มันเป็นเวลาบ่ายที่ร้อนอบอ้าววันหนึ่งในต้นมีนาคม ผมได้เดินทางไปพบกำนันเส็ง ขวัญยืน ผู้นำชาวบ้านต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่สะเอียบ จ.แพร่ เพื่อขอให้กำนันพาเข้าไปดูวังผาอิง เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำยมที่ชาวสะเอียบเพิ่งประกาศเพิ่มเขตอนุรักษ์จากแต่เดิมมีอาณาบริเวณไม่กี่ร้อยเมตร เพิ่มเป็น 3 กิโลเมตร เป็นการประกาศเขตอนุรักษ์เพื่อพิทักษ์รักษาพันธุ์สัตว์น้ำทุกชนิดที่มีอยู่ในแม่น้ำยมแห่งนี้
ข้อมูลจากงานวิจัยจาวบ้านสะเอียบที่ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2549 ระบุไว้ว่า แม่น้ำยมช่วงที่ไหลผ่านตำบลสะเอียบ มีพันธุ์ปลาหนัง ประมาณ 17 ชนิด และมีพันธุ์ปลาเกล็ดประมาณ 34 ชนิด แม้จะเป็นงานวิจัยจากชาวบ้านที่มีทีมนักวิชาการจากภายนอกเป็นพี่เลี้ยงซึ่งอาจจะไม่ละเอียดและครอบคลุมเท่าไหร่ แต่ก็สามารถบอกได้ถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศน์ของแม่น้ำยมตอนบนได้เป็นอย่างดี
พอดีกำนันไม่ว่าง ด้วยมีประชุมตอนบ่ายที่ อบต. ท่านจึงได้ติดต่อประสานให้ลูกบ้านที่เป็นหนึ่งในเครือข่ายอนุรักษ์เข้ามาเป็นผู้นำทางให้ผม
เราออกเดินทางไปที่วังผาอิงด้วยรถมอเตอร์ไซค์คนละคัน วิ่งออกจากถนนสายหลัก สาย 1120 เลี้ยวเข้าไปบนทางดิน เส้นทางมุ่งสู่ป่าสักทองและบ้านแม่พร้าวที่เป็นหมู่บ้านของชาวอาข่า ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่พำนักปางไม้ของบริษัททำไม้ในยุคสัมปทานป่าเมื่อหลายสิบปีก่อน
เดินทางไม่ไกลนัก เราก็ไปถึงวังผาอิงแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำยม ที่เต็มไปด้วยริ้วธงทิว ผ้าเหลือง ผูกมัดเป็นจุดกำหนดเขต คนหนุ่ม นักอนุรักษ์รุ่นใหม่เลือดสะเอียบบอกว่า เพิ่งทำการประกาศเพิ่มเขตอนุรักษ์และพิธีกรรมต่างๆไปเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมานี่เอง โดยมีการทำพิธีทางพุทธและผี ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการใช้ขนบธรรมเนียบ ประเพณีดั่งเดิมของคนเฒ่าคนแก่มาเป็น กรอบกฎเกณฑ์ในการบังคับให้คนรุ่นใหม่เชื่อ และปฏิบัติตามนั่นเอง
แม้จะเป็นช่วงต้นฤดูแล้ง แต่วังผาอิงก็ยังมีปริมาณน้ำมากพอสมควร ผู้นำทางบอกว่า นอกจากที่วังผาอิงจะมีฝายช่วยกักเก็บน้ำแล้ว ที่นี่ยังมีวังน้ำที่ลึกมากอีกด้วย และมีอาถรรพ์ที่คนมักจะมาจมน้ำตายเป็นประจำแทบทุกปี ประมาณด้วยสายตาของผม ความกว้างของแม่น้ำยมช่วงวังผาอิงน่าจะประมาณ 25 เมตรได้ เป็นช่วงที่แม่น้ำยมไหลหักเลี้ยวเป็นรูปครึ่งวงกลม หน้าแล้งอย่างนี้น้ำยมไหลเอื่อย ใส และเย็น เราขี่รถผ่านสวนและทุ่งนาแล้งร้อน เมื่อเข้ามาถึงที่นี่ ก็สัมผัสได้ถึงความชุ่มเย็นทันที ยิ่งพื้นที่ริมน้ำเต็มไปด้วยต้นฉำฉาขนาดใหญ่แผ่ใบร่มครึ้ม ยิ่งเห็นความต่างระหว่างอากาศภายนอกกับที่นี่อย่างชัดเจน
รอบวังผาอิงเป็นป่าหญ้าสูงขึ้นปะปนกับต้นไมยราบยักษ์สูงท่วมหัว จากปากคำของผู้นำทางบอกว่า ที่นี่งูเยอะมาก มีคนโดยฉกกัดบ่อยๆ เมื่อไม่นานมานี้ก็เป็นนักอนุรักษ์ชาวต่างประเทศที่มาเยี่ยมชาวสะเอียบก็มาถูกงูกัดที่นี่(ผมเดาว่าคงเป็นเพราะนิสัยของฝรั่งด้วยที่ไม่กลัวอะไรชอบมุดดงเข้าไปในที่รกๆ ก็เลยโดน) ฟังเสียงคลื่นกระทบฝั่ง ถ่ายรูปผีเสื้อริมน้ำเสร็จ ได้ยินเสียงซอกแซกในพงหญ้าตลอดเวลา ผมจึงรีบออกจากที่นี่ดีกว่า
ออกเดินทางไปดูป่าสักทอง ด้วยเส้นทางดินผ่านป่าเช่นเดิม แทบจะพูดได้ว่า ป่าสักทองอยู่ติดกับน้ำยมเลยก็ได้ เพราะเพียงออกจากวังผาอิงไปไม่เท่าไหร่ เส้นทางก็พาเราเข้ามาอยู่ในป่าไผ่และดงต้นสักทองทันที ผู้นำทางเล่าว่า พื้นที่ป่าสักทองแห่งนี้มีประมาณ สามหมื่นไร่ เป็นต้นสักทองธรรมชาติที่ขึ้นปะปนอยู่กับป่าไผ่ ส่วนไม้ชนิดอื่นก็มีบ้างแต่น้อย
แวะถ่ายรูปตรงป่าสักที่ชาวบ้านได้ทำพิธีบวชป่าเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เสร็จแล้วผู้นำทางก็ชวนเข้าไปข้างในอีก บอกว่า ป่าข้างในไม้สักต้นใหญ่และสวยกว่านี้ เราขี่รถเข้าไปประมาณสองกิโลเมตรจึงหยุดลงตรงกลางป่าสักสูงราวตึกสี่ชั้นและมีขนาดใหญ่ราวสองคนโอบ...
สังเกตดูตอไม้เก่าๆ มันใหญ่กว่าต้นไม้ที่ยังมีชีวิตเหล่านี้มาก ขนาดน่าจะราวๆสี่หรือห้าคนโอบ ตรงนี้ช่วยไขความกระจ่างในใจผมได้เป็นอย่างดี ว่า ต้นไม้สักเหล่านี้ คือไม้ธรรมชาติที่เหลือรอดจากการตัดไปขายสมัยสัมปทานป่าเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ถามว่า ทำไมถึงเหลือรอด? นั่นก็เพราะตอนนั้น ไม้สักเหล่านี้ยังมีขนาดเล็กนั่นเอง บริษัทสัมปทานไม้จึงเลือกตัดแต่ต้นไม้ขนาดใหญ่ๆก่อน เมื่อหมดยุคสัมปทานป่า เหล่าไม้สักในป่าแห่งนี้จึงได้โตขึ้นจนเป็นป่าใหญ่ให้เราเห็นเช่นทุกวันนี้
ซึ่งไม้สักใหญ่ในป่าแห่งนี้ก็ยั่วกิเลส ตัณหา ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้มาทุกยุคทุกสมัยให้น้ำลายไหลยืดมาตลอดเช่นกัน จะเปลี่ยนผ่านกี่รัฐบาล กี่พรรค กี่กลุ่มอำนาจ สิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือการประกาศจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แน่ละ เหล่าผู้อยากสร้างทั้งหลายล้วนอ้างว่า มีเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมเพื่อจัดการปัญหาน้ำขาดแคลนในหน้าแล้ง แต่สิ่งที่นักสร้างเขื่อนไม่พูดถึงกันก็คือ การอยากฮุบป่าไม้สักทองผืนงานแห่งนี้นั่นเอง เพราะหากสร้างเขื่อน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนยมบน-ยมล่างก็ตาม น้ำในอ่างก็จะท่วมป่าสักทองผืนนี้อยู่ดี และตามหลักการสร้างเขื่อน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในเขื่อนเน่าเสีย ก็จะต้องมีการเปิดสัมปทานให้ตัดไม้ออกไปจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จริงหรือไม่จริงก็ตามเพราะนักสร้างเขื่อนย่อมรู้อยู่แก่ใจ ในความเห็นของผม สิ่งที่นักสร้างเขื่อนปรารถนาอยากได้จริงๆในการผลักดันโครงการเขื่อนในพื้นที่แห่งนี้ก็คือ ป่าไม้สักเหล่านี้นั่นเอง
ป่าไม้สักเหล่านี้รอดจากยุคสัมปทานมาได้ เพราะยังเล็กเกินไป แต่มาถึงสมัยนี้ที่เติบโตใหญ่ จึงเป็นที่หมายตาของเหล่าผู้มีอำนาจมาตลอด จะเปลี่ยนผ่านผู้กุมอำนาจรัฐกี่ยุคสมัยสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการตีปี๊บโหมประโคมการสร้างเขื่อนแห่งนี้เสมอ หากไม้สักเหล่านี้เป็นคนและตามข่าวอยู่เสมอ ก็คงหลอนเป็นโรคประสาท โฟเบียแน่ๆซึ่งไม่ต่างจากอาการของคนสะเอียบที่สู้เพื่อปกปักรักษาป่าสักทองและบ้านเกิดเมืองนอนของตนมาอย่างยาวนานเช่นกัน คนที่นี่ต้องกังวลทุกครั้งเมื่อถึงหน้าแล้ง เพราะข่าวการสร้างเขื่อนมักประโคมอย่างหนักในช่วงนี้ หลายข่าวมดเท็จถึงขนาดที่ว่า ป่าสักทองไม่เหลือแล้ว ป่าสักทองตายแล้ว ชาวบ้าเล่าว่ากลัวนักสร้างเขื่อนใช้เฮลิคอปเตอร์บินมาถ่ายภาพป่าสักในหน้าแล้งเพื่อไปป่าวร้องว่า ต้นสักตายหมดแล้ว เหลือแต่กิ่งแห้งๆ(วิธีนี้หากมีการทำกันจริงๆ ผมก็ถือว่ามันดูถูกสติปัญญาของประชาชนอย่างมาก )เพราะย่อมเป็นที่ทราบกันดีว่า ต้นสักจะทิ้งใบเมื่อเข้าฤดูหนาว ทั้งนี้ก็เพื่อลดการสูญเสียน้ำของลำต้นในหน้าแล้ง และจะไปผลิใบแตกยอดใหม่สวยงานก็เมื่อเริ่มย่างเข้าฤดูฝน วิธีนี้อาจจะได้ผลในการหลอกลวงคนกรุงในเมืองที่อยู่แต่ในป่าคอนกรีต ไม่รู้จักต้นไม้ หากแต่สำหรับคนต่างจังหวัดแล้วมันเป็นการหลอกลวงที่ขันขื่นจนขำไม่ออกจริงๆ
จากการที่รัฐบาลปัจจุบันมีโครงการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ยิ่งสร้างความวิตกกังวลแก่ชาวบ้านอย่างมาก ยิ่งมาผนวกกับความเอาจริงเอาจังของนายปลอดประสพ สรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ. ที่ประกาศเสมอว่า แม่น้ำยมจะต้องมีเขื่อนเหมือนแม่น้ำสายอื่นๆด้วยแล้ว ชาวสะเอียบยิ่งเครียดไม่สร่าง จนตอนนี้ต้องมีการจัดเวรยามเพื่อป้องกัน บริษัทต่างๆที่สัมปทานงานจาก กบอ. หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆไม่ให้เข้าไปสำรวจพื้นที่หรือหัวงานเขื่อนได้ ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ ชาวสะเอียบต่างก็ไม่รู้ว่า มันจะดำรงอยู่ไปถึงเมื่อไหร่...
จากคำบอกเล่าของกำนันเส็ง ขวัญยืน บอกว่าชาวบ้านสู้มานานมาก เพื่อปกปักรักษาพื้นที่ป่าและบ้านเรือนของตน ชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้านได้ตั้งกลุ่มราษฎรรักษาป่าเพื่อต่อต้านการสร้างเขื่อนและอนุรักษ์ผืนป่าธรรมชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีการตั้งกลุ่มตะกอนยมที่เป็นการรวมกลุ่มกันของเยาวชนลูกหลานของทั้ง 4 หมู่บ้านในปี พ.ศ. 2537 เพื่อเป็นการส่งต่ออุดมการณ์อนุรักษ์กันต่อไป หากจะถามว่าชาวสะเอียบหมดเงินไปกับการพิทักษ์รักษาผืนป่าและแม่น้ำยมเท่าไหร่ คงไม่สามารถประเมินได้ เพราะมีเรื่องการตีปี๊บสร้างเขื่อนมาที ชาวบ้านก็ระดมเงินกันที เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในรณรงค์อนุรักษ์ เมื่อก่อนอาจจะหนักเฉพาะหน้าแล้ง แต่เดี๋ยวนี้จะหน้าฝนหรือหน้าแล้ง ชาวบ้านก็ต้องรณรงค์กันตลอด ทั้งเพื่อไม่ให้กระแสสร้างเขื่อนมันดังเกินไป และก็เพื่อบอกกล่าวแก่สังคมให้รู้ถึงการยืนหยัดต่อสู้ของคนสะเอียบที่จะไม่ยอมสูญเสียป่าสักทองให้เป็นผลประโยชน์แก่ใครคนใดคนหนึ่งไปพร้อมๆกับบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาของตน
ค่ำคืนนั้น ผมพักค้างที่บ้านสะเอียบ ดื่มและพูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ ฟังเรื่องราวการต่อสู้ของชาวสะเอียบ การก่อเกิดของกลุ่มตะกอนยมที่เป็นลูกหลานอนาคตของสะเอียบในรุ่นถัดไป ดูภาพการสร้างฝายกักเก็บน้ำขนาดต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นการกักเก็บ ชะลอน้ำและรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า ฟังบทบาทและการทำงานของเจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้ช่วยกันจับผู้ลักลอบเข้ามาตัดไม้ทำลายป่าในเขตป่าทึบที่ไกลหูไกลตาชาวบ้าน ฟังการทำงานของชาวบ้านที่ได้ช่วยกันเชิญคนของบริษัทต่างๆที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐแล้วจะเข้ามาดูพื้นที่สร้างเขื่อนออกจากพื้นที่ หรือกระทั่งเรื่องราวประมาณสามปีก่อนที่การเดินลาดตระเวนป่าของชาวบ้านก็ทำให้ได้ไปพบเห็นการแอบเจาะไม้เพื่อหยอดยาให้ไม้แห้งตาย ซึ่งเป็นการลักลอบเข้ามาทำของคนนอกพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯในยุคนั้นหนุนหลัง เหตุการณ์ครั้งนั้น ชาวบ้านได้ช่วยรักษาไม้สักไว้ได้นับร้อยต้นและทำให้กรมอุทยานฯต้องสั่งโยกย้ายเจ้าหน้าที่อุทยานฯทั้งชุดในทันที
จากเรื่องราวเหล่านี้ทำให้ผมนึกถึงการกระจายอำนาจ การจัดการตัวเองของชุมชนต่างๆ ที่หากภาครัฐไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายมากนัก พร้อมทั้งเคารพการเลือก การตัดสินใจของชาวบ้าน ด้วยความเข้มแข็งที่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆมี เขาก็สามารถที่จะบริหาร จัดการ และดูแลแบ่งปันทรัพยากรต่างๆในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี จึงอยู่ที่ว่า รัฐไทยพร้อมหรือยังที่จะกระจายอำนาจในการตัดสินใจที่จะเลือก ที่จะอยู่ ที่จะทำ ให้แก่ประชาชนในทุกชุมชนอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงคำพร่ำ รำพันอย่างคาบคัมภีร์เช่นที่ผ่านมา
เช้าวันนั้นฟ้าหลัวอวลไอหมอกลอยปกคลุมผืนป่าและหมู่บ้าน อากาศเย็นราวกับยังอยู่ในหน้าหนาว หลังจิบกาแฟเสร็จ ผมบอกลาเจ้าของบ้านพร้อมทั้งผู้เฒ่าผู้แกที่มานั่งคุยด้วย วนรถอ้อมหมู่บ้านหนึ่งรอบ เพื่อดูวิถีการดำรงอยู่ของชาวสะเอียบ ขวดเหล้าที่ตั้งเรียงรายรอการทำความสะอาดในแทบทุกหลังคาเรือน นั่นก็เพื่อเอาไปบรรจุเหล้าต้ม ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของชาวบ้านที่นี่ ซึ่งมีถึง สี่สิบโรงต้ม กระจายไปส่งทั่วทุกจังหวัดภาคเหนือ ในเมื่อชาวสะเอียบมุ่งมั่นที่จะรักษาป่า เขาจึงไม่รุกล้ำพื้นที่ป่า การหันมาต้มกลั่นสุราจึงเป็นทางออกในการดำรงชีวิตของคนที่นี่
กำแพงบ้านหลายหลังมีตัวหนังสือสีแดงประกาศชัดเจนว่า คนสะเอียบจะไม่อพยพ พวกเขาจะไม่หนีไปที่ไหน พวกเขาจะอยู่เพื่อรักษาบ้านและรักษาผืนป่าอยู่ที่นี่ตลอดไป ใช่เพียงรักษาป่าและธรรมชาติเพื่อตนเท่านั้น ชาวสะเอียบยังรักษาเพื่อพี่น้องประชาชนในที่อื่นๆอีกด้วย เพราะที่นี่เป็นป่าต้นน้ำที่ส่งน้ำไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ชุมชนต่างๆเบื้องล่าง ไม่มีป่าย่อมไม่มีน้ำ พอๆกับที่ไม่มีป่าก็ย่อมไม่มีอากาศบริสุทธิ์ให้ได้หายใจ การต่อสู้ของชาวสะเอียบจึงเป็นการต่อสู้เพื่อทุกๆคน