Skip to main content

ภาสกร อินทุมาร

เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่คนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างน้อย ๒ กลุ่ม คือ จีนและมอญ  มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ผูกโยงอยู่กับ “อัตลักษณ์” (identity) ของชาติพันธุ์แห่งตน นั่นก็คือ “วันตรุษจีน” หรือการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ตามคติจีน ที่รวมถึงการรำลึกถึงบรรพชนของตน และ “วันรำลึกชนชาติมอญ” ที่คนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญจากหลายจังหวัดทั่วประเทศมารวมตัวเพื่อกันทำบุญให้แก่บรรพชนผู้ล่วงลับ และร่วมกันจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม

คนจีนและคนมอญได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอาณาบริเวณที่เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบันตั้งแต่ก่อนการสถาปนาความเป็น “รัฐชาติ” (nation state) มาเนิ่นนาน วัฒนธรรมของทั้งสองชาติพันธุ์ต่างดำรงอยู่ และได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย วันตรุษจีนได้กลายเป็น “เทศกาลตรุษจีน” ที่มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ในหลายจังหวัด เป็นการเฉลิมฉลองที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุน เพราะเทศกาลดังกล่าวนำมาซึ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มาร่วมชม และถึงแม้จะไม่มีเทศกาลตรุษจีนที่ยิ่งใหญ่เยี่ยงนั้น สังคมไทยก็คุ้นเคยกับอัตลักษณ์จีนมาเป็นเวลายาวนาน ดังเช่นการที่แทบจะไม่มีคนใดในกรุงเทพที่ไม่รู้จักเยาวราชอันเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์จีน และเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยร้านค้าที่มีป้ายทั้งภาษาไทยและภาษาจีนกำกับ ในกรุงเทพและอีกหลายๆ จังหวัดก็มีโรงเรียนจีนที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่สอนหนังสือจีนให้กับลูกหลานจีนในเมืองไทย ดังนี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่าคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์จีนยังคงดำรงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์แห่งตน และอัตลักษณ์นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

คนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญก็เช่นเดียวกัน กล่าวคือ คนมอญได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คนมอญเหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทในการรับใช้ราชสำนักในฐานะกองกำลัง ศิลปวัฒนธรรมมอญก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมไทย ดังเช่นการที่ปี่พาทย์มอญก็ได้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าดนตรีไทย ข้าวแช่ ซึ่งเป็นการหุงข้าวเพื่อบูชาเทวดาในช่วงสงกรานต์ของมอญ ก็ได้กลายมาเป็นอาหารไทย เป็นต้น และที่สำคัญยิ่ง สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีเชื้อสายมอญ ราชสกุล และตระกูลต่างๆ ในสังคมไทยจำนวนไม่น้อย อาทิ ราชสกุลกฤดากร ราชสกุลกุญชร ราชสกุลทินกร ราชสกุลฉัตรชัย ตระกูลคชเสนี ตระกูล ณ บางช้าง ฯลฯ ต่างมีเชื้อสายมอญ

จะเห็นได้ว่าคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญดำรงอยู่ในสังคมไทยมานับหลายร้อยปี อัตลักษณ์มอญก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ไทยในปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์จีน อย่างไรก็ดี “วันตรุษจีน” และ “วันรำลึกชนชาติมอญ” ในปีนี้ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดคำถามในเรื่อง “ท่าที” ของ “รัฐไทย” ที่มีต่ออัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลายที่ดำรงอยู่ในสังคม

 

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061526.jpg
งานวันรำลึกชนชาติมอญครั้งที่ ๖๑ ประจำปี ๒๕๕๑ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล สมุทรสาคร

ขณะที่วันตรุษจีนและเทศกาลตรุษจีนสามารถดำเนินไปได้โดยไม่มีการแทรกแซงจาก “เจ้าหน้าที่รัฐ” แต่งานวันรำลึกชนชาติมอญ ที่จัดขึ้นในวันที่ ๒-๓ กุมภาพันธ์ ณ วัดบ้านไร่เจริญผล ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร กลับถูกตรวจสอบและควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐของจังหวัดนั้น คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เพราะเหตุใดตัวแทนรัฐไทยในจังหวัดสมุทรสาคร จึงแทรกแซง ตรวจสอบ และควบคุมกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่จัดโดย “คนไทย” ในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ขณะที่ไม่กระทำเช่นนั้นต่อคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์จีน

งานวันรำลึกชนชาติมอญเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีโดย “ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ” ซึ่งเป็นชมรมที่ดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมของคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ร่วมกับชุมชนคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ โดยในปีนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ ๖๑ การจัดงานในแต่ละปีนั้น จะมีการเวียนไปจัดตามจังหวัดต่างๆ ที่มีชุมชนคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ โดยคนในชุมชนนั้นๆ จะทำหน้าที่ดั่งเจ้าภาพในการจัด ดังเช่น การจัดงานครั้งที่ ๖๐ ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ก็ได้จัดขึ้นที่วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โดยกิจกรรมที่มีในทุกครั้งก็คือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชน และมีการแสดงทางวัฒนธรรม รวมทั้งชุมชนคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญจากทั่วประเทศจะได้ใช้โอกาสนี้ในการพบปะพูดคุยกัน และในการจัดงานแต่ละครั้ง ผู้ว่าราชการของจังหวัดนั้นๆ ก็จะให้เกียรติมาเป็นประธานในการเปิดงาน

แต่ในการจัดงานครั้งที่ ๖๑ นี้ นอกจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจะไม่รับเชิญมาเป็นประธานในการเปิดงานแล้วนั้น ยังได้สั่งการให้ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” (กอ.รมน.) ประจำจังหวัดสมุทรสาคร เข้ามาตรวจสอบด้วยท่าทีสงสัยและระแวง รวมทั้งมีหนังสือมายังวัดบ้านไร่เจริญผลซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน โดยระบุว่า สิ่งใดทำได้ สิ่งใด “ห้ามทำ” อาทิ การไม่ให้ใช้ชื่อชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพในการจัดงาน โดยระบุว่า ชมรมฯไม่มีสถานะทางกฎหมาย ทั้งๆ ที่การจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ ประชาชนกลุ่มใดก็สามารถรวมตัวกันจัดได้ รวมทั้งมีการระบุให้ใช้เพียงภาษาไทย ไม่ให้ใช้ป้ายภาษามอญในงาน ทั้งๆ ที่ป้ายชื่อวัดเก่าแก่จำนวนมากในสมุทรสาครล้วนใช้ทั้งภาษาไทยและภาษามอญควบคู่กันมาเนิ่นนาน เพราะสมุทรสาครคือจังหวัดที่มีชุมชนคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญอาศัยอยู่มากว่า ๒๐๐ ปี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากทั้งจังหวัดมาตั้งด่านตรวจสอบผู้ที่จะมาร่วมงานในทุกเส้นทาง ตลอดจนกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณวัด

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061543.jpg
หัวใจของงานวันรำลึกชนชาติมอญคือการทำบุญอุทิศกุศลแด่บรรพชนมอญ

เหตุผลที่พอจะเป็นไปได้ในการอธิบายท่าทีดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็คือการที่จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มาจากประเทศพม่า อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติชาติพันธุ์แล้วนั้น จะพบว่าแรงงานที่ถูกบอกว่าเป็นพม่านั้น ส่วนใหญ่คือคนในกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ดังนั้น การจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญ จึงอาจทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเกิดความหวาดระแวงว่ากลุ่มชาติพันธุ์มอญจะรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องแผ่นดินมอญคืนจากพม่า อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับรัฐพม่าในที่สุด และหากผู้ว่าราชการจังหวัดคิดเช่นนี้จริง ย่อมเท่ากับว่าไม่เข้าใจวิถีชีวิตของแรงงานมอญในสมุทรสาคร ไม่เข้าใจความเป็นไปในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061553.jpg
ป้ายชื่อวัดเขียนด้วยอักษรมอญ หน้าปากทางเข้าวัดปากบ่อ สมุทรสาคร ริมถนนพระราม ๒

ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งของวิธีคิดที่ซ้อนทับกันอยู่ในรัฐไทย กล่าวคือ จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่อาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านภาคอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก พลาสติก และอาหารสัตว์ รวมทั้งกิจการประมงและประมงต่อเนื่องเป็นหลัก โดยลักษณะของแรงงานในกิจการกลุ่มนี้ก็คือ การเป็นลูกเรือประมง การแกะกุ้ง เป็นต้น ลักษณะงานเช่นนี้เอง เป็นงานที่คนไทยไม่ทำ เป็นงานที่นักวิชาการด้านประชากรและแรงงานระบุว่าเป็นงานที่ สกปรก อันตราย และยากลำบาก (dirty, dangerous, difficult) ดังนั้นแรงงานต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์มอญ จึงมีความจำเป็นอย่างมากในจังหวัดสมุทรสาคร

แต่เมื่อแรงงานจำนวนมากเข้ามา รัฐไทยก็เกิดความหวาดระแวง ความระแวงเช่นนี้อาจมาจากฟังภาษาที่แรงงานพูดไม่เข้าใจ การไม่เข้าใจการแสดงออกทางวัฒนธรรม และรหัสทางวัฒนธรรม (cultural code) ของแรงงานที่เป็นคนต่างชาติพันธุ์ เมื่อไม่เข้าใจ ก็ไม่มีวิธีการจัดการเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ สิ่งที่ทำได้ก็คือการเก็บกด ปิดกั้น ไม่ให้แรงงานเหล่านั้นแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของตน ดังเช่นการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เคยมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาครในการห้ามมิให้แรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะ “พวกที่มาจากพม่า” มีกิจกรรมทางวัฒนธรรม และในที่สุดก็มีการเข้ามาตรวจสอบและควบคุมการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญดังที่กล่าว ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เห็นถึงความขัดแย้งของวิธีคิดที่ซ้อนทับกันอยู่ของรัฐไทย ซึ่งก็คือ รัฐไทยยังคงต้องการแรงงานต่างชาติเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของแรงงาน เพราะมองเห็นคนเหล่านี้เป็นเพียง “คนอื่น” (the other) และการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของแรงงานมอญ ก็คือการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของคนไทยในกลุ่มชาติพันธุ์มอญที่มีตัวตนและบทบาทในพื้นที่ที่เรียกว่าประเทศไทยมานับศตวรรษ เพราะคนทั้งสองกลุ่มนี้ โดยเนื้อแท้แล้วคือคนที่มีราก (root) เดียวกัน มีบรรพบุรุษเดียวกัน ทั้งนี้ การไม่ยอมรับอัตลักษณ์ของผู้อื่น ก็คือการไม่ยอมรับว่าผู้อื่นมี “ความเป็นมนุษย์” เท่าเทียมกับตน

เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ที่ผ่านมา วัดเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการจัดงานสงกรานต์ที่มีการสรงน้ำพระแบบมอญ การสวดของพระก็เป็นการสวดแบบมอญ ในงานนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครก็ได้มาร่วมงาน และพยายามที่จะพูดว่าคนที่อยู่ที่นี่ไม่ใช่คนมอญ แต่เป็น “คนไทย” ที่มีเชื้อสายรามัญ ตนก็มีบรรพบุรุษเป็นคนไทยเชื้อสายรามัญเช่นกัน คำว่า “มอญ” ดูเหมือนจะกลายเป็นคำหยาบคายสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด และการพูดว่าคนที่นี่ไม่ใช่คนมอญ ก็คือความพยายามที่จะแบ่งแยกคนมอญเมืองไทยออกจากแรงงานมอญที่มาจากเมืองมอญ ทั้งๆที่คนทั้งสองกลุ่มคือคนที่มาจากต้นทางเดียวกัน นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยังอ้างอิงถึงการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญที่กล่าวถึงข้างต้นว่า เป็นการรวมตัวกันของ “เยาวชนมอญ” เพื่อตั้งกองกำลังกู้ชาติ

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061604.jpg
นายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กับชุดโสร่งอีสาน ในงานสงกรานต์วัดเกาะ สมุทรสาคร

คำพูดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามายาคติเรื่องรัฐชาติแบบไทยๆ ได้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมองไม่เห็นแม้กระทั่งรากเหง้าของตน หลงเวียนวนอยู่กับคำว่า “ไทย” โดยที่หาความหมายที่ชัดเจนไม่ได้ รวมทั้งไม่เข้าใจการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่หลากหลาย และตีความไปเองว่าการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญคือการตั้งกองกำลังกู้ชาติ ทั้งๆ ที่ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพได้อธิบายตั้งแต่ต้นแล้วว่าตนคือใครและกำลังทำอะไร รวมทั้งมีการก่อตั้งมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเพื่อการจัดงานในปีนี้อย่างที่ผู้ว่าฯเข้าใจ

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061614.jpg
การสรงน้ำพระแบบมอญ ชาวบ้านจะเทน้ำสะอาดผ่านรางเข้าไปรดบนร่างพระสงฆ์ในโรงสรงน้ำที่มิดชิด

http://blogazine.prachatai.com/upload/ong/ong_20080513-061633.jpg
แหวนทองหัวพลอยแดงและห่อผ้าผีมอญต้นตระกูล 'มิเกล็ด' ตระกูลทางมารดาของนายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา

การกระทำของรัฐไทยที่ผ่านมาทางผู้ว่าราชการ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สามารถในการสร้างการจัดการทางสังคม (social management) ของรัฐไทย ความไม่สามารถนี้ล้วนเป็นผลผลิตของมายาคติ (myth) ว่าด้วย “รัฐชาติ” และ “ความมั่นคงแห่งรัฐ” ที่เข้าใจว่า “ความแตกต่างหลากหลาย” คือปัญหา คือสิ่งที่จะก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ดังนั้น สิ่งที่รัฐกระทำก็คือการใช้อำนาจในการปิดกั้น และควบคุม ซึ่งผลลัพธ์ของการเก็บกด ปิดกั้น และควบคุมความแตกต่างหลากหลายที่กระทำโดยรัฐไทย ก็ได้ปรากฏอย่างชัดเจนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่รัฐไทยก็ดูจะยังไม่เรียนรู้จากผลลัพธ์นั้น

* บทความนี้ปรับปรุงจากบทความชื่อเดียวกัน ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “มติชน” ฉบับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์