Skip to main content
 

ไม่สบายกายและใจอยู่หลายวัน พอเรี่ยวแรงคืนมา ฉันก็คว้าจักรยานยนต์คันเก่า ขี่โกรกเกรกกึงกังไปตลาดใหญ่ที่ไกลจากบ้านราวสิบกิโลเมตร รู้สึกสังขารตัวเองใกล้เคียงกับรถ คือมีอะไรสักอย่าง (หรือหลายอย่าง) ที่ไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางนัก


พอพ้นจากทางดินเป็นถนนลาดยาง รถก็แล่นฉิว ลมพัดพรูจนผมปลิวกระจาย (นึกไปเองว่า) คล้ายๆ โฆษณาแชมพูสระผม ฝนที่ตกหนักไปเมื่อคืนวานทำให้อากาศสดแจ่ม ฟ้าใสกระจ่าง แซงแซวหางปลาเกาะอยู่บนกิ่งประดู่ข้างทาง ในทุ่งที่น้ำเจิ่งนองมีนกกระยางเดินท่องน้ำจ๋อมๆ อยู่หลายตัว


ลมพัดเสื้อคลุมสะบัดพึ่บพั่บ ชายเสื้อปลิวอยู่ด้านหลัง รู้สึกเริงรื่นจนต้องร้องเพลงดังๆ ตามจังหวะกึงกังของรถ

"บนถนนหนทางซุปเปอร์ไฮเวย์ หนุ่มพเนจรท่องไปตามฝัน ฝันของเจ้าดูเลิศล้ำลาวัณย์ฝันเจ้าฝันว่าโลกพิสุทธิ์เมลืองมลัง..."


สาวสวนแตงแห่งเมืองสุพรรณกำลังก้มๆ เงยๆ หยอดเมล็ดแตงโมกันอย่างสนุกสนาน สายฝนหลงฤดูทิ้งความร่าเริงไว้ตั้งแต่หัวไร่ถึงปลายนา ดอกโสนเหลืองไสวจนน่าเก็บไปชุบไข่ทอดกินกับน้ำพริกปลาทู


ฝนยังทำให้ตลาดสดแจ่มใสเป็นพิเศษ ด้วยหลากสีสันสดชื่นของผักและผลไม้ ปลากระโดดโผงผางอยู่ในกะละมัง เห็ดหลากสีวางกองในกระจาด มีกบมัดเป็นพวงวางขายหลายเจ้า คงจะมากับฝนคืนก่อน


พ่อค้าแม่ขายที่คุ้นหน้าพากันทักฉันเกรียวกราว บางคนที่ค่อนข้างสนิทสนมแกล้งแซวว่า "อ้าว ยังอยู่เหรอเนี่ย"

ตรงไปแผงไก่เจ้าประจำ สั่งให้สับโครงไก่อย่างเคย แม่ค้าคว้าอีโต้พลางถามว่า

"พี่ไม่มาหลายวัน ลูกสมุนกินอะไรกันล่ะจ๊ะ"

"กินลมชมวิว" ฉันยักคิ้วตอบแบบไม่กลัวอีโต้ที่กำลังสับไก่ดังโป๊กๆ


......


"ซื้อไข่ไก่ไข่เป็ดดีจ๊า" แม่ค้าไข่ส่งเสียงหวาน

"ไข่ไก่สิจ๊า" ฉันล้อเลียน แล้วหยุดยืนพิจารณาไข่ไก่สดในกระจาดที่ติดป้ายไว้หลายราคา

"อ้าว สิบฟองยี่สิบแปดบาท ขึ้นเป็นสามสิบแล้วเหรอ" ฉันจิ้มที่ป้าย

"ขึ้นแล้วจ้ะ ฉลองรัฐบาลใหม่" แม่ค้ายิ้มแจ่มใส ไม่รู้ตอบจริงใจหรือประชด

"งั้นเอาแค่ห้าฟอง"

"แหม ทุกทีซื้อสิบ" เธอค้อนควักขณะหยิบไข่

"ไว้อาลัยรัฐบาลเก่า" ฉันแกล้งว่า


.........


แม่ค้าปลาทูส่งยิ้มแต้มาแต่ไกล

"พี่ วันนี้ซื้อปลาทูหนูไหม เข่งนี้สิบ นี่ยี่บห้า นี่สามสิบ ตัวโต๊โต"


อืม ตัวโตจริงๆ ด้วย นึกถึงแมวๆ บ้านสี่ขา ไม่เคยมีวาสนาได้กินปลาทูเข่งละสามสิบ

"ทำไมเข่งนั้นไม่เหมือนเข่งนี้คะ ปลาทูเหมือนกันหรือเปล่า" ฉันอดถามไม่ได้

"มันคนละทะเลพี่ ตัวเล็กนี่ปลาทูไทย ตัวใหญ่นี่ปลาทูอินโด"

"แล้วทะเลไหนอร่อยกว่า"

"แหม มันก็แล้วแต่รสนิยม" ฟังค่ะ ฟังสำนวนสาวแม่กลอง

"เอ้า งั้นรสนิยมน้องเป็นไง" ฉันซักอย่างสนุก

"ถามหนู หนูก็ว่าปลาทูไทย ไม่รู้สิ ของใคร ใครก็ต้องว่าดี แต่บางคนเขาไม่สนหรอก อร่อยไม่อร่อย เขาว่าตัวโตต้องดีกว่าเพราะเนื้อเยอะกว่า แต่บางคนก็ไม่สนเหมือนกัน อะไรๆ ก็ขอให้ถูกๆ ไว้ก่อน"


เธอคงอยากบอกว่า สำหรับบางคน ปริมาณสำคัญกว่าคุณภาพ

"คนมันไม่เหมือนกันเนอะพี่ บางคนกินเพื่ออยู่ บางคนอยู่เพื่อกิน"

ปรัชญาแม่ค้าถูกใจ ฉันเลยอุดหนุนปลาทูไทยไปสองเข่ง


.......


เดินผ่านแผงกับข้าวปรุงสำเร็จ พ่อค้าหนุ่มกำลังทอดปลาอยู่ในกระทะใบใหญ่เสียงดังฉี่ฉ่า ปากก็เรียกลูกค้าแบบไม่ขาดตอน

"กินอะไรครับ กินอะไรดี แวะก่อนพี่ มีแกงเขียวหวานลูกชิ้น ยำเห็ด ต้มจืดมะระซี่โครงหมูเอามั้ยครับ ถุงสิบบาท เอาซักถุงน่า ดีกว่าไปแกงเอง สิบบาทซื้อมะระก็หมดแล้ว ยังไม่ได้ซี่โครงหมูสักท่อน ค่าน้ำปลาค่าแก๊สอีก ทำเองไม่คุ้มหรอกเชื่อผม"


ฉันเชื่อหลักเศรษฐศาสตร์ของพ่อค้า เลยได้ผัดหน่อไม้กับแกงจืดมะระมาอย่างละถุง ตั้งใจเดินกลับไปแผงขายไก่ ยังไม่ทันถึงก็โดนสกัดเสียก่อน

"พี่ พี่แต่งงานยัง"

ฉันสะดุ้ง คิดว่าหูฝาดที่ได้ยินคนถามถึงสถานภาพกลางตลาดสด

"พี่ยังไม่แต่งงานใช่ป่ะ" ชัดเลยคราวนี้ เสียงมาจากแผงขายของชำจำพวกของแห้ง กะปิ น้ำปลา ผงซักฟอก

ฉันเดินยิ้ม (แบบงงๆ) เข้าไปหาแม่ค้าวัยรุ่น

"ถามทำไมเนี่ย"

"พี่ตอบหนูก่อน พี่ยังไม่แต่งใช่มั้ยล่ะ"

"เออ ใช่"

"นั่นไง หนูว่าแล้ว พี่ยังโสดแหงๆ" เธอตบเข่าฉาด

"ทำไม หน้าพี่มันใสเด้งหรือโทรมดูไม่ได้" ฉันถามแบบเผื่อใจไว้ทั้งร้ายและดี

"ไม่รู้สิ หนูใช้สัญชาติญาณ นั่งนานๆ มันเซ็งต้องหาอะไรเล่นสนุกๆ หนูทายถูกว่าใครโสดไม่โสดมาเกือบสิบคนแล้วนะจะบอกให้"

ฉันเดินยิ้มค้างไปถึงแผงขายไก่ เสน่ห์ตลาดสดช่วยลดไข้ใจได้ชะงัดนัก นึกถึงตลาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้า ที่ชีวิตชีวาหายไปกับเครื่องปรับอากาศและเครื่องคิดเงิน


ใครหลายคนอาจถูกใจความสะอาด สะดวก และสบาย แต่ฉันยังรักตลาดสดที่เฉอะแฉะ วุ่นวาย มากมายการเจรจา เผลอๆ แม่ค้ายังแถมปรัชญาใส่ตะกร้ากลับบ้านให้ด้วย


....


"ไม่ซื้อไก่สักไม้เรอะหนู" เสียงทักของป้าหน้าตะแกรงย่างไก่ที่กำลังควันคลุ้ง ส่งกลิ่นหอมเกรียมๆ ฟุ้งไปรอบบริเวณ

"แหม มันแด๊งแดงจังเลยค่ะป้า" ฉันชะโงกดูไก่ย่างเสียบไม้ที่ย้อมสีจนแดงสด

"เอ๊า ไม่แดงได้ไง ก็ไก่มันใส่สี แต่ป้าใช้สีผสมอาหารนะ"

"แล้วทำไมถึงต้องใส่สีแดงคะ"

"เอ๊า" ป้าร้องอีก "ไม่แดงเขาก็ไม่กินกัน เขาว่ามันไม่สวย ไม่สด"

"อ้าว" ฉันร้องบ้าง "เนื้อไก่จริงๆ มันก็ไม่ได้สีแดงสดสักหน่อย"

"ก็นั่นแล้ะ..." ป้าเน้นเสียง "นั่นแหละ คนมันชอบอะไรจริงๆ ที่ไหน มันชอบอะไรปลอมๆ แล้วก็หลอกตัวเองว่ามันดีไงล่ะ"

"ป้าคงไม่ว่าอะไรนะถ้าหนูไม่ซื้อ หนูไม่ชอบไก่สีแดง"

"จะว่าอาไร้ ต่างคนต่างใจ กระเพาะใครกระเพาะมัน"

ไหมล่ะ ฉันบอกแล้ว ว่าแม่ค้าแถวนี้เขามีปรัชญา


.......


แล้วฉันก็หอบโครงไก่ ไข่ ปลาทู ผัก และของจิปาถะ พร้อมปรัชญาอีก ๒-๓ บทขี่รถกลับบ้าน รถเก่ายังส่งเสียงโกร่งกร่าง ในขณะที่ฉันรู้สึกว่ากายและใจเข้าที่เข้าทางกว่าเดิม

บล็อกของ มูน

มูน
“เธอยังไม่รู้อีกหรือ ว่าแม่อยู่ในกระดูกของเธอตลอดเวลาเชียวละ” The Joy Luck Club     สงสัยว่า แม่กับลูกสาวบ้านอื่นๆ เขาเป็นยังไง ทะเลาะกัน เถียงกัน และทั้งๆ ที่รักกัน แต่บางเวลาก็เบื่อหน่ายกันอย่างฉันกับแม่บ้างหรือเปล่า   ตอนที่ฉันยังเด็ก บ้านเราไม่ร่ำรวย (จะว่าไป ตอนนี้ก็ยังไม่ร่ำรวย พูดง่ายๆ คือไม่เคยรวยเลยดีกว่า) แต่ก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้น เพียงแต่เราไม่เคยมีพอที่จะซื้อหาอะไรตามต้องการได้มากนัก บางช่วง ฉันยังพับถุงกระดาษขาย (ร้อยใบได้สิบสลึง) เพื่อหาเงินไปโรงเรียน ทุกเย็นก็เดินเก็บยอดกระถินข้างทางมาจิ้มน้ำปลาพริกป่นกินกับข้าว วันไหนอยากดูโทรทัศน์ก็วิ่งไปชะเง้อดูบ้านคนอื่น…
มูน
ตอนที่แล้ว ฉันบ่นงึมงำเรื่องที่ข้าวสารบ้านสี่ขาเหลือแค่ ๒ กิโล จนต้องลงนั่งกุมขมับ แล้วก็คิดถึงวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่โรงเรียนบนภูเขาในจังหวัดเลย วันที่ฉันต้องรับบทแม่ครัวจำเป็น เลือกไม่ถูกว่าจะภูมิใจหรือกลุ้มใจ ที่ได้รับเกียรติให้แปรวัตถุดิบมูลค่า ๗๐ บาท อันประกอบด้วยแป้งเส้นใหญ่ ๓ กิโล น้ำมันหมูเป็นไข ๒-๓ ถุง น้ำตาลทราย ๑ ถุง กับสารพัดผักดอย ให้กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้า โดยมีปากท้องของเด็กน้อยร้อยกว่าคนเป็นเดิมพัน ไม่แน่ใจว่าโชคชะตาแกล้งฉันหรือแกล้งเด็กๆ กันแน่ มาถึงตอนนี้ก็ต้อง(กัดฟัน)เล่าต่อ ว่าสุดท้าย ฉันและเด็กๆ รวมทั้งหมา (ภูเขา)จะลงเอยอย่างไร
มูน
วันหนึ่ง เปิดถังข้าวสารแล้วพบว่า เหลือข้าวหุงให้หมาอยู่ราวๆ ๒ กิโลกรัม ฉันปิดฝาถัง มองเก้าอี้ตัวเล็กที่พลิกคว่ำด้วยการกระโจนของเจ้าแตงกวาหมาบ้าพลัง จับเก้าอี้ขึ้นตั้งให้ถูกด้าน แล้วนั่งลงยกมือกุมขมับ (ตอนแรกว่าจะไปนอนก่ายหน้าผาก แต่ขี้เกียจเดินไปนอนที่แคร่)
มูน
...ตัวเดียวมาไร้คู่ เหมือนเราอยู่เพียงเอกา   ก็เพลงมันพาไป จริงๆ ไม่ได้อยู่เพียงเอกาหรอก มีหมาหมู่นั่งอยู่เป็นเพื่อนตั้งหลายสิบตัว ร้องเพลงนี้ตอนแดดผีตากผ้าอ้อมเริ่มจาง เห็นนก(อะไรไม่รู้) บินเฉียงๆ เป็นหมู่ๆ อยู่เหนือยอดสะเดา (ดอกและยอดงามพรั่งพรู เก็บไปลวกจิ้มน้ำพริกมื้อเย็นนี้ดีกว่า) บ้านสี่ขายามเย็นแสนจะสงบ โค้งฟ้าตะวันตกเป็นสีหมากสุก ลมพัดแผ่วเบาเห่กล่อมใบประดู่ ใจหวนคะนึงถึงความหลัง น้ำใสๆ ก็เอ่อล้นในดวงตา (จะดราม่าไปไหน?)
มูน
หนูเล็กๆ ตัวหนึ่ง วิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปในกรงของสตางค์ “อ้าว เข้าไปทำไมน่ะ” ฉันรำพึงกับตัวเองมากกว่าจะถามหนู ส่วนแม่ที่หันมองตามฉันร้องว้าย “ตายแล้ว ออกมาเร้ว สตางค์อย่านะ” แม่ร้องเตือนหนูและห้ามแมวไปพร้อมๆ กัน ราวกับว่ามันสองตัวจะฟังรู้ภาษา แต่เจ้าสตางค์ที่กำลังนอนหงายผึ่งพุงอยู่ แค่เอียงหน้ามองหนูผู้บุกรุก เหยียดตัวบิดขี้เกียจทีหนึ่ง แล้วพลิกตะแคงไปอีกด้าน หันก้นให้หนูซะอย่างนั้น
มูน
บางครั้ง ฉันคิดว่าตัวเองกำลังจะเหมือนพวกป้าๆ ในหนังสือเรื่อง Island of the Aunts ที่เขียนโดย Eva Ibbotson     ป้าสามคนพี่น้อง อาศัยอยู่บนเกาะกลางทะเลที่ไม่ปรากฏในแผนที่โลก โชคดีที่ไม่มีคนรู้จักเกาะนี้ นอกจากเหล่าแมวน้ำ เงือก นกนางนวล และนานาสัตว์ป่วยจากทวีปต่างๆ ที่พากันเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังเกาะที่แสนบริสุทธิ์ เพื่อให้ป้าทั้งสามปลอบโยนและเยียวยาบาดแผลทั้งกายและใจ งานของป้ามีสารพัด เป็นต้นว่า ป้อนนมแมวน้ำกำพร้า ล้างคราบน้ำมันออกจากตัวนางเงือก หาอาหารให้นกบูบรีที่กำลังจะออกไข่ ส่งแมงกะพรุนกลับบ้าน รักษาปลาหมึกตาเจ็บ เก็บขยะที่คลื่นซัดมาบนหาด บางวัน…
มูน
เจ้าสี่ขาตัวเล็กมองลอดซี่กรงออกมาสบตากับฉัน ดวงตากลมโตคู่นั้นใสแจ๋ว เท้าน้อยๆ เขี่ยข้างกรงดังแกรกๆ มันคงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงถูกขัง มันจะรู้ไหมว่ากรงนั้นเปิดได้ มันกำลังรอให้ฉันเปล่อยมันหรือเปล่า
มูน
“จะฝังตรงไหนล่ะคราวนี้” แม่ถาม ในขณะที่ฉันยืนถือเสียมอยู่ข้างบ่อน้ำ กวาดตาไปทั่วบริเวณบ้านสี่ขา หญ้าคาและวัชพืชหน้าฝนแข่งกันแทงยอดท่วมหัวเข่าจนยากที่จะเจาะจงชี้ชัดลงไปว่า ตรงไหนเป็น “ที่” ของใคร นึกแล้วก็น่าที่จะปักป้ายไว้ให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องมาเปลืองหัวคิด แต่ถ้าปักป้ายชื่อไว้เหนือกองดินทุกกองที่เราเคยขุดและกลบฝัง บ้านสี่ขาคงดูคล้ายๆ ภาพประกอบการ์ตูนผีเล่มละบาทสมัยก่อน
มูน
มีชามใหม่ใบหนึ่งวางอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก่อนชามใบนี้ เคยมีขันพลาสติกใบละสิบบาทวางอยู่ ก่อนหน้าขันเป็นกะละมังบุบๆ และก่อนของก่อนหน้ากะละมังบุบ ก็เป็นถาดโฟมที่เคยใส่อาหารมาก่อน
มูน
  เป็นโชคที่ไม่รู้จะจัดว่าร้ายหรือดี ที่ฉันมีโอกาสเข้าสนามม้าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ภาพสนามหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลผุดขึ้นในความทรงจำ รั้วไม้สีขาวเป็นแนวยาว ขนานไปกับเส้นทางเรียบโค้งเป็นวงกลมใหญ่ เหนือสนามขึ้นไป เป็นอัฒจรรย์ที่เต็มไปด้วยเก้าอี้มากมายนับไม่ถ้วน  ในวันเวลานั้น แม่ของฉันทำงานหนักเพื่อหารายได้เพิ่มเติมสำหรับการเลี้ยงลูกเล็กๆ สามคน นอกจากเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง แม่ยังรับจ้างพิมพ์ดีดในวันเสาร์ และทำงานเป็นคนขายตั๋วแทงม้าในวันอาทิตย์แม่ไม่ชอบสนามม้า แต่คิดว่าเมื่อโชคดีมีงานพิเศษเข้ามาก็ควรจะคว้าไว้ เพื่อให้เรามีค่ากับข้าวเพิ่มขึ้น…
มูน
“มีคนเขาว่าเราไปดูถูกเขาแน่ะ” น้าอู๊ดถีบจักรยานมากระซิบกระซาบบอกฉันที่หน้าบ้านในคืนวันหนึ่ง ก็น้าอู๊ดเจ้าเก่าที่เคยมาเรียกฉันออกไปทัวร์กองขยะตอนเที่ยงคืนแล้วเจอ “ความลับในกระสอบ” นั่นละค่ะ (http://www.prachatai.com/column-archives/node/2522)
มูน
ฉันไม่แน่ใจว่า ไฉไลเป็นเพื่อนบ้าน หรือว่าเป็นสมาชิกสี่ขาอีกตัวหนึ่งของครอบครัว เราพบกันครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อน เธอนั่งนิ่งอยู่หน้าประตูรั้วบ้าน "มาเที่ยวเหรอ" ฉันถาม แต่ไฉไลเฉย ดูเหมือนเธอสนใจอย่างอื่นมากกว่าฉัน"บ้านอยู่ไหนล่ะจ๊ะ" ฉันนั่งลงถาม พยายามสบตาเธอ แต่เธอยังคงเฉย ตากลมๆ ออกจะโปนๆ เหลือบมองฉันแวบหนึ่ง แล้วมองโน่นนี่ในบ้านอย่างสำรวจตรวจตรา "ตามสบายนะ" ฉันบอก แง้มประตูรั้วไว้หน่อยหนึ่งแล้วออกไปทำงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็ได้เห็นหน้าไฉไลทุกวัน ไม่ทันสังเกตว่าเธอมาตอนไหนหรือกลับออกไปตอนไหน เห็นทีไร ไฉไลก็มักจะนั่งอยู่ใต้ต้นแก้วบ้าง หมอบข้างๆ กอเฮลิโคเนียบ้าง…