ศยามล ไกยูรวงศ์
การบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในการเร่งรัดเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือ โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งทั้งสองโครงการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลและเป็นการกู้เงินที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินตกทอดต่อไปถึงลูกหลานของคนไทย ที่สำคัญมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพของคนไทยจำนวนมหาศาลเช่นเดียวกัน
การพัฒนาโครงการดังกล่าวในวันนี้คนไทยตัดสินใจไม่ได้ การพัฒนาโครงการคุ้มทุนทางเศรษฐกิจหรือไม่ หรือเป็นประโยชน์แก่คนไทยทุกคนมากน้อยอย่างไร เมื่อมีปัญหาสิ่งแวดล้อม และสังคมเกิดขึ้น มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร ใครรับผิดชอบ ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวก็ยังไม่มีการเผยแพร่ให้คนไทยได้รับรู้อย่างเป็นเหตุเป็นผล และมีหลักวิชาการรองรับ ตลอดจนการได้ทราบความเห็นของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบว่ามีความเห็นอย่างไร นอกจากข้อมูลว่ารัฐบาลมีนโยบายจะดำเนินการโครงการ มีประโยชน์กับประชาชนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง แต่ไม่กล่าวถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม
บทเรียนที่เจ็บปวดของคนไทยจากการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งกำหนดให้ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมหนัก นอกจากปัญหาเดิมยังแก้ไขไม่ได้ แต่ภาคธุรกิจเอกชนก็ยังมีแผนเดินหน้าขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี นิคมอุตสาหกรรมเหมราช และนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เป็นต้น ตลอดจนการขยายกำลังการผลิตของโครงการ โดยที่กลไกทั้งทางกฎหมาย กลไกของรัฐ หรือแม้แต่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ตลอดจนการนิคมแห่งประเทศไทยร่วมกับภาครัฐ ก็ยังไม่มีความเข้มงวดตรวจสอบการดำเนินการโครงการ หรือร่วมรับผิดชอบแก้ไขปัญหาให้กับคนระยองอย่างจริงจัง
การเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวจึงไม่มีความเชื่อมั่นใดๆที่ประชาชนจะไว้วางใจว่าเมื่อดำเนินการโครงการแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้หรือรัฐบาลชุดไหนจะสนใจติดตามแก้ไขปัญหาให้แก่พวกเขา แ]tประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวต้องเผชิญกับชะดากรรมที่โหดร้าย และกลายเป็นคนจน ซึ่งสร้างปัญหาสังคมในที่สุด
การพัฒนาประเทศให้ตั้งรับกับการพัฒนาโลกาภิวัตน์ได้นั้น ประเทศไทยต้องมีความพร้อมของการวางแผนพัฒนาประเทศที่มองไกลไปถึงสามสิบปีข้างหน้า มีระบบกฎหมาย และกลไกต่างๆที่มีบทบาทในการพิจารณาโครงการ การอนุมัติโครงการ และการติดตามตรวจสอบการดำเนินการโครงการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนให้มีการปฏิบัติตามแผนการติดตามการดำเนินการโครงการอย่างเคร่งครัด
รัฐบาลได้เคยมีมติคณะรัฐมนตรี ให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) มีบทบาทการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Impact Assessment/SEA) แต่การดำเนินการดังกล่าวก็เป็นกรณีศึกษาของแผนพัฒนาภาคใต้ และมีกรณีศึกษาของเขื่อนแม่วงก์โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง
การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการประเมินผลกระทบในระดับนโยบายสาธารณะ เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในโลกของการพัฒนาโลกาภิวัฒน์ เครื่องมือนี้ควรดำเนินการเป็นอันดับเบื้องต้นก่อนการพัฒนาเป็นรายโครงการ เพราะเป็นการวางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อมีฐานข้อมูลอย่างรอบด้านเกี่ยวกับสภาพของพื้นที่ ฐานทรัพยากรในพื้นที่ แนวทางการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน แนวทางการวางผังเมือง ข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอดีตและปัจจุบัน ลักษณะของประชากร วัฒนธรรมการดำรงชีวิต อัตลักษณ์และสุขภาพของผู้คนในพื้นที่ การรองรับการบริการสาธารณะของภาครัฐ การพัฒนาโครงการต่างๆในพื้นที่ ผลของการพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างไร ณ ปัจจุบัน เป็นต้น การมีฐานข้อมูลดังกล่าวในทุกประเด็น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้และเข้าใจอย่างครบถ้วน จะทำให้การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ และการประเมินสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมในระดับยุทธศาสตร์ โดยประชาชนในพื้นที่ได้สังเคราะห์ร่วมกับความรู้และประสบการณ์ในการดำรงชีวิตของเขา มาประเมินผลกระทบและวางแผนได้ว่าการพัฒนาตำบล จังหวัด และประเทศของเขาควรเป็นอย่างไร การพัฒนาโครงการเป็นอย่างไรจึงตามมาในภายหลัง การวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ลักษณะดังกล่าวเป็นการวางแผนพัฒนาจากล่างขึ้นบน
กระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการได้ต้องการวิสัยทัศน์ของรัฐบาล และตระหนักในการพัฒนาประเทศแบบล่างขึ้นบน เพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ และกลไกของระบบราชการ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การปฏิรูปประเทศไทยจึงมิใช่เพียงการปรับเปลี่ยนพรรคการเมืองใดเป็นรัฐบาล หรือโครงสร้างทางการเมือง แต่ต้องปฏิรูปกลไก กฎหมายต่างๆที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสนับสนุนกลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาลงในประเทศ และแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ มีปัญหาแรงงานข้ามชาติ โดยที่ประเทศไม่ได้วางแผนการพัฒนาเพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว และสนับสนุนการพัฒนาประเทศจากล่างขึ้นบนเป็นจริง
กรณีของการพัฒนาประเทศที่เป็นโครงการขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม และโครงสร้างพื้นที่ นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมหาศาล แต่กระบวนการของรัฐบาล กลับใช้วิธีเริ่มต้นด้วยกระดาษเพียงไม่กี่หน้า เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในกระบวนการดำเนินการโครงการทุกขั้นตอนแทนภาครัฐ โดยภาครัฐมีหน้าที่เป็นเพียงผู้เปิดประมูลเท่านั้น ภาคประชาชนรับรู้ว่าจะเกิดโครงการ แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆในการวางแผนมาก่อนหน้านี้เลย การจัดเวทีการรับฟังความคิดเห็นกรณีโครงการบริหารจัดการน้ำ ตามคำสั่งศาลปกครอง จึงไม่ใช้เวทีการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่เป็นเวทีชี้แจงข้อมูลโครงการเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนในพื้นที่คัดค้านโครงการเป็นส่วนใหญ่
บทเรียนนี้จึงเป็นอุทาหรณ์สำคัญว่ารัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่าดูถูกหลอกลวงสมองของคนไทย ว่าเขาคือคนโง่ไม่รู้อะไรเลย ในโลกของการสื่อสารข้ามพรมแดน ไม่สามารถปิดหูปิดตาได้อีกต่อไป การพัฒนาประเทศจึงไม่ใช่ดำเนินการแบบสั่งการได้อีกต่อไป การพัฒนาประเทศจึงต้องดำเนินการด้วยหลักการห้าประการคือ 1)วิสัยทัศน์ของผู้นำ 2)กระบวนการพัฒนาจากล่างขึ้นบน 3)ฐานข้อมูลทุกมิติและรอบด้าน 4)ทุกภาคีร่วมคิดร่วมทำ และ 5)สร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม