Skip to main content

“ทำอะไรขาย ใคร ๆ ก็หวังรวยกันทั้งนั้น แต่เกษตรยั่งยืนไม่เคยตอบคำถามชาวบ้านว่าจะรวยแน่ไหม ไม่มีใครบอกมาสักคนว่าขายข้าวอินทรีย์แล้วจะรวยเป็นล้าน ไม่มีใครบอกว่าจะพาชาวบ้านรวย”    

--------------------------

หากพอจำกันได้ เมื่อไม่นานมานี้มีรายการสารคดีเรียลลิตี้ออกอากาศโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของนักแสดงหญิงที่หัดทำนา ตั้งแต่ขั้นตอนการหาที่ดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต รายการดังกล่าวได้รับความนิยมและสร้างแรงบันดาลใจให้ชนชั้นกลางหลายคนอยากจะหันมาทำเกษตร ปลูกผัก หรือทำไร่ทำนา ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติอย่างเธอบ้าง

ผู้เขียนเคยมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนเพื่อนคนหนึ่งที่ทำนาอยู่ในพื้นที่ละแวกเดียวกันนั้น อาจเรียกได้ว่าเธอเป็นคนชั้นกลาง เธอเรียนจบปริญญาโท เคยทำงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริมเกษตรทางเลือก ก่อนที่จะลาออกมาสวมบทบาทเป็น “ชาวนา” เต็มตัว ทัศนะของเธอเกี่ยวกับการทำนาแตกต่างจากนักแสดงหญิงคนนั้น และมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเธอเป็นผู้ที่ส่งเสริม “เกษตรทางเลือก” แต่เธอกลับเลือกไม่ทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งยังมีมุมมองต่อการทำนาแบบไม่โรแมนติกเอาเสียเลย

นาลดต้นทุน

การทำนา เป็นแหล่งรายได้อย่างหนึ่งของ พ่อ-แม่-ลูก ในครอบครัวนี้ โดยมีรายได้แหล่งอื่น ๆ อีก ได้แก่ เงินเดือนของพ่อบ้านซึ่งทำงานในองค์กรแห่งหนึ่ง และรายได้จากการรับจ้างทำงานวิจัยและค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ “ชาวนา”เอง

“ชาวนา” ทำนาปรังปีละสองหนในที่ดินเช่า เนื้อที่ประมาณ 29 ไร่ เธอเรียกระบบการทำนาของตนเองว่า “นาลดต้นทุน” ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช หว่านปุ๋ยเคมีควบคู่กับการหมักฟางในนา เธอต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพราะไม่มีเวลาทำปุ๋ยหมัก และทำนาหว่านน้ำตมซึ่งธาตุอาหารในนาไม่พียงพอ ส่วนการกำจัดแมลงศัตรูพืชใช้สารสกัดจากสะเดา ทำฮอร์โมนไข่บำรุง ในด้านการใช้แรงงาน เธอไม่มีเครื่องจักรกลเกษตรจึงใช้วิธีว่าจ้างในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เตรียมดิน หว่านข้าว ฉีดยา หว่านปุ๋ย งานที่ทำเองจริง ๆ คือการสูบน้ำเข้า-ออกนา และฉีดสมุนไพร ซึ่งก็จ้างคนช่วยฉีดด้วยเช่นกัน  

การทำนาของ “ชาวนา” ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ ตั้งแต่เงื่อนไขการเช่าที่ดินที่เจ้าของที่ดินกำหนดให้ต้องทำการผลิตสองครั้งต่อปี การเลือกช่วงเวลาการเพาะปลูกต้องสัมพันธ์กับจังหวะการปล่อยน้ำจากระบบชลประทานซึ่งไปโยงกับนโยบายของรัฐบาลที่จัดระเบียบให้ชาวนาปลูกข้าวได้แค่ปีละสองหน นอกจากนั้นชาวนาในพื้นที่นี้ยังต้องเร่งเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนที่น้ำธรรมชาติจะหลากมาท่วมทุ่งอีกด้วย   

“ถ้าเขาทำแล้วแต่เรายังไม่ทำ มันจะไม่ทันน้ำ  ปีหนึ่งต้องทำให้ได้ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย อย่างปีนี้ปลายเดือนพฤษภาคมต้องเริ่มหว่านเพื่อให้เกี่ยวทันประมาณเดือนกันยายน จากนั้นต้องเว้นช่วงเพราะน้ำในทุ่งจะเยอะช่วงตุลาคม เริ่มทำนาได้อีกทีก็ปลายพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมเพื่อจะเกี่ยวในเดือนมีนาคม พอถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคมเขาจะปิดน้ำ วงจรมันจะประมาณนี้”

ในเงื่อนไขดังกล่าวต้องอาศัยการจัดการทั้งการกำหนดช่วงเวลาการเพาะปลูก การเลือกพันธุ์ข้าวที่มีช่วงเวลาการผลิตที่เหมาะสม ข้าวบางพันธุ์ที่อายุสั้นเกินไปก็ไม่เข้าเกณฑ์การรับจำนำหรือประกันราคาของรัฐบาล  แต่หากเลือกปลูกข้าวที่อายุยาวก็อาจจะเก็บเกี่ยวไม่ทันก่อนน้ำหลาก เรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำนาทั้งสิ้น

นอกจากนั้นแล้วในการทำนาเชิงพาณิชย์ การคำนวณต้นทุน ผลผลิต และรายได้ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะทำให้รู้ว่าการทำนานั้นคุ้มค่าแค่ไหน  นาลดต้นทุนของ “ชาวนา”  ได้ผลผลิตข้าวประมาณ 80-100 ถังต่อไร่ ขณะที่ต้นทุนการทำนารวมค่าเช่านาประมาณ 4,500 บาทต่อไร่ ขณะที่นาแปลงอื่น ๆ ในละแวกนั้นมีต้นทุนประมาณ 5,500-6,000 บาทต่อไร่ กระนั้นก็ตามรายได้ของ “ชาวนา” ยังขึ้นอยู่กับราคาข้าวและนโยบายการแทรกแซงราคาของรัฐบาลในแต่ละปีอีกด้วย

ไม่ทำนาอินทรีย์

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า “ชาวนา” เคยทำงานส่งเสริมเกษตรทางเลือกซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์เป็น “ทางเลือก” แบบหนึ่ง ที่มีการรณรงค์ส่งเสริมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม และประหยัดต้นทุนของผู้ผลิตเอง แต่ “ชาวนา” กลับเลือกทำนาโดยใช้สารเคมีด้วยเหตุผลหลายประการ  

“อินทรีย์ต้นทุนสูงกว่านะ และต้องจัดการเรื่องวัชพืชอีก”  

ในกระบวนการทำนาอินทรีย์จะมีช่วงเวลาบำรุงดินด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่ว หว่านปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกไว้ก่อนเริ่มเพาะปลูก ด้วยเงื่อนไขที่ต้องเร่งรีบทำการผลิตตามจังหวะของระบบน้ำดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทำให้ “ชาวนา” ไม่สามารถทำนาที่ต้องใช้เวลามากขนาดนั้น เธอบอกว่าถ้าที่นาเป็นของตนเองก็อาจจะเลือกทำนาปี ปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์แค่ปีละหนึ่งครั้งและขายผลผลิตในตลาดเฉพาะ กระนั้นก็ตามเธอบอกว่าการทำนาปีเพื่อปลูกข้าวหอมมะลิก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะข้าวหอมมะลิให้ผลผลิตต่อไร่ไม่สูง หากดินไม่ดีด้วยแล้วจะได้ผลผลิตเพียง 30-50 ถังต่อไร่เท่านั้น ในพื้นที่ภาคอีสานชาวบ้านจึงปลูกข้าวไว้กินกันเองเป็นส่วนใหญ่ นอกจากบางพื้นที่เช่นทุ่งกุลาในจังหวัดร้อยเอ็ดที่มีการปลูกข้าวขายเป็นหลัก แต่ก็ต้องอาศัยรายได้จากทางอื่นด้วยเช่นกันจึงจะพออยู่ได้

ในกรณีที่ปลูกข้าวพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ การหาตลาดจำหน่ายผลผลิตเป็นเงื่อนไขสำคัญอีกประการหนึ่งของการเลือกรูปแบบการผลิต  “ชาวนา” บอกว่าถ้าทำเกษตรอินทรีย์ผลผลิตที่ได้ก็ต้องขายในตลาดอินทรีย์ ซึ่งแม้ว่าจะได้ราคาสูงกว่าผลผลิตจากเกษตรเคมี แต่ก็มีข้อจำกัดในแง่ที่ตลาดยังไม่กว้าง จำหน่ายสินค้าได้น้อยทำให้ต้องจัดการผลผลิตอย่างยุ่งยาก  

“เราไม่มีที่เก็บข้าว ไม่มีลานตากข้าว ถ้าทำนาสามสิบไร่ ได้ข้าวยี่สิบตัน จะขนไปไว้ไหนล่ะ ไม่มีใครจะซื้อทีละมาก ๆ ตลาดที่รู้จักก็ทยอยซื้อ การจัดการมันยุ่งยาก เรากับสามีไม่มีเวลาจัดการ”

อยากให้คนชั้นกลางมาเป็นชาวนา 

สำหรับ “ชาวนา” การทำนาของเธอไม่ใช่เรื่องอุดมคติในทำนอง “วิถีการผลิตเพื่อพึ่งพาตนเอง” แบบที่คนชั้นกลางหลายคนเข้าใจ แต่เธอเห็นว่าการทำนาก็คือระบบการผลิตที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

“นาปรัง มันก็คือพืชเงินสดนั่นแหละ เห็นเงินใน 4 เดือน”

การทำนาให้ได้ผลผลิตดี บวกกับนโยบายการอุดหนุนของรัฐบาลจะทำให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ในช่วงที่ผ่านจากการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรออก “รถคันแรก” กันหลายคน รวมทั้งครอบครัว “ชาวนา” ด้วย  และเธอก็พบว่าเกษตรกรส่วนหนึ่งนำรายได้มาปรับปรุงระบบการผลิตให้ดีขึ้น เช่น  เช่น ขุดลอกคลองน้ำเข้านา ปรับนาให้เสมอ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญต่อผลผลิตข้าวที่จะได้รับ 

ปัจจุบันการทำนาและทำการเกษตรได้รับความสนใจจากคนชั้นกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ “ชาวนา” เห็นว่าการทำเกษตรยังเป็นเรื่องที่น่าท้าทาย และอาชีพชาวนาไม่ได้จำกัดอยู่กับชาวไร่ชาวนาอีกต่อไป เธออยากให้คนชั้นกลางหันมาทำนากันมากขึ้นจะได้เข้าใจว่าการทำนานั้นเป็นอย่างที่เคยคิดเคยเชื่อกันหรือเปล่า  เธอบอกว่ามีคนชั้นกลางที่ประสบความสำเร็จในการทำนา แต่นั่นก็เพราะเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น มีทุน ใช้การจ้างทำนา มีความรู้ หรือเข้าถึงตลาดได้ ฯลฯ และก็มีคนชั้นกลางที่ทำนาล้มเหลวด้วยเช่นกัน เพราะ “รู้แล้วว่ามันไม่ง่าย” 

สำหรับคนชั้นกลางในเมืองที่นิยมทำเกษตรกันมากขึ้น “ชาวนา” บอกว่าเป็นเรื่องน่าสนับสนุนและน่าเห็นใจเพราะพวกเขาต้องประสบกับความยุ่งยาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งคงไม่สามารถจะทำเกษตรแปลงใหญ่เพื่อพึ่งพาตนเองได้จริง นอกเสียจากจะปลูกผัก ทำสวนครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งก็มักพบกับปัญหาในเรื่องการหาเมล็ดพันธุอีกเพราะเมล็ดพันธุ์บรรจุซองที่ขายกันทั่วไปก็มักผ่านกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ที่ทำให้เก็บเมล็ดไว้ปลูกในรอบถัดไปไม่ได้ 

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรในชนบท หรือคนชั้นกลางในเมืองก็ล้วนแต่ควรมี “ทางเลือก”ในการทำเกษตรให้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การแสวงหาหรือสร้างตลาดทางเลือกกันเองเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องมีนโยบายรัฐและกลไกของทางราชการที่สนับสนุนอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่นกฎหมายในปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้เกษตรกรรายย่อยผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย ทั้ง ๆ ที่เมล็ดพันธุ์เป็นวัตถุดิบที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการสำหรับผู้ทำการเกษตรอย่างมาก  

คนชั้นกลางอาจหันมาทำเกษตรในฐานะการสร้างทางเลือกหรือเป็นงานอดิเรก แต่สำหรับเกษตรกรอีกจำนวนมากปฏิเสธได้ยากว่าพวกเขาทำการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งการส่งเสริมเกษตรยั่งยืนยังคงไม่ตอบโจทย์นี้อย่างชัดเจน นอกเสียจากจะบอกให้เกษตรกรพอเพียง และพึ่งพาตนเอง

“ทำอะไรขาย ใคร ๆ ก็หวังรวยกันทั้งนั้น แต่เกษตรยั่งยืนไม่เคยตอบคำถามชาวบ้านว่าจะรวยแน่ไหม ไม่มีใครบอกมาสักคนว่าขายข้าวอินทรีย์แล้วจะรวยเป็นล้าน ไม่มีใครบอกว่าจะพาชาวบ้านรวย”   "ชาวนา" กล่าวทิ้งท้าย.  

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ชีวิตเป็นของเรา ร่างกายของเป็นของเรา อวัยวะเป็นของเรา เงินทองที่ใช้จัดการชีวิตก็เป็นของเรา  ดังนั้นสิทธิในการเลือกที่จะมีหรือไม่มีคู่/ครอบครัว ก็ควรจะเป็นของเราด้วย
"ไม่มีชื่อ"
...น่าทึ่งอย่างมากที่มนุษย์จำนวนมากยังคงมุ่งมั่นที่จะดิ้นรนต่อรองแม้แต่ในเรื่องที่ไม่น่าจะต่อรองได้ สรรหาวิธีการอันแยบยลมาใช้ต่อรอง และต่อรองแม้กับเทพยดาฟ้าดินที่ดูราวกับมีอำนาจสูงส่งจนไม่น่ากล้าที่จะต่อรอง
"ไม่มีชื่อ"
การทำเกษตรอินทรีย์กลายมาเป็น “แบบอย่าง” หรือ “ต้นแบบ” ที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภคโดยทั่วไปยกย่อง และอยากให้เกษตรกรไทยหันมาทำตามอย่างจริงจัง...ทว่า เกษตรกรแต่ละคนมี “ต้นทุน”  ที่ต่างกัน การทำเกษตรอินทรีย์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก 
"ไม่มีชื่อ"
ความตายของ "คนไร้บ้าน" ช่างง่ายดายและแผ่วเบา หลายคนไม่มีโอกาสที่จะยื้อยุดลมหายใจของตนเอง และบางคนก็ไม่คิดพยายามที่จะทำเช่นนั้น อันที่จริง การมีอยู่ของคนไร้บ้านก็แผ่วเบาดุจเดียวกัน มีคนไม่มากนักที่รับรู้และสนใจการมีอยู่และการจากไปของพวกเขา