Skip to main content


ศยามล  ไกยูรวงศ์


ค่านิยมของคนไทยที่ฝังรากลึกมายาวนาน คือการชื่นชมคนที่มีเกียรติยศมั่งมีเงินทอง  ค่านิยมเช่นนี้มีในทุกกลุ่มทุกชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นในภาคชนบทหรือในเมือง   ในหมู่บ้านคนไทยส่วนใหญ่คิดว่าตนเองปกครองตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่นให้ปกครองแทนตน ไม่เชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของลูกหลานของตน  และใช้ระบบพรรคพวกในการเลือกผู้บริหารท้องถิ่น

หน่วยงานของรัฐ หรือชนชั้นนำมีความเห็นว่าการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด จะได้บุคคลที่เป็นพ่อค้า นักธุรกิจ  หรือผู้มีบารมีในจังหวัด แต่ยังขาดประสบการณ์ อายุน้อย ไม่มีประสบการณ์การประสานงานกับส่วนราชการ   แนวคิด “เกิดที่ไหนตายที่นั่น” ต้องผูกพันกับพื้นที่ ไม่มีโอกาสโอนย้ายไปทำงานที่อื่น ทำให้ขาดประสบการณ์การเรียนรู้  และไม่มีระบบการพัฒนาบุคลากร  มีการซื้อเสียง คอรัปชั่นในการเลือกตั้งของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

แต่ความจริงที่ปรากฏในวันนี้ การปกครองในรูปแบบเดิมที่รวมศูนย์อำนาจ และมีการปกครองส่วนภูมิภาคที่ซ้ำซ้อนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น  ก็มีปัญหาการคอรัปชั่นในทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ ต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลกลาง เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการแย่งชิงที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาภัยพิบัติ   ปัญหาสังคม หรือแม้แต่ปัญหาการบริหารราชการ  ในสภาวะที่ไม่มีรัฐบาล และมีสุญญากาศทางการเมือง ทำให้ประเทศชาติต้องหยุดชะงัก ท้องถิ่นไม่สามารถบริหารจัดการได้ เพราะยังมีข้อจำกัดของอำนาจหน้าที่ และงบประมาณ  การปกครองในรูปแบบปัจจุบันจึงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทุกวันนี้ที่มีความซับซ้อนของปัญหามากยิ่งขึ้น 

ความหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง การไม่ยอมรับต่อสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น จะทำให้ไม่มีการเตรียมตัวต่อการตั้งรับและการป้องกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น   รัฐบาล  หน่วยงานของรัฐ และชนชั้นนำในสังคมไทย ต่างชื่นชมในการเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  และยินดีต้อนรับต่อสิ่งใหม่ๆจากนอกประเทศเข้ามา  แต่กลับไม่ยอมรับต่อการทำให้ประชาชนรู้เท่าทันและบริหารจัดการจังหวัดของตนเอง

แน่นอนว่าระยะทางของการเปลี่ยนแปลงย่อมนำไปสู่ปัญหาอุปสรรค และมีข้อผิดพลาดหลายประการที่ประชาชนต้องเรียนรู้ที่จะปกครองตนเองด้วยตัวเขาเอง  เพื่อการสร้างรากฐานของความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในด้านทัศนคติ ค่านิยม และพฤติกรรม  การเปลี่ยนแปลงนี้จึงเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยงานวิจัยและสุนทรพจน์  แต่ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกฎหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลกลาง และราชการส่วนภูมิภาคมาสู่การปกครองท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ

การให้จังหวัดปกครองตนเองภายใต้รัฐไทย จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งแยกประเทศ  หรือเป็นแบบสหพันธรัฐ  เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศมีเนื้อที่กว้างใหญ่และมีหลายรัฐ  การกระจายอำนาจไปที่ระดับจังหวัดเพื่อให้มีการจัดทำบริการสาธารณะในระดับจังหวัดได้คล่องตัว ตัดสินใจได้รวดเร็วต่อการแก้ไขปัญหา  มีงบประมาณของจังหวัดที่บริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ และมีรายได้เป็นของจังหวัด เพื่อพัฒนาให้ประชากรในจังหวัดได้มีความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ตลอดจนฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนแต่ดั้งเดิม  เนื่องจากที่ผ่านมารัฐส่วนกลางได้ครอบงำและทำลายวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างในประเทศมาโดยตลอด

ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดปกครองตนเอง  จึงเป็นเจตจำนงของประชาชนในการนำเสนอร่างกฎหมายจากภาคประชาชน ตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 281 ที่ต้องการให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น   ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทย   

การเป็นจังหวัดปกครองตนเอง จึงไม่ได้เกิดขึ้นทั้งประเทศ  หากแต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละจังหวัด   โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายในจังหวัดจำนวนไม่น้อยกว่าห้าพันคน มีสิทธิเข้าชื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้มีการจัดทำประชามติจัดตั้งจังหวัดปกครองตนเอง  จังหวัดปกครองตนเองมีฐานะเป็นนิติบุคคล  มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินการคลัง และงบประมาณ ตลอดจน การมีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

ในอดีตจนถึงปัจจุบันการปกครองของรัฐไทยอยู่ภายใต้การชี้นำของพระมหากษัตริย์และชนชั้นนำในสังคมไทย  จึงทำให้คนไทยไม่ได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้การปกครองตนเอง และกำหนดอนาคตของตนเองอย่างเป็นอิสระ   การปลูกฝังประชาธิปไตยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของคนได้นั้น ต้องมีการปฏิบัติจริงและลองผิดลองถูก  การปกครองตนเองจะทำให้คนไทยเรียนรู้ในการเลือกผู้นำของตนเองจากการพิจารณานโยบาย ไม่ใช่จากความชอบส่วนบุคคล  เรียนรู้ในการยอมรับความคิดที่แตกต่าง  แต่สามารถทำงานร่วมกันได้  เรียนรู้ที่จะรับฟังและตระหนักต่อเสียงส่วนน้อย และนำมาปฏิบัติให้เป็นฉันทามติของทุกคน  เพราะฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่คนไทยต้องเรียนรู้ประชาธิปไตยจากการปกครองตนเอง

 

 

 

 

บล็อกของ ศยามล ไกยูรวงศ์

ศยามล ไกยูรวงศ์
ศยามล  ไกยูรวงศ์
ศยามล ไกยูรวงศ์
การเดินหน้าเลือกตั้งของรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้ปรากฏว่ามีจำนวนกี่เสียงของคนไทยที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง  หากคนใดไม่ต้องการเลือกตั้งก็ไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากคนใดต้องการไปเลือกตั้ง ก็ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ด้วยการเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน จะได้รู้กันให้ชัดเจนว่าเสียงของคนไทยจำนวนกี่เสียงต้องการอย่างไร 
ศยามล ไกยูรวงศ์
การชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง และต้องการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  รวมทั้งการชุมนุมให้เรียกร้องแก้ไขปัญหาของหลายเครือข่ายในหลายประเด็นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา  โดยที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง   แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของคนไทยที่กล้าแสดงออก และกล้าตรวจสอบรัฐบาล  
ศยามล ไกยูรวงศ์
ศยามล ไกยูรวงศ์
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment/EIA) คือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นรายงานทางวิชาการที่มีความสำคัญยิ่ง ต่อการอนุมัติ/อนุญาตของหน่วยงานของรัฐและของรัฐบาล