Skip to main content

องค์ บรรจุน

“มอญอะไร นุ่งผ้าถุงลายนี้ มีผ่าหลังด้วย มอญเค้าไม่มีกันหรอก” นักวิชาการมหาวิทยาลัยเปิดแถวเมืองนนท์ชี้ให้ดู

“มอญของแท้ต้องโสร่งแดง นุ่งลอยชายแบบพระประแดงนั่นน่ะมอญแปลง เอาแบบกรมศิลป์มาใส่...” พิธีกรสุดเริ่ดดอกเตอร์หมาดๆ รายการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ข้างตำราพูดเสียงยาว

แล้วยังจะอีกพะเรอเกวียน ตำหนิ ติ บ่น ก่น ด่า ถากถาง ตั้งความฝัน คาดหวังให้เป็น ขีดเส้นให้ตาม

- - - - - - - - - - -

ong_20080530-002631.jpg
จิตรกรรมฝาผนังวัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม สมัย ร. 2
เป็นภาพสาวมอญนุ่งผ้าแหวกผ่านกลุ่มชายหนุ่ม และถูกเกี้ยวพาราสี

“หลวงพระบางไม่บริสุทธ์เหมือนเก่าแล้ว...”
“เดี๋ยวนี้คนลาวดูแต่โทรทัศน์ไทย ใช้สินค้าของไทย...”
“ควรอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวม้งเอาไว้ ไม่ควรนุ่งยีนส์ และติดจานดาวเทียมบนหลังคาบ้าน...”
“พวกพม่ามันแต่งตัวเดินตลาดยังกะอยู่บนแคทวอล์ค…”

เหม็นเบื่อนักท่องเที่ยวที่ไม่ดูสภาพตัวเอง สมเพชกับนักวิชาการที่ชอบเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ตัดสินคนอื่นด้วยความคิดของตน เอาทฤษฎีมาจับ ไปไหนมาไหนก็มีเข่งวางรอบตัว ติดป้ายชื่อแต่ละเข่ง เป็นต้นว่า สตรีนิยม ฝ่ายซ้าย อนุรักษ์นิยม ท้องถิ่นนิยม โพสท์โมเดอร์น เฟมีนีสต์ โรยัลลิสต์ มาร์คซีส (อยากมีภาษาต่างประเทศเอาไว้ในวงเล็บเหมือนกันแต่จนปัญญา) มากมายร้อยแปดเข่ง เห็นใครก็ตั้งหน้าตั้งตาจัดที่จัดทางให้เขาลงเข่งแต่ละใบที่ตัวเองหอบฟางไปไหนต่อไหนด้วยเสมอ

นักท่องเที่ยว (ชะโงกทัวร์) และนักวิจัย (งบกลางปีเหลือ) แบบแบกะดิน ลองได้ไปท่องเที่ยวหรือลงสนามเก็บข้อมูลเมื่อไหร่เมื่อนั้น ชอบมองชาวบ้านแบบจับผิด ทั้งที่ตัวเองก็ไม่หลงเหลือตัวตนความเป็นอะไรสักอย่าง ไม่มีความชัดเจนในพื้นเพชนเผ่าอะไรสักสิ่ง แต่พอไปถึงบ้านเขาแล้วตั้งความหวังสูงส่ง ตั้งใจอยากจะเห็น อยากให้เขาเป็น แบบที่เป็นไปไม่ได้ (โรคจิตอ่อนๆ เห็นใครดักดานแล้วมีความสุข) เมื่อไม่ได้อย่างใจก็สำรอกโวยวาย “ของปลอมทั้งนั้น” บ้างก็ว่า “จัดแบบ ททท.”

ong_20080530-002719.jpg
จิตรกรรมฝาผนังวัดบางน้ำผึ้งนอก พระประแดง สมุทรปราการ
เป็นภาพสวามอญนุ่งผ้าแหวกเห็นหว่างขา

ไม่รู้คนพวกนี้เป็นยังไงถึงชอบถือสิทธิ์ตีกรอบให้เขาอยู่ บังคับกะเกณฑ์ให้เขาเป็นเหมือนไม้แคระในกระถาง ไม่ให้ตายแต่ห้ามโต ทั้งที่วัฒนธรรม ผู้คน วิถีชีวิตยุคไหนๆ มามันก็ต้องเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนถ่าย เติบโต ลื่นไหลไปมาด้วยกันทั้งนั้น นักวิจารณ์ก็เถอะ ตาชั้นเดียวบ้าง คางเหลี่ยมบ้าง ผมหยิกหย็อยบ้าง ผิวตกกระบ้าง ทำไมใส่สูทกินแฮมเบอร์เกอร์ได้ แล้วมีสิทธิ์อะไรไปบังคับให้ผู้คนส่วนอื่นๆ มีชีวิตอยู่แบบเมื่อพันปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลอะไร ในเมื่อวัสดุ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนไป  ชีวิตก็ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ หากเป็นอย่างไดโนเสาร์ ที่สมมุติว่ามันกินแต่ผักคะน้าที่ออกดอกสีรุ้งกลางทุ่งหญ้าสะวันน่า พอถึงวันที่ผักคะน้ากลางทุ่งหญ้าสะวันน่าสูญพันธุ์ มันก็ต้องตายตามไปด้วย เพราะไม่รู้จักปรับตัวกินอย่างอื่น ใช้อย่างอื่น กระนั้นหรือ

ong_20080530-002730.jpg
การแต่งชุด 'ลอยชาย' ของชาวมอญพระประแดง

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะเรื่องการแต่งกายของคนมอญเป็นตัวอย่าง กรณีนักวิชาการ นักวิจารณ์ และนักท่องเที่ยว ที่ชอบฝันกลางแดดหลับตาเห็นแต่สังคม “ยูโทเปีย” มาพอเป็นสังเขป นักวิชาการเหล่านี้คาดหวังจะเห็นคนมอญอย่างเมื่อหลายร้อยปีก่อน ทั้งที่เป็นไปไม่ได้ รวมทั้งเธอผู้นั้นก็คงจะทำการบ้านมาน้อยเกินไป เรื่องลวดลายผ้า ที่มีการลอกเลียนกันไปมา ตามธรรมดาของผู้หญิงเมื่อเห็นสิ่งใดสวยก็อดจะเอาอย่างกันไม่ได้ รวมทั้งวิธีการนุ่งห่มเรื่องการผ่า การแหวกให้เห็นขาขาวๆ นั้น ที่เธอว่า “มอญอะไร นุ่งผ้าถุงลายนี้ มีผ่าหลังด้วย มอญเค้าไม่มีหรอก” ก็มอญเขาทำกันมานานแล้ว ไปอยู่ที่ไหนมา ทำเป็นตื่นเต้นไปได้ ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ได้กล่าวไว้ว่า

พี่เร่งเตือนเพื่อนชายพายกระโชก
ถึงสามโคกต้องแดดยิ่งแผดแสง
ให้รุ่มร้อนอ่อนจิตระอิดแรง
เห็นมอญแต่งตัวเดินมาตามทาง
ตาโถงถุงนุ่งอ้อมลงกรอมส้น
เป็นแยบยลเมื่อยกขยับอย่าง
เห็นขาขาววาวแวบอยู่หว่างกลาง
ใครยลนางก็เป็นน่าจะปรานี

ด้วยชนชาติมอญนั้นอาภัพ มีแต่อารยธรรมไม่มีประเทศ นุ่งผ้าถุงผ่าหน้ามาก็หลายร้อยปีกู้ชาติไม่สำเร็จ ลองผ่าหลังดูบ้างมันจะเป็นไรไป เผื่อจะกู้ชาติสำเร็จบ้าง

ong_20080530-002740.jpg
ห่อผ้าผีของชาวมอญบ้านดอนกระเบื้อง ราชบุรี

พิธีกรดอกเตอร์หมาดๆ หัวเสียกับการนุ่งผ้าลอยชายของคนมอญพระประแดง (คล้ายโจงกระเบน แต่ไม่เหน็บข้างหลัง ปล่อยชายให้ห้อยรุ่ยร่ายข้างหน้า) “มอญของแท้ต้องโสร่งแดง นุ่งลอยชายแบบพระประแดงนั่นน่ะมอญแปลง เอาแบบกรมศิลป์มาใส่...” อ้าว คนมอญเขาก็มีสมองนี่นา เสื้อผ้า หน้าผม ศิลปวัฒนธรรมมันก็ประยุกต์กันได้ หากพบเจออะไรที่เข้ามาใหม่และเห็นงามก็รับเข้ามา จริงอยู่ของเก่าเมื่อพันปีที่แล้วก็ยังเก็บไว้ แต่ของใหม่ก็ต้องพัฒนา ดูอย่างชุดไทยเป็นไร ยังมีชุดไทยสุโขทัย ชุดไทยอยุธยา ชุดไทยจักรี (การนุ่งโจงกระเบนเป็นการแต่งกายของไทย ทั้งที่เอามาจากเขมร) แต่แท้ที่จริงแล้ว ต้นแบบการแต่งกายของมอญซึ่งคนไทยรับเอามาอีกทอด ก็เชื่อว่ามีต้นแบบมาจากการนุ่งห่มส่าหรี การนุ่งผ้าของพราหมณ์  หรือที่เห็นชัดเจนก็คือ การนุ่งสบงของพระภิกษุสามเณรในพุทธศาสนาของเราทุกวันนี้ ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการนุ่งผ้าแบบเก่าแก่ที่สุดในสุวรรณภูมิก็ว่าได้ หากอยากเห็นภาพชัดเจนก็ลองเข้าไปในปราสาทพระเทพบิดร ดูรูปปั้นของรัชกาลที่ 1-3 ก็จะพบว่าฉลองพระองค์ของพระองค์ท่านเป็นอย่างไร

การที่นักวิชาการท่านนี้เชื่อว่าชุดมอญแท้ต้องแบบมอญสังขละ โสร่งแดงผ้าถุงแดงสวมเสื้อขาว ชุดที่ว่านี้นายแพทย์อองมานเพิ่งคิดขึ้นเมื่อราว 40 ปีที่แล้วนี่เอง เพราะศิลปวัฒนธรรมมอญในพม่าถูกพม่าเอาไปใช้จนหมดสิ้นเอกลักษณ์ นายแพทย์อองมานซึ่งยังเป็นนักศึกษาอยู่ในขณะนั้น (พ.ศ. 2513) เลยชักชวนเพื่อนๆ สำรวจหมู่บ้านมอญ ค้นหาสีสันลายผ้าในห่อผ้าผี ซึ่งก็พบว่าผ้าผีทั้งหมดเป็นสีแดงลายตารางหรือลายหมากรุก ทั้งที่ตามความเชื่อของมอญในเมืองไทยแล้ว ข้าวของผ้าผ่อนทุกชนิดที่เป็น “สีแดง” นั้นห้ามนุ่งห่มและแจกจ่ายแก่ผู้ใดโดยเด็ดขาด เพราะเป็นสีที่ผีปู่ย่าตายายสวมใส่และหวงแหน หากไม่เชื่อถือดื้อรั้น ผู้สวมใส่และแจกจ่ายอาจต้องป่วยไข้ไม่สบายได้

ong_20080530-002750.jpg
ชุดโสร่งและผ้าถุงสีแดงที่ชาวมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) คิดค้นขึ้นใหม่

เมื่อความเชื่อเรื่อง “สีแดง” และ “ข้อห้ามในการนับถือผีปู่ย่าตายาย” ในหมู่ชาวมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) หายไป มีการคิดค้นออกแบบเครื่องนุ่งห่มขึ้นมาสวมใส่ เผยแพร่จนติดตลาด และสามารถหลอกนักวิชาการให้หลงเชื่อได้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี ในเมื่อมันแสดงให้เห็นว่าสติปัญญาและศิลปวิทยาการของมอญไม่ได้หยุดนิ่ง กลับมีพลังเคลื่อนไหวและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แต่ขอเถอะช่วยตั้งสติสักหน่อย ไม่อยากให้ผีมอญต้องนอนละเมอ เพราะการไม่เข้าใจที่มาและวิธีการสวมใส่ ทำให้หนอนน้อยของนักวิชาการลีบแบนติดโสร่งสีแดง

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
การบริภาษผู้ที่มาทำให้เราไม่พอใจนั้นมีอยู่ด้วยกันทุกชนชาติ หากแต่ถ้อยคำที่ก่นด่ากันนั้นมีนัยยะสำคัญอย่างไร เหตุใดคนที่เลือกสรรถ้อยคำนั้นขึ้นมาจึงคิดว่าจะเป็นคำที่เจ็บแสบ สามารถระบายอารมณ์พลุ่งพล่านนั้นลงได้ ว่าแต่ว่า คำที่คนชาติหนึ่งด่ากันแล้วนำเอาไปด่าใส่คนอีกชาติหนึ่งมันจะเจ็บแสบอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือคนด่าจะเป็นฝ่ายเจ็บเสียเอง
องค์ บรรจุน
บางท่านอาจเคยรู้มาบ้างแล้วว่า นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซียมีเลือดเนื้อเชื้อไขไทยสยาม แต่บรรดาคนเกือบทั้งหมดในจำนวนนี้อาจจะยังไม่รู้ว่า เชื้อสายไทยสยามของท่านนั้นแท้จริงแล้วคือ มอญ ด้วยสายเลือดข้างมารดานั้นคือ คุณหญิงเนื่อง (คุณหญิงฤทธิสงครามรามภักดี) หลานลุงของหลวงรามัญนนทเขตคดี อดีตนายอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีคนแรก ต้นสกุล นนทนาคร
องค์ บรรจุน
แม้พุทธศาสนาจะมีต้นกำเนิดมาจากชมพูทวีป แต่ชนชาติต่างๆ ได้มีการแลกรับปรับใช้ในแบบของตนเอง เกิดลัทธินิกายผิดแผกแตกต่างกันไป สำหรับพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้นเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิเถรวาทของมอญ ซึ่งเลื่องชื่อเรื่องความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์และความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแน่นแฟ้นของพุทธศาสนิกชนมอญ ข้อหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้คือ พุทธประวัติตอนที่พระนางพิมพาสยายผมลงเช็ดพระบาทองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธประวัติตอนนี้มีกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของมอญเท่านั้น นอกจากนี้ชาวมอญยังได้นำมาใช้ในชีวิตจริงกับกษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย…
องค์ บรรจุน
ตลาดน้ำเกิดใหม่ใกล้กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วอึดใจ ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผู้คนให้การต้อนรับแบบน้ำใสใจจริง และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รายรอบที่น่าสนใจ แม้จะเป็นตลาดน้ำเกิดใหม่เมื่อไม่นานแต่ก็ไม่มีการเสริมแต่งอย่างฝืนธรรมชาติ ซ้ำยังโดดเด่นด้วยของกินของใช้และของฝากหลากหลายโดยพ่อค้าแม่ขายคนในท้องถิ่น เปิดขายทุกวันเสาร์อาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่เรื่อยไปจนแดดร่มลมตก จากนั้นตลาดก็จะวายไปเองตามวิถีทางของมัน  
องค์ บรรจุน
ป้าขจี (สงวนนามสกุล) เป็นคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายวัฒนธรรม คลุกคลีกับผู้คนตั้งแต่เหนือสุดจนเกือบใต้สุดแดนสยาม อีกทั้งยังมีการผสมผสานหลายชาติพันธุ์ในตัวของป้า กับวัยที่ผ่านสุขทุกข์มาแล้วกว่า ๗๖ ปี จิตใจที่โน้มเอียงเลือกจะอยู่ข้างวัฒนธรรมแบบใดหรือยอมรับการผสมผสานของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตมากน้อยเพียงใดนั้น คงเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่หล่อหลอมป้าขจีมาตั้งแต่วัยเด็ก
องค์ บรรจุน
ไม่รู้ว่าทำไมนักวิชาการที่ชอบใช้ทฤษฎีเมืองนอกเมืองนา ประเภทท่องจำขี้ปากฝรั่งมาพูด (สังเกตดูจากบทความวิชาการที่มักมีวงเล็บภาษาอังกฤษ มีเชิงอรรถในแต่ละหน้าเกือบครึ่งหน้ากระดาษ ฉันไม่ได้รังเกียจหลักการวิชาการของต่างชาติที่มีมาก่อนเรา เพียงแต่สงสัยว่า ตรงไหนกันหนอคือความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากสมองของคนเขียน...?) ชอบเอาทฤษฎีมาทดสอบพฤติกรรมเอากับคนเล็กคนน้อย คนที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงในสังคม โดยมักมีคำถามและ “คำพิพากษา” ต่อคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ เมื่อพบเจอคนชาติพันธุ์นุ่งห่มชุดประจำชาติของเขาในกิจกรรมสำคัญ ก็ล้วนมีคำพูดถากถางเสียดสี และพูดคุยกันในกลุ่มของตัวเองแบบเห็นเป็นเรื่องขำ
องค์ บรรจุน
ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ
องค์ บรรจุน
เม้ยเผื่อน เล่าว่า ตนเองเกิดที่ย่านวัดน่วมกานนท์ ตำบลชัยมงคล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับบ้านปากบ่อและอยู่ภายในตำบลเดียวกันและเป็นหมู่บ้านของสามีและเครือญาติทางสามี
องค์ บรรจุน
  ผมไม่ได้คิดฝันว่าจะเป็นนักวิชาการมาแต่ต้น สู้เรียนเพิ่มจากระดับปริญญาตรีในศาสตร์คนละแขนงต่างขั้ว แค่หวังเพียงจะได้รับฟังและพูดคุยอธิบายความกับนักวิชาการทั้งหลายให้รู้เรื่องบ้างเท่านั้น
องค์ บรรจุน
ผมเป็นคนมหาชัย แม้ว่ามหาชัยเป็นเพียงแค่ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร แต่คนทั่วไปกลับรู้จักคุ้นเคยมากกว่าชื่อจังหวัด เช่นเดียวกับ แม่กลอง ซึ่งเปรียบเหมือนชื่อเล่นที่คนเคยปากมากกว่าชื่อสมุทรสงคราม ทั้งที่เป็นเพียงชื่อตำบลเล็กๆ เท่านั้น ทั้งสองจังหวัดนี้อยู่ชายทะเลอ่าวไทย สมุทรสาครมีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านท่าจีน ไม่ต่างจากสมุทรสงครามที่มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ไปออกอ่าวไทยที่บ้านแม่กลอง
องค์ บรรจุน
มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีรัฐเอกราชปกครองตนเองอยู่ตอนใต้ของประเทศพม่า ปัจจุบันอยู่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ขณะที่มอญส่วนหนึ่งได้อพยพเข้ามายังดินแดนไทย และมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อยเช่นเดียวกัน ชนชาติมอญ มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมสืบเนื่องมายาวนาน แม้ปัจจุบันจะไม่มีรัฐปกครองตนเอง แต่วัฒนธรรมมอญทางด้านศาสนา ภาษา วรรณคดี สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ ดนตรี ความเชื่อและประเพณีพิธีกรรมของชนชาติในภูมิภาคนี้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากมอญ
องค์ บรรจุน
ราชาธิราช คือ วรรณคดีไทยที่แปลมาจากพงศาวดารมอญ โดยมีการแต่งเติมรายละเอียดบางอย่าง จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือพงศาวดารมอญ แม้คนมอญจำนวนมากเชื่อว่า “ราชาธิราช” เป็นพงศาวดารชาติมอญก็ตาม เพราะได้รับอิทธิพลจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) และคณะ แปลขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ นำมาสู่การจัดพิมพ์จำหน่ายโดยหมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ และอีกหลายสำนักพิมพ์มากกว่า ๒๒ ครั้ง ไม่นับแบบเรียน การแสดงลิเก ละครพันทาง ละครเวที และละครโทรทัศน์