Skip to main content

 

\\/--break--\>

 

 

 

-1-

 

ผมมีโอกาสหวนกลับไปเดินบนเส้นทางสายเก่านี้อีกครั้ง…

บ้านแม่คองซ้าย ชุมชนของคนรักป่าชนเผ่าปกากะญอ ที่อยู่ทางฟากฝั่งตะวันตกของดอยหลวงเชียงดาว


แดดยามเย็นสีทองส่องสาดป่าทั้งป่านั้นเปล่งประกาย ตัดกับความเขียวสดรกครึ้มของต้นไม้ใบหญ้าสองข้างทาง พลอยทำให้การเดินทางในครั้งนี้ รู้สึกปลอดโปร่งสดชื่นรื่นรมย์ยิ่งนัก


บนเส้นทางเดินไปสู่หมู่บ้าน ชีวิตลัดเลาะไปตามเงาไม้ ไต่ไปบนเนินสูง ก่อนหลุบเลี้ยวลงไปในหุบห้วย จึงพบกับสายน้ำแม่คองที่ยังหลั่งไหลและหล่อเลี้ยงชุมชนนี้มาเนิ่นนาน ไม่ใกล้ไม่ไกล ผมมองเห็นกระท่อมตั้งอยู่ริมลำห้วย และยินเสียงครกกระเดื่องตำข้าวดังก้องป่า นานเท่าใดแล้วหนอที่ผมไม่ได้มาเยือน…ผมรำพึงกับตัวเอง

 

ดวงตะวันลดตัวลงต่ำลับไหล่เขา ลมเย็นพัดโชยมาแผ่วแผ่วเบา ผมนั่งอยู่นอกชานบ้าน เฝ้ามองวิถีการดำรงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงัดสงบ นั่น,แม่เฒ่านั่งไพคาเพื่อนำไปมุงหลังคาที่ผุพัง พ่อเฒ่านั่งสานตะกร้าไม้ไผ่ ส่วนหลานสาวสองคนกำลังง่วนอยู่กับการหั่นหยวกกล้วยเอาไปเป็นอาหารหมู

แม่คองซ้าย…หมู่บ้านในหุบเขาลึก

สายน้ำยังคงรี่ไหลใสเย็น

ป่าไม้ล้อมรอบโอบกอดสรรพชีวิต

ต่างอุ่นเอื้อสัมพันธ์วิถี…อยู่นั้นนานและนาน

 

-2-

 

ในความหนาวเย็นของค่ำคืน ดวงดาวเริ่มกระพริบพร่างพราว ยามฟ้ามืดจึงมองเห็นดาวสวยสุกใส ผมนั่งสนทนากับพะตีบุญศรี มูชัย ผู้นำชุมชนพร้อมกับชาวบ้านกลางป่าลึก

 

เรา-นั่งอยู่ข้างกองไฟ แล้วร่วมเรียนรู้ไถ่ถามถึงวิถีความเป็นมาของชุมชน…

 

บางห้วงคำนึงของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานสืบทอดกันมา…พะตีบุญศรี เล่าให้ฟังว่า เดิมทีที่ตั้งของหมู่บ้านแม่คองซ้ายนี้ เคยเป็นชุมชนชาวลัวะโบราณมาก่อน ซึ่งในปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยอารยธรรมของชุมชนเก่า ได้จากซากปรักหักพังของวัดร้าง เครื่องปั้นดินเผาและพระพุทธรูป ซึ่งมีอายุประมาณ300 กว่าปีมาแล้ว

 

หลังจากที่ชาวลัวะจากไป

ชาวปกากะญอกลุ่มนี้จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่แทน

 

นอกจากนั้น พะตีแตะอู มอซ่า เล่าไว้อีกว่า ชุมชนบริเวณนี้เคยเป็นเส้นทางผ่านของทหารญี่ปุ่น ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงนั้น ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาระดมชาวบ้านไปขนเสบียงอาหารของกินของใช้ ครอบครัวไหนมีช้างก็ต้องนำช้างออกไปใช้งาน จากหลักฐานและความเป็นมา แสดงให้เห็นว่า ชุมชนแม่คองซ้ายได้ตั้งรกรากถิ่นฐานและอาศัยอยู่กับป่าผืนนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว

 

-3-

 

ยี่สิบสามหลังคาเรือนกับร้อยกว่าชีวิต ที่พวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกันกับป่าไม้ ผืนดิน สายน้ำ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสันโดษ เพราะการติดต่อกับโลกภายนอกนั้น มีเพียงเส้นทางเดินแคบๆ สายหนึ่ง ซึ่งก่อนนั้นรถยนต์ไม่สามารถเข้าไปถึง แน่นอน พวกเขาจึงเรียนรู้และผูกพันกับธรรมชาติมาตั้งแต่เกิดจนตาย โดยนำเอาจารีตประเพณีความเชื่อ ภูมิปัญญาชาวบ้านปกากะญอ มาปรับใช้ผสมผสานกันอย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น การรักษาเมล็ดพันธุ์พืชหายาก การรักษาและค้นคว้าสมุนไพร การทำไร่หมุนเวียน การทำนาขั้นบันได การใช้ระบบเหมืองฝายที่ผันน้ำข้ามดอย การอนุรักษ์พันธุ์ปลา การดูแลป่าดูแลสายน้ำ เป็นต้น

เด็กเกิดออกมาดูโลกหนึ่งคน

ดูแลรักษาต้นไม้หนึ่งต้น”

 

เป็นคำพูดของพะตีบอกกล่าวให้ผมฟัง พร้อมอธิบายถึงรีตรอยของปกากะญอจะสั่งสอนกันมาว่า…เมื่อใดที่มีเด็กเกิดออกมา พ่อของเด็กจะต้องนำรกสายสะดือไปผูกมัดไว้ที่ต้นไม้ที่ออกดอกออกผล คนกินได้ สัตว์กินได้…ต้นไม้ในป่ารกนี้ จะไม่มีผู้ใดมาตัดทำลาย นับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ฉลาดล้ำลึกยิ่งนัก

 

 

-4-

 

เพราะที่นี่คือแผ่นดินถิ่นเกิด พวกเขาจึงร่วมกันดูแลรักษาป่าผืนนี้ไว้ด้วยความรักและหวงแหน นำเอาจารีตประเพณีของชนเผ่า ที่เปรียบเสมือนกฎหมายคอยควบคุมพฤติกรรมของผู้คนในชุมชน รวมทั้งมีการตั้งระเบียบกฎเกณฑ์ของการใช้การรักษาทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดพื้นที่ “ป่าชุมชนแม่คองซ้าย”ขึ้นมา

 

ป่าผืนนี้ เป็นป่าต้นน้ำที่ไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิง ถ้าหมู่เฮาไม่ช่วยกันรักษา อีกหน่อยหมู่บ้านเฮาก็ไม่มีน้ำใช้ น้ำปิงก็แห้ง คนข้างล่างก็เดือดร้อน”

 

พะตีบุญศรี พูดพร้อมกับชี้ให้ดูความหนาแน่นของป่าที่อยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน นอกจากนั้น ก็จะใช้พื้นที่ป่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมความเชื่อของปกากะญอ เช่อ ป่าเดปอ ป่าช้า และยังแบ่งเป็นป่าใช้สอย เพื่อเอาไว้เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน อาทิ พืชผัก ผลไม้ เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์อีกด้วย

 

สัตว์ป่าจะมาอาศัยอยู่ในป่ารอบๆ หมู่บ้านนี้เยอะเลย มีทั้งเก้ง หมูป่า ไก่ป่า ไกฟ้า นกแก๊ก นกกางเขนน้ำ เพราะหมู่เฮาจะตั้งกฎหมู่บ้าน ห้ามมีการล่าสัตว์ทุกชนิด”

 

พะตีชี้ให้ดูไก่ฟ้าที่เดินหาอาหารตามลานดินกลางหมู่บ้าน บ่งบอกถึงการพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่างป่าไม้และสัตว์ปาได้เป็นอย่างดี


-5-

 

ย้อนกลับไปในปี 2524 ในห้วงนั้น หน่วยงานของรัฐได้เข้ามาประกาศว่า พื้นที่หมู่บ้านแม่คองซ้ายนี้ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ของกรมป่าไม้

ต่อมาในปี 2543-2545 กระแสความพยายามของรัฐที่จะผลักดันเอาคนออกจากป่าให้ได้

 

รู้สึกเศร้าและเจ็บปวดใช่ไหม…

เมื่อยินข่าวเขาจะกันคนออกจากป่า

เหมือนดั่งการพรากลูกออกไปจากอ้อมอกแม่

อา- แม่ธรรมชาติ

มนุษย์ผู้มีอำนาจเขาจะตัดสายน้ำแห่งชีวิตนั้นให้ขาดได้หรือ

นานมาแล้ววิถี,ชนเผ่าพื้นเมือง

อยู่กับความหวาดหวั่นและไหวว้าง…

 

อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ได้เข้ามาดูว่าเฮาอยู่กับป่าและรักษาป่าได้” พะตีพูดด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า ทว่ายังแฝงไว้ด้วยความเชื่อมั่นในวิถีการดำรงอยู่

 

เชื่อไหมว่า ป่าผืนนี้ไฟไม่ไหม้มาหลายปีแล้ว เพราะหมู่เอาช่วยกันทำแนวกันไฟในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และช่วยกันปัดกวาดแนวกันไฟอาทิตย์ละครั้ง”

 

ครับ, ผมเชื่อในแนวทางการดำเนินชีวิตของพี่น้องปกากะญอบ้านแม่คองซ้ายได้อย่างสนิทใจเลยว่า คนอยู่กับป่าได้อย่างพึ่งพาสอดคล้องและยั่งยืน และสมควรอย่างยิ่งที่ที่ชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งยังเป็นชุมชนต้นแบบอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ที่มีนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ชาวบ้านทั้งในประเทศและจากทั่วทุกมุมโลก ต่างมุ่งตรงเข้าไปศึกษาเรียนรู้ดูงานกันอย่างต่อเนื่อง…

 

กระนั้น ก็ยังคนบางคน บางกลุ่มยังพยายามนั่งยันนอนยันอยู่อย่างนั้นว่า คนอยู่กับป่าไม่ได้!

 

-6-

 

ผ่านมาถึง พ..นี้(2552) ...ป่าชุมชน ก็ยังไม่เกิด…

และน้ำเสียงของความถากถางว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ ยังคงดังออกมาเป็นระยะๆ

แม้มีข่าวเรื่อง โฉนดชุมชน ขึ้นมาพอเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ให้กับคนอยู่ป่าขึ้นมาบ้าง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ...ป่าชุมชนยังไม่เกิด หรือโฉนดชุมชนยังไม่เคลื่อน

หากวิถีชีวิตของคนแม่คองซ้าย ยังคงดำเนินต่อไป

ท่ามกลางขุนเขา ผืนป่า สายน้ำ ชนเผ่าและจิตวิญญาณที่ผูกพันกันมาอย่างแนบแน่นและยาวนาน.

 

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบ โดย ‘ดอกเสี้ยวขาว’

งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์”โพสต์โมเดิร์น” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วันที่ 22–วันที่ 28 ..2545

และผู้เขียนได้เรียบเรียงใหม่

 

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ผมกลับมานั่งในบ้านปีกไม้ในหุบผาแดง นิ่งมองภาพเก่าๆ ของพ้อเลป่า สลับกับภาพครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
ภู เชียงดาว
เดาะ บื่อ แหว่ ควา สี่ จื้อ เนอ มู้ โข่ ลอ ปก้อ เฉาะ ถ่อ เจอพี่น้องประสานนิ้วมือฟ้าถล่มช่วยกันค้ำไว้ โถ่ ศรี ซี้ เล้อ แหม่จอ ป่า ซี้ ด่า แคนกยูงตายเพราะขนหางขุนนางตายเพราะเชื่อคนยุยง
ภู เชียงดาว
  ที่มาภาพ : www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105เมื่อเราพูดถึงเรื่อง การพัฒนาและความเจริญ ที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปทางนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา และมันกำลังรุกคืบคลานเข้ามาในวิถีบนบ้านป่าบ้านดอยอย่างต่อเนื่อง
ภู เชียงดาว
ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง ‘พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก ‘หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า ‘พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...
ภู เชียงดาว
                          (๑) หอมกลิ่นภูเขาล่องลอยโชยมาในห้วงยามเย็นฉันยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านปล่อยให้สายแดดสีทองส่องสาดกายมองไปเบื้องล่าง- -ท้องทุ่งแห่งชีวิตยังเคลื่อนไหวไปมา ไม่หยุดนิ่งในความหม่นมัว ในความบดเบลอฉันมองเห็นภาพซ้อนแจ่มชัด แล้วเลือนราง
ภู เชียงดาว
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองนั้นคงเหน็ดหน่ายและเหนื่อยหนักจากการงาน ชีวิตหลายชีวิตอาจถูกทับถมด้วยภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ยังไม่นับนานาปัญหาที่เข้ารุมสุมแน่นหนาอีกหลายชั้น จนดูเหมือนว่าชั่วชีวิตนี้คงยากจะสลัดให้หลุดพ้นไปได้ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะครั้งหนึ่งตัวผมเองเคยเอาชีวิตไปวางไว้อยู่ในเมืองนานหลายปี แน่นอน ใครหลายคนในสังคมเมืองจึงชอบเอา ‘การเดินทาง' เป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นออกจากกงล้อแห่งการงานนั้นได้ และมักเอาช่วงสิ้นปีหรือวันปีใหม่ เป็นวันแห่งการปลดปล่อย ในขณะที่ตัวผมนั้น กลับไม่ได้เดินทางไปไหนเลย ยังมีชีวิตแบบวันต่อวัน อยู่กับปัจจุบันขณะ ในหุบเขาผาแดงแห่งนี้
ภู เชียงดาว
ผมไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา จะมีสักกี่คนสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้กี่ครั้งกี่หนกันแน่นอน ความฝันใครบางคนอาจเกลื่อนกล่น ความฝันใครหลายคนอาจหล่นหาย ใครหลายใครอาจมองว่าความฝันคือความเพ้อฝัน ไกลจากความจริง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คน ไม่เคยละทิ้งความฝันพยายามฟูมฟักความฝัน กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู แม้บ่อยครั้งอาจอาจเหนื่อยหนัก เหน็ดหน่าย กว่าจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริงได้...เหมือนชายคนนี้...ที่ทำให้ฝันหนึ่งนั้นกลายเป็น ความงาม และความจริง... ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือน เวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งผมเคยบันทึกไว้ว่า เป็นดินแดนหุบเขาที่มีชีวิต…
ภู เชียงดาว
ผมรู้แล้วว่า วิถีคนสวนกับคนเขียนกวีนั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ต้องฝึก ทดลอง เรียนรู้ ลงมือทำ ทุกวัน ทุกวัน และแน่นอนว่า เมื่อลงมือทำแล้ว เราจำเป็นต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เติมความรักความเอาใจใส่ลงไปอย่างต่อเนื่อง (ถ้าไม่อย่างนั้น พันธ์พืชที่เราหว่านลงไปอาจเฉาเหี่ยวแห้งไป หรือไม่ผืนดินอันอุดมก็อาจแข็งด้านดินดานไปหมด) หลังจากนั้น เรายังต้องอดทนและรอคอยให้มันออกดอกออกผล กระทั่งเราสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตที่งอกเงยในบั้นปลายได้ ทุกวันนี้ ผมยังถือว่าตนเองเป็นเพียงคนสวนมือใหม่ และเป็นคนฝึกเขียนบทกวีอยู่เสมอ ทุกวัน หลังจากพักงานสวน ผมจะลงมือเขียนบทกวี โดยเฉพาะในยามนี้…