Skip to main content

ภาสกร อินทุมาร


ชลบุรีอาจจะเป็นจังหวัดที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีชุมชนคนมอญตั้งอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะมอญเกาะเกร็ดและมอญพระประแดงเท่านั้น... แต่ถึงอย่างไรก็ดี ชลบุรีก็ยังมีคนมอญอยู่ที่ “วัดบ้านเก่า” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “วัดบ้านมอญ” แห่งตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และความน่าสนใจของคนมอญของที่นี่ อยู่ที่ “พระ”

 


15_9_01

วัดบ้านเก่า (วัดบ้านมอญ) ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี


วันวาน


พระที่ดูจะเป็นตำนานคู่วัดบ้านเก่า และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็คือ หลวงพ่อเปิ้น ปภาโส (พระครูเปิ้นพุทธสรเถร) หลวงพ่อเปิ้นเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคสมัยก่อนสงครามโลกซึ่งมีผู้คนเลื่อมใสศรัทธากราบไหว้ทั่วไปทั้งในจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ในวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ของทุกปี จะมีงานประเพณี “พระครูหลวงพ่อเปิ้นวัดบ้านเก่า” ซึ่งงานประเพณีนี้เองก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า หลวงพ่อเปิ้นเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญของชาวบ้าน

15_9_03

หลวงพ่อเปิ้น (พระครูหลวงพ่อเปิ้นพุทธสรเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านเก่า


หลวงพ่อเปิ้นเป็นชาวมอญบ้านกระทุ่มมืด อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เมื่อท่านสูญเสียบิดามารดาเป็นกำพร้าตั้งแต่ยังเยาว์ ญาติของท่านจึงนำไปอุปการะยังบ้านเก่า ชุมชนมอญในจังหวัดชลบุรี คำว่า “เปิ้น” นั้นเป็นภาษามอญ แปลว่า “แน่นอน มั่นคง แท้จริง” หลวงพ่อเปิ้นเกิดเมื่อ พ.. ๒๓๘๐ อุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๐ ปี มรณะภาพเมื่อ พ.. ๒๔๖๐ รวมอายุ ๘๐ ปี และอยู่ในสมณเพศ ๖๐ พรรษา ท่านเป็นเจ้าอาวาสอย่างเป็นทางการรูปแรกของวัดบ้านเก่า ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูเปิ้นพุทธสรเถร เมื่อ พ.. ๒๔๒๑ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงอำเภอพานทอง รวมทั้งเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อ พ.. ๒๔๒๕


มีเรื่องเล่ากันว่าท่านเป็นคนตรงโผงผาง รักษาระเบียบวินัยเคร่งครัด ในวัดห้ามกินเหล้า เด็ดขาด ทำให้คนเมาเหล้าไม่กล้าเดินผ่านหน้าวัด หรือหากจะเมาแต่เมื่อผ่านหน้าวัดก็จะสงบปากสงบคำเดินตัวตรง เป็นต้น เรื่องความเคร่งครัดของท่านอาจส่งผลให้ชาวบ้านกลัวท่านและไม่กล้าทำผิด แต่ก็มีเรื่องที่ส่งผลต่อศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อท่านเป็นอย่างยิ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นก็คือเรื่องราวที่ท่านต่อสู้กับฝรั่งที่เข้ามามีปัญหากับชาวบ้าน โดยเรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงเวลาที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น ซึ่งหากนับเวลาย้อนขึ้นไปก็น่าจะเป็นเวลานับร้อยปี ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิกได้ขยายตัวเข้ามาในย่านบ้านเก่าและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีการรุกล้ำที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งขณะนั้นยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพื่อนำไปเป็นพื้นที่เพาะปลูกของตน ด้วยเหตุนี้ หลวงพ่อเปิ้นซึ่งเป็นที่พึ่งของชาวบ้านจึงออกไป “สู้” กับ “ฝรั่ง” ด้วยการไปยืนขวางไม่ให้ฝรั่งรุกล้ำพื้นที่ รวมทั้งถกสบงเปิดก้นใส่ฝรั่ง ทำให้ลูกปืนในลำกล้องปืนของฝรั่งที่เตรียมจะยิงท่านนั้นยิงไม่ออก เหตุการณ์นี้ได้ทำให้ฝรั่งฟ้องร้องไปยังกรุงเทพ เกิดเป็นคดีความระหว่างฝรั่งกับหลวงพ่อเปิ้นขึ้น แต่ในที่สุดหลวงพ่อก็ชนะคดี จนทำให้สมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้นต้องขอดูตัวพระบ้านนอกที่ต่อสู้จนเอาชนะฝรั่งได้ และก็ได้มีเรื่องเล่าต่อมาว่า ฝรั่งที่มีเรื่องกับหลวงพ่อนั้นเสียชีวิตหลังจากเกิดเรื่อง เพราะมีถั่วเขียวงอกอยู่ในท้อง

15_9_02

คลองพานทอง ช่วงที่ไหลผ่านวัด ชาวบ้านนิยมเรียกว่าคลองบ้านเก่า


ศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อหลวงพ่อเปิ้น ส่งผลให้เกิดเรื่องเล่าอื่นๆตามมา อาทิ เมื่อครั้งวัดบ้านเก่าสร้างรูปหล่อของท่าน ได้เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นขณะประกอบพิธี กล่าวคือ น้ำในคลองพานทองที่ไหลผ่านหลังวัดซึ่งปกติเป็นน้ำเค็มนั้นได้กลายเป็นน้ำจืด เป็นต้น เรื่องเล่าเหล่านี้ ทั้งเรื่องฝรั่งตายเพราะถั่วเขียวงอกในท้อง หรือเรื่องน้ำเค็มกลายเป็นน้ำจืด หากมองด้วยสายตาของนักวิทยาศาสตร์ ก็อาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ความเป็นไปได้หรือไม่นั้นดูจะไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้น ก็คือความจริงที่ว่า เรื่องเล่าเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อหลวงพ่อเปิ้น และได้ทำหน้าที่ธำรงศรัทธานั้นไว้จนถึงปัจจุบัน และศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อนั้น ก็มาจากการที่หลวงพ่อสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามที่มาจากภายนอก และเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง


วันนี้


หลวงพ่อเปิ้นเป็นพระมอญ พูดภาษามอญ สวดแบบมอญ และชอบฉันปลาร้ากับผักชะคราม งานศพหลวงพ่อเปิ้นก็ยังมีการจุดลูกหนู ในวันที่หลวงพ่อเปิ้นยังมีชีวิตอยู่ บ้านเก่าหรือบ้านมอญจึงยังคงมีความเป็นมอญอย่างชัดเจน ไม่เพียงแต่หลวงพ่อเท่านั้นที่พูดภาษามอญ ชาวบ้านก็พูดภาษามอญเช่นกัน แต่ทุกวันนี้ แม้ชาวบ้านจะยังคงยืนยันว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนมอญมาแต่ดั้งเดิม แต่ก็ไม่มีใครพูดภาษามอญ พระที่วัดก็สวดแบบมอญไม่ได้แล้ว ที่เป็นเช่นนี้ “หลวงพ่อหงษ์ พานทอง” หรือ “พระอธิการหงษ์ ขันติโก” รักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านเก่า บอกว่าเป็นเพราะ “หนังสือ”


15_9_05

พระอธิการหงษ์ พานทอง รักษาการเจ้าอาวาสวัดพานทองรูปปัจจุบัน


หลวงพ่อหงษ์เกิดในปี พ.. ๒๔๗๑ ท่านเล่าว่าเมื่อสมัยเด็กๆ ยายของท่านเล่าเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับคนมอญและชุมชนมอญให้ฟัง รวมทั้งเล่าว่าคนบ้านเก่า-บ้านมอญแห่งอำเภอพานทองจำนวนมากเป็นญาติกับคนมอญย่านวัดชีปะขาว มหาชัย ในอดีต ผู้คนของทั้งสองชุมชนนี้ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอแม้ว่าจะต้องเดินทางด้วยเรือและใช้เวลาถึง ๓ วัน แต่ทว่าในปัจจุบันที่การเดินทางไม่ลำบากเหมือนเมื่อก่อน ผู้คนกลับไม่มีเวลาไปมาหาสู่กัน


หลวงพ่อหงษ์บวชในปี พ.. ๒๔๙๑ แต่ในปี พ.. ๒๕๐๑ ได้ลาสิกขาบทไปครั้งหนึ่ง และกลับมาบวชอีกครั้งในปี พ.. ๒๕๓๒ ด้วยความเป็นคนบ้านเก่า หลวงพ่อหงษ์จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด หลวงพ่อเล่าว่า โยมพ่อของท่านยังพูดและอ่านภาษามอญได้ แต่คนรุ่นท่านพูดมอญไม่ได้แล้ว ท่านเองก็พูดไม่ได้ โดยท่านเห็นว่ามูลเหตุของการที่คนบ้านเก่าไม่สามารถพูดและอ่านเขียนภาษามอญได้ก็คือ “การศึกษาสมัยใหม่” หรือที่ท่านใช้คำว่า “หนังสือ” ที่เข้ามายังชุมชนผ่านทางระบบโรงเรียนของรัฐส่วนกลาง การเรียนหนังสือไทยได้ทำให้ภาษาดั้งเดิมถูกลืมเลือน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ก็มิได้เกิดขึ้นกับชุมชนมอญแห่งบ้านเก่าเท่านั้น แต่ได้เกิดขึ้นทั่วไปกับชุมชนท้องถิ่นทั้งประเทศ และมิใช่เพียงลูกหลานของชุมชนมอญเท่านั้นที่ไม่พูดภาษามอญ ลูกหลานของชุมชนชาติพันธุ์อื่นๆก็เป็นเช่นเดียวกันที่ลืมเลือน “ภาษาแม่” ของตนจนอาจถึงขั้นปฏิเสธ เพราะภาษาแม่ของตนนั้น “เข้าไม่ได้” กับระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน


นอกจาก “หนังสือ” จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับชุมชนมอญบ้านเก่าแล้วนั้น หลวงพ่อหงษ์ยังเห็นว่า “ความเจริญ” ก็คืออีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลง โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นรายรอบชุมชน ได้พาลูกหลานคนหนุ่มสาวออกไปสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ที่ห่างไกลจากวิถีดั้งเดิมของคนรุ่นก่อน ความเจริญได้พาลูกหลานมอญออกไปจากความเป็นมอญจนยากที่จะเรียกกลับคืนมา


หลวงพ่อหงษ์ไม่ได้ลุกขึ้นต่อสู้กับภัยคุกคามที่มาจากภายนอกดังเช่นที่หลวงพ่อเปิ้นสู้ในครั้งอดีต เพราะภัยคุกคามสมัยใหม่ที่ผ่านมาทางนโยบายของรัฐเช่นนี้ยิ่งใหญ่เกินกำลังของพระรูปหนึ่งที่จะต่อสู้ได้ แต่ท่านก็มองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยการพินิจพิเคราะห์ถึงที่มาของมัน ซึ่งหากใครจะได้มีโอกาสสนทนากับท่าน ก็คงจะเกิดปัญญาในการรู้เท่าทันถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับชุมชน


วันวานถึงวันนี้


จากวันวานจนถึงวันนี้ พระมอญแห่งบ้านเก่าเมืองชลบุรีได้ตั้งคำถามต่อเหตุปัจจัยจากภายนอกที่เข้ามากระทำต่อชุมชน ในอดีต พระของชุมชนแห่งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของชาวบ้านด้วยการลุกขึ้นสู้จนชนะ แต่พระมอญของวันนี้คงมิอาจหาญที่จะสู้กับเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ ถึงกระนั้นก็ดี พระมอญของวันนี้ก็ยังคงเป็นที่พึ่งทางความคิดของคนในชุมชนได้ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ คนในชุมชนจะยังเห็นพระเป็นที่พึ่งอยู่หรือไม่... เท่านั้นเอง




บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์