Skip to main content

ขนิษฐา คันธะวิชัย

อากาศช่วงนี้ช่างร้อนระอุได้ใจยิ่งนัก แม้ว่าฝนจะตกลงมาอย่างหนักในบางที แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้หายร้อนแต่ประการใด

ร้อนๆ แบบนี้พาให้หงุดหงิดง่าย แต่พ่อฉันมักจะสอนว่า “นี่คือธรรมชาติที่มันต้องเกิด เราต้องเข้าใจธรรมชาติ คนที่ไม่เข้าใจและโมโห หงุดหงิดกับธรรมชาติคือคนเขลา และจะไม่มีความสุข”

*******************

สงกรานต์ปีนี้ ฉันและสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพออกเดินสายไปงานสงกรานต์มอญตามชุมชนมอญต่างๆ ในช่วงเทศกาลอย่างนี้เราได้นอนตากแอร์อยู่บ้านอ่านหนังสือน้อยมาก เพราะอย่างไรเสียเราก็ต้องไปช่วยงานกัน แม้เอาเข้าจริงตัวฉันเองจะทำได้แค่แต่งชุดมอญ ทำหน้าตาปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ เดินคุยกับคนโน้นทีคนนี้ทีเป็นสีสันให้ได้บรรยากาศแบบมอญๆ ในงานก็ตาม 

ช่วงที่ต้องออกงานสงกรานต์มอญนั้น ฉันตัวเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้เปียกน้ำที่เขาประพรมหรือสาดเล่นกัน หากแต่เปียกเหงื่อ เนื่องจากฉันต้องใส่เสื้อมอญแขนยาว (เพราะยังโสด หากแต่งงานแล้วจึงใส่เสื้อแขนยาวเพียงแค่ครึ่งข้อศอก) ห่มสไบและนุ่งซิ่นยาว แทบไม่ได้รับลมเลย แถมยังต้องตากแดด หรืออยู่กลางแจ้ง ทำให้มีเหงื่อซึมตลอดเวลา ซึ่งนี่ก็คือธรรมชาติในฤดูร้อน  แต่คนอื่นๆ ที่มาร่วมงานก็มิได้ย่อท้อต่อความร้อนจากธรรมชาติแห่งฤดูร้อนนี้ ยังคงแต่งชุดมอญมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ด้วยต้องการร่วมสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นและธำรงความเป็นมอญไว้

คนไทยเชื้อสายมอญที่ฉันได้พบนั้น ส่วนใหญ่จะมีสำนึกว่าตัวเอง “เป็นคนไทย” กันแล้ว อย่างไรก็ตามเขาก็ยังรู้ว่าตนเองมีเชื้อสายมอญ หรือเป็นคนมอญอยู่ นี่ทำให้ฉันนึกถึงทฤษฎีเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่บอกว่า “อัตลักษณ์นั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน” นอกจากนี้ “มอญ” เอง ก็ยังมีการแบ่งเป็น “มอญใน - มอญนอก” หรือ “มอญไทย–มอญมอญ” ซึ่งก็หมายถึง “มอญที่เป็นคนไทย” กับ “มอญที่เพิ่งมาจากพม่า” ซึ่งส่วนใหญ่จะมาเป็นแรงงานที่รัฐไทยเหมารวมว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั่นเอง (เห็นไหม โดนอัตลักษณ์อีกชุดทับซ้อน) เหล่านี้คือการแบ่งที่ได้ยินบ่อย จริงๆ แล้วยังมีการแบ่งที่ยิบย่อยกว่านี้ เช่น มอญแรงงาน มอญเก่า มอญใหม่ มอญเชื้อสายเจ้าเมืองมอญ มอญบ้านนอก ฯลฯ [1] อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแบ่งเป็นมอญกลุ่มต่างๆ ทั้งแบบที่ใช้ภูมิศาสตร์ ชนชั้นในสังคม หรือแบบที่ใช้ช่วงเวลาในการเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นตัวกำหนด แต่ฉันก็พบว่าชาวมอญยังมีสำนึกความเป็นมอญร่วมกันอยู่ ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวเชื่อมโยงสำนึกความเป็นมอญไว้ก็อาจมีหลายอย่าง เช่นภาษา การมีเชื้อสายมอญ [2] และประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกัน

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080425-071647.jpg
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ถ่ายภาพร่วมกับคณะกรรมการจัดงานสงกรานต์มอญบ้านมอญ นครสวรรค์

อาจเป็นเพราะการมีสำนึกความเป็นมอญร่วมกันอยู่นี่เอง ที่ทำให้มอญที่เป็น “ไทย” แล้ว กับมอญเมืองมอญ ยังมีปฏิสัมพันธ์และร่วมงานกันอยู่บ้าง เช่น การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมตามแนวชายแดน และกรณีของการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมมอญที่บ้านมอญ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งแกนนำชุมชนก็ได้รับความช่วยเหลือจากมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีความเป็นเครือญาติเชื่อมโยงกัน แต่ในส่วนของเครื่องแต่งกายนั้น ได้รับเอาการแต่งกายแบบมอญสังขละบุรี ที่ผู้ชายแต่งกายโดยใช้เสื้อพื้นขาว ตารางแดง โสร่งแดง ส่วนผู้หญิงแต่งกายโดยนุ่งซิ่นลายดอกพิกุล และคนในชุมชนก็ยอมรับว่า “นี่เป็นการแต่งกายแบบมอญแท้ๆ” ซึ่งฉันมองว่า นี่เป็นความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากมอญเมืองมอญ เพราะการแต่งกายแบบนี้มอญเมืองมอญเป็นผู้คิดค้นขึ้นใหม่ [3] และนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้ฉันที่ร่ำเรียนมานุษยวิทยาได้นึกถึงบทเรียนในวิชา “ธรรมชาติของวัฒนธรรม” ที่บอกว่าวัฒนธรรมมีการถ่ายเทถ่ายทอดซึ่งกันและกัน

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080425-071705.jpg
ลูกหลานมอญบ้านมอญ กับการแสดงมอญรำ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากนางปรุง วงศ์จำนง
ครูมอญรำจากเกาะเกร็ด

เรื่องการรับและถ่ายทอดทางวัฒนธรรมระหว่างมอญไทยกับมอญเมืองมอญนี้มีมานานแล้ว เรื่องที่ฉันมักจะได้ยินเสมอคือเรื่องการรับมอญรำ กล่าวคือย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วมอญเมืองมอญได้จ้างวงดนตรีมอญเมืองไทยไปเล่นที่มะละแหม่ง เพื่อเป็นการถ่ายทอดและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมมอญที่หายไปมากในพื้นที่นั้น ซึ่งทางวงดนตรีมอญที่ไปจากไทยนอกจากจะได้ช่วยฟื้นฟูดนตรีแล้ว ก็ได้ค้นพบท่ารำมอญจากมะละแหม่งมา 10 ท่า หลังจากนั้นก็ได้เพิ่มเข้าไปอีก 2 ท่า จนกลายเป็น “มอญรำ” อันเป็นแม่แบบของมอญรำที่เกาะเกร็ด และถ่ายทอดสู่ชุมชนมอญอีกหลายแห่งในทุกวันนี้ [4]

จะเห็นได้ว่ามอญในเมืองไทยและมอญที่มาจากพม่า ก็มีการติดต่อกันเป็นปกติตั้งแต่สมัยก่อนเรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องของการธำรงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม อย่างในงานใหญ่ประจำปีที่ทางชมรมเยาวชนมอญจัดคือ “วันรำลึกชนชาติมอญ” ก็เป็นงานที่เน้นด้านประเพณี วัฒนธรรม มีการทำบุญให้บรรพบุรุษ ร้องเพลงลูกทุ่งในเนื้อภาษามอญ เล่นสะบ้า ร้องรำดนตรีพื้นบ้านมอญ ส่วนมอญเมืองมอญที่มาร่วมงานนั้น ก็มาร่วมงานในส่วนการจัดเตรียมสถานที่ ร่วมการแสดงทางวัฒนธรรม ร่วมทำบุญให้บรรพบุรุษ มาฟัง มาพูดภาษามอญให้รู้สึกอบอุ่นใจเท่านั้น ซึ่งฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “ธรรมชาติของวัฒนธรรม” คือเป็นธรรมดาที่คนมาอยู่ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมจะมีความโหยหาวัฒนธรรมของตนเอง เมื่อมีการจัดงานประเพณีมอญขึ้นมา แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นชาวมอญมาร่วมงานบ้าง ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่กระนั้นก็ยังโดนมองว่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080425-071729.jpg
มอญรำจากเมืองมะละแหม่ง (ประเทศพม่า) สายใยมอญ 2 เมือง ในงานศพพระสงฆ์มอญจังหวัดปทุมธานี

ฉันนึกไม่ออกว่างานทำบุญ งานร้องรำทำเพลงอย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้อย่างไร หรือจะเป็นเพราะว่าเขามองจากข้างนอก ซึ่งเป็นคนละมุมกับฉัน เข้าทำนอง “สองคนยลตามช่อง” คือมองของสิ่งเดียวกัน มองปรากฎการณ์เดียวกัน แต่มองมาจากคนละช่อง ฉันเห็นด้านหนึ่ง เขาเห็นอีกด้านหนึ่ง

วันนี้ฉันได้หยุดอยู่บ้านเขียนงาน อ่านหนังสือ ซึ่งหนังสือที่ได้อ่านคือ In the Balance เป็นหนังสือที่รายงานเกี่ยวกับผลกระทบที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับจากการสร้างเขื่อนสาละวิน จัดทำโดยองค์กรเยาวชนมอญก้าวหน้า (แน่นอนว่าคนละองค์กรกับชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ) รายละเอียดเป็นอย่างไร ไว้ค่อยพูดถึงกันทีหลัง แต่ครั้งนี้ฉันสนใจบทสัมภาษณ์ชาวบ้านริมแม่น้ำสาละวินบทหนึ่ง มีใจความว่า

“จริงๆ แล้วเราทำนายได้ว่าฤดูฝนจะมาช้าหรือเร็ว น้ำขึ้นลงเมื่อไหร่ ถ้าหากว่าฝนตกก่อนสงกรานต์แสดงว่าปีนี้ฤดูฝนจะมาเร็ว แต่ถ้าหากฝนตกหลังสงกรานต์แสดงว่าปีนี้ฤดูฝนจะมาช้า แต่ไม่ว่าจะอย่างไรฝนก็ต้องมาหลังจากสงกรานต์ประมาณ 40 วันแน่ๆ น้ำขึ้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้นน้ำจะลง ในเวลานี้ชาวประมงจะจับปลาได้เยอะและทำเงินได้มาก เมื่อเรารู้สิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ทำให้เรามีความปลอดภัยในการอาศัย ณ ริมฝั่งน้ำ เรารู้ว่าเราจะเจออะไรในเวลาใด เราก็ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้”

บทสัมภาษณ์นี้แสดงให้เห็นถึงการเข้าใจธรรมชาติของชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากคนเหล่านี้อยู่อาศัยและพึ่งพิงฝนและน้ำตามธรรมชาติมาตลอด จึงได้เข้าใจธรรมชาติ พาให้ฉันคิดไปถึงว่าผู้ปกครอง ผู้นำ ซึ่งต้องปกครองคน อยู่กับคน ก็ควรจะเข้าใจธรรมชาติของ “ความเป็นคน” ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการที่คนเราต้องการความมั่นคงทางจิตใจด้วย และการรู้รากเหง้าของตนเองก็เป็นการเสริมสร้างความภูมิใจและความมั่นคงทางจิตใจทางหนึ่ง ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพจัดงานต่างๆ ขึ้นก็เพื่อธำรงวัฒนธรรมประเพณีมอญไม่ให้สูญสลายไป ไม่ได้คิดเรื่องรัฐชาติหรือส่งเสริมให้มีการแบ่งแยกดินแดนในประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด ฉันในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ อยากจะให้พ่อเมืองสมุทรสาครและผู้เกี่ยวข้องเข้าใจชมรมเราเสียที จะได้ไม่ต้องพาดพิงชมรมเราอย่างผิดๆ ถูกๆ เข้าใจว่าเรากำลังจัดตั้งกองกำลังทำอะไรบางสิ่ง (จินตนาการสูงมาก) ดังที่ท่านได้พูดในงานสงกรานต์ที่วัดเกาะ ซึ่งจริงๆ แล้วฉันก็เห็นว่าทางชมรมฯก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลหรือพบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับท่านเสมอ หากแต่เป็นท่านเองที่ระงับการพบปะโดยบอกว่า “เข้าใจแล้ว”  

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080425-071750.jpg
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในชุดโสร่งอีสาน และคำกล่าวเปิดงานที่ไม่มีสคริป
ในงานสงกรานต์มอญบ้านเกาะ จังหวัดสมุทรสาคร

*******************

อากาศร้อนขึ้นทุกปีๆ ใครๆ ก็ว่ามาจากภาวะโลกร้อน ร้อนๆ แบบนี้อาจส่งผลต่ออารมณ์ของผู้คนได้ ฉันหวังว่าท่านผู้อ่านบล๊อคนี้จะไม่หงุดหงิดเพราะอากาศที่ร้อนระอุ เพราะนี่ก็คือธรรมชาติ อันเป็นสิ่งที่เราต้องอยู่กับมัน และเดี๋ยวอากาศก็จะเย็นลงเองในฤดูฝน ซึ่งคนที่ไม่พยายามเข้าใจธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่เป็นลม ฟ้า ดิน ฝน ธรรมชาติของวัฒนธรรม หรือธรรมชาติของมนุษย์ ก็คงจะอยู่อย่างไม่มีความสงบสุขนัก
 


1     อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำเหล่านี้ได้ใน สุกัญญา เบาเนิด.การสร้างอัตลักษณ์ของคนมอญย้ายถิ่น : ศึกษากรณีแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร.วิทยานิพนธ์ (สค.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549
2     ข้อคิดเห็นจากการพูดคุยกับชาวมอญ ของดร.เจือจันทร์ วงศ์พลกานันท์ 
3     ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายมอญนี้ ดูข้อเขียนขององค์ บรรจุน ได้ที่ http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_id=62&main_menu_id=5 
4     ดูเพิ่มได้ที่ http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_id=88&main_menu_id=14

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์