Skip to main content

ขนิษฐา คันธะวิชัย

อากาศช่วงนี้ช่างร้อนระอุได้ใจยิ่งนัก แม้ว่าฝนจะตกลงมาอย่างหนักในบางที แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้หายร้อนแต่ประการใด

ร้อนๆ แบบนี้พาให้หงุดหงิดง่าย แต่พ่อฉันมักจะสอนว่า “นี่คือธรรมชาติที่มันต้องเกิด เราต้องเข้าใจธรรมชาติ คนที่ไม่เข้าใจและโมโห หงุดหงิดกับธรรมชาติคือคนเขลา และจะไม่มีความสุข”

*******************

สงกรานต์ปีนี้ ฉันและสมาชิกชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพออกเดินสายไปงานสงกรานต์มอญตามชุมชนมอญต่างๆ ในช่วงเทศกาลอย่างนี้เราได้นอนตากแอร์อยู่บ้านอ่านหนังสือน้อยมาก เพราะอย่างไรเสียเราก็ต้องไปช่วยงานกัน แม้เอาเข้าจริงตัวฉันเองจะทำได้แค่แต่งชุดมอญ ทำหน้าตาปั้นจิ้มปั้นเจ๋อ เดินคุยกับคนโน้นทีคนนี้ทีเป็นสีสันให้ได้บรรยากาศแบบมอญๆ ในงานก็ตาม 

ช่วงที่ต้องออกงานสงกรานต์มอญนั้น ฉันตัวเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้เปียกน้ำที่เขาประพรมหรือสาดเล่นกัน หากแต่เปียกเหงื่อ เนื่องจากฉันต้องใส่เสื้อมอญแขนยาว (เพราะยังโสด หากแต่งงานแล้วจึงใส่เสื้อแขนยาวเพียงแค่ครึ่งข้อศอก) ห่มสไบและนุ่งซิ่นยาว แทบไม่ได้รับลมเลย แถมยังต้องตากแดด หรืออยู่กลางแจ้ง ทำให้มีเหงื่อซึมตลอดเวลา ซึ่งนี่ก็คือธรรมชาติในฤดูร้อน  แต่คนอื่นๆ ที่มาร่วมงานก็มิได้ย่อท้อต่อความร้อนจากธรรมชาติแห่งฤดูร้อนนี้ ยังคงแต่งชุดมอญมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ด้วยต้องการร่วมสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นและธำรงความเป็นมอญไว้

คนไทยเชื้อสายมอญที่ฉันได้พบนั้น ส่วนใหญ่จะมีสำนึกว่าตัวเอง “เป็นคนไทย” กันแล้ว อย่างไรก็ตามเขาก็ยังรู้ว่าตนเองมีเชื้อสายมอญ หรือเป็นคนมอญอยู่ นี่ทำให้ฉันนึกถึงทฤษฎีเกี่ยวกับอัตลักษณ์ที่บอกว่า “อัตลักษณ์นั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน” นอกจากนี้ “มอญ” เอง ก็ยังมีการแบ่งเป็น “มอญใน - มอญนอก” หรือ “มอญไทย–มอญมอญ” ซึ่งก็หมายถึง “มอญที่เป็นคนไทย” กับ “มอญที่เพิ่งมาจากพม่า” ซึ่งส่วนใหญ่จะมาเป็นแรงงานที่รัฐไทยเหมารวมว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั่นเอง (เห็นไหม โดนอัตลักษณ์อีกชุดทับซ้อน) เหล่านี้คือการแบ่งที่ได้ยินบ่อย จริงๆ แล้วยังมีการแบ่งที่ยิบย่อยกว่านี้ เช่น มอญแรงงาน มอญเก่า มอญใหม่ มอญเชื้อสายเจ้าเมืองมอญ มอญบ้านนอก ฯลฯ [1] อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแบ่งเป็นมอญกลุ่มต่างๆ ทั้งแบบที่ใช้ภูมิศาสตร์ ชนชั้นในสังคม หรือแบบที่ใช้ช่วงเวลาในการเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นตัวกำหนด แต่ฉันก็พบว่าชาวมอญยังมีสำนึกความเป็นมอญร่วมกันอยู่ ซึ่งสิ่งที่เป็นตัวเชื่อมโยงสำนึกความเป็นมอญไว้ก็อาจมีหลายอย่าง เช่นภาษา การมีเชื้อสายมอญ [2] และประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกัน

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080425-071647.jpg
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ถ่ายภาพร่วมกับคณะกรรมการจัดงานสงกรานต์มอญบ้านมอญ นครสวรรค์

อาจเป็นเพราะการมีสำนึกความเป็นมอญร่วมกันอยู่นี่เอง ที่ทำให้มอญที่เป็น “ไทย” แล้ว กับมอญเมืองมอญ ยังมีปฏิสัมพันธ์และร่วมงานกันอยู่บ้าง เช่น การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมตามแนวชายแดน และกรณีของการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมมอญที่บ้านมอญ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งแกนนำชุมชนก็ได้รับความช่วยเหลือจากมอญเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีความเป็นเครือญาติเชื่อมโยงกัน แต่ในส่วนของเครื่องแต่งกายนั้น ได้รับเอาการแต่งกายแบบมอญสังขละบุรี ที่ผู้ชายแต่งกายโดยใช้เสื้อพื้นขาว ตารางแดง โสร่งแดง ส่วนผู้หญิงแต่งกายโดยนุ่งซิ่นลายดอกพิกุล และคนในชุมชนก็ยอมรับว่า “นี่เป็นการแต่งกายแบบมอญแท้ๆ” ซึ่งฉันมองว่า นี่เป็นความคิดที่ได้รับอิทธิพลจากมอญเมืองมอญ เพราะการแต่งกายแบบนี้มอญเมืองมอญเป็นผู้คิดค้นขึ้นใหม่ [3] และนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้ฉันที่ร่ำเรียนมานุษยวิทยาได้นึกถึงบทเรียนในวิชา “ธรรมชาติของวัฒนธรรม” ที่บอกว่าวัฒนธรรมมีการถ่ายเทถ่ายทอดซึ่งกันและกัน

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080425-071705.jpg
ลูกหลานมอญบ้านมอญ กับการแสดงมอญรำ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากนางปรุง วงศ์จำนง
ครูมอญรำจากเกาะเกร็ด

เรื่องการรับและถ่ายทอดทางวัฒนธรรมระหว่างมอญไทยกับมอญเมืองมอญนี้มีมานานแล้ว เรื่องที่ฉันมักจะได้ยินเสมอคือเรื่องการรับมอญรำ กล่าวคือย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วมอญเมืองมอญได้จ้างวงดนตรีมอญเมืองไทยไปเล่นที่มะละแหม่ง เพื่อเป็นการถ่ายทอดและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมมอญที่หายไปมากในพื้นที่นั้น ซึ่งทางวงดนตรีมอญที่ไปจากไทยนอกจากจะได้ช่วยฟื้นฟูดนตรีแล้ว ก็ได้ค้นพบท่ารำมอญจากมะละแหม่งมา 10 ท่า หลังจากนั้นก็ได้เพิ่มเข้าไปอีก 2 ท่า จนกลายเป็น “มอญรำ” อันเป็นแม่แบบของมอญรำที่เกาะเกร็ด และถ่ายทอดสู่ชุมชนมอญอีกหลายแห่งในทุกวันนี้ [4]

จะเห็นได้ว่ามอญในเมืองไทยและมอญที่มาจากพม่า ก็มีการติดต่อกันเป็นปกติตั้งแต่สมัยก่อนเรื่อยมาจนปัจจุบัน ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องของการธำรงความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม อย่างในงานใหญ่ประจำปีที่ทางชมรมเยาวชนมอญจัดคือ “วันรำลึกชนชาติมอญ” ก็เป็นงานที่เน้นด้านประเพณี วัฒนธรรม มีการทำบุญให้บรรพบุรุษ ร้องเพลงลูกทุ่งในเนื้อภาษามอญ เล่นสะบ้า ร้องรำดนตรีพื้นบ้านมอญ ส่วนมอญเมืองมอญที่มาร่วมงานนั้น ก็มาร่วมงานในส่วนการจัดเตรียมสถานที่ ร่วมการแสดงทางวัฒนธรรม ร่วมทำบุญให้บรรพบุรุษ มาฟัง มาพูดภาษามอญให้รู้สึกอบอุ่นใจเท่านั้น ซึ่งฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “ธรรมชาติของวัฒนธรรม” คือเป็นธรรมดาที่คนมาอยู่ต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมจะมีความโหยหาวัฒนธรรมของตนเอง เมื่อมีการจัดงานประเพณีมอญขึ้นมา แรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นชาวมอญมาร่วมงานบ้าง ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่กระนั้นก็ยังโดนมองว่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080425-071729.jpg
มอญรำจากเมืองมะละแหม่ง (ประเทศพม่า) สายใยมอญ 2 เมือง ในงานศพพระสงฆ์มอญจังหวัดปทุมธานี

ฉันนึกไม่ออกว่างานทำบุญ งานร้องรำทำเพลงอย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงได้อย่างไร หรือจะเป็นเพราะว่าเขามองจากข้างนอก ซึ่งเป็นคนละมุมกับฉัน เข้าทำนอง “สองคนยลตามช่อง” คือมองของสิ่งเดียวกัน มองปรากฎการณ์เดียวกัน แต่มองมาจากคนละช่อง ฉันเห็นด้านหนึ่ง เขาเห็นอีกด้านหนึ่ง

วันนี้ฉันได้หยุดอยู่บ้านเขียนงาน อ่านหนังสือ ซึ่งหนังสือที่ได้อ่านคือ In the Balance เป็นหนังสือที่รายงานเกี่ยวกับผลกระทบที่ชุมชนท้องถิ่นได้รับจากการสร้างเขื่อนสาละวิน จัดทำโดยองค์กรเยาวชนมอญก้าวหน้า (แน่นอนว่าคนละองค์กรกับชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ) รายละเอียดเป็นอย่างไร ไว้ค่อยพูดถึงกันทีหลัง แต่ครั้งนี้ฉันสนใจบทสัมภาษณ์ชาวบ้านริมแม่น้ำสาละวินบทหนึ่ง มีใจความว่า

“จริงๆ แล้วเราทำนายได้ว่าฤดูฝนจะมาช้าหรือเร็ว น้ำขึ้นลงเมื่อไหร่ ถ้าหากว่าฝนตกก่อนสงกรานต์แสดงว่าปีนี้ฤดูฝนจะมาเร็ว แต่ถ้าหากฝนตกหลังสงกรานต์แสดงว่าปีนี้ฤดูฝนจะมาช้า แต่ไม่ว่าจะอย่างไรฝนก็ต้องมาหลังจากสงกรานต์ประมาณ 40 วันแน่ๆ น้ำขึ้นประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้นน้ำจะลง ในเวลานี้ชาวประมงจะจับปลาได้เยอะและทำเงินได้มาก เมื่อเรารู้สิ่งเหล่านี้แล้ว ก็ทำให้เรามีความปลอดภัยในการอาศัย ณ ริมฝั่งน้ำ เรารู้ว่าเราจะเจออะไรในเวลาใด เราก็ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้”

บทสัมภาษณ์นี้แสดงให้เห็นถึงการเข้าใจธรรมชาติของชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากคนเหล่านี้อยู่อาศัยและพึ่งพิงฝนและน้ำตามธรรมชาติมาตลอด จึงได้เข้าใจธรรมชาติ พาให้ฉันคิดไปถึงว่าผู้ปกครอง ผู้นำ ซึ่งต้องปกครองคน อยู่กับคน ก็ควรจะเข้าใจธรรมชาติของ “ความเป็นคน” ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการที่คนเราต้องการความมั่นคงทางจิตใจด้วย และการรู้รากเหง้าของตนเองก็เป็นการเสริมสร้างความภูมิใจและความมั่นคงทางจิตใจทางหนึ่ง ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพจัดงานต่างๆ ขึ้นก็เพื่อธำรงวัฒนธรรมประเพณีมอญไม่ให้สูญสลายไป ไม่ได้คิดเรื่องรัฐชาติหรือส่งเสริมให้มีการแบ่งแยกดินแดนในประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด ฉันในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ อยากจะให้พ่อเมืองสมุทรสาครและผู้เกี่ยวข้องเข้าใจชมรมเราเสียที จะได้ไม่ต้องพาดพิงชมรมเราอย่างผิดๆ ถูกๆ เข้าใจว่าเรากำลังจัดตั้งกองกำลังทำอะไรบางสิ่ง (จินตนาการสูงมาก) ดังที่ท่านได้พูดในงานสงกรานต์ที่วัดเกาะ ซึ่งจริงๆ แล้วฉันก็เห็นว่าทางชมรมฯก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลหรือพบปะพูดคุยทำความเข้าใจกับท่านเสมอ หากแต่เป็นท่านเองที่ระงับการพบปะโดยบอกว่า “เข้าใจแล้ว”  

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080425-071750.jpg
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในชุดโสร่งอีสาน และคำกล่าวเปิดงานที่ไม่มีสคริป
ในงานสงกรานต์มอญบ้านเกาะ จังหวัดสมุทรสาคร

*******************

อากาศร้อนขึ้นทุกปีๆ ใครๆ ก็ว่ามาจากภาวะโลกร้อน ร้อนๆ แบบนี้อาจส่งผลต่ออารมณ์ของผู้คนได้ ฉันหวังว่าท่านผู้อ่านบล๊อคนี้จะไม่หงุดหงิดเพราะอากาศที่ร้อนระอุ เพราะนี่ก็คือธรรมชาติ อันเป็นสิ่งที่เราต้องอยู่กับมัน และเดี๋ยวอากาศก็จะเย็นลงเองในฤดูฝน ซึ่งคนที่ไม่พยายามเข้าใจธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่เป็นลม ฟ้า ดิน ฝน ธรรมชาติของวัฒนธรรม หรือธรรมชาติของมนุษย์ ก็คงจะอยู่อย่างไม่มีความสงบสุขนัก
 


1     อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำเหล่านี้ได้ใน สุกัญญา เบาเนิด.การสร้างอัตลักษณ์ของคนมอญย้ายถิ่น : ศึกษากรณีแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร.วิทยานิพนธ์ (สค.ม.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549
2     ข้อคิดเห็นจากการพูดคุยกับชาวมอญ ของดร.เจือจันทร์ วงศ์พลกานันท์ 
3     ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายมอญนี้ ดูข้อเขียนขององค์ บรรจุน ได้ที่ http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_id=62&main_menu_id=5 
4     ดูเพิ่มได้ที่ http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_id=88&main_menu_id=14

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าวัดชนะสงครามเป็นวัดมอญ ใช่ว่าคนสนใจประวัติศาสตร์จึงได้รู้ความเป็นมาของวัด แต่เป็นเพราะหน้าวัดมีป้ายโลหะสีน้ำตาลที่ทางการชอบปักไว้หน้าสถานที่ท่องเที่ยว ความระบุประวัติไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดของพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ (มอญ) แต่ก็ไม่แน่ใจนัก คนสมัยนี้อาจเข้าใจว่ามอญเป็นชื่อต้นไม้จำพวกเห็ดราปรสิตชนิดหนึ่งก็ได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความหมายจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดการตอบสนอง นับแต่โบราณกาลมีตั้งแต่การสุมไฟให้เกิดควัน นกพิราบสื่อสาร ปัจจุบันการสื่อสารมีหลายวิธีรวดเร็วทันใจมากขึ้น อาจเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม ระบบโทรคมนาคม หรือการสื่อสารระบบเครือข่ายที่อาศัยดาวเทียมและสายเคเบิลใยแก้ว ที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต ก็ได้ ส่วนภาษาที่มาพร้อมกับวิธีการสื่อสารเหล่านั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง มีการหยิบยืมคำในภาษาอื่น เปลี่ยนรูปแบบและความหมายตลอดเวลา…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการหาที่เก็บของเก่าก็ตาม แต่จากประสบการณ์ที่ว่านี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังคิดทำพิพิธภัณฑ์ว่าจะใช้เก็บของเก่าหรือใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเริ่มเห็นคุณค่าท้องถิ่นของตน การตัดสินใจเกี่ยวกับท้องถิ่นจึงควรมาจากท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน     หญ้าขัดมอญ เป็นพืชล้มลุก ทรงพุ่มเตี้ย ตระกูลเดียวกับชบา ขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ต้องปลูกและดูแลรักษา คนในสังคมเมืองคงไม่คุ้นชื่อคุ้นต้นไม้ชนิดนี้ หลายคนเห็นเป็นวัชพืชอย่างหนึ่งที่ต้องกำจัด นอกจากบางคนที่ช่างสังเกตธรรมชาติรอบตัวก็อาจจะพบว่า หญ้าขัดมอญ เป็นไม้พุ่มเตี้ยแตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบเล็กเรียวเขียวเข้ม ยิ่งเวลาออกดอก สีเหลืองอ่อนหวานพราวพรายรายเรียงอยู่ทั่วทุกช่อใบ ชวนมองไม่น้อย แถมมีประโยชน์ในครัวเรือนหลายอย่าง ทั้งด้านการใช้สอยและสรรพคุณทางสมุนไพร
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการนำการเสนอโครงการวิจัย ชุด "โครงการประเทศพม่าศึกษา" ชื่อหัวข้อวิจัย คือ "มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐพม่าบนพื้นที่สื่อรัฐบาลทหาร" ที่ผ่านการอนุมัติจากสกว.
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน ๗ กรกฏาคม ที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา รุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษา วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เมื่อมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ผู้คนจึงออกต่างจังหวัดกันมาก ถนนช่วงนั้นจึงโล่งอย่างเทศกาลใหญ่ๆ ทุกครั้ง เปิดทีวีมีแต่ข่าวขบวนแห่เทียนเข้าพรรษากันทัวประเทศ ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ แปลกเท่าไหร่ยิ่งดี บางจังหวัดไม่เคยจัดก็สู้อุตส่าห์ซื้อช่างแกะเทียนค่าตัวแพงลิบมาจากอุบลราชธานี กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนทำเทียนเข้าพรรษาเพื่อขายการท่องเที่ยว ไม่ได้ถวายให้พระใช้งานจริงขณะนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. ผมนั่งอยู่โคนต้นอโศกอินเดียภายในวัดชนะสงคราม ความคลุกคลีกับวัดวามานานจึงพาลห่างวัด…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนบทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาตั้งชื่อเลียน "ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ" เพราะในภาพยนตร์นั้น เจ้าของกล้องกดชัตเตอร์ติดวิญญาณผีที่เขาขับรถชนและหนีไป ทว่าในที่สุดวิญญาณก็ตามทวงเอาชีวิต ซึ่งต่างจากบทความนี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก เจ้าของกล้องถ่ายภาพนับร้อยที่กดชัตเตอร์ใส่ผีตนหนึ่ง คล้ายมหรสพที่นักการเมืองจัดให้ชาวบ้านในฤดูหาเสียง แต่ที่ร้ายก็คือ อำนาจของชัตเตอร์กลับสะกดให้ผีตกอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์อย่างที่ผีไม่สามารถเอาคืนได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน แค่อ่านชื่อเรื่องหลายคนคงรู้จักคุ้นเคยกันดีว่านี่คือเนื้อเพลง “สยามเมืองยิ้ม” สำหรับคนที่เป็นคอลูกทุ่งยิ่งต้องรู้ว่า เพลงนี้ขับร้องโดยราชินีเพลงลูกทุ่งผู้ล่วงลับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ส่วนผู้ประพันธ์เนื้อเพลงเป็นครูเพลงคู่บุญของเธอ ลพ บุรีรัตน์ 
ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในความเป็นชาติ รู้สึกทันทีว่าไพเราะกินใจ ซาบซึ้งไปกับบทเพลง ยิ่งฟังยิ่งเพราะ ขนาดที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยส่งเทปจัดรายการเพลงไปประกวดดีเจทางคลื่น “สไมล์เรดิโอ” ใช้เพลง “สยามเมืองยิ้ม” เป็นเพลงปิดรายการ ได้เข้ารอบแรกเสียด้วยแต่ตกรอบ ๒๐ คนสุดท้าย เพื่อนๆ ที่รอฟังและตามลุ้นพูดเหมือนกันว่า “สมควรแล้ว…
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน คนทั่วไปสับสนเกี่ยวกับลักษณะสายพันธุ์และชื่อเรียกของ "กระเจี๊ยบ" ว่าเป็นอย่างไรและเรียกว่าอะไรกันแน่ จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงที่มาและคุณค่ามากมายมหาศาลของกระเจี๊ยบบ้านมอญในชนบทหลายแห่งเคยมีต้นกระเจี๊ยบริมรั้ว ริมคลองหนองบึง สำรับกับข้าวเคยมีแกงกระเจี๊ยบไม่ขาด แต่ทุกวันนี้ "กระเจี๊ยบ" เริ่มเลือนหายไปจากชีวิต ชนิดที่ไม่มีใครอาลัยอาวรณ์นัก แม้แต่จะนึกถึงความหลังที่แกงกระเจี๊ยบเคยอยู่คู่ครัวมาแต่อ้อนแต่ออก
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า "ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."
องค์ บรรจุน
 องค์ บรรจุนธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ "ใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" หัวเรื่องที่จั่วไว้ด้านบนบทความนี้ ถือเป็นคุณสมบัติอันน่าภาคภูมิของคนไทยอย่างหนึ่ง คนไทยทั้งผองเชื่อกันว่าคนไทยมีข้อดีงามหลายอย่าง เป็นต้นว่า โอบอ้อมอารีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต ยิ้มสยาม หรือแม้แต่ "รักสามัคคี" และ "ไทยนี้รักสงบ..." ล้วนเป็นความดีเด่นประจำชนชาติไทยตามลัทธิอัตตานิยม "คนไทยดีที่สุดในโลก" ดังนั้นเมื่อหมอดูทำนายคนไทยหน้าไหนก็ตามว่าเป็นคนดีดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีใครปฏิเสธว่าหมอดูไม่แม่น
องค์ บรรจุน
ถุงผ้าไม่ได้ลดโลกร้อน เพราะการใช้ถุงผ้าตามกระแสโดยเข้าไม่ถึงหลักใหญ่ใจความ ขณะที่ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกยังคงเดิม คงไม่ต้องไปดูไหนไกลอื่น แค่เพียงเราสำรวจดูที่บ้านว่าเรามีถุงผ้าอยู่ในครอบครองกี่ใบ แต่ละวันที่เราออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือเวลาที่ตั้งใจไปจ่ายตลาด มีใครสักกี่คนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วย และในบรรดาคนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วยนั้น จะมีใครบ้างไหมที่ปฏิเสธแม่ค้าว่าไม่เอาถุงพลาสติก โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดสด "ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกชั่งน้ำหนักแล้วเทลงถุงผ้าเลย" อย่างน้อยการซื้อแกงถุงกลับบ้าน นอกจากถุงร้อนที่ใส่แกงแล้ว ยังมีถุงหูหิ้วสวมทับอีก ๑ ใบด้วยหรือไม่