ประชาธิปไตยไทยอยู่ในมือใคร

ศยามล ไกยูรวงศ์

 


คำว่า “ประชาธิปไตย” ในสารานุกรมวิกิพีเดีย กล่าวไว้ว่า “เป็นระบอบการปกครองแบบหนึ่ง ที่บริหารอำนาจรัฐ  ซึ่งมาจากเสียงข้างมากของพลเมือง ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยพลเมืองอาจใช้อำนาจของตนโดยตรงหรือผ่านผู้แทนที่ตนเลือกไปใช้อำนาจแทนก็ได้ ประชาธิปไตยยังเป็นอุดมคติที่ว่าพลเมืองทุกคนในชาติร่วมกันพิจารณากฎหมายและการปฏิบัติของรัฐ และกำหนดให้พลเมืองทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสดงความยินยอมและเจตนาของตน” 
นอกจากนี้ “ประชาธิปไตย” ตามทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนกันมา ยังหมายถึง การแบ่งแยกอำนาจอย่างเป็นอิสระ คืออำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ทั้งสามอำนาจต้องมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ระบบพรรคการเมืองจึงเป็นผู้แทนของประชาชนที่ถูกเลือกตั้งขึ้นทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่ทว่าสถานการณ์ของสังคมไทยวันนี้ ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจของทั้งสามอำนาจนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง  อันเนื่องมาจากรากเหง้าในการได้มาของสามอำนาจตั้งแต่ในระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ต้นทาง    ประชากรส่วนใหญ่ของสังคมไทยยังเป็นสังคมชนบทกึ่งเมืองที่ถนนไปถึงหมู่บ้านเดินทางได้สะดวก   ก็ยังมีวัฒนธรรมของการพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกัน และมีสายสัมพันธ์ญาติพี่น้องและยึดโยงด้วยหลักศาสนาของทุกศาสนา   การเคารพเชื่อมั่นในผู้นำของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ผู้นำหมู่บ้าน ผู้นำทางประเพณี  ด้วยเหตุนี้ระบบพรรคการเมืองตั้งแต่นักการเมืองท้องถิ่นไปจนถึงนักการเมืองระดับชาติ  ซึ่งเป็นกลุ่มทุนในชุมชน และเชื่อมโยงกับทุนระดับชาติและทุนต่างชาติ  

จากเดิมระบบอุปถัมภ์ในหมู่บ้านคือการพึ่งพาผู้นำที่มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่า หรือผู้นำทางศาสนา  โดยการอุปถัมภ์เกื้อกูลอยู่บนฐานทางศีลธรรม และนำพาให้หมู่บ้านอยู่รอดร่วมกัน  แต่ในช่วงสามสิบปีที่สังคมหมู่บ้านเปิดมากขึ้นจนถึงวันนี้   ระบบอุปถัมภ์ในหมู่บ้านคือการให้ยืมเงินแบบขายฝาก แบบให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยแพง  และหลอกให้เซ็นใบเปล่าในการยึดถือครองที่ดินและทรัพย์สิน  ตลอดจนการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้สมาชิกในหมู่บ้านเป็นผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ของคนในท้องถิ่นและไต่เต้าเป็นนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติ   และคนเหล่านี้ก็คือนายอุปถัมภ์ที่มีเส้นสายแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น  โดยผ่านระบบส่งต่ออุปถัมภ์ซื้อเสียงกันอย่างง่ายดาย  จึงไม่ต้องแปลกใจประเทศไทยได้นักการเมืองระดับชาติแบบนักเลงโตที่อยู่กับวัฒนธรรมเงินตรา   เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกจึงอยู่ในสภาพไม่แตกต่างกัน อาจจะมีบางจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ซึ่งซื้อขายเสียงได้ยาก ก็จะได้วุฒิสมาชิกที่มีคุณภาพ 

รัฐบาลและนักการเมืองเป็นอย่างไร ก็เป็นตัวสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมของคนเลือกตั้งเป็นอย่างนั้น   สิทธิของ 1 เสียง มีความหมายและมีพลังในช่วงเลือกตั้ง    แต่หลังจากที่มีรัฐบาล  เสียงของ 1 เสียง นั้นไร้ความหมาย โดยเฉพาะหากมีความเห็นที่แตกต่างหรือไม่เห็นด้วย   เสียงข้างมากก็จะเป็นฝ่ายชนะ  โดยขาดการรับฟังในการเคารพสิทธิของทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ในกระบวนการร่างกฎหมายของอำนาจนิติบัญญัติ  การบริหารประเทศของอำนาจบริหาร  เสียงของพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งเสียงของประชาชน ที่กล่าวกันว่าเป็นเสียงสวรรค์  ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิงต่อการรับฟังและนำมาพิจารณาในการร่างกฎหมาย และการบริหารประเทศที่มีการยอมรับอย่างฉันทามติ  

กรณีร่างกฎหมายนิรโทษกรรม  ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....  หรือ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท  ในวาระ 3  ด้วยคะแนนเสียง 63 ต่อ 13  ที่ผ่านมาได้ในการพิจารณาของวุฒิสภา  การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 ที่เกี่ยวกับการทำสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าและการลงทุน โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา   ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระสอง และวุฒิสภาในช่วงกลางดึกที่ผู้คนนอนหลับใหล   การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเกมการเมืองที่ไม่เคารพเสียงของประชาชน

ในการบริหารประเทศของอำนาจบริหาร  ซึ่งเป็นผู้แทนของทุกคน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตระหนักในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่คนไทยกำลังเผชิญ กับการพัฒนาแบบโลกาภิวัฒน์  แต่รัฐบาลกลับอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายทุนที่โหมกระหน่ำการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท  โดยขาดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารประเทศแบบโปร่งใส    ขาดการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ในเบื้องต้นของการพัฒนาโครงการว่ามีความเหมาะสมในการใช้ที่ดิน กระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากน้อยอย่างไร และเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศอย่างไร  หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย  โดยการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินนอกเงินงบประมาณ ทำให้ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน  กรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท  ใช้วิธีการประมูลและดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งเป็นช่องทางของกระบวนการคอรัปชั่น   หากศาลปกครองไม่ตัดสินให้ต้องตัดเวทีรับฟังความคิดเห็น   โครงการนี้ก็จะมีการดำเนินการไปอย่างฉลุย  แต่จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น  มีเสียงคัดค้านจากประชาชนเกือบทุกเวที  ในบางเวทีที่ประชาชนเห็นด้วย ก็มีการจัดฉาก หรือบางเวทีมีประชาชนมาร่วมน้อย   สถานการณ์ดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ว่าสิทธิใน 1 เสียงได้แสดงพลังแล้ว รัฐบาลจะรับฟังหรือไม่

กรณีอำนาจตุลาการ  ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย และมีความเป็นอิสระที่สุด  แต่ทว่าที่มาของการได้ผู้พิพากษายังเป็นระบบภายในภายใต้เงามืด ที่ประชาชนไม่สามารถล่วงรู้ได้  คำพิพากษาของศาลชั้นต้น   โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นคดีเกี่ยวกับปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อม  หลายคดีคนจนต้องรับชะตากรรมต่อการต่อสู้ในคดีในศาล เช่นคดีที่ดิน คดีที่ได้รับมลพิษสิ่งแวดล้อม  และคดีที่ต้องเผชิญหน้ากับโครงการขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โดยเฉพาะศาลชั้นต้น ไม่มีความเข้าใจต่อปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเพียงพอ ใช้หลักตัวบทกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ได้พิจารณาต่อองค์ประกอบทางสังคมที่มีพลวัติ และมีความซับซ้อนอย่างไร ทำให้การใช้ดุลพินิจในการตัดสินไม่ได้อยู่บนหลักนิติธรรม

ในบางตำบลของประเทศไทยที่มีความเข้มแข็งซึ่งมีน้อยมาก  ได้ตัดสินใจไม่ใช้ระบบเลือกตั้งในการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือ กำนันผู้ใหญ่บ้าน   แต่ใช้วิธีตกลงร่วมกันอย่างฉันทามติทั้งตำบล ว่าจะส่งใครเป็นนายก อบต. และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน   เป็นที่น่าเสียดายว่าการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยยังอยู่ในการควบคุมของกระทรวงมหาดไทย และเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาล  ทำให้ผู้นำท้องถิ่นถอดแบบเดียวกับนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมของเงินตรา 

สถานการณ์ของสังคมไทยในวันนี้ที่นับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ที่เห็นในกรุงเทพฯ แต่รุนแรงในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ รุนแรงในความอ่อนแอของสังคมหมู่บ้าน รุนแรงในปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ปัญหาสังคมสิ่งแวดล้อมที่หมักหมม และไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง  ในขณะที่กลุ่มทุนรุกคืบมาแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการบริหารและปกครองประเทศแบบรัฐชาตินิยม ไม่สามารถเดินหน้าได้ในกระแสการพัฒนาแบบโลกาภิวัฒน์ แต่การคืนอำนาจให้กับประชาชนได้ปกครองตนเองในระดับจังหวัดและตำบล และกำกับดูแลโดยรัฐบาลกลาง  ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องเหมาะสมและตั้งรับได้กับการพัฒนาโลกาภิวัฒน์  ซึ่งทุกคนต้องรวมพลังกันในการพัฒนาศักยภาพของคนไทยให้มีคุณภาพยิ่งกว่านี้

ทางออกที่ดีที่สุดในวันนี้คือ  รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ต้องตัดสินใจในการบริหารประเทศเพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายต้องถอยมาหนึ่งก้าว   เพื่อให้ภาคประชาชนและพรรคฝ่ายค้านได้เห็นความจริงใจและยินยอมถอยมาหนึ่งก้าวเช่นเดียวกัน   ที่สำคัญต้องไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารของทหาร   การพูดคุยตกลงว่าจะเดินหน้าประเทศไทยไปในทิศทางอย่างไร  ต้องไม่ใช่เฉพาะพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล หรือชนชั้นนำของประเทศเท่านั้น  แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย  โดยมีกลไกและระบบอย่างโปร่งใสที่เป็นประชาธิปไตย 

ขอให้เป็นโอกาสนี้ที่จะถามว่า ความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคมของคนไทยที่มีสิทธิ 1 เสียงต้องการอย่างไร  เพราะไม่ใช่เรื่องของการแบ่งเค้ก หรือเป็นเรื่องของคนๆเดียวในพรรคการเมือง  ถ้าเป็นเช่นนี้  สิทธิของคนไทย 1 เสียง จึงมีพลังตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย     
 


 

ศยามล ไกยูรวงศ์: หยุดความรุนแรงและเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย

การเดินหน้าเลือกตั้งของรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้ปรากฏว่ามีจำนวนกี่เสียงของคนไทยที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง  หากคนใดไม่ต้องการเลือกตั้งก็ไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากคนใดต้องการไปเลือกตั้ง ก็ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ด้วยการเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน จะได้รู้กันให้ชัดเจนว่าเสียงของคนไทยจำนวนกี่เสียงต้องการอย่างไร 

ศยามล ไกยูรวงศ์: ปฏิรูปประเทศไทยคือทิศทางของการเลือกตั้ง


การชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง และต้องการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  รวมทั้งการชุมนุมให้เรียกร้องแก้ไขปัญหาของหลายเครือข่ายในหลายประเด็นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา  โดยที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง   แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของคนไทยที่กล้าแสดงออก และกล้าตรวจสอบรัฐบาล