Skip to main content

 

\\/--break--\>

 

 

 

 

ต้นเดือนเมษายน เขากับเพื่อนสนิทอดีตครูดอย ขับรถขึ้นมาจากใต้ พากันไปเยือนห้วยเสือเฒ่า ไม่ไกลนักจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน อันเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของพี่น้องชาวกะยัน หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในนามกะเหรี่ยงคอยาว ในความรู้สึกขณะนั่งอยู่ในรถตอนนั้น เขาบอกกับตัวเองว่า ไม่อยากไปเยือนในฐานะนักท่องเที่ยว หากอยากไปในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง เขาตั้งใจแวะไปเยี่ยมหาแม่เฒ่ามะโน ซึ่งก่อนหน้านั้นเพื่อนและน้องสาวคนหนึ่งเคยมากินนอนอยู่กับครอบครัวของแม่เฒ่า จนสนิทแนบแน่นกันเป็นดั่งเครือญาติผูกพัน

 

แม่เฒ่ามะโนดีใจใบหน้าเปื้อนยิ้ม ที่เห็นพวกเรามาเยี่ยม รีบกุลีกุจอขอตัวไปต้มน้ำ หากาแฟมาให้เรานั่งจิบกันในเพิงหน้ากระท่อม ใกล้ๆ กับแผงขายของที่ระลึก ใกล้เที่ยง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มทยอยกันเข้ามา ดูเหมือนว่าทุกคนที่มาเยือนห้วยเสือเฒ่าจะไม่สนใจอย่างอื่น นอกจากจ้องมองดูห่วงทองเหลืองบนคอของแม่หญิงชาวกะยัน ด้วยสายตาของความกระหายใคร่รู้ พร้อมขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก แม่เฒ่าบอกว่า ตอนนี้ใส่ห่วงทั้งหมด 24 ห่วง ยาวที่สุดในหมู่บ้าน ครั้นเมื่อสอบถามน้ำหนักของห่วงในร่างกายของแม่เฒ่า จึงรู้ว่าน้ำหนักห่วงบนคอ 5 กก.และที่สวมห่วงขาอีกข้างละ 1 กก.รวมเป็น 7 กก.ซึ่งหนักไม่ใช่เล่น

 

แต่แม่เฒ่ามะโนยังยิ้มอย่างภูมิใจกับห่วงทองเหลืองของแท้ที่เหลืออยู่...

 

แหละเมื่อพูดถึงชาวกะยัน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักรู้จักกันเพียงแค่กะเหรี่ยงสวมห่วงคอสีทอง ที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมเหมือนกับเป็นสวนสัตว์มนุษย์เพียงแค่นั้น แต่ไม่ค่อยมีใครรับรู้และสนใจว่า พวกเขาก็เป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์อิสระกลุ่มหนึ่งที่จำต้องเดินทางไกล ลี้ภัยจากการสู้รบในฟากฝั่งพม่า หนีจากโหดร้ายอดยาก มาอาศัยอยู่ในเมืองไทยนานกว่ายี่สิบปีแล้ว

 

ทำให้เขานึกไปถึงถ้อยคำของน้องสาวคนนั้น ที่ปัจจุบันไปเป็นสะใภ้ของแม่เฒ่ามะโน ได้บันทึกเอาไว้ให้เห็นภาพเป็นจริง ไม่ใช่เหมือนกับที่หลายๆ องค์กรหน่วยงานนั้นมองเห็น

 

เธอบอกว่า ชาวกะยันก็เหมือนนกพลัดถิ่น ที่จำต้องทิ้งรังเพื่อหาที่อยู่แห่งใหม่ ทว่าครั้นมาถึงดินแดนใหม่ กลับพบว่า ชีวิตนั้นอยู่รอด หากถูกมือที่มองไม่เห็นจับต้อนเข้ากรง แล้วป้อนข้าวป้อนน้ำให้พอประทังชีวิต

 

คงเหมือนกับที่เธอบอกเช่นนั้น...เขาครุ่นคิด นั่นทำให้เขารู้ว่า นกพลัดถิ่นฝูงนี้จึงไม่อาจจะโบยบินต่อไป ตราบใดที่อำนาจรัฐ อำนาจลับ และผลประโยชน์ ยังเข้าครอบครองและครอบงำพวกเขาอยู่

 

"ทุกวันนี้ ไม่มีบัตร ไปไหนไม่ได้ ไปได้แค่เมืองแม่ฮ่องสอนเท่านั้น" แม่เฒ่าเอ่ยออกมาเบาๆ

 

"แล้วถ้าเขาอนุญาตให้ไปได้ อยากไปไหนบ้างละ" เขาแหย่ถามเล่นๆ

 

"อยากไปเชียงใหม่ อยากไปกรุงเทพฯ อยากขี่เครื่องบิน อยากไปทะเล แม่มีเพื่อนเป็นฝรั่งด้วยนะ เขาอยู่แถวทะเล แต่ไปไม่ได้ ไม่มีบัตร..." แม่เฒ่าบอกเล่าความฝันเหมือนเด็กๆ

 

ภาพที่เขามองเห็นในวันนั้น ชาวกะยันยังคงอาศัยอยู่ในกระท่อมเก่าๆ เพิงพักหลังเล็กๆ ที่เบียดเสียดกันอยู่ในเนื้อที่อันจำกัดเช่นนั้น ไม่สามารถปลูกไร่ใส่สวนเหมือนคนทั่วไปได้ วิถีความเป็นอยู่จึงแร้นแค้นและจำยอม

 

กระนั้น พี่น้องชาวกะยันกลุ่มนี้ ยังคงฝันถึงดินแดนแห่งใหม่ แม้ว่าดินแดนนั้นจะไกลและนานเพียงใดก็ตาม ใช่ หลายคนที่นี่ยังหวังจะบินไกลเป็นครั้งสุดท้าย ตามโครงการของ UNDP โดยยึดหลักกติกาสากลของสหประชาชาติ ว่าผู้ลี้ภัยย่อมมีสิทธิที่จะเลือกไปอยู่ประเทศที่สาม เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

 

"ตอนนี้ลูกๆ เตรียมตัวไปประเทศที่สามกันแล้วหละ..." แม่เฒ่าเอ่ยออกมากลางความเงียบ

 

"ถ้าแม่มีโอกาสไปอยู่ประเทศที่สาม แม่อยากไปที่ไหน"

 

"อยากไปอเมริกา...แต่ถ้าไม่ใช่อเมริกา ก็จะไม่ไปไหน ขออยู่เมืองไทยที่นี่ดีกว่า"

 

"ทำไมถึงอยากไปอยู่อเมริกา" เขาแกล้งถาม

 

"ไม่รู้เหมือนกัน..."

 

แม่เฒ่ามะโนพูดซื่อๆ ไม่ได้อธิบายอะไรให้เราชัด จนเขาครุ่นคิดไปเองว่า อาจเป็นเพราะใครต่อใครพูดถึงประเทศสหรัฐอเมริกาให้แม่เฒ่าฟัง หรือไม่อาจได้ดูโทรทัศน์ ฟังข่าวที่พูดถึงอเมริกากันอยู่บ่อยๆ ว่าอเมริกานั้นมีเสรีภาพ

 

คำพูดของแม่เฒ่า ทำให้เขานึกไปถึงคำบอกเล่าของ ‘เดวิด ธอโร' ที่ว่าไว้ใน ‘วอลเดน'

 

‘...อเมริกาที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวนั้น คือประเทศที่คุณมีเสรีภาพ ที่จะใช้วิถีชีวิต ซึ่งสามารถจะทำให้คุณอยู่ได้, เป็นดินแดนซึ่งรัฐ ไม่พยายามที่จะบีบคั้นให้คุณรักษาไว้ซึ่งระบบทาส และสงคราม'

 

เขาหันไปมองแม่เฒ่ามะโนอีกครั้ง แม่เฒ่าอาจรู้สึกเช่นนั้น หากในห้วงเวลานี้ แม่เฒ่ายังยืนอยู่ที่เดิม ที่นี่...ดินแดนที่ไม่มีสงคราม หากเสรีภาพนั้นแหว่งหายไปนานแล้ว!

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนเขาและเพื่อนๆ จะขอตัวลากลับในวันนั้น แม่เฒ่าหยิบโปสการ์ดรูปวาดแม่เฒ่าแรเงาสีเทาให้คนละใบ ก่อนบอกย้ำว่า "หมั่นมาหากันนะ มาครั้งหน้ามานอนค้างที่นี่ซักคืน"

 

ในขณะที่ทุกคนยกมือไหว้ โอบกอดและร่ำลา เขามองเห็นดวงตาแม่เฒ่านั้นรื้นๆ ด้วยน้ำใสๆ

เป็นดวงตาของความโดดเดี่ยว แปลกแยก และเหงาเศร้า

จ้องมองเหม่อดูผู้คนที่เดินเข้ามาและเดินจากไปเงียบๆ

หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์คนคือการเดินทาง เสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พ.ค.2552

 

 

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ผมกลับมานั่งในบ้านปีกไม้ในหุบผาแดง นิ่งมองภาพเก่าๆ ของพ้อเลป่า สลับกับภาพครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
ภู เชียงดาว
เดาะ บื่อ แหว่ ควา สี่ จื้อ เนอ มู้ โข่ ลอ ปก้อ เฉาะ ถ่อ เจอพี่น้องประสานนิ้วมือฟ้าถล่มช่วยกันค้ำไว้ โถ่ ศรี ซี้ เล้อ แหม่จอ ป่า ซี้ ด่า แคนกยูงตายเพราะขนหางขุนนางตายเพราะเชื่อคนยุยง
ภู เชียงดาว
  ที่มาภาพ : www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105เมื่อเราพูดถึงเรื่อง การพัฒนาและความเจริญ ที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปทางนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา และมันกำลังรุกคืบคลานเข้ามาในวิถีบนบ้านป่าบ้านดอยอย่างต่อเนื่อง
ภู เชียงดาว
ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง ‘พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก ‘หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า ‘พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...
ภู เชียงดาว
                          (๑) หอมกลิ่นภูเขาล่องลอยโชยมาในห้วงยามเย็นฉันยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านปล่อยให้สายแดดสีทองส่องสาดกายมองไปเบื้องล่าง- -ท้องทุ่งแห่งชีวิตยังเคลื่อนไหวไปมา ไม่หยุดนิ่งในความหม่นมัว ในความบดเบลอฉันมองเห็นภาพซ้อนแจ่มชัด แล้วเลือนราง
ภู เชียงดาว
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองนั้นคงเหน็ดหน่ายและเหนื่อยหนักจากการงาน ชีวิตหลายชีวิตอาจถูกทับถมด้วยภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ยังไม่นับนานาปัญหาที่เข้ารุมสุมแน่นหนาอีกหลายชั้น จนดูเหมือนว่าชั่วชีวิตนี้คงยากจะสลัดให้หลุดพ้นไปได้ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะครั้งหนึ่งตัวผมเองเคยเอาชีวิตไปวางไว้อยู่ในเมืองนานหลายปี แน่นอน ใครหลายคนในสังคมเมืองจึงชอบเอา ‘การเดินทาง' เป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นออกจากกงล้อแห่งการงานนั้นได้ และมักเอาช่วงสิ้นปีหรือวันปีใหม่ เป็นวันแห่งการปลดปล่อย ในขณะที่ตัวผมนั้น กลับไม่ได้เดินทางไปไหนเลย ยังมีชีวิตแบบวันต่อวัน อยู่กับปัจจุบันขณะ ในหุบเขาผาแดงแห่งนี้
ภู เชียงดาว
ผมไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา จะมีสักกี่คนสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้กี่ครั้งกี่หนกันแน่นอน ความฝันใครบางคนอาจเกลื่อนกล่น ความฝันใครหลายคนอาจหล่นหาย ใครหลายใครอาจมองว่าความฝันคือความเพ้อฝัน ไกลจากความจริง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คน ไม่เคยละทิ้งความฝันพยายามฟูมฟักความฝัน กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู แม้บ่อยครั้งอาจอาจเหนื่อยหนัก เหน็ดหน่าย กว่าจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริงได้...เหมือนชายคนนี้...ที่ทำให้ฝันหนึ่งนั้นกลายเป็น ความงาม และความจริง... ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือน เวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งผมเคยบันทึกไว้ว่า เป็นดินแดนหุบเขาที่มีชีวิต…
ภู เชียงดาว
ผมรู้แล้วว่า วิถีคนสวนกับคนเขียนกวีนั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ต้องฝึก ทดลอง เรียนรู้ ลงมือทำ ทุกวัน ทุกวัน และแน่นอนว่า เมื่อลงมือทำแล้ว เราจำเป็นต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เติมความรักความเอาใจใส่ลงไปอย่างต่อเนื่อง (ถ้าไม่อย่างนั้น พันธ์พืชที่เราหว่านลงไปอาจเฉาเหี่ยวแห้งไป หรือไม่ผืนดินอันอุดมก็อาจแข็งด้านดินดานไปหมด) หลังจากนั้น เรายังต้องอดทนและรอคอยให้มันออกดอกออกผล กระทั่งเราสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตที่งอกเงยในบั้นปลายได้ ทุกวันนี้ ผมยังถือว่าตนเองเป็นเพียงคนสวนมือใหม่ และเป็นคนฝึกเขียนบทกวีอยู่เสมอ ทุกวัน หลังจากพักงานสวน ผมจะลงมือเขียนบทกวี โดยเฉพาะในยามนี้…