Skip to main content

“ชีวิตดังตัวคนเดียว ท่ามกลางทะเลเปลี่ยว ต้องลอยคว้างกลางลมคลื่น
หลับใหลไม่เคยเต็มตื่น ข้าวกลืนไม่เคยอิ่ม โอ้ รอยยิ้มไม่เคยได้”

เสียงเพลง “ชีวิตคนเศร้า” ของทูล ทองใจ ทำให้ฉันนึกถึงพ่อ และท่อนหนึ่งของเพลงที่พ่อมักร้องซ้ำไปซ้ำมาไม่เคยจบสักที

พ่อหิ้วกระเป๋าออกจากบ้านปู่ตั้งแต่อายุไม่ถึงยี่สิบ ทิ้งผืนนาไปตามหาความฝันของวัยหนุ่ม แต่ดูเหมือนว่าพ่อใช้เวลาตามหาตลอดชีวิต และพบเพียงความฝันที่แหว่งวิ่น

ความทรงจำของฉันเกี่ยวกับพ่อ เหมือนชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ที่กระจัดกระจาย แต่ทุกชิ้นชัดเจน และไม่เคยสักครั้งที่ฉันคิดจะลืม

ตอนที่ฉันอายุราวๆ ห้าหกขวบ พ่อพาไปดูหนังอินเดียเรื่อง “โชเล่ย์” ที่โรงหนังประชาบดี นครสวรรค์ เรื่องของชายหนุ่มกับการต่อสู้อะไรสักอย่างจำไม่ได้ พระเอกสองคนชื่อ อมิตาป ปัจจัน กับทราเมนเดอร์ นางเอกคือเฮม่า มาลินี

เป็นการเข้าโรงหนังครั้งแรกในชีวิต ฉันจึงดูด้วยความตื่นเต้นตาโตตลอดเรื่อง แทบร้องไห้สงสารนางเอกที่ถูกบังคับให้ร้องเพลงและเต้นรำเท้าเปล่าบนพื้นที่มีเศษแก้วกระจายเกลื่อน พอหนังจบฉันก็เหนื่อยจนหลับ พ่อจึงอุ้มพาดบ่าโหนรถเมล์กลับบ้าน

ชีวิตและการต่อสู้ของลูกผู้ชายในหนังคงวนเวียนอยู่ในใจพ่ออีกหลายวัน ได้ยินพ่อฮัมเพลงจากเรื่อง “โชเล่ย์” อยู่บ่อยๆ “เย้ โซซิตี้ อั่มน้าฮี โตเลงเก้....”

พ่อเป็นคนช่างฝัน และช่างเหงา บางครั้งจึงยึดเอาลูกสาวตัวเล็กๆ เป็นเพื่อน พ่อมักอุ้มฉันขึ้นนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปไหนๆ ด้วย งานที่ต้องบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วย พ่อก็พาฉันไปโดยไม่สนใจเสียงของแม่

บ่อยครั้งที่ฉันต้องไปนั่งอยู่ข้างวงเหล้าที่มีต้มยำไก่ใส่ใบกัญชาชามโตอยู่กลางวง ฟังเรื่องคุยที่ฉันไม่เข้าใจ ดูคนเมาหลับไปทีละคน และกลับบ้านเมื่อพ่อตื่นขึ้นมาอีกที บางคืนก็ไปหลับกลิ้งอยู่บนเสื่อหน้าจอหนังกลางแปลงในงานวัดที่ไหนสักแห่ง บางทีพ่อก็แบกฉันไปตะโกนเชียร์แข่งเรือยาวในหน้าน้ำ

พ่อมักจะกลับบ้านดึก เมามายและหิวโหย ทุกครั้งพ่อจะตะโกนปลุกหรือเปิดมุ้งเข้ามาควักตัวฉันออกจากที่นอน พาเข้าครัวไปหาอะไรกินเป็นเพื่อนพ่อ ส่วนใหญ่จะเป็นมาม่า ใส่อะไรก็ได้ที่หาได้ในครัว อาจจะเป็นเศษปลาทู เศษไข่เจียว บางทีก็เป็นผักที่ไม่เคยเห็นใครเขาใส่กัน เช่นผักชีล้อม ใบชะพลู ผักขะแยง หรือไม่ก็น้ำพริกน้ำแกงอะไรสักอย่างที่เหลือก้นถ้วยในตู้กับข้าว แต่แปลกที่อร่อยทุกที

มีบ้างที่กะละมังคว่ำก่อนกิน ถ้าบังเอิญแม่ตาสว่างและลุกขึ้นมาทะเลาะกับพ่อ

สำหรับแม่ พ่อมีดีอย่างเดียวคือไม่เคยตีลูกๆ เลยสักครั้งในชีวิต

พ่อมีไดอารี่เก่าๆ เล่มหนึ่ง ปกแข็งสีเทา มีปฏิทินของปี ๒๕๐๒  ซึ่งคงเป็นปีที่พ่อได้สมุดเล่มนั้นมา แล้วพ่อก็ใช้สมุดเล่มเดียวบันทึกอะไรต่อมิอะไรอยู่หลายปีก่อนมีครอบครัว มีอยู่หน้าหนึ่ง พ่อเขียนไว้ประโยคเดียวว่า “วันนี้ข้าฯ ยังไม่รู้จะนอนที่ไหนเลย แต่ช่างมันเถอะ ตราบชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นต่อไป”

ตอนนั้นพ่อคงอยู่ในช่วงพเนจรร่อนเร่ มีภาพถ่ายเก่าๆ เสียบไว้ในปกสมุด ภาพหนึ่งพ่อยืนเต๊ะท่าสะพายกระเป๋าอยู่บนทางรถไฟที่ไหนสักแห่ง อีกภาพหนึ่ง พ่อนั่งชันขาอยู่บนราวสะพานริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีรอยยิ้มแจ่มใสอย่างที่ฉันไม่ได้เห็นบ่อยนัก

พ่อกับแม่แยกทางกัน พ่อไปมีชีวิตล้มลุกคลุกคลานเพียงลำพังอยู่หลายปี และมักเขียนจดหมายทีละหลายแผ่นถึงฉัน เล่าถึงงานพิมพ์หนังสือ ทำฟาร์มไก่ ทำนาบัว ขายอาหาร งานรับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ สารพัดความฝันที่ริเริ่ม แล้วก็ล้มเหลว แต่พ่อมักจะบอกว่า “ช่างหัวมัน” แล้วก็ฝันใหม่

จนกระทั่งฉันทำงานมีเงินเดือน จึงส่งเงินให้พ่อตามที่อยู่หัวจดหมายที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นานๆ พ่อจะถามถึงแม่และลูกชายอีกสองคนที่ห่างเหินไปเหมือนคนแปลกหน้า

วันหนึ่ง พ่อดั้นด้นไปหาฉันถึงบ้านเช่าที่ขอนแก่น ไหล่สะพายกระเป๋าเก่าๆ ที่รูดซิปไม่ได้ แต่ยังอุตส่าห์ใช้เข็มกลัดติดไว้

“พ่อเอาเพื่อนมาด้วย” พ่อปลดเข็มกลัดแล้วควักเอาลูกหมาผอมกระหร่อง หน้าตาหงอยๆ ขึ้นมาตัวหนึ่ง
“หลบกระเป๋ารถแทบแย่” พ่อบอก ฉันนึกทึ่งทั้งพ่อและลูกหมา ช่างระหกระเหินข้ามจังหวัดมาด้วยกันได้โดยไม่ถูกไล่ลงกลางทาง

เจ้าหมาน้อยถูกใครทิ้งมาไม่รู้ มันเดินเร่ร่อนหิวโซอยู่ข้างทางแถวๆ ร้อยเอ็ด พ่อเรียกมันว่า หมาน้อยพเนจร และตั้งชื่อว่า ทิวา เหมือนนักพากย์หนังอินเดียรุ่นเก่าชื่อทิวา-ราตรี แต่ฉันสมัครใจเรียกมันว่ามอมแมมมากกว่า วันๆ พ่อคุยกับเจ้ามอมแมม (ทิวา) มากกว่าคุยกับฉันเสียอีก

มอมแมมโตขึ้นเป็นหมาสวยอย่างไม่น่าเชื่อ ตาโตสดใส ขนสีน้ำตาลเข้ม มีอานบนหลังเสียด้วย  

“ไอ้ทิวามันหล่อ” พ่อบอกอย่างภูมิใจ บางวันพ่อนั่งดื่มอยู่คนเดียว พอครึ้มๆ ก็ร้องเพลงสลับกับรำพึงรำพันอะไรต่อมิอะไรให้เจ้ามอมแมมฟัง ซึ่งมันก็ช่างตั้งอกตั้งใจนั่งฟัง ฉันเสียอีกที่บางครั้งรำคาญจนต้องหนีเข้าห้อง

อย่างไรก็ตาม ฉันกับพ่อคุยกันได้มากขึ้น แม้จะไม่มากเหมือนพ่อลูกอีกหลายคู่ แต่ก็ดีกว่าช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา และแม้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการกินอยู่ของหมา(ทิวาของพ่อ) ก็ตาม ฉันนึกดีใจที่มีมอมแมมอยู่กับเรา

เช้าวันหนึ่ง บ้านเงียบกริบ พ่อกับมอมแมมคงยังไม่ตื่น ฉันอาบน้ำแต่งตัวเตรียมไปทำงาน ออกมาเจอพ่อนั่งอยู่บนม้าหินหน้าบ้าน จ้องอะไรบางอย่างในมือ

“อุ่นกับข้าวแล้วนะ ข้าวหมาอยู่บนหลังโอ่ง” ฉันบอกพ่อ แต่พ่อยังนั่งก้มหน้านิ่ง ฉันชำเลืองมองในมือพ่อ มันเป็นโซ่ติดกะพรวนที่ฉันซื้อมาให้พ่อห้อยคอมอมแมมตั้งแต่สองสามเดือนก่อน โซ่นั้นขาด ลูกกะพรวนบุบบี้ และมีคราบสีแดงคล้ำๆ

ฉันรู้สึกมืออ่อนจนต้องวางแฟ้มงานในมือ

“ทิวามันถูกรถชน” พ่อพูดเบาๆ “อาจารย์บ้านโน้นเขามาบอกพ่อ มันถูกชนตั้งแต่ตีห้า พ่อออกไปดูก็ไม่เห็นมัน เห็นเขาว่ารถเก็บขยะของเทศบาลคงเก็บไปแล้วตอนเช้ามืด พ่อเจอแต่โซ่”

พ่อส่งโซ่ที่ขาดเหลือครึ่งเส้นให้ฉันแล้วเดินไหล่งุ้มไปหลังบ้าน ฉันรู้สึกเจ็บในคอจนต้องเดินกลับเข้าไปในห้อง ทรุดนั่งพังพาบอย่างหมดแรง ตั้งแต่โผล่ออกมาจากกระเป๋าเก่าๆ ของพ่อ มอมแมมไม่เคยออกไปนอกบ้านเลย มันอยู่ข้างๆ พ่อเสมอ บางทีพ่อเรียกมันว่า “ไอ้เพื่อนยาก”

ฉันน้ำตาไหลเมื่อนึกถึงคนที่ยังอยู่ พ่อคงจะเหงายิ่งกว่าเดิม และฉันก็คงไม่อาจทดแทนมอมแมมได้เลย

บล็อกของ มูน

มูน
“เธอยังไม่รู้อีกหรือ ว่าแม่อยู่ในกระดูกของเธอตลอดเวลาเชียวละ” The Joy Luck Club     สงสัยว่า แม่กับลูกสาวบ้านอื่นๆ เขาเป็นยังไง ทะเลาะกัน เถียงกัน และทั้งๆ ที่รักกัน แต่บางเวลาก็เบื่อหน่ายกันอย่างฉันกับแม่บ้างหรือเปล่า   ตอนที่ฉันยังเด็ก บ้านเราไม่ร่ำรวย (จะว่าไป ตอนนี้ก็ยังไม่ร่ำรวย พูดง่ายๆ คือไม่เคยรวยเลยดีกว่า) แต่ก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้น เพียงแต่เราไม่เคยมีพอที่จะซื้อหาอะไรตามต้องการได้มากนัก บางช่วง ฉันยังพับถุงกระดาษขาย (ร้อยใบได้สิบสลึง) เพื่อหาเงินไปโรงเรียน ทุกเย็นก็เดินเก็บยอดกระถินข้างทางมาจิ้มน้ำปลาพริกป่นกินกับข้าว วันไหนอยากดูโทรทัศน์ก็วิ่งไปชะเง้อดูบ้านคนอื่น…
มูน
ตอนที่แล้ว ฉันบ่นงึมงำเรื่องที่ข้าวสารบ้านสี่ขาเหลือแค่ ๒ กิโล จนต้องลงนั่งกุมขมับ แล้วก็คิดถึงวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่โรงเรียนบนภูเขาในจังหวัดเลย วันที่ฉันต้องรับบทแม่ครัวจำเป็น เลือกไม่ถูกว่าจะภูมิใจหรือกลุ้มใจ ที่ได้รับเกียรติให้แปรวัตถุดิบมูลค่า ๗๐ บาท อันประกอบด้วยแป้งเส้นใหญ่ ๓ กิโล น้ำมันหมูเป็นไข ๒-๓ ถุง น้ำตาลทราย ๑ ถุง กับสารพัดผักดอย ให้กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้า โดยมีปากท้องของเด็กน้อยร้อยกว่าคนเป็นเดิมพัน ไม่แน่ใจว่าโชคชะตาแกล้งฉันหรือแกล้งเด็กๆ กันแน่ มาถึงตอนนี้ก็ต้อง(กัดฟัน)เล่าต่อ ว่าสุดท้าย ฉันและเด็กๆ รวมทั้งหมา (ภูเขา)จะลงเอยอย่างไร
มูน
วันหนึ่ง เปิดถังข้าวสารแล้วพบว่า เหลือข้าวหุงให้หมาอยู่ราวๆ ๒ กิโลกรัม ฉันปิดฝาถัง มองเก้าอี้ตัวเล็กที่พลิกคว่ำด้วยการกระโจนของเจ้าแตงกวาหมาบ้าพลัง จับเก้าอี้ขึ้นตั้งให้ถูกด้าน แล้วนั่งลงยกมือกุมขมับ (ตอนแรกว่าจะไปนอนก่ายหน้าผาก แต่ขี้เกียจเดินไปนอนที่แคร่)
มูน
...ตัวเดียวมาไร้คู่ เหมือนเราอยู่เพียงเอกา   ก็เพลงมันพาไป จริงๆ ไม่ได้อยู่เพียงเอกาหรอก มีหมาหมู่นั่งอยู่เป็นเพื่อนตั้งหลายสิบตัว ร้องเพลงนี้ตอนแดดผีตากผ้าอ้อมเริ่มจาง เห็นนก(อะไรไม่รู้) บินเฉียงๆ เป็นหมู่ๆ อยู่เหนือยอดสะเดา (ดอกและยอดงามพรั่งพรู เก็บไปลวกจิ้มน้ำพริกมื้อเย็นนี้ดีกว่า) บ้านสี่ขายามเย็นแสนจะสงบ โค้งฟ้าตะวันตกเป็นสีหมากสุก ลมพัดแผ่วเบาเห่กล่อมใบประดู่ ใจหวนคะนึงถึงความหลัง น้ำใสๆ ก็เอ่อล้นในดวงตา (จะดราม่าไปไหน?)
มูน
หนูเล็กๆ ตัวหนึ่ง วิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปในกรงของสตางค์ “อ้าว เข้าไปทำไมน่ะ” ฉันรำพึงกับตัวเองมากกว่าจะถามหนู ส่วนแม่ที่หันมองตามฉันร้องว้าย “ตายแล้ว ออกมาเร้ว สตางค์อย่านะ” แม่ร้องเตือนหนูและห้ามแมวไปพร้อมๆ กัน ราวกับว่ามันสองตัวจะฟังรู้ภาษา แต่เจ้าสตางค์ที่กำลังนอนหงายผึ่งพุงอยู่ แค่เอียงหน้ามองหนูผู้บุกรุก เหยียดตัวบิดขี้เกียจทีหนึ่ง แล้วพลิกตะแคงไปอีกด้าน หันก้นให้หนูซะอย่างนั้น
มูน
บางครั้ง ฉันคิดว่าตัวเองกำลังจะเหมือนพวกป้าๆ ในหนังสือเรื่อง Island of the Aunts ที่เขียนโดย Eva Ibbotson     ป้าสามคนพี่น้อง อาศัยอยู่บนเกาะกลางทะเลที่ไม่ปรากฏในแผนที่โลก โชคดีที่ไม่มีคนรู้จักเกาะนี้ นอกจากเหล่าแมวน้ำ เงือก นกนางนวล และนานาสัตว์ป่วยจากทวีปต่างๆ ที่พากันเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังเกาะที่แสนบริสุทธิ์ เพื่อให้ป้าทั้งสามปลอบโยนและเยียวยาบาดแผลทั้งกายและใจ งานของป้ามีสารพัด เป็นต้นว่า ป้อนนมแมวน้ำกำพร้า ล้างคราบน้ำมันออกจากตัวนางเงือก หาอาหารให้นกบูบรีที่กำลังจะออกไข่ ส่งแมงกะพรุนกลับบ้าน รักษาปลาหมึกตาเจ็บ เก็บขยะที่คลื่นซัดมาบนหาด บางวัน…
มูน
เจ้าสี่ขาตัวเล็กมองลอดซี่กรงออกมาสบตากับฉัน ดวงตากลมโตคู่นั้นใสแจ๋ว เท้าน้อยๆ เขี่ยข้างกรงดังแกรกๆ มันคงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงถูกขัง มันจะรู้ไหมว่ากรงนั้นเปิดได้ มันกำลังรอให้ฉันเปล่อยมันหรือเปล่า
มูน
“จะฝังตรงไหนล่ะคราวนี้” แม่ถาม ในขณะที่ฉันยืนถือเสียมอยู่ข้างบ่อน้ำ กวาดตาไปทั่วบริเวณบ้านสี่ขา หญ้าคาและวัชพืชหน้าฝนแข่งกันแทงยอดท่วมหัวเข่าจนยากที่จะเจาะจงชี้ชัดลงไปว่า ตรงไหนเป็น “ที่” ของใคร นึกแล้วก็น่าที่จะปักป้ายไว้ให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องมาเปลืองหัวคิด แต่ถ้าปักป้ายชื่อไว้เหนือกองดินทุกกองที่เราเคยขุดและกลบฝัง บ้านสี่ขาคงดูคล้ายๆ ภาพประกอบการ์ตูนผีเล่มละบาทสมัยก่อน
มูน
มีชามใหม่ใบหนึ่งวางอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก่อนชามใบนี้ เคยมีขันพลาสติกใบละสิบบาทวางอยู่ ก่อนหน้าขันเป็นกะละมังบุบๆ และก่อนของก่อนหน้ากะละมังบุบ ก็เป็นถาดโฟมที่เคยใส่อาหารมาก่อน
มูน
  เป็นโชคที่ไม่รู้จะจัดว่าร้ายหรือดี ที่ฉันมีโอกาสเข้าสนามม้าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ภาพสนามหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลผุดขึ้นในความทรงจำ รั้วไม้สีขาวเป็นแนวยาว ขนานไปกับเส้นทางเรียบโค้งเป็นวงกลมใหญ่ เหนือสนามขึ้นไป เป็นอัฒจรรย์ที่เต็มไปด้วยเก้าอี้มากมายนับไม่ถ้วน  ในวันเวลานั้น แม่ของฉันทำงานหนักเพื่อหารายได้เพิ่มเติมสำหรับการเลี้ยงลูกเล็กๆ สามคน นอกจากเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง แม่ยังรับจ้างพิมพ์ดีดในวันเสาร์ และทำงานเป็นคนขายตั๋วแทงม้าในวันอาทิตย์แม่ไม่ชอบสนามม้า แต่คิดว่าเมื่อโชคดีมีงานพิเศษเข้ามาก็ควรจะคว้าไว้ เพื่อให้เรามีค่ากับข้าวเพิ่มขึ้น…
มูน
“มีคนเขาว่าเราไปดูถูกเขาแน่ะ” น้าอู๊ดถีบจักรยานมากระซิบกระซาบบอกฉันที่หน้าบ้านในคืนวันหนึ่ง ก็น้าอู๊ดเจ้าเก่าที่เคยมาเรียกฉันออกไปทัวร์กองขยะตอนเที่ยงคืนแล้วเจอ “ความลับในกระสอบ” นั่นละค่ะ (http://www.prachatai.com/column-archives/node/2522)
มูน
ฉันไม่แน่ใจว่า ไฉไลเป็นเพื่อนบ้าน หรือว่าเป็นสมาชิกสี่ขาอีกตัวหนึ่งของครอบครัว เราพบกันครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อน เธอนั่งนิ่งอยู่หน้าประตูรั้วบ้าน "มาเที่ยวเหรอ" ฉันถาม แต่ไฉไลเฉย ดูเหมือนเธอสนใจอย่างอื่นมากกว่าฉัน"บ้านอยู่ไหนล่ะจ๊ะ" ฉันนั่งลงถาม พยายามสบตาเธอ แต่เธอยังคงเฉย ตากลมๆ ออกจะโปนๆ เหลือบมองฉันแวบหนึ่ง แล้วมองโน่นนี่ในบ้านอย่างสำรวจตรวจตรา "ตามสบายนะ" ฉันบอก แง้มประตูรั้วไว้หน่อยหนึ่งแล้วออกไปทำงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็ได้เห็นหน้าไฉไลทุกวัน ไม่ทันสังเกตว่าเธอมาตอนไหนหรือกลับออกไปตอนไหน เห็นทีไร ไฉไลก็มักจะนั่งอยู่ใต้ต้นแก้วบ้าง หมอบข้างๆ กอเฮลิโคเนียบ้าง…