Skip to main content
 

1.


"ถ้าเขารู้ว่าภายใต้ซากเน่าของกองฟางคือทองคำ เขาคงจัดการเก็บมันไว้ทุกเส้นฟาง เสียดายที่ไม่รู้ค่า..." พี่สาวคนหนึ่งที่พาตัวเองไปเป็นชาวไร่ชาวสวนในแถบอีสานแลกเปลี่ยนเรื่องฟางกับเขา

จริงสิ, ในขณะที่ชาวนาหลายคน หลายพื้นที่ เลือกเผาฟางข้าวให้ไหม้ไปอย่างไร้ค่า แต่ก็ยังมีชาวนาชาวไร่ ชาวสวน จำนวนหนึ่งพยายามขวนขวาย เสาะหาฟางมาไว้ในแปลงในสวนของตนให้มากเท่าที่จะทำได้

ใช่ พวกเขามองเหมือนกับว่า ฟางข้าวคือทองคำ

"พี่อาศัยที่เขาไม่เห็นค่า จ้างเด็กๆไปขนมาทิ้งไว้หน้าบ้านกองพะเรอเลย ใช้คลุมโคนต้นไม้เยอะแยะก็ยังเหลือ...บางคนเห็นราคา เพราะที่นี่อัดก้อนขายคนเลี้ยงวัวได้" พี่สาวชาวไร่บอก                            

เมื่อถามทุกข์สุขในวิถีชาวป่าชาวไร่  พี่สาวบอกว่า สนุกดี แม้จะเหนื่อย

"ความสุขมีทุกวัน หลังจากงานหนักผ่านไป เวลาไปเที่ยวป่า พี่มีความสุขทุกครั้งไป แม้จะไม่ใหญ่อลังการแบบป่าทางเหนือหรือป่าของธอโร..." เธอค้นหาความสุขหลังตรากตรำงานหนัก

ทำให้เขานึกไปคำบอกเล่าของมิ่งมิตรอีกคนหนึ่งที่อยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก ที่รู้ข่าวเรื่องชาวนาเผาฟางข้าว...

"น่าเสียดายฟางที่เผา ไม่น่าเผาเลย ฟางเอามาทำประโยชน์ได้มากมาย ผสมเป็นคอนกรีตสำหรับทำผนังบ้านก็ได้ ใช้คลุมดินสำหรับปลูกสตรอเบอร์รี่ก็ได้ แวะไปดูภาพสิครับ"

มิ่งมิตรจากแดนไกล ผู้ใช้นาม chedtha3 จากเยอรมันนี เชื้อเชิญเขาเข้าไปเยี่ยม ชมภาพสวรรค์บ้านนาชานเมืองมิวนิค เยอรมนีชม ผ่านทางโลกอินเทอร์เนท
http://www.oknation.net/blog/chedtha3/2009/06/15/entry-1

เขาจ้องมองดูภาพวิถีชาวนาชาวสวนของชาวเยอรมัน รู้สึกชอบ และรับรู้เลยว่า วิถีชาวนานั้นไม่แตกต่างกันนัก จะแตกต่างกันก็ตรงที่ว่า ชาวนาต่างชาติเขามีระบบคิด การจัดการ และการใช้เครื่องทุ่นแรง ในลักษณะฟาร์มที่เหมาะสมและสอดคล้องกว่าวิถีชาวนาไทยทั่วๆ ไป

ประมาณว่า ใช้มันสมองให้มาก ใช้แรงให้น้อยที่สุด(ใช้สัตว์เลี้ยง-เครื่องทุ่นแรงแทนแรงงาน)

ยกตัวอย่างเรื่อง ฟาง เห็นได้ชัดเลยว่า พวกเขามีการใช้วัสดุธรรมชาติที่เหลือใช้อย่างไรให้มีคุณค่าและคุ้มค่ามากกว่า

นั่นเขาเห็นภาพชาวนาใช้ฟางคลุมแปลงสตอเบอรี่ และในโรงนาเขาเห็นชาวนาเยอรมันใช้ฟางข้าวสาลีอัดแท่งสี่เหลี่ยม เก็บไว้เต็มโรงเรือน เต็มคอกเลี้ยงสัตว์ เอาไว้ให้สัตว์เลี้ยงจำพวก ม้า ลา แพะ กินในหน้าแล้งได้ตลอดปี


ที่มาภาพ http://www.oknation.net/blog/chedtha3/2009/06/15/entry-1

2.

เมื่อหันมาดูวิถีชาวนาไทย เขาพอเห็นความหวังและความอยู่รอดของสังคมเกษตรกรรมอยู่บ้าง เมื่อยังมีอีกหลายกลุ่ม หลายองค์กรเครือข่าย ได้หันมาให้ความสำคัญกับกสิกรรมธรรมชาติกันมากขึ้น

ดูได้จากแนวคิดของครูอุดม ศรีเชียงสา ปราชญ์ชาวนาอีกคนของไทย ที่บอกย้ำเอาไว้นานแล้วว่า...ฟางนั้นมีค่ากว่าทองคำ                                                                      

"เคล็ดที่(ไม่)ลับบนความสำเร็จของการทำกสิกรรมธรรมชาติ ในยุคที่ประเทศไทย กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ฟางคือชิ้นส่วนของต้นข้าวที่ชาวนาเก็บเกี่ยว เอาเมล็ดข้าวเปลือกไปแล้ว ส่วนมากชาวนาเผาทิ้ง การเผาฟางทิ้ง เป็นการสูญเสียทรัพยากรในประเทศโดยเปล่าประโยชน์..."

ครูอุดม บอกว่า เคยมีผู้รู้ และผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่ง กล่าวเปรียบเปรยเอาไว้ว่า ผู้ใดเผาฟาง ผู้นั้นกำลังเผาธนบัตรฉบับละ 100 บาท ฉบับละ 500 บาทจำนวนมากของตนเองทิ้ง'


ที่มาภาพ : www.ku.ac.th/e-magazine/sep49/image/fan.jpg

"นาของผม ผมใช้สูตรเอาฟาง เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ก็โน้มฟางลงดิน แล้วปล่อยน้ำเข้าประมาณ 3 เดือน ฟางก็จะใส่เน่า นาของผมปีแรกได้ข้าว 100 กว่า ปีต่อมาได้ 200 เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ แค่ผมมีฟาง..."

ครูอุดม บอกอีกว่า ฟางให้ธาตุฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ไนโตรเจน ฟางที่เน่าย่อยสลายอยู่กับดินไปเรื่อยๆมันจะไปปรับดินจากดินที่เค็มเป็นดินที่มีความสมดุล

"นาของผมเมื่อก่อนพ่อตาเผาฟาง ข้าวก็ไม่ดี ต่อมาผมบอกให้ทำอย่างที่ผมทำ เดี๋ยวนี้ได้ข้าว 200 กว่า ถ้าหากเราอยากให้มันดีต่อไปอีก เรามาดูพืชตระกูลถั่วทุกอย่าง ถั่วที่ดีที่สุดคือต้นก้ามปู ต้นจามจุรี ต้นบก ต้นอะไรก็ได้ที่เป็นฝัก เราพยายามปลูกไว้ตามไร่ตามนา มันจะให้แร่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม หากเรามีฟางและถั่วมันจะรวมกัน มันก็จะให้แร่ธาตุ NPK ซึ่งอยู่ในปุ๋ยเคมีที่เราไปซื้อตามท้องตลาด"

3.

เมื่อหันมามองสวนในหุบผาแดง ที่เป็นที่อยู่ที่กินของเขาในขณะนี้ ยังคงดำเนินไปอย่างเงียบๆ ช้าๆ ไม่เร่ง ไม่รีบ หลังจากเขาขนฟางข้าวมากองไว้ในสวน เขากลับไปจัดการหอบฟางไปคลี่ๆ คลุมรอบโคนต้นไม้ แล้วนำไปปูลงบนแปลงผักหลังบ้านของเขาอีกครั้ง ปูทับไปบนหญ้าที่เริ่มรกปกคลุมให้หนาเข้าไว้ เพียงไม่นานวัน หญ้าขาดแสง ขาดอากาศหายใจ เริ่มเหลือง แห้งตาย ในขณะฟางเริ่มเน่า และกลายเป็นปุ๋ยในที่สุด

หลังจากนั้น เขาหมั่นรดน้ำ หรือปล่อยให้น้ำฟ้าโปรยลงจนผืนดินทุกหนแห่งชุ่มชื้น เขาเฝ้ารอเมล็ดพืชเมล็ดผักที่หยอดหว่านไว้นั้นงอกเงย โผล่ขึ้นมาจากเศษฟางในแปลง ให้เขาได้เด็ดกินอีกรอบหนึ่ง.

หมายเหตุ : ข้อมูลประกอบ-อ่าน ฟางมีค่ากว่าทองคำ' ของครูอุดม ศรีเชียงสา ได้ที่...http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Dokya/D95/D95_64.html

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ผมกลับมานั่งในบ้านปีกไม้ในหุบผาแดง นิ่งมองภาพเก่าๆ ของพ้อเลป่า สลับกับภาพครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
ภู เชียงดาว
เดาะ บื่อ แหว่ ควา สี่ จื้อ เนอ มู้ โข่ ลอ ปก้อ เฉาะ ถ่อ เจอพี่น้องประสานนิ้วมือฟ้าถล่มช่วยกันค้ำไว้ โถ่ ศรี ซี้ เล้อ แหม่จอ ป่า ซี้ ด่า แคนกยูงตายเพราะขนหางขุนนางตายเพราะเชื่อคนยุยง
ภู เชียงดาว
  ที่มาภาพ : www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105เมื่อเราพูดถึงเรื่อง การพัฒนาและความเจริญ ที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปทางนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา และมันกำลังรุกคืบคลานเข้ามาในวิถีบนบ้านป่าบ้านดอยอย่างต่อเนื่อง
ภู เชียงดาว
ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง ‘พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก ‘หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า ‘พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...
ภู เชียงดาว
                          (๑) หอมกลิ่นภูเขาล่องลอยโชยมาในห้วงยามเย็นฉันยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านปล่อยให้สายแดดสีทองส่องสาดกายมองไปเบื้องล่าง- -ท้องทุ่งแห่งชีวิตยังเคลื่อนไหวไปมา ไม่หยุดนิ่งในความหม่นมัว ในความบดเบลอฉันมองเห็นภาพซ้อนแจ่มชัด แล้วเลือนราง
ภู เชียงดาว
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองนั้นคงเหน็ดหน่ายและเหนื่อยหนักจากการงาน ชีวิตหลายชีวิตอาจถูกทับถมด้วยภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ยังไม่นับนานาปัญหาที่เข้ารุมสุมแน่นหนาอีกหลายชั้น จนดูเหมือนว่าชั่วชีวิตนี้คงยากจะสลัดให้หลุดพ้นไปได้ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะครั้งหนึ่งตัวผมเองเคยเอาชีวิตไปวางไว้อยู่ในเมืองนานหลายปี แน่นอน ใครหลายคนในสังคมเมืองจึงชอบเอา ‘การเดินทาง' เป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นออกจากกงล้อแห่งการงานนั้นได้ และมักเอาช่วงสิ้นปีหรือวันปีใหม่ เป็นวันแห่งการปลดปล่อย ในขณะที่ตัวผมนั้น กลับไม่ได้เดินทางไปไหนเลย ยังมีชีวิตแบบวันต่อวัน อยู่กับปัจจุบันขณะ ในหุบเขาผาแดงแห่งนี้
ภู เชียงดาว
ผมไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา จะมีสักกี่คนสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้กี่ครั้งกี่หนกันแน่นอน ความฝันใครบางคนอาจเกลื่อนกล่น ความฝันใครหลายคนอาจหล่นหาย ใครหลายใครอาจมองว่าความฝันคือความเพ้อฝัน ไกลจากความจริง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คน ไม่เคยละทิ้งความฝันพยายามฟูมฟักความฝัน กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู แม้บ่อยครั้งอาจอาจเหนื่อยหนัก เหน็ดหน่าย กว่าจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริงได้...เหมือนชายคนนี้...ที่ทำให้ฝันหนึ่งนั้นกลายเป็น ความงาม และความจริง... ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือน เวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งผมเคยบันทึกไว้ว่า เป็นดินแดนหุบเขาที่มีชีวิต…
ภู เชียงดาว
ผมรู้แล้วว่า วิถีคนสวนกับคนเขียนกวีนั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ต้องฝึก ทดลอง เรียนรู้ ลงมือทำ ทุกวัน ทุกวัน และแน่นอนว่า เมื่อลงมือทำแล้ว เราจำเป็นต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เติมความรักความเอาใจใส่ลงไปอย่างต่อเนื่อง (ถ้าไม่อย่างนั้น พันธ์พืชที่เราหว่านลงไปอาจเฉาเหี่ยวแห้งไป หรือไม่ผืนดินอันอุดมก็อาจแข็งด้านดินดานไปหมด) หลังจากนั้น เรายังต้องอดทนและรอคอยให้มันออกดอกออกผล กระทั่งเราสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตที่งอกเงยในบั้นปลายได้ ทุกวันนี้ ผมยังถือว่าตนเองเป็นเพียงคนสวนมือใหม่ และเป็นคนฝึกเขียนบทกวีอยู่เสมอ ทุกวัน หลังจากพักงานสวน ผมจะลงมือเขียนบทกวี โดยเฉพาะในยามนี้…