Skip to main content

ฉันขี่รถเครื่องฝ่าแดดร้อนเปรี้ยงออกจากหมู่บ้านไปตลาดในอำเภอ ด้วยภารกิจสำคัญสองประการที่ไม่สามารถทำได้แถวๆ บ้านสี่ขาที่อยู่ริมทุ่งนาและคอกควาย หนึ่งคือการหาซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์ กับสอง ตามหาสาวยาคูลท์

ภารกิจสองอย่างนี้เกี่ยวกันยังไง แล้วสำคัญขนาดไหนถึงทำให้ฉันต้องเอาผิวเหี่ยวๆ ของตัวเองออกมาทำเนื้อแดดเดียวตอนบ่ายโมงกว่าๆ ที่จัดว่าเป็นช่วงเวลาร้อนที่สุดของวัน

ฉันสงสัย ว่าจะมีใครสงสัยหรือเปล่า ว่าฉันกำลังจะเล่าเรื่องอะไร และเล่าทำไม

ไอ้ที่ว่าจะเล่าเรื่องอะไรนั้น ฉันพอจะรู้ละ ก็ฉันกำลังจะเล่าอยู่เดี๋ยวนี้ แต่เหตุผลที่ว่า จะเล่าทำไม อันนี้ฉันก็สงสัยตัวเองเหมือนกัน คิดว่าเล่าๆ ไปอาจจะได้คำตอบ

ในโลกนี้มีหลายเรื่องราวที่เรายังไม่รู้ และบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องรู้ อย่างเช่นเรื่องนี้ แต่ถ้าคุณยังไม่รีบไปไหน อุตส่าห์เข้ามาแล้วก็โปรดอ่านไปให้สิ้นเรื่องสิ้นราวเถิดนะคะ

ไม่แน่นะ บางเรื่องไร้สาระอาจแฝงปรัชญาแห่งชีวิตอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้ (ว่าเข้าไปนั่น)

......................

แตงกวาเป็นชื่อของลูกหมาหน้าตาหมกมุ่นตัวหนึ่ง ที่ถูกคนเอามาทิ้งไว้ข้างถนนใกล้ๆ ท่ารถโดยสารระหว่างอำเภอ สภาพของแตงกวาเมื่อแรกนั้นห่างไกลจากคำว่าน่ารักอยู่มาก ทั้งเหม็นสาบ ผอมโซ ขนร่วงเป็นหย่อมๆ เพราะโรคผิวหนัง และมีแผลเล็กบ้างใหญ่บ้างทั่วตัว

มันค่อยๆ คลานอย่างกล้าๆ กลัวๆ เข้ามาหมอบเงียบอยู่ตรงเท้าของฉัน อายุของมันไม่น่าจะเกินสองเดือน

“ใครเอามาทิ้งไม่รู้ สามสี่วันแล้วละ” คนขายก๋วยเตี๋ยวรถเข็นแถวๆ นั้นบอก “ไม่เห็นมันไปหากินที่ไหน คงกลัวหมาใหญ่ๆ กัดมั้ง นึกว่าถูกรถเหยียบไปแล้ว เพิ่งเห็นนะเนี่ยว่ายังอยู่”

ฉันใจอ่อนเกินกว่าจะปล่อยให้มันเผชิญกับความหิว ความกลัว และความเสี่ยงที่จะถูกรถทับตาย จึงหยิบมันใส่กระเป๋าสะพายกลับบ้านด้วย แตงกวาซุกเงียบอยู่ในกระเป๋าตลอดทาง

การรับเลี้ยงหมากว่าสี่สิบตัวที่ผ่านมากับปัญหาสารพัดแบบ ทำให้ฉันคิดว่า นับประสาอะไรกับลูกหมาอีกตัวหนึ่ง  

........................

เนื่องจากเป็นสมาชิกใหม่ ฉันจำเป็นต้องแยกแตงกวาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ถูก “รุ่นพี่” เกือบสี่สิบตัวทำพิธีรับน้อง สถานที่ที่พอมีเหลือก็คือในบ้าน ซึ่งนอกจากจะมีกรงแมวแล้ว ตอนนี้ยังใช้เป็นสถานพักฟื้นสำหรับหมาอีกสองตัว คือน้อยหน่ากับตะโก้

น้อยหน่าไม่ชอบสุงสิงกับใคร จึงหลบไปนอนใต้ตู้กับข้าว เหลือแต่ตะโก้ที่ยืนจ้องหน้าฉันสลับกับหน้าหมาใหม่ เหมือนจะข้องใจว่า “พาใครมาอีกละเนี่ย”

“ตะโก้ นี่น้องชื่อแตงกวานะ อย่าแกล้งน้องล่ะ” ฉันสั่ง ตะโก้กระดิกหางรับ ก่อนจะหันไปแยกเขี้ยว ส่งเสียงขู่ดังฮื่อๆ ใส่น้องใหม่ แตงกวายืนตัวสั่นอยู่ครู่หนึ่งก็ล้มต้วลงนอนหงายกางขาอันเป็นท่ายอมจำนน

ฉันเห็นแล้วก็วางใจ คิดว่าเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

.........................

ความวุ่นวายเริ่มทะยอยมาอย่างต่อเนื่องเหมือนมีใครจัดให้ นอกจากรักษาแผลและโรคผิวหนัง แตงกวายังเวียนไปหาหมอด้วยโรคหวัด โรคเลือดจาง โรคพยาธิเม็ดเลือด และโรคลำไส้อักเสบ เรียกว่าไม่มีช่วงไหนที่แตงกวาว่างเว้นจากโรค ในขณะที่กระเป๋าของฉันก็เริ่มว่างเว้นจากสตางค์

โรคหลังนี้อันตรายที่สุดเพราะอัตราตายมากกว่ารอด แตงกวาทั้งอึทั้งอ้วกจนหมดแรง ต้องฉีดยาและให้น้ำเกลือต่อเนื่องหลายวัน มันนอนหายใจแผ่วๆ จนฉันเกือบขุดหลุมรอ แต่โชคดีที่ไม่ได้ขุด

เมื่อฟื้นจากโรคลำไส้อักเสบ ฉันพยายามบำรุงแตงกวาอย่างหนักเพื่อให้มันแข็งแรงพอที่จะฉีดวัคซีนได้ วันที่หมอยื่นสมุดวัคซีนประจำตัวมันให้นั้น ฉันยิ้มแฉ่งและพูดกับหมอว่า “คงหมดเรื่องเสียทีนะคะ”

หนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้น แตงกวาเริ่มมีอาการหิวผิดปกติ มันปลุกฉัน(หรือไม่ก็แม่) ตั้งแต่เช้ามืดเพื่อขอกิน กินเข้าไปไม่ถึงห้านาที มันก็อึออกมา อึเหลวเป็นน้ำเหมือนคนท้องร่วงอย่างหนัก มากมายไหลนองออกพ้นกระดาษที่ปูให้จนต้องเช็ดเป็นการใหญ่ ชั่วโมงถัดมามันหิวอีก กินแล้วก็อึพรั่งพรูออกมาอีก สรุปว่ามันหิวและอึแทบทุกชั่วโมง วิ่งไปอึบนกระดาษไม่ทันก็หลายหน ฉันกับแม่เช็ดบ้านกันจนหมดแรง

........................

แตงกวากินมากขึ้นจนน่าตกใจ แต่ผอมกะหร่องเหมือนหมาขาดอาหาร แม่ฉันบ่นว่ามันอึวันละสิบรอบจะเอาอะไรไปอ้วน แม่คงจะผอมตามหมาในไม่ช้านี้เพราะไม่มีเวลากินข้าว(มัวแต่เช็ดอึ)

แรกๆ นั้น แตงกวาจะวิ่งไปอึบนกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ปูไว้หลังบ้าน แต่ปริมาณและความถี่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้พิกัดการอึของมันกระจายไปทุกหนทุกแห่ง ที่ร้ายคือไปอึบนที่นอนของน้อยหน่ากับตะโก้ วงแตกสิคะงานนี้

หมาทั้งสองเริ่มไม่เป็นสุขเพราะถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ฉันต้องหาโต๊ะมาทำที่นอนให้มันใหม่ แม่ปูกระดาษหนังสือพิมพ์หนาๆ ทั่วบ้านเพื่อให้เก็บอึที่เหลวเป็นน้ำได้ง่ายขึ้น ฉันต้องควานหาซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์จากร้านค้าทั่วตลาด เพราะใช้วันละเกือบครึ่งกิโล  

หมอบอกว่า กระเพาะของแตงกวาขาดจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยอาหาร เนื่องจากการรักษาโรคลำไส้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อได้พลอยฆ่าจุลินทรีย์ดีๆ ในกระเพาะมันไปหมด พูดง่ายๆ คือมันย่อยไม่ได้ วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยมันคือการให้กินยาคูลท์ (ที่มีจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสนั่นละค่ะ)

แตงกวาเกลียดยาคูลท์ แค่ได้กลิ่นมันก็ดิ้นพราดๆ ฉันต้องบังคับจับปากมันแล้วป้อนด้วยไซริงค์ มันอดทนกลืนได้แค่วันละครึ่งขวด(มากกว่านั้นจะอ้วก) คนจัดการที่เหลือคือแม่ฉันเอง

“นึกถึงเมื่อก่อนที่ต้องกินของเหลือจากลูกๆ เพราะเสียดาย” แม่พูด “ดีนะเนี่ยที่แม่ชอบกินยาคูลท์”

หนึ่งเดือนผ่านไป หมดยาคูลท์ไปสามสิบกว่าขวด ค่ากระดาษหนังสือพิมพ์อีกหลายสิบกิโล แตงกวายังคงหิวบ่อย อึบ่อย แต่ก็ร่าเริงดี แม่ผู้สังเกตการณ์ทุกวันรายงานฉันอย่างดีใจว่า “เริ่มมีเนื้อมากกว่าน้ำแล้วละ” ฉันโทรศัพท์รายงานหมออีกต่อหนึ่ง หมอบอกว่าให้มันกินยาคูลท์ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าอึจะเป็นก้อน

......................

เล่ามาถึงบรรทัดนี้ ยังไม่รู้เลยว่ามันมีปรัชญาชีวิตซ่อนอยู่ตรงไหน ฉันเพียงแต่ยินดีที่พบว่า ตัวเองสามารถเก็บอึเละๆ ของหมาได้โดยไม่ลำบาก บางคนอาจถามว่า น่าภูมิใจตรงไหน น่าคลื่นไส้มากกว่า

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่มีหลายรูปแบบ แต่ฉันคิดว่า การก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถภูมิใจได้พอๆ กัน 

บล็อกของ มูน

มูน
“เธอยังไม่รู้อีกหรือ ว่าแม่อยู่ในกระดูกของเธอตลอดเวลาเชียวละ” The Joy Luck Club     สงสัยว่า แม่กับลูกสาวบ้านอื่นๆ เขาเป็นยังไง ทะเลาะกัน เถียงกัน และทั้งๆ ที่รักกัน แต่บางเวลาก็เบื่อหน่ายกันอย่างฉันกับแม่บ้างหรือเปล่า   ตอนที่ฉันยังเด็ก บ้านเราไม่ร่ำรวย (จะว่าไป ตอนนี้ก็ยังไม่ร่ำรวย พูดง่ายๆ คือไม่เคยรวยเลยดีกว่า) แต่ก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้น เพียงแต่เราไม่เคยมีพอที่จะซื้อหาอะไรตามต้องการได้มากนัก บางช่วง ฉันยังพับถุงกระดาษขาย (ร้อยใบได้สิบสลึง) เพื่อหาเงินไปโรงเรียน ทุกเย็นก็เดินเก็บยอดกระถินข้างทางมาจิ้มน้ำปลาพริกป่นกินกับข้าว วันไหนอยากดูโทรทัศน์ก็วิ่งไปชะเง้อดูบ้านคนอื่น…
มูน
ตอนที่แล้ว ฉันบ่นงึมงำเรื่องที่ข้าวสารบ้านสี่ขาเหลือแค่ ๒ กิโล จนต้องลงนั่งกุมขมับ แล้วก็คิดถึงวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่โรงเรียนบนภูเขาในจังหวัดเลย วันที่ฉันต้องรับบทแม่ครัวจำเป็น เลือกไม่ถูกว่าจะภูมิใจหรือกลุ้มใจ ที่ได้รับเกียรติให้แปรวัตถุดิบมูลค่า ๗๐ บาท อันประกอบด้วยแป้งเส้นใหญ่ ๓ กิโล น้ำมันหมูเป็นไข ๒-๓ ถุง น้ำตาลทราย ๑ ถุง กับสารพัดผักดอย ให้กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้า โดยมีปากท้องของเด็กน้อยร้อยกว่าคนเป็นเดิมพัน ไม่แน่ใจว่าโชคชะตาแกล้งฉันหรือแกล้งเด็กๆ กันแน่ มาถึงตอนนี้ก็ต้อง(กัดฟัน)เล่าต่อ ว่าสุดท้าย ฉันและเด็กๆ รวมทั้งหมา (ภูเขา)จะลงเอยอย่างไร
มูน
วันหนึ่ง เปิดถังข้าวสารแล้วพบว่า เหลือข้าวหุงให้หมาอยู่ราวๆ ๒ กิโลกรัม ฉันปิดฝาถัง มองเก้าอี้ตัวเล็กที่พลิกคว่ำด้วยการกระโจนของเจ้าแตงกวาหมาบ้าพลัง จับเก้าอี้ขึ้นตั้งให้ถูกด้าน แล้วนั่งลงยกมือกุมขมับ (ตอนแรกว่าจะไปนอนก่ายหน้าผาก แต่ขี้เกียจเดินไปนอนที่แคร่)
มูน
...ตัวเดียวมาไร้คู่ เหมือนเราอยู่เพียงเอกา   ก็เพลงมันพาไป จริงๆ ไม่ได้อยู่เพียงเอกาหรอก มีหมาหมู่นั่งอยู่เป็นเพื่อนตั้งหลายสิบตัว ร้องเพลงนี้ตอนแดดผีตากผ้าอ้อมเริ่มจาง เห็นนก(อะไรไม่รู้) บินเฉียงๆ เป็นหมู่ๆ อยู่เหนือยอดสะเดา (ดอกและยอดงามพรั่งพรู เก็บไปลวกจิ้มน้ำพริกมื้อเย็นนี้ดีกว่า) บ้านสี่ขายามเย็นแสนจะสงบ โค้งฟ้าตะวันตกเป็นสีหมากสุก ลมพัดแผ่วเบาเห่กล่อมใบประดู่ ใจหวนคะนึงถึงความหลัง น้ำใสๆ ก็เอ่อล้นในดวงตา (จะดราม่าไปไหน?)
มูน
หนูเล็กๆ ตัวหนึ่ง วิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปในกรงของสตางค์ “อ้าว เข้าไปทำไมน่ะ” ฉันรำพึงกับตัวเองมากกว่าจะถามหนู ส่วนแม่ที่หันมองตามฉันร้องว้าย “ตายแล้ว ออกมาเร้ว สตางค์อย่านะ” แม่ร้องเตือนหนูและห้ามแมวไปพร้อมๆ กัน ราวกับว่ามันสองตัวจะฟังรู้ภาษา แต่เจ้าสตางค์ที่กำลังนอนหงายผึ่งพุงอยู่ แค่เอียงหน้ามองหนูผู้บุกรุก เหยียดตัวบิดขี้เกียจทีหนึ่ง แล้วพลิกตะแคงไปอีกด้าน หันก้นให้หนูซะอย่างนั้น
มูน
บางครั้ง ฉันคิดว่าตัวเองกำลังจะเหมือนพวกป้าๆ ในหนังสือเรื่อง Island of the Aunts ที่เขียนโดย Eva Ibbotson     ป้าสามคนพี่น้อง อาศัยอยู่บนเกาะกลางทะเลที่ไม่ปรากฏในแผนที่โลก โชคดีที่ไม่มีคนรู้จักเกาะนี้ นอกจากเหล่าแมวน้ำ เงือก นกนางนวล และนานาสัตว์ป่วยจากทวีปต่างๆ ที่พากันเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังเกาะที่แสนบริสุทธิ์ เพื่อให้ป้าทั้งสามปลอบโยนและเยียวยาบาดแผลทั้งกายและใจ งานของป้ามีสารพัด เป็นต้นว่า ป้อนนมแมวน้ำกำพร้า ล้างคราบน้ำมันออกจากตัวนางเงือก หาอาหารให้นกบูบรีที่กำลังจะออกไข่ ส่งแมงกะพรุนกลับบ้าน รักษาปลาหมึกตาเจ็บ เก็บขยะที่คลื่นซัดมาบนหาด บางวัน…
มูน
เจ้าสี่ขาตัวเล็กมองลอดซี่กรงออกมาสบตากับฉัน ดวงตากลมโตคู่นั้นใสแจ๋ว เท้าน้อยๆ เขี่ยข้างกรงดังแกรกๆ มันคงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงถูกขัง มันจะรู้ไหมว่ากรงนั้นเปิดได้ มันกำลังรอให้ฉันเปล่อยมันหรือเปล่า
มูน
“จะฝังตรงไหนล่ะคราวนี้” แม่ถาม ในขณะที่ฉันยืนถือเสียมอยู่ข้างบ่อน้ำ กวาดตาไปทั่วบริเวณบ้านสี่ขา หญ้าคาและวัชพืชหน้าฝนแข่งกันแทงยอดท่วมหัวเข่าจนยากที่จะเจาะจงชี้ชัดลงไปว่า ตรงไหนเป็น “ที่” ของใคร นึกแล้วก็น่าที่จะปักป้ายไว้ให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องมาเปลืองหัวคิด แต่ถ้าปักป้ายชื่อไว้เหนือกองดินทุกกองที่เราเคยขุดและกลบฝัง บ้านสี่ขาคงดูคล้ายๆ ภาพประกอบการ์ตูนผีเล่มละบาทสมัยก่อน
มูน
มีชามใหม่ใบหนึ่งวางอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก่อนชามใบนี้ เคยมีขันพลาสติกใบละสิบบาทวางอยู่ ก่อนหน้าขันเป็นกะละมังบุบๆ และก่อนของก่อนหน้ากะละมังบุบ ก็เป็นถาดโฟมที่เคยใส่อาหารมาก่อน
มูน
  เป็นโชคที่ไม่รู้จะจัดว่าร้ายหรือดี ที่ฉันมีโอกาสเข้าสนามม้าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ภาพสนามหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลผุดขึ้นในความทรงจำ รั้วไม้สีขาวเป็นแนวยาว ขนานไปกับเส้นทางเรียบโค้งเป็นวงกลมใหญ่ เหนือสนามขึ้นไป เป็นอัฒจรรย์ที่เต็มไปด้วยเก้าอี้มากมายนับไม่ถ้วน  ในวันเวลานั้น แม่ของฉันทำงานหนักเพื่อหารายได้เพิ่มเติมสำหรับการเลี้ยงลูกเล็กๆ สามคน นอกจากเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง แม่ยังรับจ้างพิมพ์ดีดในวันเสาร์ และทำงานเป็นคนขายตั๋วแทงม้าในวันอาทิตย์แม่ไม่ชอบสนามม้า แต่คิดว่าเมื่อโชคดีมีงานพิเศษเข้ามาก็ควรจะคว้าไว้ เพื่อให้เรามีค่ากับข้าวเพิ่มขึ้น…
มูน
“มีคนเขาว่าเราไปดูถูกเขาแน่ะ” น้าอู๊ดถีบจักรยานมากระซิบกระซาบบอกฉันที่หน้าบ้านในคืนวันหนึ่ง ก็น้าอู๊ดเจ้าเก่าที่เคยมาเรียกฉันออกไปทัวร์กองขยะตอนเที่ยงคืนแล้วเจอ “ความลับในกระสอบ” นั่นละค่ะ (http://www.prachatai.com/column-archives/node/2522)
มูน
ฉันไม่แน่ใจว่า ไฉไลเป็นเพื่อนบ้าน หรือว่าเป็นสมาชิกสี่ขาอีกตัวหนึ่งของครอบครัว เราพบกันครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อน เธอนั่งนิ่งอยู่หน้าประตูรั้วบ้าน "มาเที่ยวเหรอ" ฉันถาม แต่ไฉไลเฉย ดูเหมือนเธอสนใจอย่างอื่นมากกว่าฉัน"บ้านอยู่ไหนล่ะจ๊ะ" ฉันนั่งลงถาม พยายามสบตาเธอ แต่เธอยังคงเฉย ตากลมๆ ออกจะโปนๆ เหลือบมองฉันแวบหนึ่ง แล้วมองโน่นนี่ในบ้านอย่างสำรวจตรวจตรา "ตามสบายนะ" ฉันบอก แง้มประตูรั้วไว้หน่อยหนึ่งแล้วออกไปทำงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็ได้เห็นหน้าไฉไลทุกวัน ไม่ทันสังเกตว่าเธอมาตอนไหนหรือกลับออกไปตอนไหน เห็นทีไร ไฉไลก็มักจะนั่งอยู่ใต้ต้นแก้วบ้าง หมอบข้างๆ กอเฮลิโคเนียบ้าง…