ศยามล ไกยูรวงศ์
โครงการก่อสร้างที่เก็บกากแร่
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๕ มติ ๖ เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างและระบบการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Impact Assessment/EIA, Environmental and Health Impact Assessment/EHIA)” ไม่ได้มีการนำเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีในการออกมติ ครม. เพื่อเห็นชอบตามมติดังกล่าว (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2555 มติ 6)
ทั้งที่เป็นช่องทางหนึ่งที่จะผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญต่อการปฏิรูปการพิจารณา EIA/EHIA โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลมีแผนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่มากมาย แต่โครงสร้างและระบบการพิจารณารายงานทางวิชาการในการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีกลไกที่ตรวจสอบขาดประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมตรวจจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ดังที่กล่าวไว้ในบทความ เรื่อง “ทำไมคนไทยไม่เอา EIA”
รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ผู้เขียนจึงต้องการที่จะเผยแพร่ข้อเสนอจากมมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติดังกล่าว ตอกย้ำให้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องเร่งผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จะนำมาซึ่งความสูญเสีย ความขัดแย้ง และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคนรุ่นหลังอีกหลายรุ่นจะไม่ได้เห็นอีกต่อไป
ผู้เขียนได้สรุปข้อเสนอของมติบางประเด็น ที่ผู้เขียนเห็นด้วยและเพิ่มเติมข้อเสนอ โดยแสดงความเห็นของผู้เขียนต่อเหตุผลดังกล่าว ไว้ดังนี้
ข้อเสนอ | ความเห็น |
๑. ด้านหลักการและระบบ EIA/EHIA ๑.๑) กำหนดให้มีการจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment :SEA) โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนให้ความเห็นชอบนโยบายและแผนด้านการพัฒนา และมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ (กฎหมายสิ่งแวดล้อม) โดยเพิ่มเติมเรื่องการจัดทำรายงาน SEA และความเชื่อมโยงระหว่างการทำ SEA กับ EIA/EHIA | ปัจจุบันกฎหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ไม่ได้กำหนดมาตรการในการจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) จึงก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินการโครงการมีความไม่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และความคุ้มทุนกับต้นทุนของสังคมไทย เนื่องจาก๑)ไม่มีการใช้มาตรการของผังเมืองและการวางแผนการใช้ประโยชน์และการพัฒนาที่ดิน ๒)ไม่มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่สอดคล้องกับศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ของสังคมไทย และ ๓) ไม่มีการประเมินผลกระทบของต้นทุนด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ถึงความคุ้มทุนในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และ ๔) ไม่มีการประเมินผลกระทบ SEA ที่อยู่บนหลักการของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” |
๑.๒) มีการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับ(Carrying Capacity) ของพื้นที่ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและในรายงานต้องมีการประเมินว่าหากมีโครงการหรือกิจกรรมเพิ่มเข้าไปในพื้นที่จะส่งผลต่อศักยภาพในการรองรับของพื้นที่อย่างไร ดังนั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ควรมีกระบวนการพิจารณาโครงการที่เป็นประเภทเดียวกันหรืออยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้กันในลักษณะการพิจารณาเชิงระบบ/พื้นที่ (ไม่แยกเป็นแต่ละโครงการ) โดยคำนึงถึงศักยภาพในการรองรับเชิงพื้นที่ | ข้อเสนอนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในกรณีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่อุตสาหกรรม ที่มีโรงงานจำนวนมากตั้งอยู่ และแต่ละโรงงานหรือกิจกรรมต่างๆมีการปล่อยมลพิษสิ่งแวดล้อมโดยที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมายทั้งสิ้น แต่ความจริงคือประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยภาพรวม แต่ไม่มีเจ้าของโครงการใดๆรับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน คชก. ก็เห็นชอบแต่ละโครงการ เนื่องจากเมื่อพิจารณาแต่ละโครงการการปล่อยมลพิษเป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมาย เช่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หากหน่วยงานของรัฐและนิคมอุตสาหกรรมไม่เร่งดำเนินการ ปัญหานี้จะไม่ได้รับการแก้ไข และทำให้ประชาชนไม่อยากให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป |
๑.๓) หากผลการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านสุขภาพบ่งชี้ว่ามีความรุนแรงสูงและไม่อาจมีมาตรการลดผลกระทบได้อย่างเหมาะสมและสามารถปฏิบัติได้จริง ให้สามารถใช้รายงาน EIA/EHIA เป็นเหตุผลในการตัดสินใจระงับโครงการได้ ทั้งกรณีโครงการภาครัฐและโครงการภาคเอกชน | หากมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติทุกด้านแล้วนั้น การพิจารณาตัดสินใจอนุมัติโครงการ อยู่บนหลักการทางวิชาการอย่างมีเหตุมีผล และผู้มีส่วนได้เสีย มีส่วนร่วมในกระบวนการาจัดทำรายงาน รายงานของ EIA/EHIA จะมีความน่าเชื่อถือ เป็นเหตุผลสำคัญของการอนุมัติ/อนุญาตโครงการ หรือไม่เห็นชอบต่อการดำเนินการโครงการ |
๑.๔) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรใช้รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นข้อมูลหลักสำคัญในกระบวนการพิจารณาอนุมัติหรืออนุญาตการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA/EHIA | อปท. ซึ่งได้รับการถ่ายโอนอำนาจและงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ตำบล แต่กลับมีข้อจำกัดในการมีบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปัจจุบันนี้ อปท. ใช้บุคลากรจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่เพียงพอ การมีอัตราบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะเป็นกำลังสำคัญของการใช้รายงาน EIA/EHIA ในการตัดสินใจเบื้องต้นต่อการเห็นชอบในเบื้องต้นของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตำบล ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นหน่วยงานที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อมีส่วนร่วมตัดสินใจในการพัฒนาโครงการในตำบล |
๑.๕) กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน · ในกรณีที่เป็นโครงการประเภทเดียวกันและอยู่ใน บริเวณพื้นที่ใกล้กัน ควรกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยวิธีการจัดร่วมกันหลายโครงการ โดยมีกลไกการพิจารณากลั่นกรองและอนุญาตให้ดำเนินการโดยให้ชุมชนในพื้นที่เป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อลดภาระของภาคประชาชนที่ต้องเข้าร่วมเวทีการมีส่วนร่วม · ควรปรับปรุงกฎกติกาที่เกี่ยวข้องกับการรับฟัง ความเห็นและการมีส่วนร่วมของภาครัฐ/เอกชน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Output) ของการมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพ โดยไม่เป็นกฎเกณฑ์ที่แข็งตัวเกินไป โดยยึดถือการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๕๖ ๕๗ ๕๘ ๕๙ และมาตรา ๖๖ และ ๖๗ | หลักเกณฑ์ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดให้บริษัทที่ปรึกษา จัดเวทีรับฟังความเห็นอย่างน้อย ๓ ครั้ง ครั้งละ ๓ ชั่วโมง โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามเงื่อนไขที่กำหนดของแต่ละโครงการ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาก็ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่เนื่องจากประชาชนไม่เชื่อถือบริษัทที่ปรึกษา แม้ว่าบริษัทที่ปรึกษาจะให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน หรือ กระบวนการจัดเวทีไม่ได้สร้างปัญญาให้รับรู้และเข้าใจผลกระทบอย่างรอบด้าน อีกทั้งมีการจัดเวทีในหลายครั้งหลายโครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายไม่ต้องการมาเข้าเวทีอย่างตั้งใจ ถ้ามีการจัดกระบวนการที่ดี และผนวกหลายโครงการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของโครงการและร่วมตัดสินใจได้ |
๑.๖) ควรเสริมสร้างขีดความสามารถชุมชน (Capacity Building) ต่อสิทธิขั้นพื้นฐานทั้ง ในกระบวนการการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงข้อมูลของโครงการตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำรายงานจนถึงขั้นพิจารณาเห็นชอบรายงาน โดยการสนับสนุนงบประมาณ ในกรณีที่ชุมชนต้องการที่ปรึกษาทางวิชาการของชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการช่วยเหลือทางด้านวิชาการแก่ชุมชน และเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนต่างๆของกระบวนการศึกษา | มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนต้องการที่ปรึกษาในการอ่านรายงาน EIA/EHIA เนื่องจาก รายงานมีจำนวน ๒-๓ เล่ม และข้อมูลที่เป็นตัวเลขและเป็นวิชาการ ซึ่งมีความยากในการอ่านและเข้าใจสำหรับประชาชนในพื้นที่ ถึงแม้จะมีกฎกติกากำหนดให้จัดวางรายงาน ณ ที่ทำการ อปท. กลับพบว่าบุคลากรใน อปท. และประชาชนในพื้นที่ มีจำนวนน้อยมากที่จะอ่านรายงาน ดังกล่าว |
๒. ด้านการจัดทำรายงาน ๒.๑) ควรจัดตั้ง “กองทุนการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” โดยให้เจ้าของโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA/EHIA เป็นผู้ส่งเงินเข้ากองทุนตามระเบียบ หลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น และให้มีหน่วยงานเฉพาะที่มีการบริหารงานโดยอิสระเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนทำหน้าที่คัดเลือกและจัดจ้างผู้จัดทำรายงาน EIA/EHIA ที่เหมาะสมกับแต่ละโครงการ และมีภารกิจโดยใช้งบประมาณจากกองทุนดังกล่าว ดังนี้ ๑) สนับสนุนกระบวนการทำงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ๒) สร้างเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ ๓) สนับสนุนกระบวนการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการลดกระทบตามที่ระบุอยู่ในรายงาน EIA/ EHIA | ปัจจุบันนี้เจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา หรือสถาบันวิชาการในการจัดทำรายงาน EIA /EHIA ซึ่งทำให้บริษัทและสถาบันวิชาการไม่เป็นอิสระในการจัดทำรายงานวิชาการอย่างตรงไปตรงมา และเสนอข้อมูลความเป็นจริง และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าของโครงการต้องการทำให้รายงานผ่านความเห็นชอบจาก คชก. และเป็นไปตามกรอบของกฎหมายเท่านั้น โดยไม่ได้ทำให้รายงานดังกล่าวเป็นรายงานวิชาการที่ทำให้ผู้ตัดสินทางนโยบายใช้ประกอบการตัดสินใจต่อการอนุมัติ/อนุญาตโครงการ นอกจากนี้การมีงบประมาณสนับสนุนให้ คชก. พิจารณารายงานอย่างเป็นอิสระ ก็มีความสำคัญที่จะไม่ถูกแทรกแซงจากนักการเมือง และรัฐบาล และมีงบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ |
๒.๒) ควรกำหนดระยะเวลา ๒-๓ ปี ของรายงาน EIA/EHIA ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละประเภทโครงการ ในการนำรายงาน EIA/EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบไปใช้ประโยชน์ในการขออนุมัติอนุญาตโครงการ ในกรณีที่เจ้าของโครงการต้องการยกเลิกโครงการ ให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และให้มีผลเป็นการยกเลิกรายงาน EIA/EHIA ของโครงการนั้นด้วย | ที่ผ่านมารายงาน EIA/EHIA ไม่มีอายุของรายงาน เจ้าของโครงการสามารถหยิบยกรายงานนำมาใช้ในการยื่นต่อ คชก. เพื่อพิจารณาประกอบการขออนุญาตโครงการ โดยที่ข้อมูลและสถานการณ์เปลี่ยนไป ไม่ทันสมัยในช่วงเวลาปัจจุบัน การพิจารณาของ คชก. คือให้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมข้อมูล และในที่สุดก็ผ่านความเห็นชอบโครงการ ซึ่งทำให้การอนุมัติ/อนุญาตโครงการไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่สอดคล้องกับความเป็นจริง |
๒.๓) แนวทางการแก้ไขปัญหาการหลีกเลี่ยงไม่จัดทำรายงาน EIA/EHIA ตามระบบบัญชีรายการโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงาน (๑) มีระบบการร้องเรียนทั้งกรณีเจ้าของโครงการต้องการหลบเลี่ยง หรือมีโครงการประเภทใหม่ที่อาจมีผลกระทบสูงแต่ไม่อยู่ในบัญชีรายการที่ประกาศไว้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสามารถสั่ง ให้ทำรายงาน EIA/EHIA เพิ่มเติมได้ (๒) มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาการปรับปรุงบัญชีรายการโครงการที่แน่นอน เช่น การปรับปรุงทุก ๔ ปี และเปิดช่องทางให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนส่งข้อเสนอในการปรับปรุงด้วย (๓) ปรับปรุงเงื่อนไข (ขนาด พื้นที่ กำลังการผลิต ฯลฯ) ที่กำหนดไว้สำหรับประเภทโครงการต่างๆ ให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยป้องกันการหลบเลี่ยง และเพื่อให้เหมาะสมหรือสอดคล้องกับความรุนแรงของผลกระทบ (๔) ให้หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาต เพิ่มเติมข้อกำหนดในการดำเนินงานเพื่อเป็นแนวทางลดผลกระทบสำหรับโครงการหรือกิจการที่อยู่ในบัญชีรายการที่ต้องทำ EIA/EHIA แต่มีคุณลักษณะไม่ตรงตามที่ประกาศกำหนดไว้ เช่น การจัดทำการประเมินผลทางด้านความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม (Environmental Safety Assessment), การจัดทำการประเมินผลกระทบด้านกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment), การจัดทำการประเมินผลกระทบด้านความขัดแย้ง (Conflict Impact Assessment) เป็นต้น | กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีการทบทวนปรับปรุงบัญชีรายการโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประเภทใดเมื่อมีการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีการปรับปรุงบัญชีดังกล่าว ทำให้มีโครงการที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อ ไม่ได้มีการจัดทำรายงาน EIA/EHIA การกำหนดระยะเวลาให้มีการปรับปรุงบัญชีทุก ๔ ปี โดยมีกลไกต่างๆที่เปิดให้ทุกภาคส่วนปรับปรุงได้ และพิจารณาจากผลกระทบทุกด้านที่เกิดขึ้นจริง จึงสอดคล้องกับสถานการณ์การพัฒนาของประเทศ |
๓. ด้านการพิจารณารายงาน ๓.๑) ควรปรับปรุงกระบวนการทำงานของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ให้เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะและมีความโปร่งใสมากขึ้น เช่น การตรวจสอบข้อมูลที่เป็นเท็จ การเข้าไปศึกษาสภาพพื้นที่โครงการ ทั้ง ที่มีความขัดแย้งและไม่มีความขัดแย้ง การจัดทำระบบขึ้นทะเบียนผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นกรรมการ คชก. ฯลฯ และในขณะเดียวกันควรเปิดให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของ คชก. มากยิ่งขึ้น โดยนำการนำข้อมูลที่จัดทำโดยชุมชนเข้าสู่กระบวนการพิจารณา EIA/EHIA และเปิดเผยรายงานความเห็นของ คชก.ให้สาธารณชนรับทราบ | หากกระบวนการพิจารณาโครงการของ คชก. มีความโปร่งใส ประชาชนในพื้นที่ และสาธารณชนร่วมให้ความเห็น ตรวจสอบได้ การให้ความเห็นของ คชก. จะมีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ตลอดจนทำให้รายงาน EIA/รายงาน EHIA เป็นรายงานที่มีคุณค่าและมีความตัดสินใจต่อการอนุมัติ/อนุญาตโครงการ
|
๓.๒) ให้ปรับปรุงโครงสร้างของ คชก. โดยครอบคลุมภาคส่วนวิชาการ รัฐ เอกชน และชุมชน ที่ได้รับผลกระทบ โดยคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสม ทั้งนี้ ให้พิจารณาเลือกสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านสุขภาพเพื่อเข้าไปเป็นองค์คณะในการอ่าน และพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพร่วมด้วย | องค์ประกอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญมีความสำคัญต่อการทำให้ การพิจารณารายงาน EIA/EHIA ครอบคลุมในทุกประเด็น รวมทั้งประเด็นสุขภาพ ที่มีเสียงสะท้อนจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นข้อมูลนำเข้าในการพิจารณาตัดสินใจอย่างรอบด้าน |
๓.๓) ให้นำผังเมืองที่ประกาศใช้ และร่างผังเมืองที่ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นตามกฎหมายและคณะกรรมการผังเมืองได้ให้ความเห็นชอบ แต่อยู่ระหว่างดำเนินการรอการออกประกาศบังคับ มาพิจารณาประกอบการให้ความเห็นต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในทุกขั้นตอน | ในรายงาน EIA/EHIA มีระบุพื้นที่ผังเมืองไว้ แต่การให้ความสำคัญต่อการนำพิจารณาประกอบการให้ความเห็น ว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดิน และสอดคล้องกับผังเมืองที่ประกาศแล้ว หรือยังไม่ได้ประกาศ ยังมีความสำคัญน้อย ทั้งนี้ต้องมีการรับฟังข้อมูลจากนักผังเมืองเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ |
๔. ด้านการตรวจสอบติดตามและประเมินผล ๔.๑) ปรับปรุงวิธีการระบุเงื่อนไขท้ายใบอนุมัติ/อนุญาต รวมทั้งระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางต่างๆ ดังนี้ · ปรับปรุงกฎหมายให้หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาต มี อำนาจในการนำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามรายงาน EIA/EHIA ที่ผ่านความเห็นชอบไปกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมของคำสั่งอนุมัติ/อนุญาตโครงการได้ และหากไม่มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และได้มีการตักเตือน / ภาคทัณฑ์แล้ว ให้หน่วยงานอนุญาตใช้เป็นเหตุผลพิจารณาระงับการต่อใบอนุญาตหรือยกเลิกการอนุญาตได้ · ให้เจ้าของโครงการขนาดใหญ่ (เช่น โรงงาน อุตสาหกรรม สนามบิน เขื่อน เหมืองแร่ ฯลฯ) จัดเวทีนำเสนอผลการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุก ๖ เดือน เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาคประชาชน หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาต หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทั่วไป และจากสถาบันในพื้นที่ มาร่วมรับทราบข้อมูลผลการปฏิบัติ และร่วมเสนอข้อคิดเห็นต่อการ ดำเนินงาน รวมทั้ง สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากผู้ที่เกี่ยวข้อง · ในกรณีที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และมีความขัดแย้ง สูงควรมีการตั้งคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนและมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม · การสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้ภาคประชาชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติตามแผนและมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะเวลาระหว่างและหลังดำเนินโครงการ | แม้ว่าในรายงาน EIA/EHIA จะระบุมาตรการติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหา ภายกลังการดำเนินการโครงการ แต่ก็พบว่ายังมีโครงการจำนวนมากที่ไม่รายงานติดตามผล หรือรายงาน Monitoring ไปยังหน่วยงานอนุมัติ/อนุญาต และประชาชนไม่ได้รับรู้ในข้อมูลใดๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการต่างๆที่ระบุไว้และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ในทางทางปฏิบัติแล้ว เสมือนเป็นเสือกระดาษ ไม่มีผลใดๆต่อการที่โครงการใดก็ตามไม่ปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นการปรับปรุงกฎหมายในการควบคุมอย่างจริงจังจึงมีความสำคัญต่อการสร้างเชื่อมั่นในการดำเนินการโครงการในระยะยาว |
๔.๒ การกระจายอำนาจและหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม โดยควรดำเนินการไปพร้อมกับการกระจายอำนาจด้านการเก็บภาษีจากโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA/EHIA ไปให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ อปท. มีงบประมาณดำเนินการที่เพียงพอและเป็นมาตรการจูงใจต่อการดำเนินงาน (เป็นการมอบหน้าที่พร้อมกับมอบทรัพยากรในการปฏิบัติงาน) | อปท. มีภาระในการพัฒนาพื้นที่ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเผชิญกับความขัดแย้งในพื้นที่ แต่ยังขาดงบประมาณและบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในด้านดังกล่าว การมีงบประมาณจากภาษีสิ่งแวดล้อมและจากโครงการพัฒนาต่างๆในพื้นที่ตำบล โดยมีเงื่อนไขในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตลอดจนติดตามตรวจสอบโครงการพัฒนาโดยตรง จะทำให้มีการกระจายอำนาจด้านบริหารจัดการทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง |
ข้อเสนอต่อการปฏิรูปกระบวนการพิจารณารายงาน EIA /EHIA มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนมาตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นที่มาของข้อเสนอในการจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) มาจนถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ทั้งนี้เนื่องจากในสมัยนั้นหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังไม่เห็นความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงการการดำเนินงานของ คชก. ในขณะที่มีปัญหาความขัดแย้งต่อการพิจารณาโครงการ ภาคประชาชนจึงได้นำเสนอกลไกใหม่เพื่อให้มีการตรวจสอบกระบวนการพิจารณารายงานดังกล่าวอย่างโปร่งใสจากทุกฝ่าย และนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) สสร.จึงได้ยกร่างข้อความที่ระบุไว้ในมาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเนื้อหาของมาตรานี้ไม่แตกต่างจากมาตรา 56 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 โดยมีองค์ประกอบของผู้แทนจากสถาบันวิชาการและองค์กรเอกชนที่สรรหากันเอง และมีภารกิจในการให้ความเห็นก่อนการดำเนินการโครงการ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
ปัจจุบันนี้รายงานความเห็นของ กอสส. ดำเนินการภายหลังที่ได้รับความเห็นจาก คชก. โดยมีระยะเวลาพิจารณาภายใน 60 วันนับแต่ได้รับรายงานจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งสถานะของรายงานความเห็นเป็นเพียงข้อเสนอแนะ แล้วแต่หน่วยงานอนุมัติ/อนุญาตโครงการจะพิจารณา และเป็นกลไกที่มีความซ้ำซ้อนกับการทำงานของ คชก. หากให้กลไกของ กอสส. ไม่เป็นเสือกระดาษ จึงมีข้อเสนอให้การพิจารณารายงานของ กอสส. เป็นองค์ประกอบสำคัญของการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อรายงาน EIA /EHIA ที่มีผลทางกฎหมายต่อการอนุมัติ/อนุญาตโครงการ ทั้งนี้ให้จัดสรรภารกิจที่สนับสนุนซึ่งกันและกันกับ คชก. กล่าวคือ เป็นกลไกที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และพิจารณาในการประเมินผลกระทบเชิงพื้นที่และประเมินผลกระทบทุกด้าน โดยใช้งบประมาณจาก กองทุนการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยการจัดสรรภารกิจต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน
หากต้องการพัฒนาประเทศให้เท่าทันต่อประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน การมีกลไกที่โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ และใช้หลักวิชาการและหลักความเป็นธรรมแบบพหุศาสตร์แล้ว จะทำให้ประเทศไทยนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
-------------------------------------