ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์
การที่รัชกาลที่ ๑ โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลพงศาวดารมอญภายหลังการขึ้นครองราชย์เพียง ๓ ปี ทั้งที่น่าจะมีพระราชภาระด้านอื่นที่สำคัญกว่า แม้เค้าโครงเรื่องจะมีมูลความจริงอยู่มาก แต่ได้มีการคัดเลือกเฉพาะช่วงตอนที่มอญมีชัยเหนือพม่า เพื่อเป็นการปลุกเร้าขวัญและกำลังใจพลเมืองและทหารให้ฮึกเหิม ลืมอดีตอันเจ็บปวดเมื่อคราวเสียกรุง สำนวนโวหารคมคายชวนอ่าน ตามขนบการเขียนวรรณคดี ซึ่งหากพิจารณาในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองจะพบว่า วรรณกรรมเรื่องราชาธิราชและเรื่องอื่นๆ ที่โปรดฯให้แปลขึ้นในยุคเดียวกัน เป็นโลกทัศน์ทางการเมืองของชนชั้นนำในสมัยนั้น เพื่อประโยชน์ทางการเมืองและยอพระเกียรติ์ เนื้อหานำเสนอคุณสมบัติเชิงอุดมคติของผู้ที่ขึ้นครองราชย์ ที่ไม่จำเป็นต้องสืบเชื้อสายกษัตริย์ เช่น มะกะโท และพระเจ้าธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นผู้มีปัญญาและบุญญาธิการสามารถสถาปนาราชวงศ์ใหม่ เป็นความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ เป็นที่ยอมรับของราษฎร ขุนนาง และเสนาบดีทุกหมู่เหล่า
บุษบา ตระกูลสัจจาวัตร ศึกษาและวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า แปลและเรียบเรียงขึ้นจากเอกสารทางประวัติศาสตร์มอญอย่างน้อย ๒ ฉบับ คือ Razadarit Ayedawpon และ นิทานธรรมเจดีย์กถา เป็นพงศาวดารที่มีเนื้อหาและรายละเอียดเฉพาะกษัตริย์บางรัชกาล คือ รัชกาลพระเจ้าราชาธิราช รองลงมาคือ พระเจ้าธรรมเจดีย์ และพระเจ้าฟ้ารั่ว ส่วนฉบับตัวพิมพ์เป็นเรื่องที่เกิดจากการชำระต้นฉบับตัวเขียนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) และเพิ่มเติมลักษณะทางวรรณศิลป์ มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างพงศาวดารกับบันเทิงคดี คุณค่าของแต่ละฉบับจึงแตกต่างกันตามลักษณะของเรื่อง
ราชาธิราชฉบับภาษามอญที่แพร่หลายในเมืองไทยนั้น เชื่อว่าแปลมาจากฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ผ่านการปรุงแต่งวรรณศิลป์แล้ว โดยมอญในเมืองไทย มีการดัดแปลงบางส่วน ผนวกรวมเข้ากับจดหมายเหตุและพงศาวดารมอญต้นฉบับตัวเขียนใบลานที่บันทึกไว้ในสมัยพระนางเจ้าตะละเจ้าท้าว (เช็งสอบู) และพระเจ้าธรรมเจดีย์ ซึ่งเชื่อว่าไม่เคยมี “ราชาธิราช” ในลักษณะการเดินเรื่องอย่างฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ มาก่อน
ต้นฉบับราชาธิราชฉบับภาษามอญในประเทศพม่ามีประมาณ ๕ ฉบับ ซึ่ง ๒ ใน ๕ ฉบับในนั้น คือ ฉบับโรงพิมพ์วัดแค พระประแดง สมุทรปราการ เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ฉบับปากลัด”พิมพ์เป็นชุด ๒ เล่มต่อเนื่องกัน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ และ ๒๔๕๕ ตามลำดับ อีกเล่มหนึ่ง คือ คัมภีร์ราชาวังศะกถา (ฉบับหลวงพ่ออุตตมะ)พิมพ์โดยวัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี พ.ศ. ๒๕๔๐
เชื่อกันว่าพงศาวดารภาษามอญ เขียนขึ้นในสมัยพระนางเจ้าตะละเจ้าท้าว (พระนางเช็งสอบู) และ พระเจ้าธรรมเจดีย์ ได้แก่ อุปันสุวรรณภูมิอารัมมกถา สุธัมวดีราชาวังศะ และสีหราชาธิราชาวังศะ ส่วนต้นฉบับภาษามอญในเมืองไทยที่ค้นพบทั้งสิ้น ๕ ฉบับ ได้แก่
อย่างไรก็ตามต้นฉบับราชาธิราชที่พบในพม่าเกือบทั้งหมดได้รับการบันทึกและดัดแปลงแก้ไขขึ้นในภายหลัง โดยมากนำต้นฉบับไปจากเมืองไทย เนื่องจากต้นฉบับภาษามอญในประเทศพม่าส่วนใหญ่ถูกเผาทำลายทั้งจากทางการพม่า และชาวมอญที่กลัวในอำนาจพม่า
รวมทั้งงานวิเคราะห์วิจัยว่าด้
ต้นฉบับราชาธิราชภาษามอญในเมืองไทยค้นพบ ๒ ฉบับ คือ ฉบับปากลัด ๒ เล่ม และฉบับหลวงพ่ออุตตมะ ตามข้อจำกัดในระยะเวลาของการศึกษา การเข้าถึงหลักฐาน และการกล่าวถึง “ราชาธิราชฉบับภาษามอญ” ที่รับรู้ของคนทั่วไปคือราชาธิราช “ฉบับปากลัด” เทียบกับฉบับฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่รู้จักกันโดยทั่วไปและราชาธิราชฉบับพญาทะละฉบับภาษาพม่า ซึ่งเนื้อหาในราชาธิราชทั้ง ๓ ภาษา มีโครงเรื่องคล้ายกัน แต่ต่างมีรายละเอียดหลายส่วนที่เหมือนและต่างกันปนเปอยู่ในทั้ง ๓ ฉบับ ในแง่มุมที่แตกต่างกันทั้งตัวตน บริบทแวดล้อม นำมาซึ่งมุมมองที่แตกต่างในการมองเรื่องเดียวกันแต่ต่างจุดยืน ของผู้แปลราชาธิราชทั้ง ๓ ฉบับ
พระยาทะละ ผู้แปลราชาธิราชยุทธนา ขุนนางมอญ ภายหลังรับราชการอยู่กับบุเรงนอง ซึ่งรัชกาลก่อนหน้า คือ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ทรงแต่งตั้งเจ้าหญิงมอญเป็นเอกอัครมเหสี แต่งตั้งขุนนางมอญในตำแหน่งสูงสุดทั้งฝ่ายราชสำนักและกองทัพ ส่วนพระเจ้าบุเรงนองนั้นก็มีพระสนมเป็นมอญด้วยเช่นกัน เพราะกษัตริย์พม่าทั้ง ๒ มีนโยบายประนีประนอม ยอมรับวัฒนธรรมมอญเพื่อผสมกลมกลืนชนชาติ ป้องกันการก่อกบฏ ทำให้ขุนนางมอญรับราชการกับพม่าจำนวนมากจวบจนทุกวันนี้ ปัจจุบันมีข้าราชการพม่าเชื้อสายมอญที่เกษียณแล้วได้เข้ามาฝักใฝ่อยู่กับ “พรรคมอญใหม่” หลายท่าน (ในเมืองไทยก็เช่นเดียวกัน) ดังนั้นการแปลพงศาวดารมอญเป็นภาษาพม่าจึงต้องคำนึงถึงพระราชอัธยาศัยของกษัตริย์พม่า ที่จะต้องส่งผลต่อหน้าที่การงานและแม้แต่ชีวิต เนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึงความกลัว ขลาดเขลา และมีนัยยะในทางดูหมิ่นเย้ยหยันกษัตริย์พม่าก็คงต้องละไว้
เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แปลราชาธิราชออกเป็นภาษาไทยสนองพระราชโองการรัชกาลที่ ๑ ซึ่งไม่ต่างจากการทำหน้าที่ของพญาทะละ แต่วัตถุประสงค์นั้นเพื่อให้ผู้คนทั่วไปเลิกหวาดกลัวพม่า ดังแสดงให้เห็นว่า บางยุคสมัยพม่าก็ขลาด เสียรู้ และก็พ่ายแพ้ได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งเน้นพระราชกิจของกษัตริย์ให้โดดเด่นเป็นสมมุติเทพ ไม่จำเป็นต้องสืบวงศ์มาแต่กษัตริย์ แต่ขอให้มีสติปัญญาและบุญบารมี เป็นการรับรองความชอบธรรมของรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเคยเป็นสามัญชนมาก่อน ดังนั้นราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงถูกแต่งเติมให้เกินจริงอย่างพิษดาร
ฉบับปากลัด ได้รับอิทธิพลราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย ด้วยเป็นวรรณคดีที่อ่านสนุก กระตุ้นสำนึกรักชาติ ผู้แปลฉบับปากลัดจึงมุ่งเน้นการแปลราชาธิราชจากภาษาไทยกลับไปเป็นภาษามอญอย่างที่คาดว่าไม่เคยมีราชาธิราชที่มีเนื้อหาอย่างในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาก่อน เพื่อปลูกฝังความรู้สึกรักชนชาติ ร่วมหวงแหนมรดกของบรรพชน มีนัยยะนำไปสู่การต่อสู้เพื่อชนชาติ
ต่างเนื้อหา เริ่มเรื่องของราชาธิราชฉบับปากลัดขึ้นต้นด้วยบทบูชาพระรัตนไตรตามคติงานเขียนของมอญ ต่อด้วยการอารัมภบทพุทธประวัติโดยย่อ กระทั่งได้พระราชทานพระเกศาธาตุ ๘ เส้นให้ตะปุสสะภัลลิกะ ๒ วานิชมอญ ก่อนจะกล่าวถึง “ควัมปติ” พระอรหันต์ชาวเมืองสะเทิม ดังความเริ่มเรื่องในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ส่วนเนื้อหาโดยรวมใกล้เคียงกัน กล่าวถึงอภินิหาร ยอพระเกียรติกษัตริย์ เน้นสงครามระหว่างพระเจ้าราชาธิราชและพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง การเรียงลำดับเหตุการณ์ในฉบับปากลัดมีสับสนอยู่หลายแห่ง เช่น การตายของพ่อขวัญเมือง การลงทัณฑ์พระมหาเทวี และการทำสัตย์ต่อกันระหว่างพระเจ้าราชาธิราชและพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง หากเปรียบเทียบสำนวนทั้งสองฉบับ จะเห็นได้ชัดว่าฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เดินเรื่องประณีตอลังการกว่าฉบับปากลัด เนื้อหาของฉบับปากลัดจบลงที่พระนางตะละเจ้าท้าวขึ้นครองราชย์ ส่วนฉบับพระยาพระคลัง (หน) จบลงเมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ถวายพระเพลิงศพพระนางตะละเจ้าท้าว และปกครองบ้านเมืองด้วยความผาสุข ส่วนฉบับพญาทะละจบลงตรงที่พระเจ้าราชาธิราชสวรรคต
รายละเอียดและการขยายความในหลายแห่งต่างกันอย่างสิ้นเชิง เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากความผิดพลาด แต่เกิดจากการจงใจที่จะสร้างรายละเอียดให้แตกต่างกัน เช่น
พระเจ้ากรุงสุโขทัย ต้องการเสี่ยงทายเมืองที่จะส่งช้างเผือกลูกช้างฉัททันต์ไปให้ ด้วยการนำฟ่อนหญ้าเมืองต่างๆ มาเสี่ยงทาย หากช้างเผือกรับหญ้าเมืองไหนก็จะส่งไปให้เมืองนั้น ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีฟ่อนหญ้าเสี่ยงทาย ๓ ฟ่อน ได้แก่ เมืองสุโขทัย เมืองเมาะตะมะ และเมืองเชียงใหม่ ฉบับปากลัดว่า ๔ ฟ่อน ได้แก่ เมืองเชียงใหม่ เมืองและกอนปิตยา เมืองอยุธยา และเมืองเมาะตะมะ ส่วนที่เหมือนกันก็คือช้างเผือกเลือกรับหญ้าเมืองเมาะตะมะ
วันเดือนที่พระยาน้อยแจ้งว่าจะเดินทางจากเมืองตะเกิงที่ตั้งมั่นอยู่ไปไปเข้าเฝ้าพระบิดา (พญาอู่) และเสด็จป้า (พระมหาเทวี) ที่เมืองพะโค ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่าเดือน ๙ แต่ฉบับปากลัดว่าเดือน ๑๐ คาดว่าคงคำนวณต่างกันทางจันทรคติและสุริยคติ
จำนวนเงินที่มะกะนาย (ฉบับปากลัดชื่อ ตะละขะวาเตอปะตอย) ยืมเจ้าหนี้ไปลงทุนค้าสำเภาขาดทุนไม่มีใช้คืนต้องติดคุกอยู่นั้น พระเจ้าราชาธิราชต้องการชดใช้แทน ไถ่ตัวไปช่วยรบ เจ้าหนี้ในฉบับปากลัดว่าติดค้างอยู่ ๑๐๐ ชั่ง ยกให้ ๕๐ ชั่ง ขอจากพระเจ้าราชาธิราช ๕๐ ชั่ง ส่วนฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่าเป็นหนี้อยู่ ๒๐ ชั่ง “...ขอถวายไว้ใต้ฝ่าพระบาท จะได้แจกทแกล้วทหารซึ่งมีความชอบ ข้าพเจ้าจะขอพึ่งบุญบารมีพระองค์สืบไป”
ต่างนิมิตเทพอุ้มสม เช่น ในตอนปราบดาภิเษกพระยาน้อย เสนาบดีและราชปุโรหิตทั้งปวงได้กล่าวอธิษฐานหากชื่อ “สมเด็จพระเจ้าสีหราชาธิราช” นั้นเหมาะกับพระยาน้อยแล้ว ให้เศวตฉัตรที่หุบอยู่นั้นกางขึ้น ซึ่งก็เกิดมหัศจรรย์จริงดังคำอธิษฐาน ส่วนในฉบับปากลัดไม่ได้กล่าวถึง อีกครั้งหนึ่งเมื่อพระเจ้าราชาธิราชยกทัพออกไปรบกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เกิดนิมิตพิษดาร ในฉบับปากลัด เศวตฉัตรเพียงแต่ต้องลมโค่นลงดิน ส่วนฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถูกลมหอบขึ้นฟ้า “...กระทำเป็นทักษิณาวนถ้วนสามรอบแล้ว ก็กลับลงมาประดิษฐานอยู่ดังเก่า...”
ต่างภาษา ราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ไม่มีการวางรูปแบบการแปลชื่อบุคคลและสถานที่ บางชื่อแปลความหมาย เช่น เม้ยมณิก (แมะเนิจ์ก แปลว่า มณี) บางชื่อทับศัพท์เช่น สมิงพ่อเพ็ชร (เป่อเปิด แปลว่า อัญมณี) พระเจ้าฟ้ารั่ว หากถอดตามเสียงไทยด้วยอักษรมอญก็จะได้ สะวารัว และเป็น วาโร ตามเสียงมอญ
ชื่อผู้ชายสามัญชน มอญใช้ แมะ ไทยออกเสียง มะ นำหน้าเพศชาย เช่น มะกะโท มาจากภาษามอญว่า แมะกะตู แปลว่า พ่องอบ และ มิ ไทยออกเสียงว่า เม้ย นำหน้าเพศหญิง ดังนั้นชื่อผู้หญิงสามัญชนในราชาธิราชจึงมีเม้ยนำหน้า เช่น เม้ยสะดุ้งมอด มาจากภาษามอญว่า มิขะโดงหมอด แปลว่า แม่ดวงตา
ได้มีการค้นพบว่าต้นฉบับราชาธิราช ฉบับที่มีผู้แปลถวายสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “ฉบับวังหน้า” ชื่อตัวละครใกล้เคียงภาษามอญมากกว่าฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่ทั้งนี้ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้แปลฉบับวังหน้าจะรู้ภาษามอญและไทยดีกว่าคณะของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แม้จะไม่มีกรรมการที่เป็นผู้รู้แตกฉานภาษามอญและไทย (ในคนเดียวกัน) ก็สามารถหาผู้รู้มาบอกภาษาได้ เพียงแต่ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่รัชกาลที่ ๑ โปรดฯให้แปลนั้นคงไม่ต้องการเน้นให้ชื่อบุคคลตรงตามเสียงภาษามอญเพราะออกเสียงยาก หรือแม้แต่ได้พยายามแล้วก็ยังสามารถได้ยินเพี้ยน เช่น จอน กาลาฟัด (John crawfurd) กัมมาจล (Commercial) เป็นต้น ตัวอย่างชื่อบุคคลในราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่แตกต่างจากภาษามอญอย่างมาก เช่น อะมาดตินแมะเนิจ์กหรอด ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ว่า อำมาตย์ทินมณีกรอด ที่เป็นการแยกพยางค์ภาษามอญผิด
ชื่อเมือง (Mawlamyine) หรือเมืองมองมะละที่นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับ เมาะลำเลิง นั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการกล่าวแยกไว้อย่างชัดเจนระหว่างเมือง มอดแมะเลิ่ม และ มองแมะและ
ต่างเหตุการณ์และข้อเท็จจริง ในฉบับปากลัดและฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสิ้นพระชนม์หลังพระเจ้าราชาธิราช ส่วน “ฉบับพระยาทะละ” พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องสิ้นพระชนม์ไปก่อน (หลักฐานทางฝ่ายฝ่ายพม่า พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องครองราชย์ ๒๑ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๔๔-๑๙๖๕ ส่วนพระเจ้าราชาธิราชครองราชย์ ๓๘ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๖๖)
เครื่องบรรณาการของกษัตริย์มอญแด่กษัตริย์พม่าในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มักมีผ้าแดงโมรี แต่ฉบับปากลัดไม่มี มีเพียงครั้งเดียวที่กล่าวถึงผ้าแต่เป็นผ้าขาว เนื่องจากคนมอญมีความเชื่อเรื่องผีบรรพชน ผีปู่ย่าตายายของมอญนั้นนิยมผ้าแดง ฉะนั้นจึงมีธรรมเนียมห้ามลูกหลานแจกจ่ายข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นสีแดง โดยเฉพาะผ้าแดงให้คนนอกผีอย่างเด็ดขาด
อัฐิของขุนนางเสนาบดีผู้ใหญ่ฝ่ายมอญทุกคนที่เสียชีวิต พระเจ้าราชาธิราชโปรดฯให้เผาแล้วเก็บอัฐิไว้ ในฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ให้ไปเก็บไว้ในพระเจดีย์มุเตา ส่วนในฉบับปากลัดให้ไปเก็บในใน “บริเวณ” พระเจดีย์มุเตา แม้จะต่างกันเพียงคำเดียว แต่ความหมายนั้นห่างกันราวฟ้ากับดิน ด้วยเจดีย์ตามคติของคนมอญนั้นมีไว้สำหรับบรรจุพระธาตุพระพุทธเจ้าเท่านั้น ปุถุชนธรรมดาแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ไม่สามารถนำอัฐิไปบรรจุได้
วรรณกรรมที่แปลและคัดลอกต่อๆ กันมา แม้พยายามต้องการคัดลอกให้เหมือนเดิมแต่ย่อมผิดพลาดได้ โดยเฉพาะในยุคที่ยังคัดลอกด้วยมือ หรือแม้แต่เข้าสู่ระบบการพิมพ์แล้วก็ตาม ทั้งนี้ในสมัยที่ผู้ผลิตงานวรรณกรรมที่มิได้เคร่งครัดในรายละเอียด จึงได้มีการแต่งเติมสีสันไปตามความนิยมของตน จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม บางครั้งอาจจงใจคัดลอกดัดแปลงวรรณกรรมนั้นๆ ให้เข้ากับบริบทแวดล้อมของตนเพื่อประโยชน์บางอย่าง ดังนั้นผู้อ่านงานวรรณกรรมจึงต้องแยกแยะคัดกรองระหว่างข้อเท็จจริงและสิ่งเจือปนแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดเสมอ