Skip to main content

 

\\/--break--\>

 

 

 

-1-

 

ผมมีโอกาสหวนกลับไปเดินบนเส้นทางสายเก่านี้อีกครั้ง…

บ้านแม่คองซ้าย ชุมชนของคนรักป่าชนเผ่าปกากะญอ ที่อยู่ทางฟากฝั่งตะวันตกของดอยหลวงเชียงดาว


แดดยามเย็นสีทองส่องสาดป่าทั้งป่านั้นเปล่งประกาย ตัดกับความเขียวสดรกครึ้มของต้นไม้ใบหญ้าสองข้างทาง พลอยทำให้การเดินทางในครั้งนี้ รู้สึกปลอดโปร่งสดชื่นรื่นรมย์ยิ่งนัก


บนเส้นทางเดินไปสู่หมู่บ้าน ชีวิตลัดเลาะไปตามเงาไม้ ไต่ไปบนเนินสูง ก่อนหลุบเลี้ยวลงไปในหุบห้วย จึงพบกับสายน้ำแม่คองที่ยังหลั่งไหลและหล่อเลี้ยงชุมชนนี้มาเนิ่นนาน ไม่ใกล้ไม่ไกล ผมมองเห็นกระท่อมตั้งอยู่ริมลำห้วย และยินเสียงครกกระเดื่องตำข้าวดังก้องป่า นานเท่าใดแล้วหนอที่ผมไม่ได้มาเยือน…ผมรำพึงกับตัวเอง

 

ดวงตะวันลดตัวลงต่ำลับไหล่เขา ลมเย็นพัดโชยมาแผ่วแผ่วเบา ผมนั่งอยู่นอกชานบ้าน เฝ้ามองวิถีการดำรงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงัดสงบ นั่น,แม่เฒ่านั่งไพคาเพื่อนำไปมุงหลังคาที่ผุพัง พ่อเฒ่านั่งสานตะกร้าไม้ไผ่ ส่วนหลานสาวสองคนกำลังง่วนอยู่กับการหั่นหยวกกล้วยเอาไปเป็นอาหารหมู

แม่คองซ้าย…หมู่บ้านในหุบเขาลึก

สายน้ำยังคงรี่ไหลใสเย็น

ป่าไม้ล้อมรอบโอบกอดสรรพชีวิต

ต่างอุ่นเอื้อสัมพันธ์วิถี…อยู่นั้นนานและนาน

 

-2-

 

ในความหนาวเย็นของค่ำคืน ดวงดาวเริ่มกระพริบพร่างพราว ยามฟ้ามืดจึงมองเห็นดาวสวยสุกใส ผมนั่งสนทนากับพะตีบุญศรี มูชัย ผู้นำชุมชนพร้อมกับชาวบ้านกลางป่าลึก

 

เรา-นั่งอยู่ข้างกองไฟ แล้วร่วมเรียนรู้ไถ่ถามถึงวิถีความเป็นมาของชุมชน…

 

บางห้วงคำนึงของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานสืบทอดกันมา…พะตีบุญศรี เล่าให้ฟังว่า เดิมทีที่ตั้งของหมู่บ้านแม่คองซ้ายนี้ เคยเป็นชุมชนชาวลัวะโบราณมาก่อน ซึ่งในปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยอารยธรรมของชุมชนเก่า ได้จากซากปรักหักพังของวัดร้าง เครื่องปั้นดินเผาและพระพุทธรูป ซึ่งมีอายุประมาณ300 กว่าปีมาแล้ว

 

หลังจากที่ชาวลัวะจากไป

ชาวปกากะญอกลุ่มนี้จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่แทน

 

นอกจากนั้น พะตีแตะอู มอซ่า เล่าไว้อีกว่า ชุมชนบริเวณนี้เคยเป็นเส้นทางผ่านของทหารญี่ปุ่น ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงนั้น ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาระดมชาวบ้านไปขนเสบียงอาหารของกินของใช้ ครอบครัวไหนมีช้างก็ต้องนำช้างออกไปใช้งาน จากหลักฐานและความเป็นมา แสดงให้เห็นว่า ชุมชนแม่คองซ้ายได้ตั้งรกรากถิ่นฐานและอาศัยอยู่กับป่าผืนนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว

 

-3-

 

ยี่สิบสามหลังคาเรือนกับร้อยกว่าชีวิต ที่พวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกันกับป่าไม้ ผืนดิน สายน้ำ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสันโดษ เพราะการติดต่อกับโลกภายนอกนั้น มีเพียงเส้นทางเดินแคบๆ สายหนึ่ง ซึ่งก่อนนั้นรถยนต์ไม่สามารถเข้าไปถึง แน่นอน พวกเขาจึงเรียนรู้และผูกพันกับธรรมชาติมาตั้งแต่เกิดจนตาย โดยนำเอาจารีตประเพณีความเชื่อ ภูมิปัญญาชาวบ้านปกากะญอ มาปรับใช้ผสมผสานกันอย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น การรักษาเมล็ดพันธุ์พืชหายาก การรักษาและค้นคว้าสมุนไพร การทำไร่หมุนเวียน การทำนาขั้นบันได การใช้ระบบเหมืองฝายที่ผันน้ำข้ามดอย การอนุรักษ์พันธุ์ปลา การดูแลป่าดูแลสายน้ำ เป็นต้น

เด็กเกิดออกมาดูโลกหนึ่งคน

ดูแลรักษาต้นไม้หนึ่งต้น”

 

เป็นคำพูดของพะตีบอกกล่าวให้ผมฟัง พร้อมอธิบายถึงรีตรอยของปกากะญอจะสั่งสอนกันมาว่า…เมื่อใดที่มีเด็กเกิดออกมา พ่อของเด็กจะต้องนำรกสายสะดือไปผูกมัดไว้ที่ต้นไม้ที่ออกดอกออกผล คนกินได้ สัตว์กินได้…ต้นไม้ในป่ารกนี้ จะไม่มีผู้ใดมาตัดทำลาย นับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ฉลาดล้ำลึกยิ่งนัก

 

 

-4-

 

เพราะที่นี่คือแผ่นดินถิ่นเกิด พวกเขาจึงร่วมกันดูแลรักษาป่าผืนนี้ไว้ด้วยความรักและหวงแหน นำเอาจารีตประเพณีของชนเผ่า ที่เปรียบเสมือนกฎหมายคอยควบคุมพฤติกรรมของผู้คนในชุมชน รวมทั้งมีการตั้งระเบียบกฎเกณฑ์ของการใช้การรักษาทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดพื้นที่ “ป่าชุมชนแม่คองซ้าย”ขึ้นมา

 

ป่าผืนนี้ เป็นป่าต้นน้ำที่ไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิง ถ้าหมู่เฮาไม่ช่วยกันรักษา อีกหน่อยหมู่บ้านเฮาก็ไม่มีน้ำใช้ น้ำปิงก็แห้ง คนข้างล่างก็เดือดร้อน”

 

พะตีบุญศรี พูดพร้อมกับชี้ให้ดูความหนาแน่นของป่าที่อยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน นอกจากนั้น ก็จะใช้พื้นที่ป่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมความเชื่อของปกากะญอ เช่อ ป่าเดปอ ป่าช้า และยังแบ่งเป็นป่าใช้สอย เพื่อเอาไว้เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน อาทิ พืชผัก ผลไม้ เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์อีกด้วย

 

สัตว์ป่าจะมาอาศัยอยู่ในป่ารอบๆ หมู่บ้านนี้เยอะเลย มีทั้งเก้ง หมูป่า ไก่ป่า ไกฟ้า นกแก๊ก นกกางเขนน้ำ เพราะหมู่เฮาจะตั้งกฎหมู่บ้าน ห้ามมีการล่าสัตว์ทุกชนิด”

 

พะตีชี้ให้ดูไก่ฟ้าที่เดินหาอาหารตามลานดินกลางหมู่บ้าน บ่งบอกถึงการพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่างป่าไม้และสัตว์ปาได้เป็นอย่างดี


-5-

 

ย้อนกลับไปในปี 2524 ในห้วงนั้น หน่วยงานของรัฐได้เข้ามาประกาศว่า พื้นที่หมู่บ้านแม่คองซ้ายนี้ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ของกรมป่าไม้

ต่อมาในปี 2543-2545 กระแสความพยายามของรัฐที่จะผลักดันเอาคนออกจากป่าให้ได้

 

รู้สึกเศร้าและเจ็บปวดใช่ไหม…

เมื่อยินข่าวเขาจะกันคนออกจากป่า

เหมือนดั่งการพรากลูกออกไปจากอ้อมอกแม่

อา- แม่ธรรมชาติ

มนุษย์ผู้มีอำนาจเขาจะตัดสายน้ำแห่งชีวิตนั้นให้ขาดได้หรือ

นานมาแล้ววิถี,ชนเผ่าพื้นเมือง

อยู่กับความหวาดหวั่นและไหวว้าง…

 

อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ได้เข้ามาดูว่าเฮาอยู่กับป่าและรักษาป่าได้” พะตีพูดด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า ทว่ายังแฝงไว้ด้วยความเชื่อมั่นในวิถีการดำรงอยู่

 

เชื่อไหมว่า ป่าผืนนี้ไฟไม่ไหม้มาหลายปีแล้ว เพราะหมู่เอาช่วยกันทำแนวกันไฟในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และช่วยกันปัดกวาดแนวกันไฟอาทิตย์ละครั้ง”

 

ครับ, ผมเชื่อในแนวทางการดำเนินชีวิตของพี่น้องปกากะญอบ้านแม่คองซ้ายได้อย่างสนิทใจเลยว่า คนอยู่กับป่าได้อย่างพึ่งพาสอดคล้องและยั่งยืน และสมควรอย่างยิ่งที่ที่ชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งยังเป็นชุมชนต้นแบบอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ที่มีนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ชาวบ้านทั้งในประเทศและจากทั่วทุกมุมโลก ต่างมุ่งตรงเข้าไปศึกษาเรียนรู้ดูงานกันอย่างต่อเนื่อง…

 

กระนั้น ก็ยังคนบางคน บางกลุ่มยังพยายามนั่งยันนอนยันอยู่อย่างนั้นว่า คนอยู่กับป่าไม่ได้!

 

-6-

 

ผ่านมาถึง พ..นี้(2552) ...ป่าชุมชน ก็ยังไม่เกิด…

และน้ำเสียงของความถากถางว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ ยังคงดังออกมาเป็นระยะๆ

แม้มีข่าวเรื่อง โฉนดชุมชน ขึ้นมาพอเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ให้กับคนอยู่ป่าขึ้นมาบ้าง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ...ป่าชุมชนยังไม่เกิด หรือโฉนดชุมชนยังไม่เคลื่อน

หากวิถีชีวิตของคนแม่คองซ้าย ยังคงดำเนินต่อไป

ท่ามกลางขุนเขา ผืนป่า สายน้ำ ชนเผ่าและจิตวิญญาณที่ผูกพันกันมาอย่างแนบแน่นและยาวนาน.

 

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบ โดย ‘ดอกเสี้ยวขาว’

งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์”โพสต์โมเดิร์น” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วันที่ 22–วันที่ 28 ..2545

และผู้เขียนได้เรียบเรียงใหม่

 

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
 
ภู เชียงดาว
   
ภู เชียงดาว
 
ภู เชียงดาว
  จู่ๆ คุณก็รู้สึกเหนื่อยเพลีย ข้างในเหมือนว่างโหวง ไม่สดชื่นรื่นรมย์เหมือนแต่ก่อน มือเท้าชา ร่างกายอ่อนแรง สมองมึนงง คิดโน่นลืมนี่อยู่อย่างนั้น ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่คุณก็หลีกหนีห่างจากเมืองอันสับสน ไกลจากผู้คนของความอึงอล มาอยู่ในหุบเขาสงบเงียบแบบนี้  
ภู เชียงดาว
  1.
ภู เชียงดาว
-1- หลังการเก็บเกี่ยวข้าว นวดข้าว ขนข้าวมาเก็บไว้ในหลอง(ยุ้งฉาง)ของชาวนา ไม่นาน ท้องทุ่งเบื้องล่างก็ดูเปิดโล่ง มองไปไกลๆ จะเห็นตอซังข้าว กับกองฟางสูงใหญ่กองอยู่ตรงนั้น ตรงโน้น กระนั้น ท้องทุ่งก็ไม่เคยหยุดนิ่ง มันมีชีวิต มีการเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เท่าที่เขาเฝ้าดู ในหน้าแล้ง หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว คนเลี้ยงวัวประจำหมู่บ้านคงมีความสุขกันถ้วนหน้า พวกเขารู้ดีว่าจะทำอย่างไงหลังจากชาวนาขนข้าวขึ้นหลองเสร็จเรียบร้อย คนเลี้ยงวัวจะรีบปล่อยฝูงวัวสีขาวสีแดงหลายสิบตัวลงไปในทุ่งโดยไม่ต้องบอกเจ้าของนา ไม่มีใครว่า ปล่อยให้มันเล็มยอดอ่อนจากตอซังข้าว บ้างก้มเคี้ยวเศษฟางข้าว…
ภู เชียงดาว
เกือบค่อนปีที่ข้าตัดสินใจหันหลังให้กับใบหน้าของเมืองใหญ่ มุดออกมาจากกล่องของความหยาบ แออัดและหมักหมม ถอยห่างออกมาจากความแปลก แยกออกมาจากความเปลี่ยน สลัดคราบมนุษย์เงินเดือน สลัดความเครียดที่สะสม สลัดทิ้งซึ่งพันธนาการ ตำแหน่ง หน้าที่การงาน และความโลภ ที่นับวันยิ่งพอกพูนสุมหัวใจข้า - - กระชาก ขว้างทิ้งมันไว้ตรงนั้น อา,ทุกอย่างช่างหน่วงหนักและเหน็ดหน่าย - -ย้อนถามตัวตน ข้าระเหระหนเดินทางมาไกลและแบกรับสัมภาระมากเกินไปแล้ว !