Skip to main content

แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย เป็นการยืนยันถึงความเลื่อมใสศรัทธาอันเป็นเอกลักษณ์ทางพุทธศาสนาของชนชาติมอญแต่โบราณ

หลายคนอาจได้ยินเรื่องการ
สยายผมลงเช็ดพระบาท จากเพลงของ จรัล มโนเพชร ในบทเพลงที่ชื่อ มะเมี๊ยะ สาวมอญเมืองมะละแหม่ง ในตอนที่มะเมี๊ยะจะต้องอำลาจากเจ้าน้อยศุขเกษม รัชทายาทเจ้าเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น เพื่อกลับบ้านเมืองของตนภายหลังผิดหวังในรักเพราะผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าน้อยปฏิเสธอย่างรุนแรง มะเมี๊ยะสยายผมลงเช็ดบาทเจ้าน้อยเพื่อแสดงความอาลัยรักและเคารพอย่างสูงสุด เนื้อร้องเพลงที่ว่านั้นคือ

...โอ๊ โอ้ ก็เมื่อวันนั้น วันที่ต้องส่งคืนบ้านนาง เจ้าชายก็จั๊ดขบวนจ๊าง ไปส่งนางคืนทั้งน้ำต๋า มะเมี๊ยะตรอมใจ๋ อาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา ขอลาไปก่อนแล้วจ๊าดนี้


ประเพณี สยายผมลงเจ๊ดบาทบาทา ที่กล่าวถึงในเพลงของจรัล มโนเพชร เป็นประเพณีโบราณ ดังปรากฏหลักฐานเป็นภาพสลักนูนต่ำอยู่บนใบเสมาสมัยทวารวดี ซึ่งใบเสมานั้นมีความสำคัญต่อพุทธสถานอย่างยิ่ง การที่จะเรียกว่าเป็นวัดได้นั้น จะต้องมีหลักกำหนดเขตชัดเจนสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และหลักสำหรับปักเพื่อแบ่งเขตนี้มีชื่อเรียกว่าใบเสมา เป็นเขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตชุมนุมของสงฆ์ หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน


ใบเสมาสลักภาพนูนต่ำเล่าเรื่องพระนางพิมพาสยายผม รองพระบาทพระพุทธเจ้า


ใบเสมามีประวัติความเป็นมายาวนาน ในประเทศไทยสามารถสืบย้อนไปไกลถึงยุคสมัยแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ นั่นคือ อารยธรรมทวารวดี อันเป็นที่ทราบกันแล้วว่าอารยธรรมทวารวดีเป็นอารยธรรมเก่าแก่ของมอญ มีศูนย์กลางความเจิญอยู่บริเวณภาคกลางของไทยในปัจจุบัน และเป็นอารยธรรมที่นับถือพระพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กับศาสนาพราหมณ์ แต่ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมากกว่า ดังปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น ศิลาจารึกและงานศิลปกรรมต่างๆ ส่วนในบริเวณภาคอีสานของไทย ก็พบร่องรอยอารยธรรมทวารวดีที่เผยแพร่มาจากภาคกลาง รวมทั้งใบเสมารูปพระนางพิมพาก็ค้นพบในเขตภาคอีสานเช่นกัน


ด้วยความที่ใบเสมาขนาดใหญ่ จึงนิยมสลักภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาขึ้น เป็นความสวยงามที่บอกเล่าเรื่องราวในพุทธศาสนาแทนการอ่านที่จำกัดอยู่ในกลุ่มคนชั้นสูงเท่านั้น เรื่องราวที่นิยมสร้างขึ้นนั้น มักเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาพสถูปหรือหม้อปูรณฆฏะ อันเป็นอิทธิพลทางคติความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของอินเดีย


สำหรับภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ ส่วนมากเป็นตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมโปรดเหล่าบุคคล ภาพสลักบนใบเสมาที่เชื่อว่ามีความงดงามและสำคัญอย่างที่สุดชิ้นหนึ่งนั้น คือ ภาพตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากกรุงกบิลพัสดุ์ พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดขอนแก่น เป็นภาพขณะพระนางพิมพาสยายผมรองรับพระบาทของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นท่าแสดงความเคารพอย่างสูงสุด การแสดงความเคารพในลักษณะเช่นนี้ โดยมากพบในศิลปะมอญและพม่า สะท้อนแนวความคิดทางพุทธศาสนาในแบบมอญที่แพร่ขยายความนิยมทางศิลปะสู่ดินแดนใกล้เคียง


บันทึกในหน้าประวัติศาตร์ไทยอย่างน้อย ๒ ครั้ง ที่สาวมอญได้ถวายสักการะอย่างสูงสุดต่อสมาชิกในราชวงศ์ของไทย ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เส็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดคงคาราม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สาวมอญได้หมอบรอรับเสด็จสองข้างทางตั้งแต่ประตูรถพระที่นั่งจอดเทียบไปจนถึงปะรำพิธี โดยปลดมวยผมสยายลงถวายสักการะให้แด่สมเด็จพระเทพฯได้เสด็จพระราชดำเนินผ่าน ครั้งที่สอง ชาวมอญตั้งใจปฏิบัติถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาในงาน ไทยรามัญเทิดพระเกียรติพระมิ่งมณีจักรีวงศ์ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้จัดงานเสนอปรับเปลี่ยนให้สาวมอญเพียงแต่ปลดผ้าสไบจากไหล่ปูลาดรองพระบาทให้พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินแทน

 


สาวมอญสยายผม รองพระบาทสมเด็จพระเทพฯ วัดคงคาราม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พ.ศ. ๒๕๒๐

ประเพณีสยายผมรองพระบาทหรือเช็ดพระบาทของมอญนั้นมีมาช้านานแล้ว ชาวมอญถือเป็นการถวายความเคารพอย่างยิ่ง ด้วยการนำสิ่งสูงสุดของร่างกายตนที่ถือเป็น ศรี แด่เจ้าของกายสยายลาดปูให้สมณสงฆ์ กษัตริย์ ตลอดจนราชวงศ์เหยียบย่าง แม้สถาบันกษัตริย์ราชวงศ์ของมอญจะไม่ปรากฏอยู่แล้วในวันนี้ แต่ชาวมอญในเมืองไทยยังคงปฏิบัติบูชากับราชวงศ์ไทยสืบมาไม่เสื่อมคลาย
 


สาวมอญปลดสไบ จากไหล่รองพระบาทสมเด็จพระเทพฯ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
พ.ศ. ๒๕๔๗

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์