เคยได้ยินเรื่องเล่าหนึ่งว่า มหาเศรษฐีคนหนึ่ง ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจใหญ่โตในประเทศแห่งหนึ่ง เขาพูดกับใครต่อใคร (ซึ่งแน่นอนว่าคำพูดของเขามีอิทธิพลต่อคนทั้งประเทศ ด้วยว่าผู้คนต่างก็อยากรวยอย่างเขานั่นเอง) ว่า ในชีวิตของเขา สามารถให้อภัยคนได้สามครั้ง ว่าก็คือ ในงานของเขา ลูกน้องของเขา เมื่อทำผิดครั้งแรก เขาอภัย ทำผิดครั้งที่สอง เขายังอภัย ทำผิดครั้งที่สาม เขาให้อภัย และเป็นโอกาสสุดท้าย แต่เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นอีก ก็จะถูกไล่ออก
ครั้งหนึ่ง มีคนผู้แสวงหาถามผู้เฒ่าชนบทคนหนึ่ง ว่าเราจะให้อภัยคนได้สักกี่ครั้ง หากว่ามีคนๆ หนึ่งทำผิดต่อเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำตอบของผู้เฒ่าคือ “ไม่มีที่สิ้นสุด”
ว่ากันว่า การอภัย ถือเป็นคุณงามความดีอันหนึ่งของการรับรู้ของผู้คน และสังคม มันเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่ผู้คนต่างรับรู้ และเช่นนั้นเอง มันจึงเป็นค่ามาตรฐานที่ตีค่าความสูงส่งของจิตใจ ดังนั้น เมื่อมีใครกระทำการอันใดที่เราไม่ชอบใจ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมันกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงได้ แต่ในระดับความสัมพันธ์ หลายครั้งเมื่อใครทำอะไรที่ก่อเป็นความไม่พอใจ เขาผู้นั้นก็กล่าวคำขอโทษ และโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม หรือเป็นความคุ้นเคย หรือเป็นเพราะมารยาททางสังคม หรือมันทำให้เราดูดีในสายตาคนอื่น หรือมันทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง เราก็เพียงพูดว่า ไม่เป็นไร
ในเรื่องเล็กน้อย เมื่อเรากล่าวว่าไม่เป็นไร มันก็อาจจะไม่เป็นไรจริงๆ หรือเพียงชั่วขณะ เราก็ลืมเรื่องนั้นไปเสียแล้ว แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างนั้นเกิดขึ้นอยู่หลายครั้งเราก็ยังให้อภัยได้เสมอ แต่นั่นย่อมไม่ใช่เรื่องที่กระทบกับ “อัตตา” ของเราอย่างแรง
ภาวะที่อัตตาถูกระทบกระแทกโดยตรง หรือภาวะที่มีผลต่อภาวะความเปราะบางทางอารมณ์ ภาพลักษณ์ของสังคมปรากฏขึ้นทุกครั้ง และหลายครั้งมันเป็นอัตโนมัติ เราก็ยังมักจะพูดว่าไม่เป็นไร...ไม่เป็นไร... บางคนก็ขอโทษซ้ำแล้วซ้ำอีก เราก็ยังพร่ำบอกเหมือนเดิมว่า ไม่เป็นไร...ไม่เป็นไร พร้อมกับที่ข้างในของเรานั้นคุกรุ่นไปด้วยอารมณ์เคียดแค้น
วาระหนึ่งที่พบเห็น ในวิถีแห่งการให้อภัย เราไม่สามารถให้อภัยใครได้อย่างจริงแท้ได้เลย เมื่อเรายังไม่ให้อภัยตัวเอง ในฐานะมนุษย์ เมื่อมีใครทำผิด และเรารู้สึกโกรธ นั่นก็คือ มนุษย์ผู้นั้นก็เป็นตัวแทนของจิตวิญญาณของเราในฐานะมนุษย์ หลายครั้งที่ไม่ว่าเราจะพยายามเพียงไหน เราก็ยังให้อภัยอย่างแท้จริงไม่ได้ นั่นเพราะเรายังไม่ได้อภัยตัวเอง นี่คือภาระที่ยากเย็นแสนเข็ญ