Skip to main content


การชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง และต้องการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  รวมทั้งการชุมนุมให้เรียกร้องแก้ไขปัญหาของหลายเครือข่ายในหลายประเด็นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา  โดยที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง   แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของคนไทยที่กล้าแสดงออก และกล้าตรวจสอบรัฐบาล  

หากมองอีกมุมหนึ่ง การชุมนุมของ กปปส. แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมไทย   ที่คนไทยได้เรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตย  เพราะการชุมนุมได้เปลี่ยนวัฒนธรรมของคนไทยซึ่งเคยชินกับระบบการสั่งการ การใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยมรวมทั้งประชานิยมในการปกครองประเทศตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น 

วัฒนธรรมดังกล่าวจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตย เพราะได้แสดงถึงเจตจำนงของปวงชนชาวไทย แม้ว่าเป็นเสียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ     แต่หนึ่งเสียงของประชาชนคือที่มาแห่งอำนาจของการมีรัฐาธิปัตย์   การใช้สิทธิหนึ่งเสียงต้องนำไปสู่การสร้างกฎกติกาของประเทศที่ไม่ใช่มาจากพรรคการเมือง และชนชั้นนำของสังคมไทย  

ความขัดแย้งทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสดีที่คนไทยต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง  โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนของประชาชน     เนื่องจากความจริงได้ปรากฏอย่างชัดเจนว่าระบบพรรคการเมืองไทยยังเป็นระบบอุปถัมภ์ของกลุ่มทุน   สมาชิกของพรรคการเมืองอยู่กันแบบพึ่งพาและนำพามาสู่กระบวนการคอรัปชั่น   มากกว่าการมีเจตจำนงต่อการรับใช้ประชาชน  

ด้วยวัฒนธรรมของชุมชนในสังคมไทยในชนบทที่เป็นสังคมเกษตรกรรม และสังคมกึ่งเกษตรกรรมกึ่งเมือง ยังมีลักษณะของการดำรงอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่ยังต้องพึ่งพาอำนาจนิยม อันเนื่องมาจากสถานะทางสังคมที่ต้องพึ่งพาการอยู่รอดทางเศรษฐกิจ   นโยบายการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมที่ผ่านมาไม่เคยมีการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ นอกจากการค้ำจุนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อพยุงราคาตลาด   โดยไม่ได้สร้างความเป็นไทให้แก่เกษตรกร  เกษตรกรไทยในทุกภาคทั่วประเทศจึงต้องมีเส้นสายอุปถัมภ์ค้ำจุนในระดับหมู่บ้านจนถึงระดับชาติ

ระบบพรรคการเมืองในสังคมไทยที่กล่าวมาข้างต้นจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิงต่อการได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ  อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาวัฒนธรรมและจิตสำนึกดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขภายในเร็ววัน    เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปฏิรูปประเทศไทยอย่างเร่งด่วน  ด้วยการสร้างกฎกติกาให้คนไทยเป็นอิสระทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอย่างแท้จริง 

เมื่อรัฐบาลได้ประกาศยุบสภา และรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 108 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550) ได้มีข้อถกเถียงว่าการเลือกตั้งเป็นการแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย  เพื่อคืนสิทธิของปวงชนชาวไทย  แต่ในสภาวะที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งสูง  และมีคำถามมากมายต่อระบบพรรคการเมือง และการเลือกตั้งก็ยังเป็นปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น

ทางออกของประเทศจึงไม่ใช่ภารกิจของ กปปส. หรือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย  ดังนั้นในสภาวะที่กฎหมายไม่ได้เป็นทางออกของการจัดการปัญหาความขัดแย้งได้  และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันของประชาชนอย่างแท้จริง   การเลือกตั้งครั้งนี้จึงต้องไม่เป็นการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การบริหารประเทศ  แต่เป็นการเลือกผู้แทนของประชาชนเพื่อมาทำหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศไทยภายในระยะเวลาสองปี   ซึ่งต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่ผูกขาดทางเศรษฐกิจและการถือครองที่ดิน  กฎหมายที่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

พรรคการเมืองที่เสนอตัวเข้ามารับภารกิจนี้จึงต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและประกาศจุดยืนของการปฏิรูปประเทศ   พร้อมทั้งมีเนื้อหาของนโยบายในประเด็นการปฏิรูปอย่างชัดเจน   พรรคการเมืองที่เสนอตัวจึงต้องไม่ผูกขาดด้วยพรรคการเมืองใหญ่  เมื่อรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งทำหน้าที่ออกแบบกฎกติกาของการให้ทุกภาคส่วน (ไม่รวมพรรคการเมือง) มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยจนสำเร็จ ภารกิจของรัฐบาลชุดดังกล่าวก็ต้องจบสิ้นลงภายในสองปี และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

คณะกรรมการเลือกตั้งจึงจำเป็นต้องทำหน้าที่กำหนดกรอบของประชาสัมพันธ์นโยบายของพรรคการเมืองที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องนี้  และมีเป้าหมายที่ชัดเจนต่อการเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ  สภาพัฒนาการเมือง กปปส. หรือเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ ต้องให้ความสำคัญต่อการเฝ้าระวังตรวจสอบบทบาทของพรรคการเมืองในการทำหน้าที่ดังกล่าว  และศึกษานโยบายการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง   คุณูปการของ กปปส. และการชุมนุมของประชาชนแม้เพียง 5 ล้านคน หรือน้อยกว่านั้นก็เป็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่  ซึ่งทำให้คนไทยที่หลับใหลได้ตื่นตัวต่อสิทธิของตนเอง  นับเป็นผลงานชั้นยอดในการสร้างกระแสให้ใช้สิทธิในการปกครองระบอบประชาธิปไตย 

เพราะฉะนั้นการชุมนุมจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นเรื่องดีของการนำพาให้คนไทยขับเคลื่อนร่วมกัน ก้าวพ้นความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง  ก้าวข้ามความแตกต่างทางความคิดของเสื้อสี และที่สำคัญได้ใช้สิทธิในการตรวจสอบรัฐบาล อันเป็นหัวใจประชาธิปไตยที่แท้จริง

 

บล็อกของ ศยามล ไกยูรวงศ์

ศยามล ไกยูรวงศ์
ศยามล  ไกยูรวงศ์
ศยามล ไกยูรวงศ์
การเดินหน้าเลือกตั้งของรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้ปรากฏว่ามีจำนวนกี่เสียงของคนไทยที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง  หากคนใดไม่ต้องการเลือกตั้งก็ไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากคนใดต้องการไปเลือกตั้ง ก็ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ด้วยการเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน จะได้รู้กันให้ชัดเจนว่าเสียงของคนไทยจำนวนกี่เสียงต้องการอย่างไร 
ศยามล ไกยูรวงศ์
การชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง และต้องการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  รวมทั้งการชุมนุมให้เรียกร้องแก้ไขปัญหาของหลายเครือข่ายในหลายประเด็นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา  โดยที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง   แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของคนไทยที่กล้าแสดงออก และกล้าตรวจสอบรัฐบาล  
ศยามล ไกยูรวงศ์
ศยามล ไกยูรวงศ์
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment/EIA) คือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นรายงานทางวิชาการที่มีความสำคัญยิ่ง ต่อการอนุมัติ/อนุญาตของหน่วยงานของรัฐและของรัฐบาล