มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ ในการอบรมครั้งหนึ่งว่า มนุษย์เรา มันมีแค่ไหนมันก็ได้แค่นั้น แรกที่ได้ฟัง เราก็แย้งในใจทันทีว่า จะกล่าวหาเช่นนั้นได้อย่างไร เพราะส่วนหนึ่งที่เราได้ยินมาก็คือ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ นั่นหมายถึงความถึงพร้อมสำหรับการบรรลุธรรม นี่ว่าในแง่ความเชื่อทางพุทธศาสนา เพราะเราได้ยินมาเสมอว่าสิ่งมีชีวิตเดียวที่พร้อมสำหรับการบรรลุธรรมก็คือมนุษย์ นี่คือภพภูมิที่สูงสุด ว่ากันว่าแม้แต่เทวดาก็ยังไม่ถึงพร้อมหำหรับการบรรลุธรรม ว่ากันมาอย่างนั้น ดังนั้นเองเราจึงแย้งในใจเสมอว่า มนุษย์ความจริงแล้ว เท่ากัน
ในหน้าประวัติศาสตร์ แทบจะทุกที่ทางที่เราต่างได้ศึกษา วิถีของมนุษย์ ต่างก็แสวงหาความเท่ากันในสังคม ถึงวันนี้ และเรา ก็คือหนึ่งของผู้แสวงหาความเท่ากันนั้น วันเวลาผ่านไปยิ่งเมื่อเราได้เรียนรู้ชีวิต พานพบเรื่องราวและประสบการณ์ เราเริ่มคล้อยตามความคิดที่ว่า มนุษย์ มันมีแค่ไหน มันก็ได้แค่นั้น แต่ มนุษย์สามารถเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงได้
ธรรมดาของความคิดเราอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อมีคนทำ พูด หรือคิดอะไรบางอย่าง ซึ่งมันเป็นแนวทางที่แตกต่างออกไปจากเรา เราก็มักจะเข้าไปคิดว่า ทำ หรือพูด หรือคิดอย่างนั้นได้ยังไง(วะ) ก็ในเมื่อเห็นชัดๆ อยู่แล้วว่า คิดแบบเรานี่ดีที่สุดแล้ว เมื่อธรรมดาของเราเป็นเช่นนี้แล้ว การสะสมความคิดเหล่านี้ พอมากขึ้น เราก็จะเริ่มแบ่ง หรือขีดเส้นว่า คนนี้โง่กว่าคนนี้ คนนั้นฉลาดกว่าคนโน้น แล้วเราก็ประทับตราคนอื่นตลอดเวลา แต่โดยส่วนใหญ่ เราก็มักลืมประทับตราตัวเอง
เมื่อคิดถึงความเท่ากัน เราเริ่มรู้สึกว่า ความเท่ากันของมนุษย์นั้นมันมาพร้อมกับคำถามเสมอว่า เท่ากันแค่ไหน จากการพบพานทำให้เชื่อได้ว่า มนุษย์มีโอกาสในการเปลี่ยนแปลง เหมือนกัน แต่มนุษย์มักมีโอกาสในการเข้าถึงการเรียนรู้ต่างกัน หากว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงการเรียนรู้เท่ากัน พร้อมกัน แหล่งเดียวกัน แต่มนุษย์ก็เรียนรู้และเห็นต่างกัน หากว่ามนุษย์ เห็นปรากฏการณ์นั้นแบบเดียวกัน มนุษย์ก็มักให้นิยามต่างกัน ตั้งคำถาม ตอบ และเอาความรู้นั้นตอบสนองสิ่งที่ต่างกัน
ความจริงอันหนึ่งจึงปรากฏว่า แท้จริงมนุษย์เท่ากัน แต่ไม่เท่ากัน นั่นเอง มันจึงเป็นเงื่อนไขให้เรากลับมาสู่โลกภายในของเราเอง มากกว่าการจ้องมองดูผู้อื่น แต่นั่นคงไม่ได้แปลว่า ใครจะเป็นอย่างไรเราก็ปล่อยวาง หรือวางเฉย แต่เราเองคงต้องเกื้อกูลกันต่อไป แต่พวกเขาทั้งหลายจะค้นพบอย่างไร นั่นก็สุดแท้ และอยู่เหนือการควบคุมของเรา เพราะที่สุดแล้ว สิ่งที่มนุษย์เท่ากันก็คือ สิทธิ์และศักดืของความเป็นมนุษย์นั่นเอง