Skip to main content

องค์ บรรจุน

“มอญอะไร นุ่งผ้าถุงลายนี้ มีผ่าหลังด้วย มอญเค้าไม่มีกันหรอก” นักวิชาการมหาวิทยาลัยเปิดแถวเมืองนนท์ชี้ให้ดู

“มอญของแท้ต้องโสร่งแดง นุ่งลอยชายแบบพระประแดงนั่นน่ะมอญแปลง เอาแบบกรมศิลป์มาใส่...” พิธีกรสุดเริ่ดดอกเตอร์หมาดๆ รายการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ข้างตำราพูดเสียงยาว

แล้วยังจะอีกพะเรอเกวียน ตำหนิ ติ บ่น ก่น ด่า ถากถาง ตั้งความฝัน คาดหวังให้เป็น ขีดเส้นให้ตาม

- - - - - - - - - - -

ong_20080530-002631.jpg
จิตรกรรมฝาผนังวัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม สมัย ร. 2
เป็นภาพสาวมอญนุ่งผ้าแหวกผ่านกลุ่มชายหนุ่ม และถูกเกี้ยวพาราสี

“หลวงพระบางไม่บริสุทธ์เหมือนเก่าแล้ว...”
“เดี๋ยวนี้คนลาวดูแต่โทรทัศน์ไทย ใช้สินค้าของไทย...”
“ควรอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวม้งเอาไว้ ไม่ควรนุ่งยีนส์ และติดจานดาวเทียมบนหลังคาบ้าน...”
“พวกพม่ามันแต่งตัวเดินตลาดยังกะอยู่บนแคทวอล์ค…”

เหม็นเบื่อนักท่องเที่ยวที่ไม่ดูสภาพตัวเอง สมเพชกับนักวิชาการที่ชอบเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ตัดสินคนอื่นด้วยความคิดของตน เอาทฤษฎีมาจับ ไปไหนมาไหนก็มีเข่งวางรอบตัว ติดป้ายชื่อแต่ละเข่ง เป็นต้นว่า สตรีนิยม ฝ่ายซ้าย อนุรักษ์นิยม ท้องถิ่นนิยม โพสท์โมเดอร์น เฟมีนีสต์ โรยัลลิสต์ มาร์คซีส (อยากมีภาษาต่างประเทศเอาไว้ในวงเล็บเหมือนกันแต่จนปัญญา) มากมายร้อยแปดเข่ง เห็นใครก็ตั้งหน้าตั้งตาจัดที่จัดทางให้เขาลงเข่งแต่ละใบที่ตัวเองหอบฟางไปไหนต่อไหนด้วยเสมอ

นักท่องเที่ยว (ชะโงกทัวร์) และนักวิจัย (งบกลางปีเหลือ) แบบแบกะดิน ลองได้ไปท่องเที่ยวหรือลงสนามเก็บข้อมูลเมื่อไหร่เมื่อนั้น ชอบมองชาวบ้านแบบจับผิด ทั้งที่ตัวเองก็ไม่หลงเหลือตัวตนความเป็นอะไรสักอย่าง ไม่มีความชัดเจนในพื้นเพชนเผ่าอะไรสักสิ่ง แต่พอไปถึงบ้านเขาแล้วตั้งความหวังสูงส่ง ตั้งใจอยากจะเห็น อยากให้เขาเป็น แบบที่เป็นไปไม่ได้ (โรคจิตอ่อนๆ เห็นใครดักดานแล้วมีความสุข) เมื่อไม่ได้อย่างใจก็สำรอกโวยวาย “ของปลอมทั้งนั้น” บ้างก็ว่า “จัดแบบ ททท.”

ong_20080530-002719.jpg
จิตรกรรมฝาผนังวัดบางน้ำผึ้งนอก พระประแดง สมุทรปราการ
เป็นภาพสวามอญนุ่งผ้าแหวกเห็นหว่างขา

ไม่รู้คนพวกนี้เป็นยังไงถึงชอบถือสิทธิ์ตีกรอบให้เขาอยู่ บังคับกะเกณฑ์ให้เขาเป็นเหมือนไม้แคระในกระถาง ไม่ให้ตายแต่ห้ามโต ทั้งที่วัฒนธรรม ผู้คน วิถีชีวิตยุคไหนๆ มามันก็ต้องเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนถ่าย เติบโต ลื่นไหลไปมาด้วยกันทั้งนั้น นักวิจารณ์ก็เถอะ ตาชั้นเดียวบ้าง คางเหลี่ยมบ้าง ผมหยิกหย็อยบ้าง ผิวตกกระบ้าง ทำไมใส่สูทกินแฮมเบอร์เกอร์ได้ แล้วมีสิทธิ์อะไรไปบังคับให้ผู้คนส่วนอื่นๆ มีชีวิตอยู่แบบเมื่อพันปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลอะไร ในเมื่อวัสดุ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนไป  ชีวิตก็ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ หากเป็นอย่างไดโนเสาร์ ที่สมมุติว่ามันกินแต่ผักคะน้าที่ออกดอกสีรุ้งกลางทุ่งหญ้าสะวันน่า พอถึงวันที่ผักคะน้ากลางทุ่งหญ้าสะวันน่าสูญพันธุ์ มันก็ต้องตายตามไปด้วย เพราะไม่รู้จักปรับตัวกินอย่างอื่น ใช้อย่างอื่น กระนั้นหรือ

ong_20080530-002730.jpg
การแต่งชุด 'ลอยชาย' ของชาวมอญพระประแดง

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะเรื่องการแต่งกายของคนมอญเป็นตัวอย่าง กรณีนักวิชาการ นักวิจารณ์ และนักท่องเที่ยว ที่ชอบฝันกลางแดดหลับตาเห็นแต่สังคม “ยูโทเปีย” มาพอเป็นสังเขป นักวิชาการเหล่านี้คาดหวังจะเห็นคนมอญอย่างเมื่อหลายร้อยปีก่อน ทั้งที่เป็นไปไม่ได้ รวมทั้งเธอผู้นั้นก็คงจะทำการบ้านมาน้อยเกินไป เรื่องลวดลายผ้า ที่มีการลอกเลียนกันไปมา ตามธรรมดาของผู้หญิงเมื่อเห็นสิ่งใดสวยก็อดจะเอาอย่างกันไม่ได้ รวมทั้งวิธีการนุ่งห่มเรื่องการผ่า การแหวกให้เห็นขาขาวๆ นั้น ที่เธอว่า “มอญอะไร นุ่งผ้าถุงลายนี้ มีผ่าหลังด้วย มอญเค้าไม่มีหรอก” ก็มอญเขาทำกันมานานแล้ว ไปอยู่ที่ไหนมา ทำเป็นตื่นเต้นไปได้ ในนิราศพระบาทของสุนทรภู่ ได้กล่าวไว้ว่า

พี่เร่งเตือนเพื่อนชายพายกระโชก
ถึงสามโคกต้องแดดยิ่งแผดแสง
ให้รุ่มร้อนอ่อนจิตระอิดแรง
เห็นมอญแต่งตัวเดินมาตามทาง
ตาโถงถุงนุ่งอ้อมลงกรอมส้น
เป็นแยบยลเมื่อยกขยับอย่าง
เห็นขาขาววาวแวบอยู่หว่างกลาง
ใครยลนางก็เป็นน่าจะปรานี

ด้วยชนชาติมอญนั้นอาภัพ มีแต่อารยธรรมไม่มีประเทศ นุ่งผ้าถุงผ่าหน้ามาก็หลายร้อยปีกู้ชาติไม่สำเร็จ ลองผ่าหลังดูบ้างมันจะเป็นไรไป เผื่อจะกู้ชาติสำเร็จบ้าง

ong_20080530-002740.jpg
ห่อผ้าผีของชาวมอญบ้านดอนกระเบื้อง ราชบุรี

พิธีกรดอกเตอร์หมาดๆ หัวเสียกับการนุ่งผ้าลอยชายของคนมอญพระประแดง (คล้ายโจงกระเบน แต่ไม่เหน็บข้างหลัง ปล่อยชายให้ห้อยรุ่ยร่ายข้างหน้า) “มอญของแท้ต้องโสร่งแดง นุ่งลอยชายแบบพระประแดงนั่นน่ะมอญแปลง เอาแบบกรมศิลป์มาใส่...” อ้าว คนมอญเขาก็มีสมองนี่นา เสื้อผ้า หน้าผม ศิลปวัฒนธรรมมันก็ประยุกต์กันได้ หากพบเจออะไรที่เข้ามาใหม่และเห็นงามก็รับเข้ามา จริงอยู่ของเก่าเมื่อพันปีที่แล้วก็ยังเก็บไว้ แต่ของใหม่ก็ต้องพัฒนา ดูอย่างชุดไทยเป็นไร ยังมีชุดไทยสุโขทัย ชุดไทยอยุธยา ชุดไทยจักรี (การนุ่งโจงกระเบนเป็นการแต่งกายของไทย ทั้งที่เอามาจากเขมร) แต่แท้ที่จริงแล้ว ต้นแบบการแต่งกายของมอญซึ่งคนไทยรับเอามาอีกทอด ก็เชื่อว่ามีต้นแบบมาจากการนุ่งห่มส่าหรี การนุ่งผ้าของพราหมณ์  หรือที่เห็นชัดเจนก็คือ การนุ่งสบงของพระภิกษุสามเณรในพุทธศาสนาของเราทุกวันนี้ ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการนุ่งผ้าแบบเก่าแก่ที่สุดในสุวรรณภูมิก็ว่าได้ หากอยากเห็นภาพชัดเจนก็ลองเข้าไปในปราสาทพระเทพบิดร ดูรูปปั้นของรัชกาลที่ 1-3 ก็จะพบว่าฉลองพระองค์ของพระองค์ท่านเป็นอย่างไร

การที่นักวิชาการท่านนี้เชื่อว่าชุดมอญแท้ต้องแบบมอญสังขละ โสร่งแดงผ้าถุงแดงสวมเสื้อขาว ชุดที่ว่านี้นายแพทย์อองมานเพิ่งคิดขึ้นเมื่อราว 40 ปีที่แล้วนี่เอง เพราะศิลปวัฒนธรรมมอญในพม่าถูกพม่าเอาไปใช้จนหมดสิ้นเอกลักษณ์ นายแพทย์อองมานซึ่งยังเป็นนักศึกษาอยู่ในขณะนั้น (พ.ศ. 2513) เลยชักชวนเพื่อนๆ สำรวจหมู่บ้านมอญ ค้นหาสีสันลายผ้าในห่อผ้าผี ซึ่งก็พบว่าผ้าผีทั้งหมดเป็นสีแดงลายตารางหรือลายหมากรุก ทั้งที่ตามความเชื่อของมอญในเมืองไทยแล้ว ข้าวของผ้าผ่อนทุกชนิดที่เป็น “สีแดง” นั้นห้ามนุ่งห่มและแจกจ่ายแก่ผู้ใดโดยเด็ดขาด เพราะเป็นสีที่ผีปู่ย่าตายายสวมใส่และหวงแหน หากไม่เชื่อถือดื้อรั้น ผู้สวมใส่และแจกจ่ายอาจต้องป่วยไข้ไม่สบายได้

ong_20080530-002750.jpg
ชุดโสร่งและผ้าถุงสีแดงที่ชาวมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) คิดค้นขึ้นใหม่

เมื่อความเชื่อเรื่อง “สีแดง” และ “ข้อห้ามในการนับถือผีปู่ย่าตายาย” ในหมู่ชาวมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) หายไป มีการคิดค้นออกแบบเครื่องนุ่งห่มขึ้นมาสวมใส่ เผยแพร่จนติดตลาด และสามารถหลอกนักวิชาการให้หลงเชื่อได้ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี ในเมื่อมันแสดงให้เห็นว่าสติปัญญาและศิลปวิทยาการของมอญไม่ได้หยุดนิ่ง กลับมีพลังเคลื่อนไหวและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แต่ขอเถอะช่วยตั้งสติสักหน่อย ไม่อยากให้ผีมอญต้องนอนละเมอ เพราะการไม่เข้าใจที่มาและวิธีการสวมใส่ ทำให้หนอนน้อยของนักวิชาการลีบแบนติดโสร่งสีแดง

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลวงพ่อสมาน วัดชนะสงคราม ที่เคยเลี้ยงดูส่งเสีย ข้าวแกงก้นบาตรราดรดหัวผมมาจนเรียนจบปริญญาตรีเมื่อสิบกว่าปีก่อน ท่านชอบเปรียบเปรยลูกศิษย์ลูกหาและใครต่อใครที่ลืมคุณคนด้วยสำนวนมอญที่ไม่พ้นไปจากเรื่องการกินการอยู่ เป็นต้นว่า "ใหญ่เหมือนช้าง ยาวเหมือนงู" (แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน)"กินผลฟันต้น เก็บร่มหักก้าน" (กินบนเรือนขี้บนหลังคา)"ข้าวแดงแกงร้อน" (สำนึก)"เสียข้าวสุก" (เนรคุณ)แต่ที่ผมเสียวแปลบไปถึงขั้วหัวใจทุกครั้งเมื่อถูกท่านเหน็บเอาว่า"ข้าวสุกไม่มียาง" (ก็เนรคุณอีก)
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน"มอญร้องไห้" ร้องทำไม ร้องเพราะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ หรือญาติเสีย...?ถูก...ญาติเสีย แต่ต้องระดับคนมีหลานเหลนแล้ว และเป็นที่เคารพรักของผู้คนเท่านั้น หากญาติที่เสียชีวิตอายุยังน้อย แม้จะเสียใจก็ร้องไห้กันไปตามมีตามเกิด ไม่มีการทำพิธีกรรมให้เป็นพิเศษแต่อย่างใดมอญร้องไห้ เป็นมีพิธีกรรมของคนมอญ ซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในงานศพ เป็นการแสดงความอาลัยรักของลูกหลาน ที่สำคัญเป็นการยกย่องและรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ตายที่เคยทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิต โดยมากแล้วผู้ร้องจะเป็นหญิงสูงอายุและเป็นเครือญาติกับผู้ตาย เนื้อหาที่ร้องพรรณนาออกมานั้นจะได้ออกมาจากใจ…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน สำนวนไทยที่กล่าวถึงการแย่งศพมอญ นั่นคือ “แย่งกันเป็นศพมอญ” หากพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่มีความหมายว่า ยื้อแย่งกัน ซึ่งใช้ในเชิงเปรียบเทียบ๑ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำนวนนี้มีที่มาจากประเพณีมอญแต่โบราณ และคำว่า “แย่ง” นั้นก็เป็นแต่อุบาย ที่หมายให้ผู้คนทั้งหลายหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีมอญหลายประการที่คนไทยยอมรับมาอย่างหน้าชื่นตาบาน เช่น ประเพณีสงกรานต์ ตักบาตรน้ำผึ้ง ล้างเท้าพระ ดนตรีปี่พาทย์นาฏศิลป์ เหล่านี้เป็นหัวใจของไทยที่รับมาจากมอญ และทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นของตนอย่างกลมกลืน…
องค์ บรรจุน
“...ต้องการแม่ครัว (หรือพ่อครัวก็ได้) ๑ ตำแหน่งค่ะ ทำงานที่ระยองนี่ล่ะ...”“ชาวพม่าเอาไหมครับ ถ้าเอามีเยอะเลย ข้างบ้านเขาทำธุรกิจแรงงานพม่าอยู่น่ะ...”“พม่าทำกับข้าวอร่อยหรือเปล่าคะ”“…มีข่าวบ่อยๆ ว่า แรงงานต่างด้าว ไม่ใช่ต่างดาว ฆ่านายจ้าง ระวังไว้นะ”“พม่าเอาแบบนุ่งกางเกงนะ ห้ามนุ่งโสร่ง เดี๋ยวจะเพิ่มเส้นให้มามากเกินไป...ง่ะ...๕๕๕++”ฯลฯข้อความโต้ตอบในกระดานสนทนาเว็บไซต์หางานแห่งหนึ่ง ที่ผู้เขียนเข้าไปพบโดยบังเอิญ เมื่อปลายปีที่แล้ว ข้อความโต้ตอบข้างต้นสะท้อนแง่คิดของคนไทยกลุ่มหนึ่งได้อย่างแปรปรวนชวนสงสัย น่าแปลกที่คนไทยเรามีสายตาที่มองคนพม่าในแบบที่ทั้งหวาดกลัว ไม่ไว้วางใจ เป็นตัวตลก…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย   ปกติฉันทำงานที่ตึกประชาธิปก-รำไพพรรณี ซึ่งอยู่ติดกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงมักจะไปทานอาหารที่โรงอาหารของคณะเศรษฐศาสตร์ ในช่วงแรกๆ ที่ฉันมาเรียนที่จุฬาฯ ก็ได้ยินคนขายอาหารพูดกันเองว่า   “คนเก็บจานที่มาใหม่น่ะ พูดอังกฤษคล่องเชียว เป็นคนพม่า พูดไทยไม่ได้ เวลาจะให้ทำอะไรแกต้องสั่งเขาเป็นภาษาอังกฤษนะ” ฉันเลยรับรู้มาตั้งแต่นั้นว่า โรงอาหารแห่งนี้มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทำงานอยู่ (พอดีตอนนั้นเรียนเรื่องการย้ายถิ่นข้ามชาติอยู่ด้วย) หลังจากนั้นก็จะได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานพม่ามาตลอด ว่าที่เราเข้าใจว่าเป็น “แรงงานพม่า” นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นได้ทั้งพม่า…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน เครื่องนุ่งห่มนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัย ๔ ของมนุษย์ เพื่อปกปิดร่างกายคุ้มภัยร้อนหนาวจากธรรมชาติ กันขวากหนามงูเงี้ยวเขี้ยวขอขบเกี่ยว และที่สำคัญ ปิดกายให้พ้นอาย รวมทั้งเสริมแต่งให้ชวนมอง ส่วนการตกแต่งร่างกายตามความเชื่อและลัทธิทางศาสนานั้นน่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลังสุดและมีความสำคัญรองลงมา การตกแต่งร่างกายนั้นเป็นความจำเป็นที่มนุษย์ใช้เรียกความสนใจจากเพศตรงข้าม นำไปสู่การดำรงเผ่าพันธุ์ อันต่างจากสัตว์ที่เป็นไปตามสัญชาติญาณ และมีแรงดึงดูด (ฟีโรโมน) ในตัว สามารถส่งเสียง สร้างสี ส่องแสง แต่งกลิ่น ล่อเพศตรงข้าม แต่มนุษย์ไม่มีสิ่งเหล่านั้นจึงต้องสร้างขึ้น…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด งานบำเพ็ญกุศลถวายพระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ซึ่งชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯและชาวไทยเชื้อสายมอญจากทั่วประเทศร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยในฐานะกรรมการจัดงาน แต่ก็รู้สึกอิ่มเอมใจกับภาพที่เห็นและบรรยากาศที่ได้สัมผัส ถือเป็นงานใหญ่ที่คนมอญได้แสดงออกซึ่งขนบธรรมประเพณีอันดีงาม มิเสียชื่อที่เป็นชนชาติที่รุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาก่อน ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาและสืบทอดธรรมเนียมมอญโบราณ และเป็นการถวายพระกุศลแด่พระศพสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” กลอนภาษาไทยข้างต้นเป็นกลอนที่ฉันได้ยินมาแต่เด็ก เมื่อมาเขียนบทความนี้ก็พยายามหาว่าใครเป็นคนแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่บอกว่ามาจากเชคเสปียร์ที่บอกว่า “Two folks look through same hole, one sees mud, one sees star” ส่วนผู้ที่ถอดเป็นภาษาไทยนั้น ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นคนถอดความและประพันธ์กลอนนี้ อย่างไรก็ตาม ฉันเข้าใจว่ากลอนบทนี้กล่าวถึงการมองสรรพสิ่งที่เป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าต่างคนอาจมองได้ต่างกัน และเมื่อฉันโตขึ้น ฉันก็ได้เห็นประจักษ์ถึงความเป็นไปตามคำกล่าวนั้น…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน ผีที่คนมอญนับถือ มิใช่ผีต้นกล้วย ผีตะเคียน ผีตานี ผีจอมปลวก แต่เป็นผีบรรพชน ผีปู่ย่าตายายของเขา สิ่งที่รัดโยงและธำรงความเป็นมอญที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือ “การนับถือผี” ผีเป็นศาสนาแรกของทุกชาติทุกภาษา คนมอญนับถือผีควบคู่กับพุทธศาสนา เคารพยำเกรงไม่กล้าฝ่าฝืน การรำผีนอกจากเป็นการเซ่นไหว้ผีประจำตระกูลแล้ว ยังเป็นการรักษาโรคด้วย หากเทียบกับการรักษาโรคในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า เป็นจิตวิทยาการแพทย์ ในบรรดาการรักษาโรคที่หลากหลายของมอญ เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร การนวด คาถาอาคม และพิธีกรรม เช่น การทิ้งข้าว (เทาะฮะแนม) การเสียกบาล (เทาะฮะป่าน) ส่วนพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดคือ การรำผี (เล่ะฮ์กะนา…
องค์ บรรจุน
ภาสกร อินทุมาร ชลบุรีอาจจะเป็นจังหวัดที่ไม่มีใครคิดว่าจะมีชุมชนคนมอญตั้งอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะคนส่วนใหญ่จะรู้จักเฉพาะมอญเกาะเกร็ดและมอญพระประแดงเท่านั้น... แต่ถึงอย่างไรก็ดี ชลบุรีก็ยังมีคนมอญอยู่ที่ “วัดบ้านเก่า” ซึ่งมีชื่อเดิมว่า “วัดบ้านมอญ” แห่งตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และความน่าสนใจของคนมอญของที่นี่ อยู่ที่ “พระ”   วัดบ้านเก่า (วัดบ้านมอญ) ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
องค์ บรรจุน
  สุกัญญา เบาเนิดในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังนิยมสวมในเสื้อเหลือง เสื้อฟ้า เสื้อชมพู (ประดับตราสัญลักษณ์) ด้วยความรู้สึกที่ต้องการแสดงออกถึงความจงรักภักดี หรือจะด้วยความรู้สึกอื่นใด...ทำให้เรารับรู้ได้ว่าการมีเสื้อผ้าไม่ใช่มีไว้ห่อหุ้มร่างกายอย่างเดียว  แต่เสื้อผ้ายังแฝงไว้ด้วยความหมายหลายสิ่งอย่างอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นสี หรือ ลวดลาย  กล่าวกันว่าการกระทำของคนเรานั้นเป็นการกระทำในเชิงสัญลักษณ์ ดังนั้นเสื้อผ้าก็เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารเรื่องราว เป็นตัวแทนความคิด และแทนความรู้สึกร่วมของคนในกลุ่ม  แรงงานมอญที่อพยพเข้างานทำงานในมหาชัย (จังหวัดสมุทรสาคร)…
องค์ บรรจุน
ขนิษฐา คันธะวิชัย ตอนเล็กๆ ผู้เขียนมักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือ “ผีเสื้อขยับปีกทำให้เกิดพายุ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ใช้เรียกทฤษฎีความอลวน (Chaos Theory) กระนั้นผู้เขียนก็ไม่ได้สนใจว่าทฤษฎีนี้มีเนื้อหาอย่างไร แต่ก็มีผู้อธิบายว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” นี้เป็นการอธิบายว่าการที่เราเริ่มทำสิ่งหนึ่งอาจส่งผลลัพธ์ไปถึงสิ่งที่อยู่ไกลๆ ได้ เพราะทุกสิ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกันเกินกว่าที่เราจะตระหนัก ตอนนี้ผู้เขียนเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดไฟ เปิดพัดลม การกระทำเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดสิ่งใดในพื้นที่ที่ห่างออกไปได้หรือไม่ พักเรื่องนี้ไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากัน…