แผงขายกล้วยปิ้งบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ดึงดูดให้ฉันลงจากรถเมล์ก่อนถึงป้ายที่ตั้งใจจะลง ตรงเข้าไปบอกแม่ค้าสาวว่า “กล้วยปิ้งสิบบาทค่ะ”
เธอเหลือบตาขึ้นเหนือศีรษะแวบหนึ่งแล้วบอกด้วยใบหน้าบึ้งตึงว่า “ขายยี่สิบบาท”
ฉันสะดุ้ง รีบมองตามสายตาที่เธอตวัดไปเมื่อครู่นี้ เห็นป้ายแขวนไว้เขียนว่า กล้วยปิ้งทรงเครื่อง น้ำจิ้มรสเด็ด ชุดละ 20 บาท
“อุ๊ย ขอโทษทีค่ะ ไม่ทันเห็น เอ้อๆ งั้นกล้วยปิ้งยี่สิบบาท” ฉันรู้สึกตัวเองพูดจาเงอะงะเหมือนบ้านนอกเข้ากรุงจริงๆ ด้วย ไม่รู้แม้กระทั่งราคากล้วยในท้องตลาด ก็แหม กล้วยน้ำว้าบ้านฉันยังหวีละสิบบาทอยู่เลย (ยิ่งซื้อตอนตลาดวายอาจได้สามหวีสิบ)
คนขายหยิบกล้วยสี่ลูกใส่ถุง ราดน้ำจิ้มเหนียวๆ แล้วใส่ไม้แหลมๆ ให้หนึ่งไม้
“สี่ลูกเอง แพงจัง” ฉันรำพึงกับตัวเอง แต่คงเผลอพูดดังไปหน่อย คนขายเลยขมวดคิ้วใส่
“ราคานี้มาตั้งนานแล้วพี่”
“ค่ะ ค่ะ ขอโทษที ไม่ค่อยได้มาแถวนี้” ฉันอยากยิ้มให้เธอ แต่ก็รีบหันหลังออกจากแผงกล้วยด้วยความเกรงใจคนขาย กลัวเธอเข้าใจรอยยิ้มของฉันผิด
จุดหมายอยู่ห่างออกไปอีกราวๆ สองป้ายรถเมล์ แต่ฉันกำลังอยากชิมกล้วยปิ้งคนกรุง เลยตัดสินใจไม่ขึ้นรถ จะได้เดินไปกินไปอย่างสบายอารมณ์
มาตรฐานความอร่อยเป็นรสนิยมส่วนบุคคล สำหรับฉัน กล้วยปิ้งนั้นฝาดไปหน่อย แถมน้ำจิ้มยังหวานแสบไส้ นึกถึงสีหน้าไร้อารมณ์ของคนขายแล้วเห็นใจเธอ ได้ยินว่า ธุรกิจกล้วยปิ้งปัจจุบันนี้มีการทำแฟรนไชส์แล้ว แสดงว่าคนไทยยังไม่เบื่อกล้วยปิ้ง แต่ทำไมหนอ เธอถึงมีหน้าตาเบื่อลูกค้าขนาดนั้น
แล้วฉันก็คิดถึงรอยยิ้มของยาย
ยายนั่งอยู่ในเพิงสังกะสีหน้าห้องแถวเก่าๆ ริมถนนในจังหวัดหนึ่งทางภาคอิสาน ตอนที่ฉันยังทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน ฉันขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเพิงของยายเกือบทุกวัน
ยายจะมานั่งปิ้งกล้วยขายตั้งแต่ตีห้าถึงหกโมงเย็น ยกเว้นวันที่ยายปวดเมื่อยจนลุกไม่ขึ้น แต่ทุกวันที่ยายมาขาย ยายจะมียิ้มแจ่มใสมาด้วยเสมอ เหลียวมองทีไร เห็นยายยิ้มทุกที จนฉันอยากจะคิดว่ายายยิ้มให้รถทุกคันที่ผ่านหน้ายายไป
รอยยิ้มนั้นเองที่ดึงดูดให้ฉันจอดรถซื้อกล้วยปิ้ง
“หนู้...” ยายจะขึ้นต้นแบบนี้ทุกครั้ง “ไปไหน้มาจ๊า กินกล้วยปิ้งของยายไหม้ อร่อยนาจ๊ะ”
เสียงเหน่อๆ ของยายทำให้ฉันต้องยิ้ม ยายก็บอกไม่ถูกว่าตัวเองนั้นพูดด้วยสำเนียงจังหวัดไหน เพราะวัยกว่าแปดสิบของยายนั้น ย้ายตามลูกชายมาหลายจังหวัด จังหวัดละหลายๆ ปี ทั้งอุตรดิตถ์ จันทบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา
“อู๊ย มันหลายแห่งเหลือเกิ๊น ย้ายจนยายเวียนหั้ว หนู้เอ๊ย ....”
เริ่มคุ้นหน้ากัน ยายก็ถามฉันว่า “หนู้ ค้ายอะไรหรือจ๊ะ” แกชี้ไปที่ตะกร้าใบใหญ่ที่ฉันมัดไว้ท้ายรถ ฉันจึงอธิบายว่าไม่ได้ขาย ของที่เต็มตะกร้าเกือบทุกวันนั้นคือกับข้าวหมา
ยายฟังเรื่องบ้านสี่ขาแล้วก็หัวเราะตาหยี “เหมือนยาย เหมือนยาย”
ในกระจาดกล้วยของยาย ทุกวันจะมีถุงก๊อบแก๊บหลายถุงใส่ข้าวคลุกน้ำแกงบ้าง หัวปลาบ้าง ต้มเศษเนื้อบ้าง ยายบอกว่า “เอาไว้ให้หม้า”
มีหมามอมแมมหกเจ็ดตัว แวะเวียนมาหายายที่แผงกล้วยปิ้งทุกวัน ยายจะหยิบถุงก๊อบแก๊บใส่ข้าวโยนให้มันคาบไปกิน มีตัวหนึ่งมารอยายแต่เช้า กินข้าวเสร็จแล้วก็นอนข้างๆ แผงของยายไปจนถึงเย็น พอยายกลับ มันก็กลับบ้าง ยายบอกว่ากลางคืนมันนอนไหนไม่รู้ แต่กลางวันมันมาอยู่เป็นเพื่อนคุยกับยาย
บางวันมันมีสีม่วงๆ เป็นหย่อมๆ เต็มตัว ยายเล่าว่ามันได้แผลมาจากไหนไม่รู้ ยายเลยเอายาสีม่วงใส่แผลให้ เมื่อแผลมันหาย ยายก็รีบบอกฉันให้ร่วมดีใจด้วยรอยยิ้มอิ่มสุข เงินที่ฉันซื้อกล้วย ยายบอกว่าจะเอาไว้ช่วยหมาที่อดอยาก
วันหนึ่ง ยายเห็นฉันมีพลาสเตอร์แปะอยู่ตรงหางคิ้วเนื่องจากถูกบานหน้าต่างกระแทกใส่ ยายรีบถามไถ่อาการอย่างห่วงใย แล้วหยิบกล้วยปิ้งใส่ถุงให้จนนับไม่ทัน
“ยายจ๋า หนูซื้อแค่สิบบาท ยายหยิบเกินแล้วยาย” ฉันรีบบอก
“ไม่เป็นไร้ กินกล้วยปิ้งของยาย หนู้จะได้ห้ายไวๆ” ยายยื่นกล้วยถุงใหญ่ (มีเกือบยี่สิบลูก) ให้แล้วบอกด้วยรอยยิ้มแฉ่งว่า “อ้ะ ซิบบาท”
“สิบบาทยายขาดทุนแย่ แถมให้เยอะขนาดนี้หนูกินไปสามวันก็ไม่หมด” ฉันไม่ได้บอกว่า ที่ซื้อยายเมื่อวาน (และเมื่อวานซืน) ก็ยังไม่หมด
“ขาดทุนอาไร้ กล้วยถูกจะตายไป๊ กินไม่หมดก็เอาไปค้ายต่อ” ยายแนะนำ
“โธ่ หนูจะไปขายใครเล่ายาย” ฉันยิ้มขำ นึกถึงน้องๆ ที่ทำงานที่ถูกชวนแกมบังคับให้ช่วยกินกล้วยปิ้งทุกวัน ยิ่งช่วงที่แผลยังไม่หาย ยายจะแถมกล้วยให้จนฉันแทบกินแทนข้าว
คิดถึง “เจ้าชายน้อย” ของอองตวน เดอ แซง-เต็กซูเปรี และถ้อยคำที่ว่า
“สิ่งที่ทำให้ทะเลทรายสวยงามก็อยู่ตรงที่ว่า มันซ่อนบ่อน้ำไว้ที่ใดที่หนึ่ง”
เจ้าชายน้อยและนักบินเดินอยู่ในทะเลทราย
“เธฮหิวน้ำเหมือนกันหรือ” นักบินถาม
เจ้าชายน้อยไม่ตอบ แต่พูดว่า น้ำอาจจะดีสำหรับหัวใจ
ทั้งสองพบบ่อน้ำเมื่อรุ่งสาง เจ้าชายน้อยขอให้นักบินตักน้ำในบ่อให้ นั่นเองคือสิ่งที่นักบินค้นพบ การเดินใต้แสงดาว การค้นพบบ่อน้ำกับเสียงเพลงของลูกรอก และแรงแขนของเพื่อนที่สาวถังน้ำขึ้นจากบ่อ ทำให้น้ำนั้นสดชื่นราวน้ำหวานในงานรื่นเริง
เจ้าชายน้อยบอกนักบินว่า
“ผู้คนในโลกของคุณ ปลูกกุหลาบห้าพันต้นในสวนเดียว แต่เขากลับไม่เคยพบสิ่งที่เขาต้องการ”
“ใช่ เขาไม่เคยพบมันหรอก” นักบินตอบ
เจ้าชายน้อยบอกว่า
“ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขาค้นหา อาจจะพบได้ในกุหลาบเพียงดอกเดียว หรือในน้ำเพียงเล็กน้อย”
แล้วเขาก็เสริมว่า
“แต่ตาของคนเราบอด สิ่งนั้นต้องหาด้วยหัวใจ”
กล้วยปิ้งราคาสี่ลูกยี่สิบบาทบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ไม่ได้อร่อยเป็นพิเศษ และฉันก็ไม่ได้อยากกินกล้วยปิ้ง เพียงแต่ฉันคิดถึงรอยยิ้มของยาย และรู้สึกว่า กล้วยปิ้งนั้นดีต่อหัวใจ