I
ผมรู้จัก “พี่อึ่ง” น้อยมาก หรือแทบจะเรียกว่าไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ แต่หลายคนบอกว่าผมน่าจะได้คุยกับเธอ ซึ่งจนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้คุยสักที
พี่อึ่ง เป็นหนึ่งในผู้ต้องหา คดี MBK39 มีภาพของเธออยู่ไม่น้อยในไฟล์ภาพของผม โดยเฉพาะช่วงที่พี่อึ่งเดินเข้าไปอาคาร สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ความจริงผมยิงภาพไปเรื่อย ๆ ไม่ได้รู้จักว่าใครเป็นใคร
หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน พี่อึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดี RDN50 ซ้ำอีก
II
ความจริงผมเคยเจอพี่อึ่งกับสามีมาตั้งแต่ปลายปี 2559 เมื่อครั้งไปประกันตัวคดีผู้ต้องหาฉีกบัตรประชามติ ถ้าจำไม่ผิดสามีของพี่อึ่งเสนอว่าจะสำรองเงินก้อนหนึ่งให้ประกันตัวผู้ต้องหาไปก่อน ทั้ง ๆ ที่แกจำเป็นต้องใช้เงินหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน
ก่อนหน้านั้น พี่อึ่งเคยไปร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” กับ “จ่านิว” เมื่อเดือนธันวาคม 2558 แต่เดินทางไปไม่ถึงเพราะถูกเจ้าหน้าที่ตัดตู้รถไฟที่พวกเขาโดยสารเพื่อไม่ให้เดินทางต่อ ผู้ร่วมกิจกรรมหลายคนถูกนำตัวไปสถานีตำรวจ และภายหลังนักกิจกรรมหลายคนถูกดำเนินคดี
ปัจจุบันมีข่าวฮือฮามากเกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริตในวงราชการ โดยเฉพาะกรณีที่นักศึกษาคนหนึ่งได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเพราะแฉการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐในกระทรวงพัฒนาสังคมฯ
หากย้อนกลับไปดูจะพบว่า จ่านิว กลุ่มนักศึกษา และประชาชนอย่างพี่อึ่งพยายามตรวจสอบการทุจริตของหน่วยงานรัฐมานานแล้ว แต่พวกเขาไม่ได้รับการยกย่อง กลับถูกจับกุมดำเนินคดี ...ทำไม ?
III
“อึ่งขอกลับก่อน จะรีบไปสั่งข้าว ไม่งั้นพรุ่งนี้ไม่มีข้าวหมกไก่กินนะ” พี่อึ่งพูดก่อนขอตัวแยกจากกลุ่มเพื่อน ๆ พี่อึ่งมักนำเสบียงไปสนับสนุนเมื่อมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะข้าวหมกไก่ชาวที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามจะสามารถกินด้วยได้
ผู้ร่วมกิจกรรมมีความหลากหลาย ทั้งที่มาที่ไป เพศ วัย อาชีพ และศาสนา บางคนไม่รู้จักกันมาก่อน แต่เมื่อได้พบหน้าค่าตากันบ่อย ๆ ก็สนิทกันไปเอง และมีบ้างเหมือนกันที่ยิ่งพบกันก็ยิ่งไม่อยากรู้จัก หรือแม้แต่มีเรื่องกระทบกระทั่งกัน ซึ่งก็เป็นธรรมดาของความสัมพันธ์มนุษย์
เพื่อนเล่าว่าในเวทีวันที่ 15 มีนาคม ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร พี่อึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรที่บอกเล่าประสบการณ์การทำกิจกรรมการเมืองให้นักศึกษากว่าห้าสิบคนฟัง นั่นอาจเป็นครั้งแรก ๆ ของการถือไมค์พูดบนเวทีอย่างเป็นทางการ ต่างจากคราวอื่น ๆ ที่เธอเป็นฝ่ายสนับสนุน เพื่อนของผมสังเกตว่าพี่อึ่งมีอาการประหม่าค่อนข้างมาก และพูดน้อยกว่าที่เคย แม้แต่การเล่าประวัติชีวิตตัวเองและที่มาที่ไปของการทำกิจกรรมทางการเมือง
“อึ่งอยากเห็นความถูกต้อง ขอความจริงให้กับประชาชน อึ่งไม่ได้รับความจริงเลยจึงออกมาตรงนี้ ขอให้รัฐบาลเปิดใจกับประชาชน พูดเรื่องจริง อย่าโกหกไปวัน ๆ” พี่อึ่งพูด
ผมอ่านจากข่าว ทราบว่าในห้องเสวนามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอยู่นับสิบ นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พี่อึ่งระมัดระวังคำพูด แต่หากจะบอกว่าเธอกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ ผมว่าพี่อึ่งข้ามพ้นจุดนั้นมานานแล้ว
“ตำรวจทหารอย่าไปบ้านอึ่งอีกเลยค่ะ เบื่อจะเลี้ยงน้ำ” พี่อึ่งพูดเสียงกระแทกกระทั้น ฝากไปกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบในห้องเสวนา
IV
พี่อึ่งกับสามีไปร่วมกิจกรรมการเมืองด้วยกันแทบทุกครั้ง แต่สามีของพี่อึ่งมักจะอยู่นิ่ง ๆ หรือคอย บันทึกภาพ ส่วนพี่อึ่งจะเดินทักทายผู้คนไปทั่ว เมื่อวิทยากรถามถึงอาชีพการทำมาหากิน พี่อึ่งตอบว่า “ผัวให้ตลอด สามสิบกว่าปีแล้ว ไม่อยากจะคุย ขายบ้านไปสองหลังแล้ว”
ข่าวลือเรื่องการมีท่อน้ำเลี้ยงและการรับจ้างไปทำกิจกรรมทางการเมืองยังทำงานได้ดีในสังคมไทย ผมตอบแทนใครไม่ได้ว่ามีใครสนับสนุนการเงินหรือไม่อย่างไร แต่เงินคงไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ประชาชนธรรมดายอมออกมาเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง
“ถ้าผมมีเงินเยอะ ๆ ผมก็อยากฝากคุณเอาไปแจกป้า ๆ ด้วยเหมือนกัน” มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าว
ผมเองก็คิดแบบนั้น เพราะผมจะได้รับอานิสงส์จากการเคลื่อนไหวของพวกเขา ผมอยากเลือกตั้ง ผมอยากเห็นประชาธิปไตย ผมอยากให้บ้านเมืองดีกว่านี้ แต่ผมไม่ขยันเท่าพี่อึ่งและพี่ ๆ คนอื่น ฟรีไรเดอร์ในสังคมอย่างผมมีเยอะแยะไป คอยรอรับผลประโยชน์โดยที่ไม่ลงทุนลงแรงอะไร ไม่อาย แถมยังจ้องประณามจับผิด ก็แปลกดี
ถ้าความคิดเห็นทางการเมืองของคนในครอบครัวไปด้วยกันได้ การทำกิจกรรมการเมืองก็ง่ายขึ้นหลายเปลาะ พี่อึ่งต่างจากพี่ ๆ อีกหลายคนที่ต้องแอบไปร่วมชุมนุม ไม่ใช่เพราะพี่ ๆ เขากลัวอำนาจเผด็จการ แต่พวกเขาไม่อยากมีปัญหากับคนในบ้าน
เราไม่แคร์คนที่เราเกลียด แต่เราห่วงความรู้สึกคนที่เรารักต่างหาก เราทนอยู่ใต้อำนาจเผด็จการไม่ได้ แต่เราก็ยังต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนในครอบครัวของเราให้ได้
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่หลายปีมานี้ ญาติสนิทมิตรสหายจำนวนมากขัดแย้งกันจนแทบไม่มองหน้า เพียงเพราะความเห็นต่างทางการเมือง อำนาจคุกคามยังทำให้อีกหลายคนถึงกับบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่จะได้กลับคืนแผ่นดินเกิด
V
ในเฟซบุ๊กของพี่อึ่ง มีแค่คำบ่นว่าคิดถึง “นายกฯยิ่งลักษณ์” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มีภาพในอดีตที่เธอได้ไปพบปะใกล้ชิด และให้กำลังใจนายกฯหญิงของเธอ “ความจริง” เรื่องนี้กระมังที่พี่อึ่งพูดบ่อย ๆ ในเวทีเสวนาวันนั้น แต่พี่อึ่งไม่ได้บอกสักคำว่าเธอเป็น “คนเสื้อแดง” ไม่ได้อธิบายว่าเธอรู้สึกเจ็บแค้นแค่ไหนที่บุคคลซึ่งเป็นที่รักของเธอถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม
"คนเสื้อแดง” มักถูกเรียกร้องทั้งจากสังคมและฝ่ายประชาธิปไตย (ที่อ้างว่าหัวก้าวหน้า) ให้ก้าวข้าม “ทักษิณและยิ่งลักษณ์” เสียที จนกระทั่งความรักของพวกเขาถูกมองเป็นความงมงายไร้เหตุผล
ตลกดีที่มนุษย์เรียกร้องหาเหตุผลจากความรัก
ผมไม่ได้เป็นคนโรแมนติกอะไร แต่ผมคิดว่าความรักเป็นความรู้สึกที่ใช้หัวใจ ไม่ใช่สมอง และมันมีพลานุภาพผลักดันให้เราทำสิ่งดีงามหรือสิ่งเลวร้ายได้มากพอ ๆ กัน
ไม่ว่าฟากฝ่ายการเมืองใดก็ตาม ไม่เคยใช้เหตุผลอธิบายความรักอยู่แล้ว
หากเราเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ใช่หรือไม่ที่มนุษย์ควรมีเสรีภาพในการรักและทำอะไรก็ตามเพื่อคนรักของตนเอง ตราบเท่าที่ไม่ได้ไปคุกคามทำร้าย หรือละเมิดสิทธิผู้อื่น
การเปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสต่างหากที่จะทำให้คนรักมากขึ้นหรือเลิกรัก เพราะคนจำนวนมากรักโดยใช้ความรู้สึก แต่เลิกรักได้ด้วยการใช้เหตุผล ไม่ใช่การบังคับ ปิดกั้น หรือสั่งห้าม
ทุกวันนี้ "คนไทย" นอกจากจะถูกจำกัดสิทธิต่าง ๆ มากมายแล้ว เรายังถูกคลุมถุงชนในเรื่องความรักอีกด้วย
แม้แต่ในฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเสรีนิยมก็ยังดูแคลนความรักของคนเสื้อแดง
ผมไม่เข้าใจความรักพี่อึ่งที่มีต่อนายกฯหญิงของเธอหรอก แต่ผมเคารพเสรีภาพของเธอนะ หากเธอยืนยันที่จะรัก และทำอะไรตามหัวใจตัวเอง
นับว่าโชคดีที่พึ่อึ่งและสามีรักในสิ่งเดียวกัน และสามีของพึ่อึ่งก็รักพี่อึ่งมาก ทั้งคู่จึงไปไหนต่อไหนด้วยกันไม่เคยห่าง โดยเฉพาะในกิจกรรมการเมือง
VI
ในการทำกิจกรรมทางสังคมหลายครั้ง ผมสังเกตว่า พี่ ๆ น้า ๆ พยายามไม่แสดงตัวโจ่งแจ้งว่าพวกเขาเป็น “คนเสื้อแดง” เพราะคำนี้มันถูกให้ความหมายในแง่ร้ายไปเสียแล้ว หลายครั้งที่คนเสื้อแดงถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ ราวกับว่าพวกเขาจะไปแพร่เชื้อโรคร้ายหรือทำให้คนอื่นแปดเปื้อน
การชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมนับร้อย ๆ แต่มีแค่บางคนเท่านั้นที่ถูกออกหมายเรียกและตั้งข้อหา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขาและเธอ ถูกหมายหัวไว้แล้วว่าเป็นคนเสื้อแดง
“อย่าใส่เสื้อแดงไปนะ” อาจารย์มหาวิทยาลัยกำชับแม่ของเธอซึ่งจะไปร่วมกิจกรรมเดินรณรงค์เพื่อสิทธิพลเมือง
“รู้หรอกน่า” แม่ตอบ
“พวกเขาอดทนกันมาก” อาจารย์บ่นพ้อกับเพื่อน ๆ เธอสะเทือนใจเหลือเกินที่ต้องบอกแม่ไปอย่างนั้น ทั้งที่ตัวเธอเองก็เป็นคนเสื้อแดงด้วยเหมือนกัน
“ฉันจะใส่เสื้อสีดำไป” เธอกล่าว
คนเสื้อแดงมักถูกเลือกว่าจะได้รับการต้อนรับหรือไม่ แต่พวกเขากลับไปสนับสนุนให้กำลังใจหลายคนหลายฝ่ายอย่างไม่เลือกหน้า นับครั้งไม่ถ้วนที่พี่ ๆ น้า ๆ เสื้อแดงไปร่วมกิจกรรมของกลุ่มคนที่ประกาศตัวว่า “ไม่มีสี” หรือ “ไม่ยุ่งการเมือง” และบางครั้งพวกเขาแทบจะเป็นคนส่วนใหญ่ในงานด้วยซ้ำ
มนุษย์ถูกสาปให้มีความรัก แต่การมีความรักของบางคนกลับถูกรังเกียจเดียดฉันท์
ขณะที่ความรักของอีกหลายคน กลายเป็นพลังแห่งการทำลายล้าง เพื่อกำจัดคนที่ไม่รักในสิ่งเดียวกันให้สิ้นซากไป
หากคุณรักในความรักของคุณ และไม่ยอมถูกคลุมถุงชน คุณก็ไม่ควรเอาถุงใบเดียวกันนั้นไปคลุมหัวคนอื่น ผมคิดแบบนี้.