Skip to main content

องค์ บรรจุน

“ทะแยมอญ” เป็นการละเล่นพื้นบ้านของมอญอย่างหนึ่ง สำหรับท่านที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน คงหลับตานึกภาพไม่ออก แต่อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า เป็นการแสดงที่ให้อารมณ์คล้ายๆ การแสดงลำตัดของไทย เป็นการร้องโต้ตอบด้วยปฏิภาณกวี มีทั้งเรื่องธรรมและเกี้ยวพาราสีของนักแสดงชายหญิงประกอบวงมโหรีมอญ คนที่ฟังไม่ออกก็อาจเฉยๆ แต่หากเป็นคนมอญรุ่นที่หิ้วเชี่ยนหมากมานั่งฟังด้วยแล้วละก็ เป็นได้เข้าถึงอารมณ์เพลง ต้องลุกขึ้นร่ายรำตามลีลาของมโหรี หรือบางช่วงอาจเพลินคารมพ่อเพลงแม่เพลงที่โต้กลอนกันถึงพริกถึงขิง อาจต้องหัวเราะน้ำหมากกระเด็นไปหลายวาทีเดียว

20080125 ทะแยมอญบ้านเจ็ดริ้ว ถ่ายเมื่อราวปี 2500
ทะแยมอญบ้านเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ถ่ายเมื่อราวปี 2500

“ทะแยมอญ” เป็นชื่อที่คนไทยเรียกการละเล่นอย่างหนึ่งของคนมอญ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำในภาษามอญว่า แต็ะแหฺย็ะฮ์ หมายถึงการขับร้อง ทะแยมอญเป็นการละเล่นหรือการแสดงของชาวมอญที่มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ (ร้องโต้ตอบกัน) คล้ายกับการเล่นเพลงพื้นเมืองของไทย เช่น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว และเพลงเรือ แต่ไม่มีการร้องหยาบคาย โดยจะมีผู้ร้องชายหญิงโต้ตอบกันเป็นคู่ ๆ ประกอบการร่ายรำ สำหรับคำร้องนั้นเป็นภาษามอญ แต่ในปัจจุบันมีการประยุกต์คำร้องให้มีภาษาไทยปน มักใช้กับทำนองเพลงสมัยใหม่ เช่น เพลงลูกทุ่ง เป็นต้น (พระมหาจรูญ ญาณจารี : www.monstudies.com )

เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการละเล่นทะแยมอญ เป็นวงมโหรีเครื่องสายมอญ ซึ่งประกอบด้วยดนตรี ๕ ชิ้น ได้แก่ ซอมอญ (โกร่) จะเข้มอญ (กฺยาม) ขลุ่ย (อะโลด) เปิงมาง (ปุงตัง) และฉิ่ง (คะเด) และเนื่องจากปัจจุบันได้มีการประยุกต์เอาทำนองเพลงสมัยใหม่มาใช้ นักดนตรีจึงเพิ่มซอด้วงเพื่อทำทำนองอีก ๑ ชิ้น และในบางครั้งอาจเพิ่มฉาบเล็ก กรับ และกลองรำวง สำหรับเป็นเครื่องประกอบจังหวะอีกด้วย

แต่เดิมวงทะแยมอญใช้เป็นมหรสพได้ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล โดยผู้ร้องจะปรับเนื้อหาของคำร้องให้เข้ากับงานแต่ละประเภท เช่น งานศพ ก็จะร้องพรรณนาคุณงามความดีของผู้ตาย งานแต่งงานก็จะร้องพรรณนาประวัติของบ่าวสาว ให้คติการครองเรือนและสิ่งที่ควรปฏิบัติต่อกัน จบด้วยการอวยพรคู่บ่าวสาว ส่วนงานที่เกี่ยวกับศาสนาก็จะร้องพรรณนาถึงอานิสงส์ของการทำบุญ และประวัติความเป็นมาของงานเทศกาล เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง เนื้อหากล่าวถึงตั้งแต่หลักธรรม และการดำเนินชีวิต

20080125 วงมโหรีมอญ หงส์ฟ้ารามัญ บ้านบางกระดี่ กรุงเทพฯ
วงมโหรีมอญ หงส์ฟ้ารามัญ บ้านบางกระดี่ กรุงเทพฯ งานเทิดพระเกียรติพระมิ่งมณีจักรีวงศ์ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ

บทร้องนั้นเดิมจะร้องโต้ตอบกันด้วยปฏิภาณกวี มีทั้งที่เล่าเป็นเรื่องราว และการเกี้ยวพาราสีกัน ปัจจุบันผู้แสดงจะร้องด้วยการจำเนื้อร้องเป็นบท และใช้ร้องซ้ำๆ เนืองจากปัจจุบันอาชีพไม่สามารถยึดการแสดงทะแยมอญเป็นอาชีพหลัก หรือรวมตัวกันซ้อมหลังเลิกงานในไร่นาได้อีก เนื่องจากสภาพชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ความนิยมลดน้อยลง โอกาสในการแสดงจึงมีน้อย

20080125 วงมโหรีและทะแยมอญ บ้านไร่เจริญผล ในงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ 60 ลพบุรี
วงมโหรีและทะแยมอญ บ้านไร่เจริญผล สมุทรสาคร ในงานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ 60 จังหวัดลพบุรี

ปัจจุบันการแสดงทะแยมอญในเมืองไทยเหลือที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น มีเพียงวงเดียวและยังเปิดรับการแสดงอยู่ คือวงหงส์ฟ้ารามัญ บ้านบางกระดี่ กรุงเทพฯ ที่ใช้การร้องด้วยปฏิภาณกวีแต่ก็มีแบบบทท่องจำด้วย ซึ่งได้รับความนิยมมาก มีการว่าจ้างไปทำการแสดงยังชุมชนมอญต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนวงทะแยมอญอื่นๆ ในเมืองไทยที่เคยมีก็ต่างโรยราลงไป ด้วยเหตุผลทางธุรกิจและขาดผู้สืบทอด ยังมีวงทะแยมอญที่พอนึกออกอีก ๓ แห่ง ได้แก่ บ้านเจ็ดริ้ว และบ้านไร่เจริญผล สมุทรสาคร และบ้านกระทุ่มมืด รอยต่อนครปฐมและนนทบุรี ซึ่งนักแสดงล้วนเป็นผู้สูงอายุ ที่ล้มหายตายจากไปก็มาก บางรายเครื่องดนตรียังอยู่ดีแต่เรี่ยวแรงจะดีดสีไม่มีแล้ว นางเอกประจำวงจะยืนร้องนานๆ ก็ไม่ไหว เรี่ยวแรงที่จะต่อล้อต่อเถียง เท้าสะเอวชี้หน้าพระเอกก็ลำบาก นักดนตรีสีซอกันไปร้องกันไปลูกหลานต้องคอยส่งยาดมชงยาหอมให้เป็นระยะๆ เพราะอายุนักแสดงจำนวนไม่ถึงสิบคนแต่อายุรวมกันเกือบพันปีอยู่รอมร่อ

วงทะแยมอญที่ชวนไปดูในครั้งนี้ไม่ใช่หงส์ฟ้ารามัญ แต่เป็นวงบ้านไร่เจริญผล สถานที่ๆ จะจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญ ในวันที่ ๒-๓ กุมภาพันธ์นี้ เป็นวงเก่าแก่วงหนึ่ง ที่มีนักดนตรีมือดี นักร้องเสียงใสและไหวพริบปฏิภาณยอดเยี่ยม แถมยังมีการฝึกลูกหลานเอาไว้ในวงหลายคน แต่เดิมจะได้ดูทะแยมอญกันทีก็ต้องตรุษสงกรานต์หรืองานศพพระผู้ใหญ่ แต่คราวนี้ชวนไปดูเนื่องจากมีงานสำคัญ คืองานวันรำลึกชนชาติมอญ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๖๑ แล้ว โดยชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้จัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปทุกจังหวัดที่มีชุมชนมอญ (ราว ๓๕ จังหวัด) และชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศจะเดินทางมาร่วมงาน ซึ่งไม่ได้มามือเปล่า ยังแห่กองผ้าป่ามาร่วมทำบุญร่วมกับวัดที่เป็นเจ้าภาพ นำอาหารและการแสดงมาร่วมด้วย ซึ่งเป้าหมายสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญที่มาในงานนี้คือ เพื่อทำบุญอุทิศกุศลแด่บรรพชนมอญผู้ล่วงลับ แต่ครั้งนี้อาจพิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะชาวไทยเชื้อสายมอญทั่วประเทศจะร่วมจิตร่วมใจกันทำบุญอุทิศพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยดวงใจที่เปี่ยมรักและอาลัยมิรู้คลาย

งานวันรำลึกชนชาติมอญทุกครั้งที่ผ่านมา จึงมิได้มีแต่ทะแยมอญเก่าแก่ที่หาชมยากและอยากชี้ชวนให้ไปดูเท่านั้น ยังละลานตาด้วยภาพพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่มีชีวิต ชาวมอญจากหลากหลายลุ่มน้ำล้วนแต่งกายสวยงามตามเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของตน สวมโสร่งนุ่งซิ่นเกล้าผมห่มสไบ สดับสุ้มเสียงสำเนียงมอญ ชิมอาหาร และชมการแสดงหลากหลายลุ่มน้ำ ที่มารวมตัวประชันให้ชมกันเต็มอิ่มเกินบรรยาย

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์