Skip to main content

ศยามล ไกยูรวงศ์

 

รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment/EIA) คือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นรายงานทางวิชาการที่มีความสำคัญยิ่ง ต่อการอนุมัติ/อนุญาตของหน่วยงานของรัฐและของรัฐบาล  เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่หน่วยงานของรัฐและรัฐบาลจะตัดสินใจในการพัฒนาโครงการใดโครงการหนึ่ง โดยปราศจากเหตุและผลที่มาจากการรวบรวมองค์ความรู้ และการศึกษาวิจัยในหลายสาขาแบบสหศาสตร์ ตลอดจนความเห็นของประชาชนในพื้นที่   ทั้งนี้เพราะการพัฒนาโครงการหนึ่งในวันนี้ อาจจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในวันข้างหน้าอีกหลายทศวรรษ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวกับการใช้สารเคมี เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ หรือการสร้างเขื่อนที่ต้องอพยพผู้คน สัตว์ป่า และทำลายป่า เป็นต้น

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๓๕ (กฎหมายสิ่งแวดล้อม)  ได้กำหนดขั้นตอนตามกฎหมายในการพิจารณารายงาน EIA และกำหนดมาตรการติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหา  โดยสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแล ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดประเภทโครงการ ๓๕ ประเภท ที่ต้องจัดทำรายงาน EIA  โดย คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบโครงการก่อนส่งให้หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตโครงการ  แต่สำหรับรายงาน EIA ประเภทโครงการรุนแรงจำนวน ๑๑ ประเภท  (หรือเรียกกันว่ารายงาน EHIA (Environmental and Health Impact Assessment) เมื่อผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบโดย คชก. แล้ว ต้องส่งมาที่ คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ให้ความเห็นก่อนการดำเนินการโครงการภายใน ๖๐ วันนับแต่ได้รับรายงาน จาก สผ. หลังจากนั้นจึงส่งไปที่หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตต่อไป ซึ่งเป็นไปเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรค ๒ ที่รับรองสิทธิชุมชน

ขั้นตอนการพิจารณารายงาน EIA ตามแผนภูมิข้างล่างนี้

ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ที่ผ่านมากระบวนการจัดทำรายงานและการพิจารณาอนุมัติ/อนุญาตโครงการ  อยู่ในกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา บริษัทที่ปรึกษา หน่วยงานของรัฐ และสถาบันวิชาการ  ด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถึงแม้ว่า รายงาน EIA จะมีข้อบกพร่องอย่างไรก็ตาม  รายงานทุกฉบับก็ได้รับความเห็นชอบจาก คชก.   ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐก็สามารถอนุมัติโครงการได้ โดยขาดความโปร่งใสและมีกระบวนการคอรัปชั่น    อันมีหลายปัจจัยดังนี้

 

ช่องว่างของกฎหมาย

๑) กฎหมายสิ่งแวดล้อมได้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ และปรับปรุงแก้ไขปี พ.ศ.๒๕๓๕ ในช่วงหัว

เลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาประเทศจากประเทศเกษตรกรรมให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม และด้วยแรงกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศ และกระแสการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกระบวนการจัดทำรายงาน EIA และการพิจารณาเห็นชอบให้เป็นไปตามหลักสากล  แต่การปรับปรุงกฎหมายมีลักษณะการตัดตอนของขั้นตอนในโมเดลของกฎหมายสิ่งแวดล้อมแบบสหรัฐอเมริกา   จึงไม่แปลกใจว่าบทบาทของ สผ. จึงไม่เหมือน EPA (Environmental Protection Agency) ในอเมริกา และยังถูกแทรกแซงทางการเมือง  นอกจากนี้ไม่มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ในด้านการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่  การพิจารณาโครงการของเอกชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และลัดขั้นตอน เป็นต้น 

๒) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ได้กำหนดประเภทโครงการ ๒๒

ประเภท และเพิ่มเติมในปี ๒๕๕๕ เป็นจำนวน ๓๕ ประเภทโครงการ เพื่อเป็นกรอบในการจัดทำรายงาน EIA แต่ปรากฏว่า มีการลดขนาดของพื้นที่ หรือ ลดกำลังการผลิตของโครงการ ที่ไม่ต้องอยู่ในเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำรายงาน EIA  เนื่องจากกระบวนการพิจารณารายงานใช้ระยะเวลายาวนานในการอนุมัติ/อนุญาตโครงการมากกว่าโครงการที่ดำเนินการเฉพาะจัดทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้ หรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น 

๓) การกำหนดมาตรฐาน คุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ครอบคลุมกับปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจาก

กระบวนการผลิตของโครงการ ดังเช่น  ประเภทโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการเผาทิ้ง (Flare) ทำให้โครงการต่างๆขาดการประเมินมลสารดังกล่าวจากการเผากำจัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่เป็นมลสารหลักของโครงการฯ ซึ่งส่งไปเผาในระบบเผากำจัด (Flare) โดยทั่วไปการเผาไหม้สารอินทรีย์ระเหยง่ายทำให้เกิดก๊าซออกไซด์ของซัลเฟอร์ (SOx) ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง  กรณีประเภทโครงการเหมืองแร่ ไม่มีกฎหมายควบคุมเกิดดินตะกอน จากการทำเหมืองแร่  ที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก เช่น แคดเมี่ยม เป็นต้น

๔) การกำหนดกรอบการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment/HIA) ได้ถูกผนวก

เข้ามาอยู่ในกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสุขภาพ  เพื่อเป็นแนวทางให้บริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงาน   และมีการพิจารณารายงาน EIA โดย คชก. ซึ่งมีเลขาธิการ สผ. เป็นประธาน  ด้วยเหตุนี้สถานะของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐  จึงมีความสำคัญน้อย หากการพิจารณารายงานไม่มีผู้เชี่ยวชาญในด้าน HIA และ คชก. ทั้งชุดยังไม่ให้ความสำคัญในการพิจารณาผลกระทบของโครงการอย่างรอบด้านตามเจตนารมณ์ของ HIA 

 

การจัดทำรายงาน EIA ของบริษัทที่ปรึกษา และสถาบันวิชาการ

๑) เนื่องจากเจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและสถาบันวิชาการ  ทำให้การจัดทำรายงาน

EIA ต้องเป็นไปตามที่เจ้าของโครงการต้องการ ซึ่งยังขาดการจัดทำรายงานที่อยู่บนฐานความรู้ทางวิชาการ และไม่ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังเช่น การประเมินผลกระทบที่ไม่ครอบคลุมมลสารทุกชนิดที่มาจากกระบวนการผลิตของโครงการ  โดยเฉพาะผลกระทบต่อมลพิษทางอากาศที่ไม่มีกฎหมายควบคุม  มีการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และมีการสรุปการประเมินผลกระทบแบบรวบรัดไม่เชื่อมโยงกับข้อมูลที่นำเสนอ  ประเด็นสำคัญคือกรอบการพิจารณาของ คชก. เน้นการพิจารณาเป็นรายโครงการ ทำให้รายงาน EIA ไม่สามารถนำไปสู่การพิจารณาต่อการแก้ไขปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบแบบสะสมมาอย่างต่อเนื่อง

๒) การกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของ

ประชาชน ที่ผ่านมากำหนดไว้ในรัศมี ๕ กิโลเมตร รอบบริเวณที่ตั้งของโครงการ จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตลอดมา ประชาชนในพื้นที่มีคำถามว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไปไกลกว่ารัศมี ๕ กิโลเมตร ใครจะรับผิดชอบ  โดยที่ผู้รับจ้างทำรายงานได้แต่บอกว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่ง สผ. ก็ไม่ได้กำหนดกฎระเบียบเกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่ในรัศมี ๕ กิโลเมตร  ด้วยเหตุนี้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในรายงาน EIA จึงจำกัดขอบเขตผลกระทบแค่รัศมี ๕ กิโลเมตรเท่านั้นของทุกโครงการ

๓) รายงาน EIA มีจำนวนหน้าที่หนามาก อย่างน้อย 2 เล่มขึ้นไป  ในสมัยก่อนประชาชนเข้าไม่

ถึงข้อมูลของรายงาน EIA เพราะจัดทำเป็นฉบับภาษาอังกฤษ  ถึงแม้ว่าในปัจจุบันรายงานเป็นฉบับภาษาไทย แต่ก็เป็นรายงานทางวิชาการที่ประชาชนทั่วไปอ่านเข้าใจยาก ยิ่งไปกว่านั้นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ก็เป็นการจัดเวทีตามขั้นตอนให้ครบชั่วโมงอย่างน้อย ๓ ชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด  แต่ไม่ได้สร้างปัญญาให้แก่ผู้ฟังได้เข้าใจสารเคมีที่เกิดขึ้น ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีอย่างไร  อีกทั้งประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายในการเข้าร่วมรับฟังเวที เพราะให้ความเห็นอย่างไร โครงการก็ดำเนินการได้และไม่มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะ  

๔) ในกรณีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีจำนวนโครงการมากมายตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมฯ  แหล่งที่มาของการปล่อยมลพิษสิ่งแวดล้อมมาจากหลายโครงการ  โดยที่ประชาชนในพื้นที่แยกออกได้ยากว่ามาจากโครงการใด  ในขณะที่ในรายงาน EIA แสดงตัวเลขให้เห็นว่ามีการปล่อยมลพิษที่ได้ต่ำกว่าค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อม  โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ และส่งผลให้การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพมีค่าต่ำลงไปเช่นกัน เนื่องจากปัจจัยนำเข้าข้อมูลมีอัตราต่ำอยู่แล้ว   คชก. จึงให้ความเห็นชอบผ่านภายใต้กรอบการพิจารณารายโครงการ  โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหาจริง เพราะทุกโครงการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย    ประชาชนในพื้นที่จึงมีคำถามว่าใครรับผิดชอบ  ผู้ประกอบการโครงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการทำงานมวลชนสัมพันธ์ CSR แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ  ดังนั้นหน่วยงานของรัฐที่อนุมัติใบอนุญาตและนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน และนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงต้องรับผิดชอบในผลกระทบของพื้นที่อุตสาหกรรมโดยภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

 

ข้อจำกัดของโครงสร้างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)

๑) สผ. ไม่เป็นอิสระถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดย เลขาธิการ สผ. เป็นประธาน คชก. มีหลาย

โครงการที่รัฐบาลต้องการเดินหน้าโครงการ จึงมีการถอดผู้ชำนาญการใน คชก. ออก ถ้าหากมีความเห็นที่แตกต่างและไม่เห็นด้วยกับโครงการ  ดังเป็นที่ถกเถียงกันในกรณี โครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นต้น

๒) ผู้ชำนาญการ ใน คชก. พิจารณาแต่ละประเด็นแบบแยกส่วน ตามความรู้และความเห็นของตนเอง

โดยให้ความเห็น ไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับพิจารณาภาพรวมของโครงการว่ามีความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการหรือไม่อย่างไร    เนื่องจากองค์ประกอบของ คชก. มาจากหลายสาขาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ละคนจึงทำหน้าที่เฉพาะด้านในการพิจารณา

๓) คชก.  มีข้อจำกัดในด้านเวลาของการให้ความเห็นโครงการ  ข้อจำกัดค่าตอบแทนในอัตราที่ต่ำ

สำหรับการพิจารณาให้ความเห็นโครงการ และข้อจำกัดในการไม่ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาโครงการ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการ

 

ขาดการติดตามตรวจสอบภายหลังการดำเนินการ

๑) รายงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน   ที่ตรวจสอบการดำเนินงาน การติดตามการปฏิบัติตาม

มาตรการในรายงาน EIA ของ สผ.  ได้แสดงให้เห็นว่า สผ. ได้รับรายงานติดตามตรวจสอบการดำเนินการโครงการ ที่เรียกว่า “EIA Monitoring”  ต่ำกว่าจำนวนโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก คชก. เป็นจานวนมาก กล่าวคือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๕๔  มีจำนวนโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก. จำนวนทั้งสิ้น ๓,๙๔๐ โครงการ แต่ สผ. ได้รับรายงานเข้ามาต่ำสุด จำนวน ๙๑๑โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๓.๑๒ และสูงสุดจำนวน ๑,๑๔๙ โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๙.๑๖ ของจำนวนรายงานที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.  หรือในทางกลับกัน มีจำนวนรายงานที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก. ที่ไม่จัดส่งรายงาน EIA Monitoring ให้กับ สผ. จำนวน ๒,๗๙๑ – ๓,๐๒๙ โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ ๗๐.๘๔ – ๗๖.๘๘ โดยทุกกลุ่มโครงการจัดส่งรายงาน EIA Monitoring ให้กับ สผ. ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะกลุ่มโครงการประเภทอุตสาหกรรมซึ่งมีความเสี่ยงสูงด้านสิ่งแวดล้อม และเมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อประชาชนในวงกว้างดังปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา

จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานอนุญาต จำนวน ๒๕ แห่ง พบว่า หน่วยงานอนุญาตส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ ๗๒ ไม่ได้จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่ต้องจัดส่งรายงาน EIA Monitoring และไม่เคยมีการควบคุมติดตามให้โครงการจัดส่งรายงานเพื่อให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาแต่อย่างใด โดยเฉพาะกลุ่มโครงการประเภทบริการชุมชนและที่พักอาศัย

นอกจากนี้หน่วยงานซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการติดตามการปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA ไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนและต่อเนื่องที่จะใช้เป็นเครื่องมือสาหรับการวางแผนในการบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่การป้องกัน แก้ไข หรือลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของแต่ละโครงการและในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดารงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมาการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังขาดข้อมูลภาพรวมผลการปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA ของโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจาก คชก. ทั้งหมด ซึ่งทำให้ประชาชนไม่เกิดความเชื่อมั่นต่อโครงการต่าง ๆ ที่ดาเนินการได้

๒) ถ้าเป็นเขตควบคุมมลพิษ เขตนิคมอุตสาหกรรม หรือสถานประกอบการภายในโรงงาน ประชาชน

ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการโครงการว่ามีการปฏิบัติตามจริงที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA หรือตามความเห็นของ คชก. ก่อนมีมติเห็นชอบ และก่อนการดำเนินการโครงการจริงหรือไม่  จึงทำให้มีคำถามว่าในประเด็นที่เจ้าของโครงการสัญญาว่าจะดำเนินการ ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ เพราะ สผ. ก็มีข้อจำกัดในการติดตามตรวจสอบอย่างจริงจัง 

ภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนมักมีคำถามเสมอว่า ทำไมเอ็นจีโอต้องคัดค้านถ่วงความเจริญตลอดเวลา เหตุผลของการคัดค้านโครงการเพราะว่าระบบการพิจารณารายงาน EIA และการอนุมัติ/อนุญาตโครงการมีปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ในวันนี้ประชาชนในพื้นที่ก็คัดค้านการดำเนินการโครงการ ด้วยความไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อมั่นตามที่ภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนได้สัญญาว่าจะมีการป้องกันและแก้ไขปัญหา  ว่าจะมีเพียงโครงการเดียวไม่เกิดขึ้นอีกหลายโครงการ  แต่ในความจริง ภาครัฐละเลยปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา  การไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นของภาคธุรกิจเอกชน  การไม่พูดความจริง และใช้อิทธิพลของเงินทำงานมวลชน การสร้างความแตกแยกให้ชุมชนแบ่งเป็นฝ่ายคัดค้านโครงการ และฝ่ายเห็นด้วยกับโครงการ   ทำให้ประชาชนสรุปบทเรียนและไม่ไว้ใจภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนอีกต่อไป   จนถึงขั้นปฏิเสธรายงาน  EIA และการดำเนินการโครงการ

สำหรับโครงการที่ยังไม่เกิดขึ้นและการพัฒนาในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม  นอกจากความไม่ไว้ใจแล้วประชาชนมีคำถามต่อการพัฒนาประเทศที่ไม่ตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการไม่พิจารณาอย่างรอบคอบของการสูญเสียพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติอันสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  เช่น กรณีเขื่อนแม่วงก์ กรณีโรงไฟฟ้าถ่าน กรณีโครงการเหมืองแร่ทองคำ 

การพัฒนาประเทศไทยเพื่อให้ก้าวทันต่อการเป็นประเทศชั้นนำในระดับอาเซียน จึงเป็นไปได้อย่างเชื่องช้า และอีกยาวนาน ถ้าหากภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนยังคงมีแนวคิดและพฤติกรรมของการไม่จริงใจ และดูถูกความรู้ของประชาชน  และไม่แก้ไขปัญหาที่เป็นการปฏิรูประบบการพิจารณารายงาน EIA กระบวนการตัดสินใจต่อการอนุมัติ/อนุญาตโครงการที่มาจากฐานองค์ความรู้ทางวิชาการแบบสหศาสตร์ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีกระบวนการพิจารณาที่โปร่งใส  

---------------------------------

บล็อกของ ศยามล ไกยูรวงศ์

ศยามล ไกยูรวงศ์
ศยามล  ไกยูรวงศ์
ศยามล ไกยูรวงศ์
การเดินหน้าเลือกตั้งของรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้ปรากฏว่ามีจำนวนกี่เสียงของคนไทยที่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง  หากคนใดไม่ต้องการเลือกตั้งก็ไม่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากคนใดต้องการไปเลือกตั้ง ก็ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  ด้วยการเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน จะได้รู้กันให้ชัดเจนว่าเสียงของคนไทยจำนวนกี่เสียงต้องการอย่างไร 
ศยามล ไกยูรวงศ์
การชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่าง และต้องการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  รวมทั้งการชุมนุมให้เรียกร้องแก้ไขปัญหาของหลายเครือข่ายในหลายประเด็นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา  โดยที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง   แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะของคนไทยที่กล้าแสดงออก และกล้าตรวจสอบรัฐบาล  
ศยามล ไกยูรวงศ์
ศยามล ไกยูรวงศ์
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment/EIA) คือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นรายงานทางวิชาการที่มีความสำคัญยิ่ง ต่อการอนุมัติ/อนุญาตของหน่วยงานของรัฐและของรัฐบาล