Skip to main content
"ผมไม่กล้ามานอนแถวนี้อีกเลย"
ได้ยินเสียงคนขับรถคุยกับผู้โดยสารบางคน บนเส้นทางระหว่างบ้านสุขสำราญ จังหวัดระนอง ถึงอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา


แม้สภาพปรักหักพังทั้งหมดจะไม่หลงเหลือให้เห็น แต่ร่องรอยซ่อมแซมบ้านเรือน รวมทั้งถนนสายยาว ยังคงบอกเล่าเรื่องราวในอดีต

ฉันเฝ้ามองอย่างตั้งใจประทับความทรงจำในท้องถิ่นที่เพิ่งมีโอกาสผ่านมาเห็นเป็นครั้งแรก ต้นไม้เรียงรายผ่านสายตาตามความเร็วของรถที่แล่นตะบึงไปข้างหน้า แต่ความคิดคำนึงของฉันกำลังเดินช้าๆ และถอยหลัง
.......

"บ้านฉันอยู่บางม่วง ขอเป็นน้องสาวของพี่นะคะ"
ถ้อยคำในจดหมายฉบับหนึ่ง ส่งมาถึงฉันเมื่อยี่สิบปีก่อน รอยหมึกบนตราไปรษณียากรบอกว่ามาจากตะกั่วป่า

เวลาเนิ่นนานจนฉันจำไม่ได้ว่าเรารู้จักกันได้อย่างไร อาจเป็นคอลัมน์หาเพื่อนใหม่ ในหนังสือวัยหวานสักเล่มหนึ่ง เธออายุน้อยกว่าฉันห้าปี

"ขอบคุณที่พี่ตอบจดหมาย ฉันดีใจที่สุดในโลก"
ทุกสัปดาห์จะมีจดหมายจากบางม่วง สอดมาในซองหลากสีที่พิมพ์ลายการ์ตูน ถ้อยคำของเธอตรงและซื่อ บางครั้งสดใส แต่บางครั้งก็แฝงความเศร้าบางอย่าง ฉันไม่อาจตัดสินความเป็นไปในครอบครัวของเธอ จึงได้แต่ปลอบโยนและให้กำลังใจ เราคุยกันอยู่นานนับปี เธอเขียนถึงฉันมากกว่าฉันเขียนถึงเธอ

วันหนึ่งเธอคร่ำครวญมาว่าต้องออกจากโรงเรียน
"ไม่มีใครอยากส่งฉันเรียนหนังสือ ไม่มีใครถามว่าฉันอยากทำอะไร"
"ก็แล้วน้องอยากทำอะไรเล่า" ฉันถามกลับไป
"ไม่รู้สิ ฉันแค่อยากมีความสุข" เธอตอบ
ในเวลานั้น เรายังไม่รู้จักอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีวิทยุติดตามตัว ถ้อยสนทนาระหว่างเรา ใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 7 วันในการเดินทางถึงกัน แต่บางครั้งก็นานนับเดือน

"พี่ทำไมหายเงียบไป รู้ไหมฉันใจคอไม่ดี ฉันรอจดหมายพี่ทุกวัน"
ฉันเลือกที่จะไม่ใส่ใจถ้อยคำตัดพ้อ เพราะกำลังวุ่นวายกับการเรียนปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย และตื่นเต้นกับเรื่องใหม่ๆ ในชีวิต ที่ดูเหมือนจะสำคัญกว่าการเฝ้ารออ่านและเขียนจดหมายถึงคนที่ยังไม่เคยพบหน้า

หนังสือเล่มหนึ่งเขียนว่า จงยิ้มให้คนอื่นเสมอ เพราะนั่นอาจเป็นยิ้มแรกและยิ้มเดียวที่ใครบางคนได้รับ แต่ในครั้งนั้น ฉันยังไม่ตระหนักกับความหมายของมัน

เธอหายไปนานหลายเดือน ก่อนจะส่งข่าวมาพร้อมรอยประทับตราไปรษณีย์ที่เปลี่ยนไป
"ตอนนี้ฉันมาสมัครทำงานเป็นแม่บ้านที่โรงแรม... แถวๆ หาดป่าตอง ต้องปูที่นอนเก็บที่นอนทุกวัน แขกบางคนสกปรกมากเลยพี่ แต่ก็ต้องทน ฉันจะไม่กลับบ้านอีกแล้ว"

เธอทำงานหนักอยู่นานปี เหน็ดเหนื่อยและเจ็บปวดกับความฝันหลายๆ อย่างที่ไม่เป็นจริง  
"ฉันมีข่าวจะบอก ฉันแต่งงานแล้วนะ ไม่มีพิธีอะไร แค่ผูกข้อมือ ไม่รู้เหมือนกันว่าฉันรักเขาไหม แต่เขาบอกว่ารักฉันมาก ฉันควรพอใจใช่ไหมพี่"

"อยากให้พี่มาหาจังเลย วันไหนเจอหน้าพี่ ฉันคงตื่นเต้นจนคุยอะไรไม่ออก"
ฉันกำลังทุ่มเทให้กับการทำงานอาสาพัฒนาในชนบทอีสาน เกาะภูเก็ตช่างอยู่ไกลแสนไกลในความรู้สึก อีกทั้งค่าเดินทางยังเป็นตัวเลขที่น่าตกใจสำหรับฉัน(ในตอนนั้น)

"เมื่อไหร่พี่ถึงจะมาเยี่ยมฉันล่ะคะ พี่คงไม่ได้รังเกียจฉันใช่ไหม"
เรื่องราวมากมายในชีวิตช่วงหนึ่ง ทำให้ฉันห่างเหินการคุยทางจดหมาย เธอยังส่งข่าวมาสม่ำเสมอ บางฉบับมีความน้อยใจเจือปนมาด้วย ฉันได้แต่ผัดวันประกันพรุ่งกับตัวเองด้วยเหตุผลว่า "ไม่ค่อยมีเวลา" แต่เมื่อคิดทบทวนภายหลัง ก็เห็นว่าเป็นแค่ข้ออ้างให้กับเรื่องที่เราไม่ให้ความสำคัญ

"ลูกฉันไม่สบายอีกแล้ว ฉันปวดหัวจนทำอะไรไม่ถูก ถ้ามีพี่อยู่ใกล้ๆ ฉันคงสบายใจกว่านี้"
วันหนึ่งเธอหอบลูกย้ายกลับมาอยู่ที่ตะกั่วป่า ไม่มีถ้อยคำใดกล่าวถึงพ่อของลูก และฉันก็ไม่ได้ถาม เธอเลิกพูดถึงตัวเอง จดหมายทุกฉบับมีแต่เรื่องของลูก ฉันคิดว่าพังงาก็ยังใกล้กว่าภูเก็ต สักวันฉันคงมีโอกาสไปหาเธอ ไปเยี่ยมลูกของเธอ ไปขอโทษที่ปล่อยให้เธอรอนาน แต่จนแล้วจนรอด ฉันก็ยังไม่ได้ไป มีอะไรที่ฉันเห็นว่าสำคัญกว่าในตอนนั้น ฉันเองก็ลืมไปแล้ว

ปลายปี 2547 คลื่นยักษ์สาดซัดเข้ามาใน 6 จังหวัดภาคใต้ หมู่บ้านของเธอเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เสียหายรุนแรงที่สุด ทั้งบ้านเรือนและชีวิตผู้คน

ฉันลุกขึ้นมาค้นหาเธออย่างตื่นตระหนก ไล่ตามดูหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ไม่มีชื่อและนามสกุลของเธอ พยายามคิดว่าเธอคงปลอดภัยอยู่ที่ไหนสักแห่ง 

เวลาผ่านไป ฉันพยายามหัดใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาเธอ เมื่อไม่พบ ก็ค้นเฉพาะนามสกุล ฉันโทรศัพท์ไปยังหมายเลขของคนที่มีนามสกุลพ้องกัน แต่ก็คว้าน้ำเหลว ส่งจดหมายไปตามที่อยู่ครั้งสุดท้าย แต่ไม่มีคำตอบกลับ เธอหายไปเหมือนไม่มีตัวตน เหมือนผู้สูญหายอีกนับพันคนที่ยังค้นหาไม่พบ

ตู้ไปรษณีย์สีขาวที่รั้วบ้านเก่าผุไปตามเวลา ฉันไม่ได้เปลี่ยนตู้ใหม่ และยังคงเฝ้ารออย่างใจจดจ่อ แต่จนถึงวันนี้ไม่มีจดหมายจากบางม่วงอีกเลย

"ในโลกนี้ พี่เป็นพี่สาวคนเดียวของฉัน"
ประโยคนี้ในความทรงจำ ทำให้ฉันมีน้ำตาทุกครั้ง

วันเวลาเหมือนสายน้ำที่ไม่ไหลกลับ หลายเรื่องราวเราไม่มีโอกาสแก้ไขใหม่ บทเรียนนี้บอกฉันว่า อย่าลังเลหรือรีรอที่จะลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ หรือสิ่งที่คิดว่าควรจะทำ

เพราะเพียงเราหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตัวเอง กว่าจะรู้สึก เราอาจทำคนสำคัญบางคนหล่นหายไปจากชีวิต

บล็อกของ มูน

มูน
“เธอยังไม่รู้อีกหรือ ว่าแม่อยู่ในกระดูกของเธอตลอดเวลาเชียวละ” The Joy Luck Club     สงสัยว่า แม่กับลูกสาวบ้านอื่นๆ เขาเป็นยังไง ทะเลาะกัน เถียงกัน และทั้งๆ ที่รักกัน แต่บางเวลาก็เบื่อหน่ายกันอย่างฉันกับแม่บ้างหรือเปล่า   ตอนที่ฉันยังเด็ก บ้านเราไม่ร่ำรวย (จะว่าไป ตอนนี้ก็ยังไม่ร่ำรวย พูดง่ายๆ คือไม่เคยรวยเลยดีกว่า) แต่ก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้น เพียงแต่เราไม่เคยมีพอที่จะซื้อหาอะไรตามต้องการได้มากนัก บางช่วง ฉันยังพับถุงกระดาษขาย (ร้อยใบได้สิบสลึง) เพื่อหาเงินไปโรงเรียน ทุกเย็นก็เดินเก็บยอดกระถินข้างทางมาจิ้มน้ำปลาพริกป่นกินกับข้าว วันไหนอยากดูโทรทัศน์ก็วิ่งไปชะเง้อดูบ้านคนอื่น…
มูน
ตอนที่แล้ว ฉันบ่นงึมงำเรื่องที่ข้าวสารบ้านสี่ขาเหลือแค่ ๒ กิโล จนต้องลงนั่งกุมขมับ แล้วก็คิดถึงวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่โรงเรียนบนภูเขาในจังหวัดเลย วันที่ฉันต้องรับบทแม่ครัวจำเป็น เลือกไม่ถูกว่าจะภูมิใจหรือกลุ้มใจ ที่ได้รับเกียรติให้แปรวัตถุดิบมูลค่า ๗๐ บาท อันประกอบด้วยแป้งเส้นใหญ่ ๓ กิโล น้ำมันหมูเป็นไข ๒-๓ ถุง น้ำตาลทราย ๑ ถุง กับสารพัดผักดอย ให้กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้า โดยมีปากท้องของเด็กน้อยร้อยกว่าคนเป็นเดิมพัน ไม่แน่ใจว่าโชคชะตาแกล้งฉันหรือแกล้งเด็กๆ กันแน่ มาถึงตอนนี้ก็ต้อง(กัดฟัน)เล่าต่อ ว่าสุดท้าย ฉันและเด็กๆ รวมทั้งหมา (ภูเขา)จะลงเอยอย่างไร
มูน
วันหนึ่ง เปิดถังข้าวสารแล้วพบว่า เหลือข้าวหุงให้หมาอยู่ราวๆ ๒ กิโลกรัม ฉันปิดฝาถัง มองเก้าอี้ตัวเล็กที่พลิกคว่ำด้วยการกระโจนของเจ้าแตงกวาหมาบ้าพลัง จับเก้าอี้ขึ้นตั้งให้ถูกด้าน แล้วนั่งลงยกมือกุมขมับ (ตอนแรกว่าจะไปนอนก่ายหน้าผาก แต่ขี้เกียจเดินไปนอนที่แคร่)
มูน
...ตัวเดียวมาไร้คู่ เหมือนเราอยู่เพียงเอกา   ก็เพลงมันพาไป จริงๆ ไม่ได้อยู่เพียงเอกาหรอก มีหมาหมู่นั่งอยู่เป็นเพื่อนตั้งหลายสิบตัว ร้องเพลงนี้ตอนแดดผีตากผ้าอ้อมเริ่มจาง เห็นนก(อะไรไม่รู้) บินเฉียงๆ เป็นหมู่ๆ อยู่เหนือยอดสะเดา (ดอกและยอดงามพรั่งพรู เก็บไปลวกจิ้มน้ำพริกมื้อเย็นนี้ดีกว่า) บ้านสี่ขายามเย็นแสนจะสงบ โค้งฟ้าตะวันตกเป็นสีหมากสุก ลมพัดแผ่วเบาเห่กล่อมใบประดู่ ใจหวนคะนึงถึงความหลัง น้ำใสๆ ก็เอ่อล้นในดวงตา (จะดราม่าไปไหน?)
มูน
หนูเล็กๆ ตัวหนึ่ง วิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปในกรงของสตางค์ “อ้าว เข้าไปทำไมน่ะ” ฉันรำพึงกับตัวเองมากกว่าจะถามหนู ส่วนแม่ที่หันมองตามฉันร้องว้าย “ตายแล้ว ออกมาเร้ว สตางค์อย่านะ” แม่ร้องเตือนหนูและห้ามแมวไปพร้อมๆ กัน ราวกับว่ามันสองตัวจะฟังรู้ภาษา แต่เจ้าสตางค์ที่กำลังนอนหงายผึ่งพุงอยู่ แค่เอียงหน้ามองหนูผู้บุกรุก เหยียดตัวบิดขี้เกียจทีหนึ่ง แล้วพลิกตะแคงไปอีกด้าน หันก้นให้หนูซะอย่างนั้น
มูน
บางครั้ง ฉันคิดว่าตัวเองกำลังจะเหมือนพวกป้าๆ ในหนังสือเรื่อง Island of the Aunts ที่เขียนโดย Eva Ibbotson     ป้าสามคนพี่น้อง อาศัยอยู่บนเกาะกลางทะเลที่ไม่ปรากฏในแผนที่โลก โชคดีที่ไม่มีคนรู้จักเกาะนี้ นอกจากเหล่าแมวน้ำ เงือก นกนางนวล และนานาสัตว์ป่วยจากทวีปต่างๆ ที่พากันเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังเกาะที่แสนบริสุทธิ์ เพื่อให้ป้าทั้งสามปลอบโยนและเยียวยาบาดแผลทั้งกายและใจ งานของป้ามีสารพัด เป็นต้นว่า ป้อนนมแมวน้ำกำพร้า ล้างคราบน้ำมันออกจากตัวนางเงือก หาอาหารให้นกบูบรีที่กำลังจะออกไข่ ส่งแมงกะพรุนกลับบ้าน รักษาปลาหมึกตาเจ็บ เก็บขยะที่คลื่นซัดมาบนหาด บางวัน…
มูน
เจ้าสี่ขาตัวเล็กมองลอดซี่กรงออกมาสบตากับฉัน ดวงตากลมโตคู่นั้นใสแจ๋ว เท้าน้อยๆ เขี่ยข้างกรงดังแกรกๆ มันคงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงถูกขัง มันจะรู้ไหมว่ากรงนั้นเปิดได้ มันกำลังรอให้ฉันเปล่อยมันหรือเปล่า
มูน
“จะฝังตรงไหนล่ะคราวนี้” แม่ถาม ในขณะที่ฉันยืนถือเสียมอยู่ข้างบ่อน้ำ กวาดตาไปทั่วบริเวณบ้านสี่ขา หญ้าคาและวัชพืชหน้าฝนแข่งกันแทงยอดท่วมหัวเข่าจนยากที่จะเจาะจงชี้ชัดลงไปว่า ตรงไหนเป็น “ที่” ของใคร นึกแล้วก็น่าที่จะปักป้ายไว้ให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องมาเปลืองหัวคิด แต่ถ้าปักป้ายชื่อไว้เหนือกองดินทุกกองที่เราเคยขุดและกลบฝัง บ้านสี่ขาคงดูคล้ายๆ ภาพประกอบการ์ตูนผีเล่มละบาทสมัยก่อน
มูน
มีชามใหม่ใบหนึ่งวางอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก่อนชามใบนี้ เคยมีขันพลาสติกใบละสิบบาทวางอยู่ ก่อนหน้าขันเป็นกะละมังบุบๆ และก่อนของก่อนหน้ากะละมังบุบ ก็เป็นถาดโฟมที่เคยใส่อาหารมาก่อน
มูน
  เป็นโชคที่ไม่รู้จะจัดว่าร้ายหรือดี ที่ฉันมีโอกาสเข้าสนามม้าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ภาพสนามหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลผุดขึ้นในความทรงจำ รั้วไม้สีขาวเป็นแนวยาว ขนานไปกับเส้นทางเรียบโค้งเป็นวงกลมใหญ่ เหนือสนามขึ้นไป เป็นอัฒจรรย์ที่เต็มไปด้วยเก้าอี้มากมายนับไม่ถ้วน  ในวันเวลานั้น แม่ของฉันทำงานหนักเพื่อหารายได้เพิ่มเติมสำหรับการเลี้ยงลูกเล็กๆ สามคน นอกจากเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง แม่ยังรับจ้างพิมพ์ดีดในวันเสาร์ และทำงานเป็นคนขายตั๋วแทงม้าในวันอาทิตย์แม่ไม่ชอบสนามม้า แต่คิดว่าเมื่อโชคดีมีงานพิเศษเข้ามาก็ควรจะคว้าไว้ เพื่อให้เรามีค่ากับข้าวเพิ่มขึ้น…
มูน
“มีคนเขาว่าเราไปดูถูกเขาแน่ะ” น้าอู๊ดถีบจักรยานมากระซิบกระซาบบอกฉันที่หน้าบ้านในคืนวันหนึ่ง ก็น้าอู๊ดเจ้าเก่าที่เคยมาเรียกฉันออกไปทัวร์กองขยะตอนเที่ยงคืนแล้วเจอ “ความลับในกระสอบ” นั่นละค่ะ (http://www.prachatai.com/column-archives/node/2522)
มูน
ฉันไม่แน่ใจว่า ไฉไลเป็นเพื่อนบ้าน หรือว่าเป็นสมาชิกสี่ขาอีกตัวหนึ่งของครอบครัว เราพบกันครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อน เธอนั่งนิ่งอยู่หน้าประตูรั้วบ้าน "มาเที่ยวเหรอ" ฉันถาม แต่ไฉไลเฉย ดูเหมือนเธอสนใจอย่างอื่นมากกว่าฉัน"บ้านอยู่ไหนล่ะจ๊ะ" ฉันนั่งลงถาม พยายามสบตาเธอ แต่เธอยังคงเฉย ตากลมๆ ออกจะโปนๆ เหลือบมองฉันแวบหนึ่ง แล้วมองโน่นนี่ในบ้านอย่างสำรวจตรวจตรา "ตามสบายนะ" ฉันบอก แง้มประตูรั้วไว้หน่อยหนึ่งแล้วออกไปทำงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็ได้เห็นหน้าไฉไลทุกวัน ไม่ทันสังเกตว่าเธอมาตอนไหนหรือกลับออกไปตอนไหน เห็นทีไร ไฉไลก็มักจะนั่งอยู่ใต้ต้นแก้วบ้าง หมอบข้างๆ กอเฮลิโคเนียบ้าง…