Skip to main content

ปี 2515 ณ หมู่บ้านห่างไกลผู้คนในจังหวัดกาญจนบุรี แย้ม เด็กสาวผู้เคยป่วยหนักจนเกือบตายได้มีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น เธอเริ่มพูดจาด้วยคำหยาบคายกับคนในครอบครัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มโกหกและยุแยงให้คนในบ้านแตกคอกัน รวมทั้งลุกขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อนกินของสดทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะ หยาด เกิดความสงสัยขึ้นมาพร้อมกับเสียง ธี่หยด ที่ดังมาจากไหนสักแห่งและทำให้เธอมักจะหมดสติไปเมื่อได้ยินเสียงนี้ ท่ามกลางสถานการณ์นี้ที่หยาดไม่รู้จะไปพึ่งใครดีกระทั่ง  พี่ยักษ์ พี่ชายคนโตของบ้านที่หนีไปเป็นทหารก็มาถึง เขาและครอบครัวจึงได้เผชิญหน้ากับเรื่องราวสะพรึงกลัวที่ซุกซ่อนอยู่ในบ้านของเขา และ มันอาจจะอยู่ในดินแดนนี้มานานแล้ว

                เรื่องราวของผีชุดดำสุดสยอง

                ครับ นอกจากสัปเหร่อ ที่ทำเงินถล่มทลายจนแตะ 800 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย อีกหนึ่งเรื่องที่เรียกได้ว่า ทำเงินถล่มทลายเหมือนกันก็คงไม่พ้น หนังสยองขวัญเรื่อง ธี่หยด จากผลงานของผู้กำกับ คุ้ย ทวีวัฒน์ วันทา ที่เคยฝากฝีมือไว้กับหนังคัลท์สุดสยองอย่าง ขุนกระบี่ ผีระบาด หรือ หนังตลกทะลึ่งอย่าง อสุจ๊าก กระทั่ง งานสยองขวัญที่หลายคนจดจำได้อย่าง ทองสุก 13 ที่ที่กลายเป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องสุดท้ายของพระเอก ปอ ทฤษฏี ผู้ล่วงลับ ที่ที่คราวนี้ตัวหนังสร้างขึ้นมาจากเรื่องเล่าในพันทิปของ กฤตานนท์ ที่ลงให้อ่านจนกลายเป็น Talk of the town พูดถึงก่อนที่จะถูกดัดแปลงกลายเป็นนิยาย และ เรื่องเล่าผ่านรายการผีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น นานาเล่าเรื่องผี หรือ กระทั่ง The Ghost Radio ที่มีคนฟังเรื่องนี้จำนวนกว่า 13 ล้านวิว (ในขณะที่เขียนต้นฉบับนี้) เรียกว่าได้รับความนิยมไม่ใช่น้อยทีเดียว และ ความสำเร็จด้วยคำวิจารณ์ที่ดีว่า นี่คือ หนังสยองขวัญที่ดีที่สุดในรอบหลายปี และ ทำเงินไปกว่า 400 ล้านบาท ทำให้กระแสของหนังเรื่องนี้ บวกกับ สัปเหร่อ นั้นถูกจัดอยู่ในหนังสยองขวัญแนว Folk Horror ที่ที่เรียกว่า เป็นหนึ่งในแนวที่คนไทยคุ้นชินและทำออกมาได้รับความนิยมแทบทุกครั้งทีเดียว

(ของแขก)

(สัปเหร่อ)

                จริง ๆ ต้องบอกว่า ไม่ใช่แค่สัปเหร่อ หรือ ธี่หยดเท่านั้น ที่ทำให้แน่ใจได้ถึงความสำเร็จของหนังสยองขวัญแนว Folk Horror หรือ พวกแนวผีป่า หรือ เรื่องสยองขวัญจากพื้นที่ห่างไกลเมือง เพราะ ก่อนหน้านี้เราก็พึ่งมีหนังผีอิสลามในพื้น 3 จังหวัดภาคใต้อย่าง ของแขก ของผู้กำกับ เกรียงไกร มณวิจิตร ที่หยิบเอาเรื่องเล่าของผีญินที่เข้าสิงร่างของเด็กสาวจนกลายเป็นความสยองขวัญของครอบครัวก็ทำเงินได้ถึง 50 ล้านบาท ก่อนจะต่อยอดสู่ทั้งสัปเหร่อ และ ธี่หยดอย่างที่เห็นกันนี้น่ะเอง

                หรือย้อนกลับไปยังร่างทรง หนังของ บรรจง ปิสัญธนะกูล ในปี 2564 ที่เล่าเรื่องของ มิ้ง หญิงสาวผู้มีสายเลือดร่างทรงที่ถูกผีปอปในความเชื่อของคนอีสานเข้าสิงร่างจนกลายเป็นผีร้ายที่คุกคามคนในครอบครัวและชีวิตตัวเองก็ทำงานถล่มทลายไปกว่า 112 ล้านบาท และ กลายเป็นหนังสยองขวัญดังในเกาหลีใต้และทั่วโลกเช่นกัน ต้องบอกว่า หนังแนวนี้นั้นมีความเฉพาะตัวของมันในแบบที่ยากจะหาประเทศไหนเทียบได้ (เวลาพูดถึงหนังไทย คนก็นึกภาพหนังผีไทยอย่าง นางนาก ชัตเตอร์ หรือ กระทั่ง ร่างทรงนี่ละครับ)

(ร่างทรง)

                แล้วทำไมเรื่องเล่าผีไทยที่ได้รับความนิยมช่วงนี้คือ Folk Horror ซะส่วนมากคงต้องบอกก่อนว่า หากจะนิยามคำว่า Folk Horror แล้วละก็เราอาจจะนิยามได้เป็นภาษาไทยว่า เรื่องสยองขวัญจากพื้นที่ห่างไกลเมือง หรือ ถ้าเรียกง่าย ๆ คือ ผีป่า ผีบ้านนอก นั้นแหละครับ ซึ่งเอาจริง ๆ เรื่องสยองขวัญพวกนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผี แต่เป็นอะไรก็ได้ที่คนเมืองหลวงไม่เข้าใจ และ ไม่คิดว่า มันคือ สิ่งที่อธิบายได้น่ะเอง

                สมมติตัวอย่างก็คือ ตัวเอกเดินทางกลับไปเยี่ยมญาติที่ต่างจังหวัด อาจจะเป็นภาคไหนสักที่ แล้ว ตระกูลของตัวเอกเนี่ยอาจจะเป็นชนเผ่าอะไรสักอย่างที่มีพิธีกรรมประหลาด หรือ บูชาอะไรแปลก ๆ และ ก็มีเหตุบางอย่างทำให้ตัวเองต้องเผชิญหน้ากับความลึกลับของสิ่งที่บูชา หรือ ตระกูลหรือหมู่บ้านอะไรพวกนี้ อันนี้คือ Folk Horror เหมือนกันจึงบอกได้ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นผี

                ขอให้เป็นอะไรก็ได้ที่คนเมืองไม่เข้าใจ หรือ มีความคิดตรรกะบางอย่างที่ไม่อาจจะเข้าใจได้ด้วยเหตุและผล พวกเรื่องสยองขวัญจากพื้นที่ห่างไกลพวกนี้เลยถูกเล่าขานผ่านงานวรรณกรรมหรือภาพยนตร์เสมอมา

                ถ้ายกตัวอย่าง Folk Horror ดัง ๆ ก็ได้แก่ The Wicker man ของ Robin Hardy ที่เล่าเรื่อง ลัทธิประหลาดบนเกาะห่างไกลที่มีหุ่นไม้ตั้งโดดเด่นเป็นสง่า , Midsommar ของ Ari Aster ที่พูดลัทธิประหลาดในยุโรปตะวันออกสุดสยอง , The Witch ของ Robert Eggers  ที่ว่าด้วยเรื่องราวของครอบครัวชาวนิวอิงแลนด์นอกเมืองที่ต้องเผชิญหน้ากับความลึกลับของแม่มดและซาตาน  , The Wailing ของ นาฮงจินที่ว่าด้วย ตำรวจที่ครอบครัวแตกสลายเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีประหลาดของเด็กสาวในหมู่บ้านห่างไกลที่เกี่ยวกับปีศาจชั่วช้า , 'The Blair Witch Project ของสองผู้กำกับ Daniel Myrick และ Eduardo Sánchez ว่าด้วยเทปลับ Found Footage ของทีมงานสารคดีที่หายตัวไปในป่าเพื่อตามหาตำนานของแม่มดแบลร์ , Sleepy Hollow ของ Tim burton เองก็เป็นเรื่องราวของการอาละวาดของชายขี่ม้าหัวขาดที่ไล่ล่าตัดหัวคนในยามค่ำคืน นี่คือตัวอย่าง Folk Horror ที่ทำให้นิยามชัดว่า เรื่องเล่าพวกนี้คือ ภาพสะท้อนความไม่รู้และความหวาดกลัวของคนเมืองที่มีต่อสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำความเข้าใจได้ อย่าง ป่า หมู่บ้านห่างไกล หรือ ที่ที่คนส่วนมากไปไม่ถึง ซึ่งเรื่องเล่าพวกนี้ไม่แปลกที่จะได้รับความนิยมเพราะมันเต็มไปด้วยความน่าค้นหาและล้ำจินตนาการอย่างมากน่ะเอง

(the wailing)

(The Blair witch project)

                เวลาเปิดฟังคลิปเรื่องผีตามรายการต่าง ๆ เราจึงมักจะเห็นพวกเรื่องราวของ Folk Horror หรือพวกผีป่า หมู่บ้านห่างไกลได้รับความนิยมอย่างเช่นเวลานี้ มีเรื่อง หมู่บ้านลึกลับที่เล่าโดยคุณโบนัส ใน The Ghost Radio ที่เล่าเรื่องของผีและหมู่บ้านประหลาดได้อย่างน่าสนใจและมีคนฟังไป 3 ล้านครั้งแล้ว ณ เวลานี้ ก็เป็นตัวอย่าง Folk Horror ที่คนนิยมเหมือนกันน่ะเอง

                จริง ๆ ไทยเราเองก็ไม่ได้พึ่งนิยมหนังแนวเรื่องสยองขวัญจากพื้นที่ห่างไกลนี้แค่นี้หรอกครับ หากย้อนไปเราจะพบว่า หนังอย่าง บ้านผีปอป ของ สายยนต์ ศรีสวัสดิ์ เองก็มีภาพของหนังแนวนี้ที่ว่าด้วยกลุ่มนักศึกษาแพทย์จากเมืองหลวงเดินทางไปยังหมู่บ้านห่างไกลเพื่อจะทำโครงการจิตอาสารักษาคนก่อนไปเผชิญหน้าผีปอปในเวลานั้น โดยที่พวกเขาปฏิเสธว่า ผีปอปไม่มีจริงหรือพยายามเอาความรู้และวิทยาศาสตร์ไปลบเรื่องเหล่านี้ก่อนจะพบว่า ผีปอปที่พวกเขานั้นกำลังไล่ล่าพวกเขาในกลุ่ม ซึ่งตอนแรกตัวหนัง บ้านผีปอป ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับกับการฉายในโรงหนังต่างจังหวัด หนังกลางแปลงที่เสิร์ฟให้คนต่างจังหวัดดูซะส่วนมาก (จนถูกเรียกแบบเย้ยหยันว่า หนังภูธร) ซึ่งภาคแรกของหนังทำออกเป็นหนังสยองขวัญน่ากลัวและทำเงินไปได้ไม่ใช่น้อย ทำให้มีการสร้างภาคต่อตามมาและปรับโทนให้ตลกมากขึ้นด้วยการใสตัวละครอย่าง ปอปหยิบที่โดนรังแกโดนตี ฉากวิ่งหนีลงโอ่งที่หลายคนจดจำ ก่อนหนังจะมีสารพัดหนังปอปออกมาอีกหลายสิบเรื่อง รวมทั้งหนังผีภูธรในช่วงเวลาต่อมา ที่เราจะเห็นหนังอย่างผีแม่ม่าย ผีนั้นผีนี่สารพัดเรื่องอันเป็นช่วงรุ่งเรืองของสายหนังที่สร้างหนังพวกนี้กันอย่างมากมาย

                จนกระทั่งหนังเหล่านี้สร้างขึ้นมาเยอะเกินไป สุกเอาเผากิน ไม่มีอะไรแปลกใหม่จึงค่อย ๆ ตายลงไป เช่นเดียวกับบ้านผีปอปที่ไม่อาจจะกลับมาสู่จุดสูงสุดได้อีกเลย แม้จะมีความพยายามรีบูธหรือสร้างภาคต่อ ณ ช่วงเวลาปัจจุบันก็ตาม และ หนังสยองขวัญไทยถูกกลืนกินด้วยหนังผีคนเมือง หรือ ผีคนกรุงแทนที่จนกระทั่งการมาของ นางนาก (นนทรี นิมิตบุตร) ที่ทำให้วงการหนังไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง และ แน่นอนว่า หนึ่งในหนังที่เราคงพูดถึงไม่ได้คือ หนังอย่าง สัตว์ประหลาดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่หยิบเอาตำนานเสือสมิงมาผูกโยงกับเรื่องรักของชายสองคนที่ทำให้ฉากเข้าป่าของทหารหนุ่มในช่วงครึ่งหลังและได้เผชิญหน้ากับภูตผีในป่า รวมทั้งเสือสมิง คือ การขยายภาพของ Folk Horror ที่ปกคลุมผืนที่นี้เอาไว้ไม่เสื่อมคลาย

(สัตว์ประหลาด)

                ซึ่งเรายังได้เจอหนังแนวนี้อย่าง ตะเคียน ของ เฉลิม วงศ์พิมพ์ , ดงพญาไฟ ของ ชายชัย พานนะสี , ไพรีพินาศ ของ เปลว ศิริสุวรรณ ซึ่งเป็นมรดกของเรื่องเล่าจากป่าลึกที่ถูกเล่าขานมานาน อย่าง ผี ปีศาจ สัตว์ประหลาด หรือ กระทั่ง สัตว์ร้ายที่อยู่ในความทรงจำของคนฟังน่ะเอง นี่ยังไม่รวมหนังอย่าง ลองของ หรือ เป็นชู้กับผีที่อยู่ในขนบเดียวกันนั้นคือ ความกลัวต่อสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ได้อย่างภาคภูมิ ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับหนังผีคนเมืองที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของโรงหนัง

                ความล้ำจินตนาการของหนังแนวนี้เลยเป็นสิ่งที่เย้ายวนให้คนสนใจอกสนใจเสมอ และ ใน ทองสุก 13 หนังเรื่องที่แล้วของผู้กำกับคุ้ย ทวีวัฒน์ วันทา เองก็เป็นหนัง Folk Horror ที่ผสมผสานกับหนังสยองขวัญประเภท กระท่อมกลางป่า หรือ Cabin in the wood ที่เป็นสูตรหนึ่งที่เราคุ้นชินจนเป็นประเภท Set ย่อยของหนังสยองขวัญไปแล้ว (หนังประเภทนี้ก็ประมาณตัวละครไปทำอะไรสักอย่างในพื้นที่ห่างไกล เกาะ หรือ ป่า แล้วเจอบางอย่างคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นผี มนุษย์หมาป่า หรือ ฆาตกรโรคจิต ที่ที่พวกเขามีที่ปลอดภัยเดียวคือ กระท่อมหรือบ้านเท่านั้นเอง) ซึ่งไม่แปลกเพราะ ตัวของคุณคุ้ย ทวีวัฒน์ วันทา เป็นแฟนของหนังอย่าง the Evil dead อยู่แล้วจึงทำให้หนังทั้งทองสุก 13 และ ธี่หยดมี่กลิ่นอายของหนังเรื่องนี้แทบทุกอณู และ มาใช้แบบเต็มที่กับธี่หยดกับคาแรคเตอร์อย่าง พี่ยักษ์ ผู้ไม่ต่างกับ แอช พระเอกของ Evil dead ที่ถือปืนลูกซอง ถือขวานไล่กระทืบผีแบบไม่เกรงกลัวใด ๆ จนกลายเป็น Final man ผู้เผชิญหน้ากับผีหรือสิ่งเหนืออำนาจกว่าได้อย่างไม่เกรงกลัว

(ทองสุก 13)

                พี่ยักษ์จึงเป็นตัวละครที่หายากมากในหนังไทยด้วยซ้ำ เพราะ เป็นตัวละครที่คนดูพร้อมลุกขึ้นมาเชียร์ให้ยิงกบาลผีให้เดี้ยง แต่ผีในธี่หยดเองก็เรียกว่า ทั้งร้ายกาจ ทั้งกวนตีน และมีฤทธิ์เดชมากมายชนิดว่า หมอผียังเอาไม่อยู่ด้วยซ้ำ

                มันทำให้หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของคนปะทะผีโดยสิ้นเชิง

(พี่ยักษ์ จากธี่หยด นำแสดงโดย ณเดช คุกิมิยะ)

                สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีแง่มุมที่น่าสนใจคือ การดำเนินเรื่องในช่วงปี 2515 ณ ช่วงเวลาก่อน 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นน่ะเอง

                และยักษ์คือ ตัวละครทหารหนุ่มที่พึ่งกลับบ้านหลังพึ่งผ่านเหตุการณ์ในภาคก่อนหน้าอย่าง สมิงเขากวาง และ กระสือ มาหมาด ๆ (ตามเรื่องเล่าและนิยาย) ซึ่งจะว่าไปมันมีนัยยะบางอย่างที่น่าสนใจ ณ ช่วงเวลานั้นว่า มันคือ ช่วงที่จอมพลถนอม ขิติขจร กำลังใกล้หมดอำนาจ และ อย่างที่หลายคนทราบคือ หลังจากนี้จะเกิดเหตุการณ์ที่มีชื่อว่า เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ในวันที่ 26 เมษายน 2516 ที่              มีผู้เสียชีวิต 6 คน และพบซากสัตว์ป่าขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ต่อมาชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติจาก 5 มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้มีการเข้าไปสังเกตการณ์และพบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักธุรกิจ จำนวน 50-60 คน ตั้งแคมป์ล่าสัตว์ป่าในทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเฮลิคอปเตอร์ที่ตกและพบซากสัตว์ป่าจำนวนมาก ก็คือ 1 ใน 2 ลำ ที่ใช้เป็นพาหนะในการเดินทางของกลุ่มบุคคลดังกล่าว แน่นอนว่า รัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอมปฏิเสธ และ แก้ตัวว่า มันคือ ปฏิบัติการลับต่างหาก แต่ก็กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างหนักจากบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนกระทั่งนำไปสู่วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ที่จอมพลถนอม ประภาส และ รัฐบาลของเขาต้องลาออกจากตำแหน่งออกจากประเทศไปในทันที

                หากพี่ยักษ์คือ ทหารที่เอาปืนมาไล่ยิงผีในเรื่องด้วยความดุดัน แต่ความดุดันนั้นเกือบพลาดท่าให้กับผีที่จะว่าไปก็เหมือนสิ่งที่ยักษ์สู้ด้วยและมองไม่เห็นจนเกือบฆ่าแม่ตัวเองแล้ว

                มันทำให้การเผชิญหน้าของเขากับผีเป็นสิ่งที่เหมือนจับคู่เอาไว้

                ยักษ์ VS ผี

                ยักษ์ที่ดุดันกลับต้องสู้กับผีเต็มไปด้วยอำนาจเหนือจินตนาการ และ หลอกหลอนผู้คนได้อย่างน่าสะพรึงจนเขาเกือบเอาชีวิตและครอบครัวไม่รอดเหมือนกัน พลังของมันคือ ภาพสะท้อนของยุคสมัยน่ะช่วงเวลานั้น ๆ เอง เพราะผีป่าตัวนี้ไม่กลัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่กลัวหมอผี ไม่กลัวอะไร เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในขนบใด ๆ แม้แต่ปืนยังลำบากที่จะกำจัดมันได้อยู่ดี

                ไม่แปลกหากจะมองว่า ผีธี่หยดจะเป็นการท้าทายอำนาจของรัฐ หรือ ทหารแบบเต็มภาคภูมิที่ที่มันเอื้อมมายังกลางใจของยักษ์ที่ที่ต้องเสียน้องสาวไปและสร้างความแค้นให้ยักษ์จนถึงขั้นทำลายศาล เผามันให้เกลี้ยง

                อำนาจของผู้ชาย จึง ปะทะกับ ผีด้วยประการฉะนี้

                ไม่ต่างกับที่เด็กปัญญาอ่อนในเรื่อง ทองสุก 13 กลายเป็นผีร้ายเอาคืนพวกเพื่อน ๆ ตัวเองที่รังแกจนต้องพบจุดจบด้วยพลังอำนาจของผีป่าที่มอบให้เขานั้นแหละ

                แม้แต่หมอผีก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน

                ผีชุดดำในธี่หยดจึงเป็นสิ่งที่น่าปรบมือกับการสร้างผีขึ้นมาโดยผสมผสานปอปกับบรรดาผีต่าง ๆ ออกมาให้กลายเป็นผีที่ร้ายกาจมีความเฉพาะตัวและลูกเล่นพลังของมันก็น่าจดจำไม่ใช่เล่น (แน่นอนว่า มันทำให้การถามว่า ธี่หยด มันเป็นคำภาษาไหนกันดูไม่ใช่สาระสำคัญไปด้วย เพราะ มันไม่มีคำอธิบายมันเลยน่ากลัวและไร้ขีดจำกัดของจินตนาการไปด้วย) ยิ่งการที่มันไม่มีที่มาที่ไปและเหตุผลของมันไม่ต่างกับฉลามใน Jaws หรือ Alien ยิ่งทำให้มันน่ากลัวยิ่ง เพราะ คาดเดาความต้องการมันไม่ได้เลย

(ผีชุดดำใน ธี่หยด)

                แต่ก็น่าเสียดายที่ธี่หยดดันมีการ์ตูนผีที่อธิบายต้นกำเนิดของผีตัวนี้ไปแล้ว และดันทำให้เรารู้สึกว่า การได้รู้ถึงต้นกำเนิดไม่ค่อยจำเป็นนัก แถมพยายามจะให้เราเห็นใจนางทั้งที่การกระทำของนางตอนนี้ไม่ได้น่าเห็นใจแล้วเลยกลายเป็นความผิดหวังเล็ก ๆ ไปโดยปริยาย

                แต่เอาเถอะ เพราะ ส่วนตัวนี่ไม่ใช่หนังผีที่ตุ้งแช่น่ากลัวอะไร แต่มันคือ หนังคนยิงผีที่มันและเอ็นจอยอย่างบ้าคลั่ง กระสุนปืน เลือดสาดกระเซ็น เครื่องใน ไปจนถึง ศพเละเทะ นี่คือ สิ่งที่หนังผีไทยขาดหายไปนานแสนนาน (เนื่องจากได้ยินว่า ทุกวันนี้มีการสั่งคนทำไม่ให้หนังผีมีคนตายเยอะ ๆ) ซึ่งพอเรื่องนี้เหมือนปลดลิมิตของมันก็ทำให้หนังไปสุดทางเท่าที่มันจะได้จากเรื่องเล่าที่ไม่ค่อยมีอะไร ดันกลายเป็นเรื่องเล่าที่เต็มไปด้วยความสยองมากมาย คนตาย ศพ ผี คุณคุ้ยพาเราไปไกลกว่าทองสุก 13 (แต่อันนั้นก็ตายยับเหมือนกัน) แต่ก็เป็นหนังผีที่ทำให้เรื่องราวแบบ Folk Horror ยังคงเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่ยังถูกพูดถึงแม้ว่า กาลเวลาจะผ่านมาจนถึงปัจจุบันแล้วก็ตาม

                และยังบอกเราว่า ถ้าจะมีอะไรที่เราสามารถส่งเสริมหรือทำให้มันเป็นวัฒนธรรมส่งออก หรือ งานศิลปะที่รัฐบาลไทยคิดว่า มันตีตลาดพวกนี้ได้ หนังสยองขวัญเรานี่แหละขึ้นชื่อที่สุดแล้ว และ ทั้งของแขก สัปเหร่อ หรือ ธี่หยดเองก็เป็นตัวอย่างที่ดีของหนังสยองขวัญไทยที่เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในงานที่ภาคภูมิใจได้เสมอ เพราะ ไม่ใช่ความน่ากลัว แต่ เป็นอัตลักษณ์ ไอเดียสร้างสรรค์ จินตนาการ และ ความกลัวที่ฝังรากลึกเอาไว้ และ ทำให้เรายังพูดได้ว่า ผีไทยนี่ละ Soft Power ที่แข็งแกร่งที่สุดแล้ว

ลิงค์ประกอบการเขียน

https://workpointtoday.com/14oct/

https://collider.com/best-drama-tv-shows-all-time-ranked/

 

บล็อกของ Mister American

Mister American
คงไม่มีอะไรต้องพูดมากนอกจากนี่คือ ภาพยนตร์ซอมบี้ที่ดีที่สุดในรอบหลายปี และที่สำคัญนี่ไม่ใช่หนังที่สร้างโดยฮอลลีวู้ดแต่เป็นเกาหลีใต้ ประเทศที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเอเชียที่เรียกว่าเป็นเบอร์หนึ่งไปแล้วในด้านคุณภาพของหนังที่นอกจากฮอลลีวู้ดแล้วมีเพียงประเทศนี้ที่ทำหนังออกมาได้สากลและสนุกในแบบที่ทุก
Mister American
ยังคงเป็นช่วงเวลาเศรษฐกิจยังไม่มีวี่แววว่าจะ ฟื้นตัวเสียที ในช่วงปลายปี 2015 นี้ทุกอย่างยังคงมองไม่เห็นว่า อนาคตจะเป็นเช่นไร กระนั้นเองสำหรับงานหนังสือแห่งชาติ เดือนตุลาคมนี้ยังคงเป็นช่วงเวลาร้อนแรงของบรรดาค่ายไลท์โนเวลต่าง ๆ มากมายที่ต่างเตรียมกระสุนดินดำ หรือ ออกหนังสือมาเพื่อจูงใจนักอ่านทั้งหล
Mister American
           ความสำเร็จครั้งมโหฬารของภาคที่สี่ของแฟรนไชส์ Jurassic Park อย่าง Jurassic World นั้นเรียกได้ว่า เป็นการหักปากกานักสังเกตที่คาดเดาว่า ภาคต่อของไดโนเสาร์ภาคนี้อาจจะทำเงินได้ไม่มากนัก ทว่า การเปิดตัวในอเมริกากว่า 200 ล้านเหรียญในเวลาเพียงสามวันจนทำลานสถิติของ
Mister American
              ท่ามกลางความเงียบงันสถาวะเงินฝืดที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้มีสภาพเรียกว่า ย่ำแย่ที่สุดในหลายปี ผู้คนไม่ยอมจับจ่ายใช้สอยกันยกเว้นเพียงจำเป็นทำให้สถาวะของประเทศค่อนข้างเงียบ บริษัทหลายบริษัทต่างเจ็บตัวเข้าเนื้อกันไปตาม ๆ กันทำให้หลายคนคาดการณ์ว
Mister American
            “บางระจัน บางระจัน บางระจัน ไม่อาจยืนอยู่ทุกวันเพ็ญเดือนสิบสอง บางระจัน บางระจัน บางระจัน ไม่อาจยืนอยู่ถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง”
Mister American
                ถ้าให้พูดล่ะก็นี่ก็เป็นเวลาครบรอบสามปีแล้วกระมั้งครับนับจากการล่มสลายของค่าย Bliss publishing  ค่ายหนังสือยักษ์ใหญ่ที่ปิดตัวลงไปและทำให้กระแสหนังสือเล่มเล็กอย่างไลท์โนเวลนั้นกลายเป็นหนังสือกระแสหลักที่หลายค่ายพากันกระโจนเข้ามาร่วมสมรภูม
Mister American
            เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้นวงการภาพยนตร์ไทย ไม่สิ ต้องบอกว่า วงการภาพยนตร์เมอร์เชียลอาร์ตของโลกนั้นต้องสูญเสียปรมาจารย์ สุดยอดนักสู้ของโลกไปอย่างไม่มีวันกลับ แม้ว่า ชื่อเสียงของชายคนนั้นจะแทบไม่เป็นที่สนใจของสื่อหรือคนไทยมากนัก หลายคนถึงกับงุนงงว่
Mister American
            ย้อนเวลากลับไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เราคงได้เห็นนโยบายคืนความสุขให้กับประชาชนของ คสช อย่างการเปิดโรงภาพยนตร์เมเจอร์ให้ชมภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาคที่ 5 กันไปบ้างแล้ว  แน่ล่ะว่า หลายคนคงจดจำภาพของบรรดาผู้คนที่พากันยื้อแย่งก
Mister American
        ต้องบอกว่า นี่คือ อนิเมะที่มาแรงแซงทางโค้งที่สุดในซีซั่นที่ผ่านมาเลยทีเดียว ท่ามกลางกระแสอนิเมะฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมามากมายและหลายคนคาดว่า อนิเมะที่ถูกดัดแปลงมาจากไลท์โนเวลชื่อเดียวกันของ ยู คามิยะ นักเขียนการ์ตูนที่อ
Mister American
              ท่ามกลางความวุ่นวายของการเมืองไทยที่ถึงจุดพลิกพันอีกครา หลังเกิดการัฐประหารขึ้นอีกครั้งได้ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์โดยรวม แน่ล่ะว่าภาพยนตร์ไทยที่สามารถทำรายได้มหาศาลในตอนนี้นั้นคงไม่พ้นหนังอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาคที่ 5 ยุทธหัตถีที่กวาดร
Mister American
          ถ้าพูดถึงหนังซัมเมอร์บล็อกบัสเตอร์ในปีนี้ที่ผมอยากดูใจจะขาดชนิดว่า แทบคลั่งแบบรอไม่ไหวแล้วที่จะต้องไปดูให้ได้นั้นย่อมไม่มีหนังเรื่องไหนทำให้ผมเกิดอาการคลั่งได้มากพอ ๆ กับหนังเรื่อง ก็อตซิลล่า (Godzilla) ของ กาเรธ เอ็ดเวิร์ด ที่เป็นการนำก็อตซิลล่