ที่พิเศษกว่านั้นเกี่ยวเรื่องน้ำใช้ในวัดนี้ เพราะนักวิชาการสาธารณะสุข ได้นำน้ำไปตรวจสอบสภาพความบริสุทธิ์ พบว่าในน้ำมีแร่ธาตุที่สามารถดื่มและรักษาโรคได้ด้วย พืชผักต่างๆที่ปลูกแล้วรดด้วยน้ำนี้ จะมีสรรพคุณทางยาสูง แม่จึงคิดว่าลูกโชคดีที่สุดแล้ว ที่ได้พบหลวงพ่อและมาอาศัยที่วัดของท่าน
ทุกๆเช้าพ่อจะลงไปรอรับหลวงพ่อที่เชิงภู เพื่อช่วยถืออาหารทั้งหลาย ที่ได้มาจากการออกไปบิณฑบาตรที่บ้านกกตูม (หลวงพ่อต้องนั่งรถปิคอัพของวัดไปทุกวัน เพราะเป็นชุมชนเดียวที่อยู่ใกล้ที่สุด ระยะทางประมาณ 8กิโลเมตร)
พ่อแทบจะไม่ได้ออกไปทำงานอีกเลย นานๆจะไปสักครั้งในกรณีที่จำเป็นจริงๆ โชคดีอีกอย่างหนึ่งของเราก็ได้ ที่งานของพ่อไม่ใช่งานราชการ เนื้อหางานที่ผ่อนปรนให้คนอื่นทำแทนกันได้ โดยที่ไม่เสียงาน เพื่อนร่วมงานต่างเข้าใจดี ก็งานในองค์กรพัฒนาเอกชน ที่พ่อเองกลายเป็นคนในชุมชนไปแล้ว ชีวิตกับงานกลมกลืนเป็นธรรมชาติ แม่ยิ่งสบายกว่าพ่อ บทบาทสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล สมัยแรกใหม่หมาด ไม่ได้ทำให้งานของส่วนรวมกระทบกระเทือน เมื่อถึงคราวประชุมแม่ก็ออกไปประชุม เสร็จงานก็กลับมาอยู่กับลูก พร้อมกับอาหารของลูก คือผักและผลไม้ที่ต้องหาบขึ้นวัด กับกระเป๋าใบใหญ่ที่เต็มไปด้วยอาหารสะพายไว้ด้านหลัง แม่มีความสุขกับการที่ได้ทำให้ลูก
ทั้งพ่อทั้งแม่ สามารถบอกกับใครๆได้ว่า สำหรับลูกแล้ว เราไม่เคยมีคำว่า "รอก่อนนะลูก"
ภาระการออกไปหาอาหารที่จำเป็นสำหรับลูกเราต้องทำทันที เพราะผลไม้ต้องใหม่สดจริงๆ ดังนั้นเกือบทุกๆสองวันเราต้องลงไปหามา โชดดีที่พ่อได้ทำงานเครือข่ายอินแปงที่มุ่งส่งเสริมให้พี่น้องรอบป่าภูพานได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูพืชผักพื้นบ้านอาหารธรรมชาติตามแนวคิดอินแปง ยกป่าภูพานมาไว้สวน คือการนำพืชผักผลไม้จากป่าภูพานมาปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูกเราจึงมีแปลงเกษตรเช่นนี้มากมาย มีอาหารเหลือเฟือให้ลูก เช่น ที่สวนของแม่ชีวทัศน์ มี บวบ มะละกอก น้อยหน่า แก้วมังกร ผักหวานบ้าน มะรุม ไข่ไก่บ้าน พ่อหวัง พ่อชาดี มีกล้วยน้ำหว้า ฟักทอง แตงโมง กินอร่อย พี่น้องกินแปงที่สกลนคร มีหมากเม่า รดชาดดี หวานตามธรรมชาติ หมากเบ็น มะพร้าว ข้าวฮาวบ้านแป้น แชมพูมะกรูดกลิ่นหอมจากสวนชาวดินของน้องก้องกับตุ่งติ่งบัญฑิตคืนถิ่น เรามีอาหารมากมายสดๆดีๆไม่มีสารเคมีให้แม่ชีได้กิน แถมพี่น้องจากภาคตะวันออก/ภาคใต้น้องปุ้ย/อาจารย์อรุศรีก็ยังกรุณาส่งมังคุดปลอดสารมากินตลอด ที่ได้ซื้อตลาดก็มีบ้างเช่น ส้มเช้ง แก้วมังกร มะพร้าวน้ำหอม ก็ต้องดูว่าปลอดภัย เปลือกหนา เราจะต้องไปในเมือง ถ้าไม่ไปที่สกลนคร ก็ต้องไปที่มุกดาหาร ซึ่งอยู่ห่างจากวัดราว 100 กิโลมเมตรทั้งสองแห่ง แถมสุดยอดไปกว่านั้นที่วัดยังมีเห็ดป่าที่ออกตามฤดูกาลมากมายเช่นเห็ดละโงก เห็ดไค เห็ดดิน เห็ดปลวกโดยเฉพาะเห็ดตาโล่เป็นเห็ดก้อนกลมๆเป็นเมือก กินแล้วเย็นมาก กินดิบๆสดๆก็ได้หรือสุกก็ดีเป็นเห็ดป่าที่มีฤทธ์เย็น ทั้งที่เห็ดป่าโดยส่วนใหญ่มีฤทธิ์ร้อน และนับว่าโชคดีของลูกที่ได้กินเห็ดตาโล่ ตุ๋นใส่ผักรสอร่อยมาก ลูกชอบกินมากกินมื้อละถ้วยทุกมื้อที่นับว่าโชคอย่างมากคือเห็ดตาโล่จะไม่เกิดทุกที่ทั่วไป ที่วัดภูไม้ฮาวถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด ชาวบ้านญาติโยมใกล้ไกลจะมากราบหลวงพ่อและขอเก็บเห็ดเป็นประจำจนมีชื่อเสียง
มาถึงวันนี้ ความวิตกกังวลจากคนรอบข้างที่ว่า ไม่มีหมอ ไม่มีเครื่องมือแพทย์ ลูกจะอยู่อย่างไร ค่อยๆเลือนหายไป โดยเฉพาะคุณย่าที่มาเห็นวัดครั้งแรกแล้วตีโพยตีพายต่อว่าพ่อกับแม่เสียมากมายว่า ทำไมพาหลานมาเสี่ยงชีวิตที่นี่ ตอนนี้มีความเข้าใจและยินดีที่จะมาอยู่ข้างๆลูกบ่อยๆเท่าที่ย่าจะทำได้
ด้วยตัวลูกเองที่แสดงออกให้เห็นถึงความเข้มแข็ง แม้จะไม่ใช่ทุกเรื่องที่ลูกบันทึกไว้ แต่ด้วยความทรงจำของแม่ แม่จำได้ถึงคำพูดของใครหลายคนที่บอกกับแม่ว่าลูกช่างเป็นเด็กมหัศจรรย์ ทุกครั้งที่ลุงๆป้าๆขึ้นมาเยี่ยม พวกเขาบอกว่าเหมือนไม่ได้มาเยี่ยมคนป่วย แค่มาพบปะพูดคุยกับคนปกติคนหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่ดูที่รูปร่างซึ่งผอมบางลงทุกวัน
"ขอป้าจับมือหน่อยนะลูก ขอพลังด้วย" ป้าเฒ่ามักจะทำอย่างนั้นทุกครั้ง เพราะความเหนื่อยหอบจากการเดินขึ้นภูแล้วลูกก็ยื่นมือบางๆให้ป้าเฒ่าจับ พร้อมยิ้มอย่างมีความสุข ป้าหลานคุยกันกระหนุง
กระหนิง แม่จึงได้ออกไปทำกับข้าว ส่วนพ่อกับลุงเปี๊ยกก็คุยกันเหมือนเดิม
ป้าเฒ่ากับลุงเปี๊ยก กลายเป็นญาติผู้ใหญ่ของลูกที่เราขาดไม่ได้เสียแล้ว และทั้งป้ากับลุงก็ขาดลูกไม่ได้ ถ้าไม่มีงานเร่งด่วน หรือต้องเดินทางไปทำงานไกลๆ ป้าเฒ่าจะขับรถมานอนค้างกับลูกที่วัด ตื่นเช้า รีบไปทำงานที่โรงพยาบาลเขาวง ป้าเฒ่าลุงเปี๊ยก อยู่กับลูกจนกระทั่งนาทีสุดท้ายของลูกจริงๆ
ลูกรู้ไหม หลังจากที่ลูกไม่อยู่แล้ว ลุงเปี๊ยกบอกว่า ทั้งหมดที่ลูกฝากไว้ให้ คือเครื่องเตือนใจผู้ใหญ่อย่างลุงเปี๊ยกว่า เราที่เป็นผู้ใหญ่ ที่น่าจะเป็นฝ่ายไปก่อน ได้เตรียมตัวที่จะไปอย่างสงบสันติหรือยัง
บันทึกที่แม่ได้อ่าน หลังจากที่ไร้ร่างลูกแล้วนั้น ทำให้แม่เห็นความอดทนข่มใจต่อความอยากในสิ่งที่ลูกชอบ
แม่อ่านแล้วรู้สึกสงสารลูกมาก
11/6/51
ตื่น 05.00 น. ...........(เนื้อหาส่วนนี้ เหมือนทั่วๆไป เกี่ยวกับการกิน นวด ถ่าย ฉี่)
ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไปจะไม่กินขนม แต่ขาไก่ไม่มั่นใจ
พ่อไปสกลนคร ไปเอายาธิเบต
หลวงพ่อมาเทศน์เรื่องจิต .....
อากาศร้อนอบอ้าว สงสัยฝนจะตก......
ลุกนั่งเอง อ่านละคร ใส่แว่นตา ดู CD ละคร....
พ่อยังไม่มาเลย บอกว่าจะซื้อหนังสือ กระเป๋าสตังค์คิดตี้มาฝาก (เรื่องกิน อาบน้ำ สระผม อื่นๆ)
ดู CD พุทธทาส บทสุดท้าย ลึกซึ้งมาก (กินข้าว กินน้ำ กินยา)
พ่อมา ซื้อ(หนังสือประกอบ)ละคร 2 เล่ม กระจก สี(วาดรูป) กระเป๋าตังค์คิดตี้
ลุงยุทธฝากบอกให้เช็คอาหารตลอด อย่ากินปลากับข้าวเหนียวมากลุงยุทธยังบวมไม่หาย
รอกินข้าว คงกินกับนึ่งปลา ต้มจืดผัก (ได้กินจริงๆ)
แม่รู้ว่าลูกต้องอดทนต่อความอยากในของต้องห้ามทั้งหลาย ทั้งที่เคยเป็นอาหารประจำของลูก และเรื่องความหิวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจไม่น้อย
กินกล้วยตอนดึก กินข้าวกับปลานึ่ง ตอนตี 1
ฟังเสียงบันทึกที่หลวงพ่อเทศน์ พ่อนวดให้ ถ่ายตอนตี 3 กินมังคุด นอนหลับสบายดี ฝนตก
มาถึงวันนี้ แม้ลูกกินมากแค่ไหน แต่ร่างกายของลูกก็ยังผอมบาง บางเฉียบราวกับเปลือกแตงกวาแห้ง