Skip to main content

องค์ บรรจุน

วงดนตรีพื้นเมืองของแต่ละชาติย่อมมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่กระนั้นวงดนตรีที่อยู่ในภูมิภาคใกล้เคียงกัน ไม่ว่าพม่า มอญ ไทย ลาว เขมร ย่อมมีความคล้ายคลึงกันเพราะต่างได้รับอิทธิพลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะดนตรีมอญกับไทยมีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งเครื่องดนตรีและทางดนตรี เหตุเพราะไทยรับเอาอิทธิพลของดนตรีมอญมาไม่น้อย ในเมืองไทยจึงมีเพลงมอญเก่าแก่หลงเหลืออยู่มากมาย เช่น แประมังพลูทะแย กชาสี่บท ดอมทอ ขะวัวตอฮ์ เมี่ยงปล่ายหะเลี่ย เป็นต้น [1] รวมทั้งครูเพลงมอญในเมืองไทยยังได้มีการแต่งเพลงไทยสำเนียงมอญขึ้นมาอีกมากมาย เช่น มอญรำดาบ มอญดูดาว (เพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มอญอ้อยอิ่ง มอญแปลง มอญนกขมิ้น กราวมอญรำ เป็นต้น และสิ่งที่โดดเด่นของดนตรีมอญ คือ วงปี่พาทย์มอญ อันเป็นที่นิยมมาทุกยุคทุกสมัย

ปี่พาทย์มอญ

ปี่พาทย์มอญ "ดนตรีเสนาะ ศิษย์ครูเจิ้น" จังหวัดปทุมธานี

สมัยกรุงธนบุรีนั้นมีหลักฐานปรากฎตามหมายรับสั่งในงานฉลองพระแก้วมรกตว่า
“…ในระยะที่ว่างนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พิณพาทย์ไทย พิณพาทย์ รามัญ และมโหรีไทยมโหรีแขก ฝรั่ง มโหรีจีน ญวน เขมร ผลัดเปลี่ยนกันสมโภช ๒ เดือนกัน ๑๒ วัน พระราชทานเบี้ยเลี้ยงผู้ที่มาเล่นนั้น หมื่นราชาราชมโหรีไทย ชาย ๒ หญิง ๔ พระยาธิเบศรบดีมโหรีแขก ๒ มโหรีฝรั่ง ๓ พระยาราชาเศรษฐีองเชียงชุนมโหรีญวน พระยาราชาเศรษฐีจีน มโหรีจีน ๖ พระยารามัญวงศ์มโหรีมอญ คนเพลงชาย ๒ หญิง ๔ พิณพาทย์ ๙ หลวงพิพิทวาทีมโหรีเขมร ชาย ๔ หญิง ๓ หมื่นเสนาะภูบาลพิณพาทย์ไทย ๕ รามัญ ๕ ลาว ๑๒…” [2]

วงปี่พาทย์มอญมีเครื่องดนตรีบรรเลงเทียบได้กับวงปี่พาทย์เครื่องห้าของไทย ได้แก่
(๑) ปี่มอญ มีรูปร่างคล้ายปี่ชวา แต่ขนาดใหญ่กว่า และมีลำโพงทำด้วยทองเหลือง ครอบต่ออยู่ตรงปลายปี่
(๒) ระนาดเอก มีลักษณะรูปร่างเหมือนของไทย
(๓) ฆ้องมอญ ลักษณะของวงฆ้องจะโค้งขึ้นทั้ง ๒ ข้าง ตัวร้านฆ้องแกะสลักลวดลายปิดทอง ประดับกระจกงดงาม ทางด้านซ้ายของคนตีมักแกะเป็นรูปกินนรจับนนาค เรียกว่าหน้าพระ
(๔) ตะโพนมอญ รูปร่างคล้ายตะโพนไทย แต่ใหญ่กว่า และตรงกลางหุ่นป่องน้อยกว่า ใช้บรรเลงผสมในวงปีพาทย์มอญ มีหน้าที่บรรเลงหน้าทับ กำกับจังหวะต่างๆ
(๕) เปิงมางคอก มีหลายลูก โดยมากจะมี ๗ ลูก เทียงเสียงสูงต่ำเรียงลำดับกันไป แขวนกับคอกเป็นวง ล้อมตัวผู้ตี
นอกจากนี้ยังมีเครื่องประกอบจังหวะ คือ ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง ซึ่งมี ๓ ลูก มีเสียงสูงต่ำเป็น ๓ เสียง บรรเลงรวมกันเรียกว่า วงปี่พาทย์มอญ

ปี่พาทย์มอญ บางลำพู
ปี่พาทย์มอญ "ดุริยปราณีต" บางลำพู กรุงเทพฯ งาน ๕ ธันวามหาราช ปี ๒๕๔๘ ณ ท้องสนามหลวง

วงปี่พาทย์มอญ เป็นวงดนตรีที่นิยมเล่นทั้งงานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป แต่ภายหลังมีการนำวงปี่พาทย์มอญไปบรรเลงในงานพระศพของสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงดำริว่า สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์นั้นเป็นเชื้อสายมอญโดยตรง จึงโปรดฯ ให้นำวงปี่พาทย์มอญมาบรรเลง และด้วยเหตุนี้เองภายหลังจากงานพระศพดังกล่าว จึงได้เกิดเป็นค่านิยมว่า หากเป็นงานศพผู้ดีจะต้องมีปี่พาทย์มอญบรรเลงด้วย [3] จนกลายเป็นธรรมเนียมยึดถือกันในเวลาต่อมาในหมู่ชาวไทย ซึ่งไม่เฉพาะแต่ศพผู้ดีเท่านั้นแม้ศพของสามัญชนทั่วไปก็เชื่อถืออย่างเดียวกันว่า ปี่พาทย์มอญนั้นใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น และพาลเกิดความเชื่อตามมาว่าวงดนตรีปี่พาทย์มอญเป็นสิ่งอัปมงคล หากไม่มีงานศพหรือคนตายแล้ว ห้ามเอาขึ้นบ้านเรือนผู้ใด เพราะเชื่อว่าจะเป็นลางไม่ดี [4]

ภาพฆ้องมอญด้านข้าง แกะสลักรูปกินนรจับนาค
ฆ้องมอญด้านข้าง แกะสลักรูปกินนรจับนาค

ไม่เพียงแต่การบรรเลงวงปี่พาทย์มอญเท่านั้น ที่เกิดเป็นค่านิยมว่าเป็นวงดนตรีที่ใช้เฉพาะงานอัปมงคล แม้แต่เสียงดนตรีที่เกิดจากการบรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ ยังถูกเหมารวมไปด้วย ได้แก่ เสียงของ “ตะโพนมอญ” ซึ่งมีเสียงดังกังวาลลึกกว่าตะโพนไทย หน้าใหญ่ภาษามอญเรียกว่า "เมิ่กโหน่ก" และในภาษาไทยเรียกว่า "หน้าเทิ่ง" หรือ "หน้าเท่ง" ส่วนหน้าเล็กภาษามอญเรียกว่า "เมิ่กโด้ด" และในภาษาไทยเรียกว่า “หน้าทึง” เนื่องจากเวลาตีตะโพนแล้วเสียงที่ได้คือ “เท่ง-ทึง” เช่นนี้เอง ประกอบกับผู้คนมักได้ยินเสียงตะโพนมอญในงานศพเสมอ จึงเกิดเป็นคำเรียกคนตายในอีกความหมายหนึ่งว่า “เท่งทึง” [5]

 

ตะโพนมอญ ที่มาของคำว่า
ตะโพนมอญ ที่มาของคำว่า "เท่งทึง"

 

ความเป็นจริงนั้นก็ด้วยเหตุผลที่ได้แจ้งแล้วข้างต้นแล้วว่า ปี่พาทย์มอญบรรเลงได้ทั้งงานมงคล และงานอวมงคล (งานศพ) ทั่วไป อย่างเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ในงาน ๕ ธันวามหาราช ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้นำวงปี่พาทย์มอญ มอญรำ และนักร้องเพลงมอญ ไปแสดงบนเวทีกลางท้องสนามหลวงเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มิได้มีปัญหาแต่อย่างใด ทางราชสำนัก สำนักพระราชวัง และมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช มิได้มีคำถามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสถาบันเหล่านี้เข้าใจดี ในหมู่คนมอญก็ยังมีค่านิยมแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง การที่คนไทยรับปี่พาทย์มอญไปแสดงนับเป็นสิ่งที่ดี วัฒนธรรมการดนตรีจะได้ไม่หยุดนิ่ง มีพัฒนาการ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่อย่างน้อยควรมีคำอธิบายความหมายที่มาที่ไปให้ได้รู้กัน ลองคิดกันดูเล่นๆ หากใครสักคนคิดตั้งวงปี่พาทย์มอญขึ้นมา และยึดถือเป็นอาชีพของครอบครัว ปีหนึ่งๆ รับแต่งานศพ มันจะไปพอกินอะไร คงต้องลุกขึ้นมานั่งแช่งชักหักกระดูกให้ผู้คนล้มตายกันทุกวัน “จะได้งานเข้า”

----------
1 ไพโรจน์ บุญผูก. (๒๕๓๗). ปี่พาทย์-มอญรำ. ใน สยามอารยะ. ๒(๒๓). หน้า ๕๒.
2 กรมหลวงนรินทรเทวี. (๒๕๔๖). อัญเชิญพระแก้วมรกตจากเวียงจันลงมากรุงธนบุรี. ใน ศิลปวัฒนธรรม. หน้า ๑๔๑.
3 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ; และ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. (๒๕๐๕). สาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๑๘. หน้า ๑๐๗.
4 อนันต์ สบฤกษ์. (๒๕๕๑). เพลงพื้นบ้าน ‘กันตรึม’ ในกระแสการเปลี่ยนแปลง. ใน เอกสารประกอบการบรรยายประชุมวิชาการ, แผนที่วัฒนธรรม: เครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ชายแดน. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๑. เอกสารอัดสำเนา.
5 สมภพ ภิรมย์. (๒๕๒๕). มอญ. ใน รวมเกล็ดพงศาวดารและประวัติศาสตร์ชนชาติมอญ. บรรณานุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพรองอำมาตย์โท ขุนอาโภคคดี (เพิ่ม หลักคงคา). หน้า ๗๓.

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าวัดชนะสงครามเป็นวัดมอญ ใช่ว่าคนสนใจประวัติศาสตร์จึงได้รู้ความเป็นมาของวัด แต่เป็นเพราะหน้าวัดมีป้ายโลหะสีน้ำตาลที่ทางการชอบปักไว้หน้าสถานที่ท่องเที่ยว ความระบุประวัติไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดของพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ (มอญ) แต่ก็ไม่แน่ใจนัก คนสมัยนี้อาจเข้าใจว่ามอญเป็นชื่อต้นไม้จำพวกเห็ดราปรสิตชนิดหนึ่งก็ได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความหมายจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดการตอบสนอง นับแต่โบราณกาลมีตั้งแต่การสุมไฟให้เกิดควัน นกพิราบสื่อสาร ปัจจุบันการสื่อสารมีหลายวิธีรวดเร็วทันใจมากขึ้น อาจเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม ระบบโทรคมนาคม หรือการสื่อสารระบบเครือข่ายที่อาศัยดาวเทียมและสายเคเบิลใยแก้ว ที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต ก็ได้ ส่วนภาษาที่มาพร้อมกับวิธีการสื่อสารเหล่านั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง มีการหยิบยืมคำในภาษาอื่น เปลี่ยนรูปแบบและความหมายตลอดเวลา…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการหาที่เก็บของเก่าก็ตาม แต่จากประสบการณ์ที่ว่านี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังคิดทำพิพิธภัณฑ์ว่าจะใช้เก็บของเก่าหรือใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเริ่มเห็นคุณค่าท้องถิ่นของตน การตัดสินใจเกี่ยวกับท้องถิ่นจึงควรมาจากท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน     หญ้าขัดมอญ เป็นพืชล้มลุก ทรงพุ่มเตี้ย ตระกูลเดียวกับชบา ขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ต้องปลูกและดูแลรักษา คนในสังคมเมืองคงไม่คุ้นชื่อคุ้นต้นไม้ชนิดนี้ หลายคนเห็นเป็นวัชพืชอย่างหนึ่งที่ต้องกำจัด นอกจากบางคนที่ช่างสังเกตธรรมชาติรอบตัวก็อาจจะพบว่า หญ้าขัดมอญ เป็นไม้พุ่มเตี้ยแตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบเล็กเรียวเขียวเข้ม ยิ่งเวลาออกดอก สีเหลืองอ่อนหวานพราวพรายรายเรียงอยู่ทั่วทุกช่อใบ ชวนมองไม่น้อย แถมมีประโยชน์ในครัวเรือนหลายอย่าง ทั้งด้านการใช้สอยและสรรพคุณทางสมุนไพร
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการนำการเสนอโครงการวิจัย ชุด "โครงการประเทศพม่าศึกษา" ชื่อหัวข้อวิจัย คือ "มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐพม่าบนพื้นที่สื่อรัฐบาลทหาร" ที่ผ่านการอนุมัติจากสกว.
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน ๗ กรกฏาคม ที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา รุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษา วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เมื่อมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ผู้คนจึงออกต่างจังหวัดกันมาก ถนนช่วงนั้นจึงโล่งอย่างเทศกาลใหญ่ๆ ทุกครั้ง เปิดทีวีมีแต่ข่าวขบวนแห่เทียนเข้าพรรษากันทัวประเทศ ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ แปลกเท่าไหร่ยิ่งดี บางจังหวัดไม่เคยจัดก็สู้อุตส่าห์ซื้อช่างแกะเทียนค่าตัวแพงลิบมาจากอุบลราชธานี กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนทำเทียนเข้าพรรษาเพื่อขายการท่องเที่ยว ไม่ได้ถวายให้พระใช้งานจริงขณะนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. ผมนั่งอยู่โคนต้นอโศกอินเดียภายในวัดชนะสงคราม ความคลุกคลีกับวัดวามานานจึงพาลห่างวัด…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนบทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาตั้งชื่อเลียน "ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ" เพราะในภาพยนตร์นั้น เจ้าของกล้องกดชัตเตอร์ติดวิญญาณผีที่เขาขับรถชนและหนีไป ทว่าในที่สุดวิญญาณก็ตามทวงเอาชีวิต ซึ่งต่างจากบทความนี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก เจ้าของกล้องถ่ายภาพนับร้อยที่กดชัตเตอร์ใส่ผีตนหนึ่ง คล้ายมหรสพที่นักการเมืองจัดให้ชาวบ้านในฤดูหาเสียง แต่ที่ร้ายก็คือ อำนาจของชัตเตอร์กลับสะกดให้ผีตกอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์อย่างที่ผีไม่สามารถเอาคืนได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน แค่อ่านชื่อเรื่องหลายคนคงรู้จักคุ้นเคยกันดีว่านี่คือเนื้อเพลง “สยามเมืองยิ้ม” สำหรับคนที่เป็นคอลูกทุ่งยิ่งต้องรู้ว่า เพลงนี้ขับร้องโดยราชินีเพลงลูกทุ่งผู้ล่วงลับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ส่วนผู้ประพันธ์เนื้อเพลงเป็นครูเพลงคู่บุญของเธอ ลพ บุรีรัตน์ 
ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในความเป็นชาติ รู้สึกทันทีว่าไพเราะกินใจ ซาบซึ้งไปกับบทเพลง ยิ่งฟังยิ่งเพราะ ขนาดที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยส่งเทปจัดรายการเพลงไปประกวดดีเจทางคลื่น “สไมล์เรดิโอ” ใช้เพลง “สยามเมืองยิ้ม” เป็นเพลงปิดรายการ ได้เข้ารอบแรกเสียด้วยแต่ตกรอบ ๒๐ คนสุดท้าย เพื่อนๆ ที่รอฟังและตามลุ้นพูดเหมือนกันว่า “สมควรแล้ว…
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน คนทั่วไปสับสนเกี่ยวกับลักษณะสายพันธุ์และชื่อเรียกของ "กระเจี๊ยบ" ว่าเป็นอย่างไรและเรียกว่าอะไรกันแน่ จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงที่มาและคุณค่ามากมายมหาศาลของกระเจี๊ยบบ้านมอญในชนบทหลายแห่งเคยมีต้นกระเจี๊ยบริมรั้ว ริมคลองหนองบึง สำรับกับข้าวเคยมีแกงกระเจี๊ยบไม่ขาด แต่ทุกวันนี้ "กระเจี๊ยบ" เริ่มเลือนหายไปจากชีวิต ชนิดที่ไม่มีใครอาลัยอาวรณ์นัก แม้แต่จะนึกถึงความหลังที่แกงกระเจี๊ยบเคยอยู่คู่ครัวมาแต่อ้อนแต่ออก
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า "ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."
องค์ บรรจุน
 องค์ บรรจุนธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ "ใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" หัวเรื่องที่จั่วไว้ด้านบนบทความนี้ ถือเป็นคุณสมบัติอันน่าภาคภูมิของคนไทยอย่างหนึ่ง คนไทยทั้งผองเชื่อกันว่าคนไทยมีข้อดีงามหลายอย่าง เป็นต้นว่า โอบอ้อมอารีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต ยิ้มสยาม หรือแม้แต่ "รักสามัคคี" และ "ไทยนี้รักสงบ..." ล้วนเป็นความดีเด่นประจำชนชาติไทยตามลัทธิอัตตานิยม "คนไทยดีที่สุดในโลก" ดังนั้นเมื่อหมอดูทำนายคนไทยหน้าไหนก็ตามว่าเป็นคนดีดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีใครปฏิเสธว่าหมอดูไม่แม่น
องค์ บรรจุน
ถุงผ้าไม่ได้ลดโลกร้อน เพราะการใช้ถุงผ้าตามกระแสโดยเข้าไม่ถึงหลักใหญ่ใจความ ขณะที่ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกยังคงเดิม คงไม่ต้องไปดูไหนไกลอื่น แค่เพียงเราสำรวจดูที่บ้านว่าเรามีถุงผ้าอยู่ในครอบครองกี่ใบ แต่ละวันที่เราออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือเวลาที่ตั้งใจไปจ่ายตลาด มีใครสักกี่คนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วย และในบรรดาคนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วยนั้น จะมีใครบ้างไหมที่ปฏิเสธแม่ค้าว่าไม่เอาถุงพลาสติก โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดสด "ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกชั่งน้ำหนักแล้วเทลงถุงผ้าเลย" อย่างน้อยการซื้อแกงถุงกลับบ้าน นอกจากถุงร้อนที่ใส่แกงแล้ว ยังมีถุงหูหิ้วสวมทับอีก ๑ ใบด้วยหรือไม่