Skip to main content

 

\\/--break--\>

 

 

 

 

ต้นเดือนเมษายน เขากับเพื่อนสนิทอดีตครูดอย ขับรถขึ้นมาจากใต้ พากันไปเยือนห้วยเสือเฒ่า ไม่ไกลนักจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน อันเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราวของพี่น้องชาวกะยัน หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในนามกะเหรี่ยงคอยาว ในความรู้สึกขณะนั่งอยู่ในรถตอนนั้น เขาบอกกับตัวเองว่า ไม่อยากไปเยือนในฐานะนักท่องเที่ยว หากอยากไปในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง เขาตั้งใจแวะไปเยี่ยมหาแม่เฒ่ามะโน ซึ่งก่อนหน้านั้นเพื่อนและน้องสาวคนหนึ่งเคยมากินนอนอยู่กับครอบครัวของแม่เฒ่า จนสนิทแนบแน่นกันเป็นดั่งเครือญาติผูกพัน

 

แม่เฒ่ามะโนดีใจใบหน้าเปื้อนยิ้ม ที่เห็นพวกเรามาเยี่ยม รีบกุลีกุจอขอตัวไปต้มน้ำ หากาแฟมาให้เรานั่งจิบกันในเพิงหน้ากระท่อม ใกล้ๆ กับแผงขายของที่ระลึก ใกล้เที่ยง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มทยอยกันเข้ามา ดูเหมือนว่าทุกคนที่มาเยือนห้วยเสือเฒ่าจะไม่สนใจอย่างอื่น นอกจากจ้องมองดูห่วงทองเหลืองบนคอของแม่หญิงชาวกะยัน ด้วยสายตาของความกระหายใคร่รู้ พร้อมขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก แม่เฒ่าบอกว่า ตอนนี้ใส่ห่วงทั้งหมด 24 ห่วง ยาวที่สุดในหมู่บ้าน ครั้นเมื่อสอบถามน้ำหนักของห่วงในร่างกายของแม่เฒ่า จึงรู้ว่าน้ำหนักห่วงบนคอ 5 กก.และที่สวมห่วงขาอีกข้างละ 1 กก.รวมเป็น 7 กก.ซึ่งหนักไม่ใช่เล่น

 

แต่แม่เฒ่ามะโนยังยิ้มอย่างภูมิใจกับห่วงทองเหลืองของแท้ที่เหลืออยู่...

 

แหละเมื่อพูดถึงชาวกะยัน เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักรู้จักกันเพียงแค่กะเหรี่ยงสวมห่วงคอสีทอง ที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมเหมือนกับเป็นสวนสัตว์มนุษย์เพียงแค่นั้น แต่ไม่ค่อยมีใครรับรู้และสนใจว่า พวกเขาก็เป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์อิสระกลุ่มหนึ่งที่จำต้องเดินทางไกล ลี้ภัยจากการสู้รบในฟากฝั่งพม่า หนีจากโหดร้ายอดยาก มาอาศัยอยู่ในเมืองไทยนานกว่ายี่สิบปีแล้ว

 

ทำให้เขานึกไปถึงถ้อยคำของน้องสาวคนนั้น ที่ปัจจุบันไปเป็นสะใภ้ของแม่เฒ่ามะโน ได้บันทึกเอาไว้ให้เห็นภาพเป็นจริง ไม่ใช่เหมือนกับที่หลายๆ องค์กรหน่วยงานนั้นมองเห็น

 

เธอบอกว่า ชาวกะยันก็เหมือนนกพลัดถิ่น ที่จำต้องทิ้งรังเพื่อหาที่อยู่แห่งใหม่ ทว่าครั้นมาถึงดินแดนใหม่ กลับพบว่า ชีวิตนั้นอยู่รอด หากถูกมือที่มองไม่เห็นจับต้อนเข้ากรง แล้วป้อนข้าวป้อนน้ำให้พอประทังชีวิต

 

คงเหมือนกับที่เธอบอกเช่นนั้น...เขาครุ่นคิด นั่นทำให้เขารู้ว่า นกพลัดถิ่นฝูงนี้จึงไม่อาจจะโบยบินต่อไป ตราบใดที่อำนาจรัฐ อำนาจลับ และผลประโยชน์ ยังเข้าครอบครองและครอบงำพวกเขาอยู่

 

"ทุกวันนี้ ไม่มีบัตร ไปไหนไม่ได้ ไปได้แค่เมืองแม่ฮ่องสอนเท่านั้น" แม่เฒ่าเอ่ยออกมาเบาๆ

 

"แล้วถ้าเขาอนุญาตให้ไปได้ อยากไปไหนบ้างละ" เขาแหย่ถามเล่นๆ

 

"อยากไปเชียงใหม่ อยากไปกรุงเทพฯ อยากขี่เครื่องบิน อยากไปทะเล แม่มีเพื่อนเป็นฝรั่งด้วยนะ เขาอยู่แถวทะเล แต่ไปไม่ได้ ไม่มีบัตร..." แม่เฒ่าบอกเล่าความฝันเหมือนเด็กๆ

 

ภาพที่เขามองเห็นในวันนั้น ชาวกะยันยังคงอาศัยอยู่ในกระท่อมเก่าๆ เพิงพักหลังเล็กๆ ที่เบียดเสียดกันอยู่ในเนื้อที่อันจำกัดเช่นนั้น ไม่สามารถปลูกไร่ใส่สวนเหมือนคนทั่วไปได้ วิถีความเป็นอยู่จึงแร้นแค้นและจำยอม

 

กระนั้น พี่น้องชาวกะยันกลุ่มนี้ ยังคงฝันถึงดินแดนแห่งใหม่ แม้ว่าดินแดนนั้นจะไกลและนานเพียงใดก็ตาม ใช่ หลายคนที่นี่ยังหวังจะบินไกลเป็นครั้งสุดท้าย ตามโครงการของ UNDP โดยยึดหลักกติกาสากลของสหประชาชาติ ว่าผู้ลี้ภัยย่อมมีสิทธิที่จะเลือกไปอยู่ประเทศที่สาม เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่

 

"ตอนนี้ลูกๆ เตรียมตัวไปประเทศที่สามกันแล้วหละ..." แม่เฒ่าเอ่ยออกมากลางความเงียบ

 

"ถ้าแม่มีโอกาสไปอยู่ประเทศที่สาม แม่อยากไปที่ไหน"

 

"อยากไปอเมริกา...แต่ถ้าไม่ใช่อเมริกา ก็จะไม่ไปไหน ขออยู่เมืองไทยที่นี่ดีกว่า"

 

"ทำไมถึงอยากไปอยู่อเมริกา" เขาแกล้งถาม

 

"ไม่รู้เหมือนกัน..."

 

แม่เฒ่ามะโนพูดซื่อๆ ไม่ได้อธิบายอะไรให้เราชัด จนเขาครุ่นคิดไปเองว่า อาจเป็นเพราะใครต่อใครพูดถึงประเทศสหรัฐอเมริกาให้แม่เฒ่าฟัง หรือไม่อาจได้ดูโทรทัศน์ ฟังข่าวที่พูดถึงอเมริกากันอยู่บ่อยๆ ว่าอเมริกานั้นมีเสรีภาพ

 

คำพูดของแม่เฒ่า ทำให้เขานึกไปถึงคำบอกเล่าของ ‘เดวิด ธอโร' ที่ว่าไว้ใน ‘วอลเดน'

 

‘...อเมริกาที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวนั้น คือประเทศที่คุณมีเสรีภาพ ที่จะใช้วิถีชีวิต ซึ่งสามารถจะทำให้คุณอยู่ได้, เป็นดินแดนซึ่งรัฐ ไม่พยายามที่จะบีบคั้นให้คุณรักษาไว้ซึ่งระบบทาส และสงคราม'

 

เขาหันไปมองแม่เฒ่ามะโนอีกครั้ง แม่เฒ่าอาจรู้สึกเช่นนั้น หากในห้วงเวลานี้ แม่เฒ่ายังยืนอยู่ที่เดิม ที่นี่...ดินแดนที่ไม่มีสงคราม หากเสรีภาพนั้นแหว่งหายไปนานแล้ว!

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนเขาและเพื่อนๆ จะขอตัวลากลับในวันนั้น แม่เฒ่าหยิบโปสการ์ดรูปวาดแม่เฒ่าแรเงาสีเทาให้คนละใบ ก่อนบอกย้ำว่า "หมั่นมาหากันนะ มาครั้งหน้ามานอนค้างที่นี่ซักคืน"

 

ในขณะที่ทุกคนยกมือไหว้ โอบกอดและร่ำลา เขามองเห็นดวงตาแม่เฒ่านั้นรื้นๆ ด้วยน้ำใสๆ

เป็นดวงตาของความโดดเดี่ยว แปลกแยก และเหงาเศร้า

จ้องมองเหม่อดูผู้คนที่เดินเข้ามาและเดินจากไปเงียบๆ

หมายเหตุ : งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์คนคือการเดินทาง เสาร์สวัสดี กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พ.ค.2552

 

 

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ผมรู้ว่าสี่ห้าปีมานี้ ผมเขียนบทกวีได้ไม่กี่ชิ้น อาจเป็นเพราะต้องอยู่กับโลกข่าวสารที่จำเป็นต้องเร่งและเร็ว หรืออาจเป็นเพราะว่ามีบางสิ่งบางอย่างบดบัง จนหลงลืมมองสิ่งที่รอบข้าง มองเห็นอะไรพร่ามัวไปหมด หรือว่าเรากำลังหลงลืมความจริง...ผมเฝ้าถามตัวเอง...  อย่างไรก็ตามเถอะ...มาถึงตอนนี้ ผมกำลังพยายามฝึกใช้ชีวิต ให้อยู่กับความฝันและความจริงไปพร้อมๆ กัน ช่วงนี้ หลังพักจากงานสวน ผมจึงมีเวลาอยู่กับความเงียบลำพัง เพ่งมองภายในและสิ่งรายรอบมากยิ่งขี้น และผมเริ่มบันทึกบทกวีแคนโต้เหมือนสายน้ำ หลั่งไหล อย่างต่อเนื่อง ทุกวันๆ ตามดวงตาที่เห็น ตามหัวใจได้สัมผัสต้อง บ่อยครั้งมันมากระทบทันใด ไม่รู้ตัว…
ภู เชียงดาว
เกือบสามเดือนแล้วที่ผมพาตัวเองกลับมาอยู่ในหุบเขาบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่จึงขลุกอยู่แต่ในสวน ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนไกล แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าเหงาหรือห่างไกลกับผู้คนเลย เพราะในแต่ละเดือนมักมีมิ่งมิตรเดินทางมาเยี่ยมเยือนหากันตลอด  และทำให้ผมรู้อีกอย่างหนึ่งว่า...บางทีการอยู่นิ่งก็หมายถึงการเดินทาง ใช่ ผมหมายถึงว่า ในขณะที่ผมอยู่ในสวน หากยังมีผู้คนเดินทางแวะเวียนมาหา และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ผมยังมองเห็นเมล็ดพันธุ์เดินทางมายังสวนอย่างต่อเนื่อง “ผมเอาเมล็ดพันธุ์มาฝาก...” นักเดินทางคนหนึ่งเดินทางไกลมาจากสงขลา ล้วงเอาเมล็ดพันธุ์ที่ใส่ไว้ในกล่องฟิล์มยื่นให้ ขณะผมกำลังง่วนทำงานอยู่ในสวน
ภู เชียงดาว
หลังดินดำน้ำชุ่ม เขาหยิบเมล็ดพันธุ์หลากหลายมากองวางไว้ตรงหน้า มีทั้งเมล็ดผักกาดดอยที่พ่อนำมาให้ เมล็ดฟักทองที่พี่สาวฝากมา นั่นเมล็ดแตงกวา เมล็ดหัวผักกาด ถั่วพุ่ม ผักบุ้ง บวบหอม ผักชี ฯลฯ เขาค่อยๆ ทำไปช้าๆ ไม่เร่งรีบ ทั้งหว่านทั้งหยอดไปทั่วแปลง เสร็จแล้วเดินไปหอบใบหญ้าแฝกที่ตัดกองไว้ตามคันขอบรอบบ้านปีกไม้มาปูบนแปลงผักแทนฟางข้าว ให้ความชุ่มชื้นแก่ดินหลังจากนั้น เขามองไปรอบๆ แปลงริมรั้วยังมีพื้นที่ว่าง เขาเดินไปถอนกล้าตำลึง ผักปลัง ผักเชียงดา มะเขือ พริก อัญชัน ตะไคร้ ขิง ข่า กระเพรา โหระพา สาระแหน่ ฯลฯ มาปลูกเสริม หยิบลูกมะเขือเครือ(ที่หลายคนเรียกกันว่าฟักแม้วหรือซาโยเต้)…
ภู เชียงดาว
ในช่วงสองเดือน ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เกือบทุกเสาร์-อาทิตย์ เขาใช้เวลาเทียวขึ้นเทียวล่องระหว่างเมืองกับสวนในหุบเขาบ้านเกิด เพื่อวางแผนลงมือทำสวนผักหลังบ้าน แน่นอน- -เพราะเขาบอกกับตัวเองย้ำๆ ว่าหากคิดจะพามนุษย์เงินเดือน กลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีฐานที่มั่น และมีผักไม้ไซร้เครือเตรียมไว้ให้พร้อม ให้พออยู่พอกินเสียก่อน ใช่ เขาหมายถึงการสร้างฐานความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวหลังบ้าน   หลายคนอาจบอกว่า งานทำสวนนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนกับงานสาขาอาชีพอื่น แต่ก็อีกนั่นแหละ เขากลับมองว่า งานสวนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย…
ภู เชียงดาว
1. ในชีวิตคนเรานั้นคงเคยตั้งคำถามที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก คำถามคลาสสิกหนึ่งนั้นคือ...“คนเราต้องการอะไรในชีวิต!?...” คำตอบส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นต้องการปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ...อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หากปัจจุบัน ‘เงิน’ กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของคนเรา แน่นอน, เมื่อเอาเงินเป็นตัวกำหนดชะตากรรม,ชีวิต จึงทำให้ทุกคนต้องดิ้นรนเพียงเพื่อให้ได้มาทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้ชีวิตหลายชีวิตนั้นขวนขวายทำงานกันอย่างหน่วงหนัก ‘การงาน’ ได้กระชากลากเหวี่ยงเรากระเด็นกระดอนไปไกลและไกล ให้ออกไปเดินบนถนนของความโลภ ไปสู่เมืองของความอยาก ไปสู่กงล้อของการไขว่คว้าที่หมุนวนอยู่ไม่รู้จบ…
ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ฟ้าเริ่มครึ้มมัวหม่นเมฆฝน ข้ายืนจดจ้องฝูงมดดำเคลื่อนขบวนมหึมา ไต่ไปบนปีกไม้ไปหารวงรังแตนเกาะริมขอบหน้าต่างบ้านปีกไม้ หมู่มดยื้อแย่งขนไข่แตนกันออกจากรัง อย่างต่อเนื่อง ขณะฝูงแตนบินว่อนไปมาด้วยสัญชาติญาณ คงตระหนกตกใจระคนโกรธขึ้งเคียดแค้น แต่มิอาจทำอะไรพวกมันได้ เหล่าฝูงมดอาศัยพลพรรคนับพันนับหมื่นชีวิต ใช้ความได้เปรียบเข้าปล้นรังไข่พวกมันไปหมดสิ้น ไม่นาน ขบวนมดจำนวนมหาศาลก็ถอยทัพกลับไป ฝูงแตนไม่รู้หายไปไหน เหลือเพียงรังแตนที่กลวง ว่างเปล่า
ภู เชียงดาว
ในที่สุด, ผมก็พาตัวเองกลับคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากโชคชะตาชักชวนชีวิตลงไปอยู่ในโลกของเมืองตั้งหลายขวบปี การกลับบ้านครั้งนี้ ผมกะเอาไว้ว่า จะขอกลับไปพำนักอย่างถาวร หลังจากชีวิตเกือบค่อนนั้นระหกระเหินเดินทางไปหลายหนแห่ง ผ่านทุ่งนา ภูเขา แม่น้ำ ทางป่า ถนนเมือง... จนทำให้บ้านเกิดนั้นเป็นเพียงคนรู้จักที่ไม่คุ้นเคย เป็นเหมือนโรงเตี๊ยมพักผ่อนชั่วคราวก่อนออกเดินทางไกล อย่างไรก็ตามได้อะไรมากและหลากหลาย... สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาสู่,ชีวิตการกลับบ้านเกิดหนนี้, เหมือนกับว่าไปเริ่มสู่จุดเริ่มต้นและก่อเกิด ผมบอกกับหลายคนว่ากำลังเกิดใหม่เป็นหนที่สามจากบ้านเกิด เข้ามาเรียนในเวียง…
ภู เชียงดาว
‘ลุ่มน้ำแม่ป๋าม’ ถือว่าเป็นลุ่มน้ำสาขาหลักที่สำคัญของแม่น้ำปิงอีกสายหนึ่งของอำเภอเชียงดาว ที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย เมื่อย้อนทวนขึ้นไปบนความสลับซับซ้อนของต้นกำเนิดน้ำแม่ป๋าม หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ตาน้ำ จะพบว่าอยู่บริเวณชุมชนบ้านแม่ปาคี ต.สันทราย ของ อ.พร้าว ก่อนจะลัดเลาะไหลอ้อมตีนดอยผาแดง ลงสู่หุบห้วยบริเวณบ้านป่าตึงงาม โดยมีสายน้ำย่อยอีกสายหนึ่ง คือน้ำแม่ป๋อย ได้ไหลมารวมกับน้ำแม่ป๋ามตรงสบน้ำบ้านออน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว นอกจากนั้นยังมีลำน้ำแม่มาดอีกสายหนึ่ง ซึ่งมีขุนน้ำอยู่บริเวณป่าเชิงดอยบ้านปางโม่ ก็ได้ไหลมาสมทบกับน้ำแม่ป๋าม แล้วค่อยไหลผ่านหมู่บ้านแม่ป๋าม…
ภู เชียงดาว
มองไปในความกว้างและเวิ้งว้าง ทำให้ผมอดครุ่นคิดไปลึกและไกล และพลอยให้อดนึกหวั่นไหวไม่ได้ หากภูเขา ทุ่งนาทุ่งไร่ สายน้ำ และวิถีชีวิตในหมู่บ้านเกิดของผมต้องเปลี่ยนไป เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติเข้ามาเยือน
ภู เชียงดาว
‘…เรารู้ซึ้งถึงสิ่งนี้ โลกนี้มิใช่ของมนุษย์ มนุษย์ต่างหากที่เป็นสมบัติของโลก สิ่งนี้เรารู้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเหมือนดังสายเลือดในครอบครัวเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรธิดาของโลกด้วย มนุษย์ไม่ใช่ผู้สานทอใยแห่งชีวิต เขาเป็นเพียงเส้นใยหนึ่งในนั้น สิ่งใดก็ตามที่เขาทำต่อข่ายใยนั้น ก็เท่ากับกระทำต่อตนเอง...’จดหมายโต้ตอบของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงที่ซีแอตเติ้ลจากหนังสือ ‘ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป’วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : แปล และเรียบเรียง
ภู เชียงดาว
  ผมยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน จ้องมองภาพเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า... เป็นภาพที่คุ้นเคยที่ยังคงสวยสด งดงาม และเรียบง่ายในความรู้สึกผม ภาพชาวนาในท้องทุ่ง ภาพหุบเขาผาแดงที่มีป่าไม้กับลำน้ำแม่ป๋ามไหลผ่านคดโค้งเลียบเลาะระหว่างตีนดอยกับทุ่งนา ก่อนรี่ไหลลงไปสู่ลำน้ำปิง แม่น้ำในใจคนล้านนามานานนักนาน
ภู เชียงดาว
(1)ดอกฝนหล่นโปรยมาทายทักแล้ว,ในห้วงต้นฤดูหอมกลิ่นดินกลิ่นป่าอวลตรลบไปทั่วทุกหนแห่งหัวใจหลายดวงชื่นสดในชีวิตวิถีถูกปลุกฟื้นตื่นให้เริ่มต้นใหม่อีกคราครั้ง…ตีนเปลือยย่ำไปบนดินนุ่มชุ่มชื้น,เช้าวันใหม่ไต่ตามสันดอย ไปในไร่ด้วยกันนะน้องสาวผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน  ช่วยกันทำงานๆพี่ใช้เสียมลำไม้ไผ่กระทุ้งดิน  น้องหยิบเมล็ดข้าวหยอดใส่หลุมไม่เร่งรีบ ไม่บ่นท้อ ในความเหน็ดหน่ายเสร็จงานเราผ่อนคลาย  เอนกายผ่อนพักใต้เงาไม้ใหญ่แล้วพี่จะกล่อมให้, ด้วยเพลงพื้นบ้านโบราณขับขาน