า สิ่งที่ทำให้โลกไม่สงบสุขแบบนี้เกิดขึ้นจากการสิ่งที่เรียกว่า นิวเคลียร์นั่นเอง

          แน่ล่ะว่า มันแอบต่อว่า มนุษย์ที่สร้างภัยนี้ขึ้นมาพร้อม ๆ กับ ด่ามนุษย์ว่า โง่เขลาที่สร้างสงครามฆ่ากันเองขึ้นมาจนต้องสร้างมหาภัยอาวุธนี้ขึ้นมาฆ่ากันเองอีก แถมยังใช้มันเพื่อประโยชน์ของตัวเองโดยไม่สนใจผลกระทบใด ๆ ทั้งสิ้น

          การมาของ มิวโต นั่นเป็นเหมือนการสะท้อนว่า มนุษย์นั่นคิดว่า ตัวเองควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ได้ แน่ล่ะว่า มนุษย์เคยคิดว่า ตัวเองเป็นพระเจ้ามาตลอดได้พบว่า พวกเขาไม่สามารถควบคุมอสูรกายอย่าง มิวโต ได้ ส่งผลให้เกิดหายนะไปทั่วทุกทีที่มันโผล่ไป แน่ล่ะว่า ภาพของมิวโตที่หลุดจากการคุมขังนั้นสะท้อนให้ภาพของความพินาศที่เกิดจากความอหังการของมนุษย์ได้ดีทีเดียว

          แน่นอนว่า มนุษย์นั้นมักจะตื่นกลัวสิ่งที่ไม่รู้เสมอ การมาของก็อตซิลล่าเองก็เช่นกัน แน่ล่ะว่า ก็อตซิลล่าถูกวางตัวของมันในฐานะเทพผู้พิทักษ์ก็จริง แต่สำหรับมนุษย์แล้วการที่มันปรากฏตัวขึ้นมานั้นก็เป็นอะไรที่น่าตื่นตกใจมาก และแน่ล่ะกลไกการป้องกันตัวของมนุษย์ก็เกิดขึ้นเมื่อพวกเขาระดมยิงใส่มันอย่างบ้าคลั่ง และ ถึงขนาดจะฆ่ามันถึงสองสามครั้งเลยทีเดียว แน่ล่ะว่า ไม่มีใครฆ่ามันได้อยู่แล้ว

          ที่จริงแล้วการออกแบบตัวของก็อตซิลล่านั้นอาจจะบอกใบ้อะไรหลายอย่างไว้แล้วตั้งแต่รูปร่างที่คล้ายกับหมีรวมทั้งท่าทางการต่อสู้นี่ยังไม่รวมกับลักษณะปากที่เหมือนนกอินทรีที่ทำให้เรารู้ทันทีว่า ก็อตซิลล่าต้องเป็นมิตรกับอเมริกาแน่ ๆ

          การต่อสู้ของก็อตซิลล่ากับมิวโตจึงเป็นไคลแม็กซ์ที่ใครหลายคนรอคอย ท่ามกลางความน่าเบื่อของดราม่าของตัวละครฝ่ายมนุษย์ที่ไม่ค่อยโดดเด่นเสียเลย (อย่างน้อยตัวละครของอารอน เทย์เลอร์ จอห์นสัน ก็ไม่ได้น่าจดจำเท่ากับตัวละครของ แม็ทธิว บอเดอริค ในก็อตซิลล่า 1998 เลย)

          กระนั้นเองตัวหนังก็ทิ้งภาพของความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังการต่อสู้จบลงพร้อมกับก็อตซิลล่าที่เดินลงทะเลไปพร้อมกับคำถามว่า สักวันหนึ่งหากมนุษย์เป็นฝ่ายทำลายธรรมชาติและทำลายสมดุลของโลกเสียเอง

          ก็อตซิลล่าจะเป็นฝ่ายทำลายมนุษย์หรือไม่ ?

          นี่คือคำถามที่ผมฉุกคิดว่า หนังมันกำลังจะบอกเราว่า เราไม่ได้อยู่บนโลกนี้เพียงลำพัง เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวบนโลกใบจ้อยอันนี้ การกระทำของเราทุกอย่างส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวลแบบตั้งใจไม่ตั้งใจเสมอ เหมือนเช่นที่เรากำลังทำลายธรรมชาติไปทีล่ะน้อยจนโลกใกล้ถึงกาลวิบัติไปทุกที โลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมา จนน้ำแข็งขั้วโลกละลายจนธรรมชาติวิปริตกันไปหมด ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นไปทั่วทั้งน้ำท่วม สึนามิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ไฟไหม้ป่า ที่บอกว่า โลกเราถึงกาลเวลาใกล้วิกฤตขึ้นทุกที

          ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่างล่ะก็อาจจะถึงคราที่โลกต้องปรับสมดุลด้วยการส่งก็อตซิลล่ามาทำลายเราเสียก็ได้

          หรือนี่คือการเตือนให้เรากลับไปดูแลโลกของเราอีกครั้งก่อนการมาอีกครั้งของก็อตซิลล่านั่นเอง

          รีบทำก่อนจะสายไป

          อาจจะเป็นสิ่งที่ก็อตซิลล่าได้บอกมนุษย์ตัวจ้อยอย่างเรา ให้ร่วมมือกันคนล่ะมือช่วยโลกของเราเอาไว้ให้ได้นั่นเอง

          และนี่คือเรื่องราวของก็อตซิลล่าผู้มีชีวิตผ่านช่วงเวลากี่ยุคกี่สมัยผ่านนัยยะต่าง มากมาย และสะท้อนภาพของโลกอันแสนวุ่นวายนี้ออกมาได้อย่างน่าสนใจมากกว่าการเป็นเพียงหนังหลอกเด็กไปวัน แต่มันคือหนังที่ชวนให้เราหันมองกลับไปอดีตทั้งมวลและย้ำเตือนว่า

          เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกนี้

.....

 

ติดตามการวิจารณ์หนัง รีวิวภาพยนตร์ดัง ไม่ดัง เกรดเอเกรดบี วรรณกรรม การ์ตูน ไลท์โนเวลได้ที่ แฟนเพจ จิบชารับลมกับมิสเตอร์อเมริกัน
ได้ที่นี่ครับ

https://www.facebook.com/amarica2029

บล็อกของ Mister American

Mister American
   (บทความตอนนี้จะเป็นเรื่องเบาๆเพื่อให้เตรียมตัวกันให้พร้อมก่อนชมภาพยนตร์เรื่อง Prometheus)
Mister American
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับป๋าไมเคิ่ล ฮานาเก้ที่ได้รางวัลปาล์มทองอีกครั้งหนึ่งจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ Ffpภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Amour ที่เรียกได้ว่าเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า ฝีมือการทำหนังของผู้กำกับคนนี้เป็นของจริงที่ยิ่งเวลาผ่านไปรสชาติการทำหนังของเขาก็ยิ่งเข้มข้นทุกทีไม่เหมือนผู้กำกับอีกหลายรายที่มือตกไปอย่างไม่น่าอภัย กระนั้นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับชายที่ชื่อว่า ไมเคิ่ล ฮานาเก้นี้ก็คือ แค่หนังเรื่องแรกของเขานั้นก็ปรากฏแววเก่งมาในทันที  และหนังเรื่องแรกของเขาก็คือ The Seven Continent นั้นเอง
Mister American
ถ้าเอ่ยชื่อของไมเคิ่ล ฮานาเก้ ถ้าไม่ใช่แฟนหนังจริงๆหลายคนอาจจะไม่รู้จักเขาเท่ากับผู้กำกับคนอื่นๆอย่าง ไมเคิ่ล เบย์ สปีลเบิร์กหรือคาเมร่อนก็ตาม แต่ถ้าพูดถึงสิ่งที่หลายคนมารู้จักผู้กำกับจากยุโรปได้ก็คงไม่พ้นนิยามหนังของเขาที่หลายให้คำว่า โหดเหี้ยม เลือดเย็น และน่าขนลุก โดยหนังที่หลายคนมักจะ
Mister American
(เนื้อหาบทความนี้อาจะเปิดเผยความลับของภาพยนตร์)  ผมเชื่อว่าทุกคนเคยมีความฝัน ครั้งหนึ่งเมื่อสมัยที่ฮีโร่ของญี่ปุ่นอย่าง อุลตร้าแมน ไอ้มดแดง ขบวนการห้าสีบุกจอโทรทัศน์ หลายคนในตอนนั้นยังเป็นเด็กตัวน้อยๆที่เฝ้ารอคอยหน้าจอที่สัปดาห์เพื่อจะได้ชมฮีโร่ของตัวเองปราบปรามเหล่าร้ายในหน้าจอที่หวังยึดครองโลก เราได้สนุกสนานกับการผจญภัยของพวกเขา บางคนอาจจะถึงขั้นอยากเป็นฮีโร่กับเขาบ้างเลยทีเดียว หรือบางคนอาจจะใฝ่ฝันที่จะได้เห็นฮีโร่ตัวจริงด้วยสายตาของตัวเอง  ซึ่งเด็กชายที่ชื่อ ฟิล โคลสัน คือหนึ่งในนั้น
Mister American
ครั้งหนึ่งเมื่อภาพยนตร์เรื่อง เฉือน ของผู้กำกับก้องเกียรติ โขมศิริ ได้ลงโรงฉายชนกับภาพยนตร์รัก Feel Good อย่างรถไฟฟ้ามาหานะเธอนั้นหลายคนที่ไปชมเรื่องนี้ต่างอึ้งกับภาพความโหดร้าย ของฆาตกรต่อเนื่องของไทยที่คาดว่าจะเป็นภาพยนตร์ฆาตกรต่อเนื่องที่น่าสนใจ เรื่องหนึ่ง และมีคำถามขึ้นมาว่า