องค์ บรรจุน
วงดนตรีพื้นเมืองของแต่ละชาติย่อมมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่กระนั้นวงดนตรีที่อยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงกัน ไม่ว่าพม่า มอญ ไทย ลาว เขมร ย่อมมีความคล้ายคลึงกันเพราะต่างได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะดนตรีมอญกับไทยมีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งเครื่องดนตรีและทางดนตรี เหตุเพราะไทยรับเอาอิทธิพลของดนตรีมอญมาไม่น้อย ในเมืองไทยจึงมีเพลงมอญเก่าแก่หลงเหลืออยู่มากมาย เช่น แประมังพลูทะแย กชาสี่บท ดอมทอ ขะวัวตอฮ์ เมี่ยงปล่ายหะเลี่ย เป็นต้น [1] รวมทั้งครูเพลงมอญในเมืองไทยยังได้มีการแต่งเพลงไทยสำเนียงมอญขึ้นมาอีกมากมาย เช่น มอญรำดาบ มอญดูดาว (เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มอญอ้อยอิ่ง มอญแปลง มอญนกขมิ้น กราวมอญรำ เป็นต้น และสิ่งที่โดดเด่นของดนตรีมอญ คือ วงปี่พาทย์มอญ อันเป็นที่นิยมมาทุกยุคทุกสมัย
ปี่พาทย์มอญ "ดนตรีเสนาะ ศิษย์ครูเจิ้น" จังหวัดปทุมธานี
สมัยกรุงธนบุรีนั้นมีหลักฐานปรากฎตามหมายรับสั่งในงานฉลองพระแก้วมรกตว่า
“…ในระยะที่ว่างนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พิณพาทย์ไทย พิณพาทย์ รามัญ และมโหรีไทยมโหรีแขก ฝรั่ง มโหรีจีน ญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช ๒ เดือนกัน ๑๒ วัน พระราชทานเบี้ยเลี้ยงผู้ที่มาเล่นนั้น หมื่นราชาราชมโหรีไทย ชาย ๒ หญิง ๔ พระยาธิเบศรบดีมโหรีแขก ๒ มโหรีฝรั่ง ๓ พระยาราชาเศรษฐีองเชียงชุนมโหรีญวน พระยาราชาเศรษฐีจีน มโหรีจีน ๖ พระยารามัญวงศ์มโหรีมอญ คนเพลงชาย ๒ หญิง ๔ พิณพาทย์ ๙ หลวงพิพิทวาทีมโหรีเขมร ชาย ๔ หญิง ๓ หมื่นเสนาะภูบาลพิณพาทย์ไทย ๕ รามัญ ๕ ลาว ๑๒…” [2]
วงปี่พาทย์มอญมีเครื่องดนตรีบรรเลงเทียบได้กับวงปี่พาทย์เครื่องห้าของไทย ได้แก่
(๑) ปี่มอญ มีรูปร่างคล้ายปี่ชวา แต่ขนาดใหญ่กว่า และมีลำโพงทำด้วยทองเหลือง ครอบต่ออยู่ตรงปลายปี่
(๒) ระนาดเอก มีลักษณะรูปร่างเหมือนของไทย
(๓) ฆ้องมอญ ลักษณะของวงฆ้องจะโค้งขึ้นทั้ง ๒ ข้าง ตัวร้านฆ้องแกะสลักลวดลายปิดทอง ประดับกระจกงดงาม ทางด้านซ้ายของคนตีมักแกะเป็นรูปกินนรจับนนาค เรียกว่าหน้าพระ
(๔) ตะโพนมอญ รูปร่างคล้ายตะโพนไทย แต่ใหญ่กว่า และตรงกลางหุ่นป่องน้อยกว่า ใช้บรรเลงผสมในวงปีพาทย์มอญ มีหน้าที่บรรเลงหน้าทับ กำกับจังหวะต่างๆ
(๕) เปิงมางคอก มีหลายลูก โดยมากจะมี ๗ ลูก เทียงเสียงสูงต่ำเรียงลำดับกันไป แขวนกับคอกเป็นวง ล้อมตัวผู้ตี
นอกจากนี้ยังมีเครื่องประกอบจังหวะ คือ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง ซึ่งมี ๓ ลูก มีเสียงสูงต่ำเป็น ๓ เสียง บรรเลงรวมกันเรียกว่า วงปี่พาทย์มอญ
ปี่พาทย์มอญ "ดุริยปราณีต" บางลำพู กรุงเทพฯ งาน ๕ ธันวามหาราช ปี ๒๕๔๘ ณ ท้องสนามหลวง
วงปี่พาทย์มอญ เป็นวงดนตรีที่นิยมเล่นทั้งงานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป แต่ภายหลังมีการนำวงปี่พาทย์มอญไปบรรเลงในงานพระศพของสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงดำริว่า สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์นั้นเป็นเชื้อสายมอญโดยตรง จึงโปรดฯ ให้นำวงปี่พาทย์มอญมาบรรเลง และด้วยเหตุนี้เองภายหลังจากงานพระศพดังกล่าว จึงได้เกิดเป็นค่านิยมว่า หากเป็นงานศพผู้ดีจะต้องมีปี่พาทย์มอญบรรเลงด้วย [3] จนกลายเป็นธรรมเนียมยึดถือกันในเวลาต่อมาในหมู่ชาวไทย ซึ่งไม่เฉพาะแต่ศพผู้ดีเท่านั้นแม้ศพของสามัญชนทั่วไปก็เชื่อถืออย่างเดียวกันว่า ปี่พาทย์มอญนั้นใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น และพาลเกิดความเชื่อตามมาว่าวงดนตรีปี่พาทย์มอญเป็นสิ่งอัปมงคล หากไม่มีงานศพหรือคนตายแล้ว ห้ามเอาขึ้นบ้านเรือนผู้ใด เพราะเชื่อว่าจะเป็นลางไม่ดี [4]
ฆ้องมอญด้านข้าง แกะสลักรูปกินนรจับนาค
ไม่เพียงแต่การบรรเลงวงปี่พาทย์มอญเท่านั้น ที่เกิดเป็นค่านิยมว่าเป็นวงดนตรีที่ใช้เฉพาะงานอัปมงคล แม้แต่เสียงดนตรีที่เกิดจากการบรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ยังถูกเหมารวมไปด้วย ได้แก่ เสียงของ “ตะโพนมอญ” ซึ่งมีเสียงดังกังวาลลึกกว่าตะโพนไทย หน้าใหญ่ภาษามอญเรียกว่า "เมิ่กโหน่ก" และในภาษาไทยเรียกว่า "หน้าเทิ่ง" หรือ "หน้าเท่ง" ส่วนหน้าเล็กภาษามอญเรียกว่า "เมิ่กโด้ด" และในภาษาไทยเรียกว่า “หน้าทึง” เนื่องจากเวลาตีตะโพนแล้วเสียงที่ได้คือ “เท่ง-ทึง” เช่นนี้เอง ประกอบกับผู้คนมักได้ยินเสียงตะโพนมอญในงานศพเสมอ จึงเกิดเป็นคำเรียกคนตายในอีกความหมายหนึ่งว่า “เท่งทึง” [5]
ตะโพนมอญ ที่มาของคำว่า "เท่งทึง"
ความเป็นจริงนั้นก็ด้วยเหตุผลที่ได้แจ้งแล้วข้างต้นแล้วว่า ปี่พาทย์มอญบรรเลงได้ทั้งงานมงคล และงานอวมงคล (งานศพ) ทั่วไป อย่างเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ในงาน ๕ ธันวามหาราช ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้นำวงปี่พาทย์มอญ มอญรำ และนักร้องเพลงมอญ ไปแสดงบนเวทีกลางท้องสนามหลวงเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มิได้มีปัญหาแต่อย่างใด ทางราชสำนัก สำนักพระราชวัง และมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช มิได้มีคำถามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสถาบันเหล่านี้เข้าใจดี ในหมู่คนมอญก็ยังมีค่านิยมแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง การที่คนไทยรับปี่พาทย์มอญไปแสดงนับเป็นสิ่งที่ดี วัฒนธรรมการดนตรีจะได้ไม่หยุดนิ่ง มีพัฒนาการ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่อย่างน้อยควรมีคำอธิบายความหมายที่มาที่ไปให้ได้รู้กัน ลองคิดกันดูเล่นๆ หากใครสักคนคิดตั้งวงปี่พาทย์มอญขึ้นมา และยึดถือเป็นอาชีพของครอบครัว ปีหนึ่งๆ รับแต่งานศพ มันจะไปพอกินอะไร คงต้องลุกขึ้นมานั่งแช่งชักหักกระดูกให้ผู้คนล้มตายกันทุกวัน “จะได้งานเข้า”
----------
1 ไพโรจน์ บุญผูก. (๒๕๓๗). ปี่พาทย์-มอญรำ. ใน สยามอารยะ. ๒(๒๓). หน้า ๕๒.
2 กรมหลวงนรินทรเทวี. (๒๕๔๖). อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันลงมากรุงธนบุรี. ใน ศิลปวัฒนธรรม. หน้า ๑๔๑.
3 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; และ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. (๒๕๐๕). สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๑๘. หน้า ๑๐๗.
4 อนันต์ สบฤกษ์. (๒๕๕๑). เพลงพื้นบ้าน ‘กันตรึม’ ในกระแสการเปลี่ยนแปลง. ใน เอกสารประกอบการบรรยายประชุมวิชาการ, แผนที่วัฒนธรรม: เครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ชายแดน. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๑. เอกสารอัดสำเนา.
5 สมภพ ภิรมย์. (๒๕๒๕). มอญ. ใน รวมเกล็ดพงศาวดารและประวัติศาสตร์ชนชาติมอญ. บรรณานุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพรองอำมาตย์โท ขุนอาโภคคดี (เพิ่ม หลักคงคา). หน้า ๗๓.