Skip to main content

 

\\/--break--\>

 

 

 

-1-

 

ผมมีโอกาสหวนกลับไปเดินบนเส้นทางสายเก่านี้อีกครั้ง…

บ้านแม่คองซ้าย ชุมชนของคนรักป่าชนเผ่าปกากะญอ ที่อยู่ทางฟากฝั่งตะวันตกของดอยหลวงเชียงดาว


แดดยามเย็นสีทองส่องสาดป่าทั้งป่านั้นเปล่งประกาย ตัดกับความเขียวสดรกครึ้มของต้นไม้ใบหญ้าสองข้างทาง พลอยทำให้การเดินทางในครั้งนี้ รู้สึกปลอดโปร่งสดชื่นรื่นรมย์ยิ่งนัก


บนเส้นทางเดินไปสู่หมู่บ้าน ชีวิตลัดเลาะไปตามเงาไม้ ไต่ไปบนเนินสูง ก่อนหลุบเลี้ยวลงไปในหุบห้วย จึงพบกับสายน้ำแม่คองที่ยังหลั่งไหลและหล่อเลี้ยงชุมชนนี้มาเนิ่นนาน ไม่ใกล้ไม่ไกล ผมมองเห็นกระท่อมตั้งอยู่ริมลำห้วย และยินเสียงครกกระเดื่องตำข้าวดังก้องป่า นานเท่าใดแล้วหนอที่ผมไม่ได้มาเยือน…ผมรำพึงกับตัวเอง

 

ดวงตะวันลดตัวลงต่ำลับไหล่เขา ลมเย็นพัดโชยมาแผ่วแผ่วเบา ผมนั่งอยู่นอกชานบ้าน เฝ้ามองวิถีการดำรงอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสงัดสงบ นั่น,แม่เฒ่านั่งไพคาเพื่อนำไปมุงหลังคาที่ผุพัง พ่อเฒ่านั่งสานตะกร้าไม้ไผ่ ส่วนหลานสาวสองคนกำลังง่วนอยู่กับการหั่นหยวกกล้วยเอาไปเป็นอาหารหมู

แม่คองซ้าย…หมู่บ้านในหุบเขาลึก

สายน้ำยังคงรี่ไหลใสเย็น

ป่าไม้ล้อมรอบโอบกอดสรรพชีวิต

ต่างอุ่นเอื้อสัมพันธ์วิถี…อยู่นั้นนานและนาน

 

-2-

 

ในความหนาวเย็นของค่ำคืน ดวงดาวเริ่มกระพริบพร่างพราว ยามฟ้ามืดจึงมองเห็นดาวสวยสุกใส ผมนั่งสนทนากับพะตีบุญศรี มูชัย ผู้นำชุมชนพร้อมกับชาวบ้านกลางป่าลึก

 

เรา-นั่งอยู่ข้างกองไฟ แล้วร่วมเรียนรู้ไถ่ถามถึงวิถีความเป็นมาของชุมชน…

 

บางห้วงคำนึงของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานสืบทอดกันมา…พะตีบุญศรี เล่าให้ฟังว่า เดิมทีที่ตั้งของหมู่บ้านแม่คองซ้ายนี้ เคยเป็นชุมชนชาวลัวะโบราณมาก่อน ซึ่งในปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยอารยธรรมของชุมชนเก่า ได้จากซากปรักหักพังของวัดร้าง เครื่องปั้นดินเผาและพระพุทธรูป ซึ่งมีอายุประมาณ300 กว่าปีมาแล้ว

 

หลังจากที่ชาวลัวะจากไป

ชาวปกากะญอกลุ่มนี้จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่แทน

 

นอกจากนั้น พะตีแตะอู มอซ่า เล่าไว้อีกว่า ชุมชนบริเวณนี้เคยเป็นเส้นทางผ่านของทหารญี่ปุ่น ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงนั้น ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาระดมชาวบ้านไปขนเสบียงอาหารของกินของใช้ ครอบครัวไหนมีช้างก็ต้องนำช้างออกไปใช้งาน จากหลักฐานและความเป็นมา แสดงให้เห็นว่า ชุมชนแม่คองซ้ายได้ตั้งรกรากถิ่นฐานและอาศัยอยู่กับป่าผืนนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว

 

-3-

 

ยี่สิบสามหลังคาเรือนกับร้อยกว่าชีวิต ที่พวกเขาอาศัยอยู่ร่วมกันกับป่าไม้ ผืนดิน สายน้ำ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสันโดษ เพราะการติดต่อกับโลกภายนอกนั้น มีเพียงเส้นทางเดินแคบๆ สายหนึ่ง ซึ่งก่อนนั้นรถยนต์ไม่สามารถเข้าไปถึง แน่นอน พวกเขาจึงเรียนรู้และผูกพันกับธรรมชาติมาตั้งแต่เกิดจนตาย โดยนำเอาจารีตประเพณีความเชื่อ ภูมิปัญญาชาวบ้านปกากะญอ มาปรับใช้ผสมผสานกันอย่างสอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น การรักษาเมล็ดพันธุ์พืชหายาก การรักษาและค้นคว้าสมุนไพร การทำไร่หมุนเวียน การทำนาขั้นบันได การใช้ระบบเหมืองฝายที่ผันน้ำข้ามดอย การอนุรักษ์พันธุ์ปลา การดูแลป่าดูแลสายน้ำ เป็นต้น

เด็กเกิดออกมาดูโลกหนึ่งคน

ดูแลรักษาต้นไม้หนึ่งต้น”

 

เป็นคำพูดของพะตีบอกกล่าวให้ผมฟัง พร้อมอธิบายถึงรีตรอยของปกากะญอจะสั่งสอนกันมาว่า…เมื่อใดที่มีเด็กเกิดออกมา พ่อของเด็กจะต้องนำรกสายสะดือไปผูกมัดไว้ที่ต้นไม้ที่ออกดอกออกผล คนกินได้ สัตว์กินได้…ต้นไม้ในป่ารกนี้ จะไม่มีผู้ใดมาตัดทำลาย นับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ฉลาดล้ำลึกยิ่งนัก

 

 

-4-

 

เพราะที่นี่คือแผ่นดินถิ่นเกิด พวกเขาจึงร่วมกันดูแลรักษาป่าผืนนี้ไว้ด้วยความรักและหวงแหน นำเอาจารีตประเพณีของชนเผ่า ที่เปรียบเสมือนกฎหมายคอยควบคุมพฤติกรรมของผู้คนในชุมชน รวมทั้งมีการตั้งระเบียบกฎเกณฑ์ของการใช้การรักษาทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดพื้นที่ “ป่าชุมชนแม่คองซ้าย”ขึ้นมา

 

ป่าผืนนี้ เป็นป่าต้นน้ำที่ไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิง ถ้าหมู่เฮาไม่ช่วยกันรักษา อีกหน่อยหมู่บ้านเฮาก็ไม่มีน้ำใช้ น้ำปิงก็แห้ง คนข้างล่างก็เดือดร้อน”

 

พะตีบุญศรี พูดพร้อมกับชี้ให้ดูความหนาแน่นของป่าที่อยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน นอกจากนั้น ก็จะใช้พื้นที่ป่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมความเชื่อของปกากะญอ เช่อ ป่าเดปอ ป่าช้า และยังแบ่งเป็นป่าใช้สอย เพื่อเอาไว้เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน อาทิ พืชผัก ผลไม้ เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร รวมทั้งใช้เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์อีกด้วย

 

สัตว์ป่าจะมาอาศัยอยู่ในป่ารอบๆ หมู่บ้านนี้เยอะเลย มีทั้งเก้ง หมูป่า ไก่ป่า ไกฟ้า นกแก๊ก นกกางเขนน้ำ เพราะหมู่เฮาจะตั้งกฎหมู่บ้าน ห้ามมีการล่าสัตว์ทุกชนิด”

 

พะตีชี้ให้ดูไก่ฟ้าที่เดินหาอาหารตามลานดินกลางหมู่บ้าน บ่งบอกถึงการพึ่งพาอาศัยกัน ระหว่างป่าไม้และสัตว์ปาได้เป็นอย่างดี


-5-

 

ย้อนกลับไปในปี 2524 ในห้วงนั้น หน่วยงานของรัฐได้เข้ามาประกาศว่า พื้นที่หมู่บ้านแม่คองซ้ายนี้ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ของกรมป่าไม้

ต่อมาในปี 2543-2545 กระแสความพยายามของรัฐที่จะผลักดันเอาคนออกจากป่าให้ได้

 

รู้สึกเศร้าและเจ็บปวดใช่ไหม…

เมื่อยินข่าวเขาจะกันคนออกจากป่า

เหมือนดั่งการพรากลูกออกไปจากอ้อมอกแม่

อา- แม่ธรรมชาติ

มนุษย์ผู้มีอำนาจเขาจะตัดสายน้ำแห่งชีวิตนั้นให้ขาดได้หรือ

นานมาแล้ววิถี,ชนเผ่าพื้นเมือง

อยู่กับความหวาดหวั่นและไหวว้าง…

 

อยากให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ได้เข้ามาดูว่าเฮาอยู่กับป่าและรักษาป่าได้” พะตีพูดด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า ทว่ายังแฝงไว้ด้วยความเชื่อมั่นในวิถีการดำรงอยู่

 

เชื่อไหมว่า ป่าผืนนี้ไฟไม่ไหม้มาหลายปีแล้ว เพราะหมู่เอาช่วยกันทำแนวกันไฟในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และช่วยกันปัดกวาดแนวกันไฟอาทิตย์ละครั้ง”

 

ครับ, ผมเชื่อในแนวทางการดำเนินชีวิตของพี่น้องปกากะญอบ้านแม่คองซ้ายได้อย่างสนิทใจเลยว่า คนอยู่กับป่าได้อย่างพึ่งพาสอดคล้องและยั่งยืน และสมควรอย่างยิ่งที่ที่ชุมชนแห่งนี้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งยังเป็นชุมชนต้นแบบอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ที่มีนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ชาวบ้านทั้งในประเทศและจากทั่วทุกมุมโลก ต่างมุ่งตรงเข้าไปศึกษาเรียนรู้ดูงานกันอย่างต่อเนื่อง…

 

กระนั้น ก็ยังคนบางคน บางกลุ่มยังพยายามนั่งยันนอนยันอยู่อย่างนั้นว่า คนอยู่กับป่าไม่ได้!

 

-6-

 

ผ่านมาถึง พ..นี้(2552) ...ป่าชุมชน ก็ยังไม่เกิด…

และน้ำเสียงของความถากถางว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้ ยังคงดังออกมาเป็นระยะๆ

แม้มีข่าวเรื่อง โฉนดชุมชน ขึ้นมาพอเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ให้กับคนอยู่ป่าขึ้นมาบ้าง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ...ป่าชุมชนยังไม่เกิด หรือโฉนดชุมชนยังไม่เคลื่อน

หากวิถีชีวิตของคนแม่คองซ้าย ยังคงดำเนินต่อไป

ท่ามกลางขุนเขา ผืนป่า สายน้ำ ชนเผ่าและจิตวิญญาณที่ผูกพันกันมาอย่างแนบแน่นและยาวนาน.

 

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบ โดย ‘ดอกเสี้ยวขาว’

งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์”โพสต์โมเดิร์น” สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วันที่ 22–วันที่ 28 ..2545

และผู้เขียนได้เรียบเรียงใหม่

 

 

 

บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
  เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคนทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึงจริงสิ,…
ภู เชียงดาว
ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’ แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มทีจริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง…
ภู เชียงดาว
สิ่งดี ๆ ในชีวิต พ่อค้าแวะมาหาคนสวนที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ตรงหน้ากระท่อม “สวัสดีครับคนสวน” พ่อค้าทักทาย “ผมมีข้อเสนอดีๆ มาให้ คุณคงสนใจเป็นแน่” และเมื่อเห็นทีท่าเฉยเมยของคนสวน พ่อค้าก็เริ่มพูดธุระที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งคนสวนจะต้องขยายพื้นที่ปลูกกุหลาบเพิ่มขึ้นและพ่อค้าจะเป็นคนเอาไปขายในเมือง “คนสวน ด้วยความชำนาญของคุณ กุหลาบของเราจะสวยงามที่สุดในเมือง” พ่อค้าสรุปด้วยท่าทีกระหยิ่มยิ้มย่อง “ขอบคุณแต่เราไม่สนใจ” คนสวนตอบพร้อมยิ้มอย่างเคย “แต่คุณจะได้เงินเยอะ...” พ่อค้าว่า ท่าทางแปลกใจ “ผมไม่สนใจเงินทองหรอก” “ใครๆ ก็อยากได้เงินกันทั้งนั้น...” “แต่ไม่ใช่ผม…
ภู เชียงดาว
ความเรียบง่ายมีแรงดึงดูดที่ลี้ลับเพราะมันจะฉุดเราไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่คนส่วนใหญ่ในโลกไปกันไปจากการทำตัวให้เด่น ไปจากการสะสมไปจากการทะนงหลงตนและจากการเป็นเป้าสายตาของสาธารณะไปสู่ชีวิตสงบ อ่อนน้อมถ่อมตน กระจ่างใสยิ่งกว่าสิ่งใดๆที่วัฒนธรรมบริโภคอย่างฉาบฉวยรู้จักกัน.                                                        …
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ  www.salweennews.orgที่มาภาพ www.sarakadee.comที่มาภาพ www.salweennews.orgกอดกับความเย็นเยียบอยู่อย่างนั้น, กลางป่าเปลี่ยวอ้อมอกอันบอบบางของเธอมิเคยอบอุ่นอยู่กับความมืดดำในความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึง, ชีวิตความตายเหมือนมิเคยแยกจางห่างกันเลยโอ. เด็กๆ  ตามแนวชายแดนยามใดหนาวฤดูลมแล้งแห้งโหมพัดเข้ามาสู่,หัวใจเธอนั้นเหมือนจักรับรู้รสสัมผัสชีวิตวิถีที่จำต้องระเหเร่ร่อนนั่น,คือสัญญาณความขัดแย้งอันเลวร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบเขารอการอุบัติเสียงแม่กระซิบบอกพวกเธอเบาๆเร็วเข้า,…
ภู เชียงดาว
  “การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิตทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่าจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”จากหนังสือ “ความเงียบ”จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปลผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...แต่ผมรู้ว่า พักหลังมานี่ เมื่อเดินทางกลับบ้านไปสวนทีไร ผมมักติดกล้าไม้เข้าไปในสวนเกือบทุกครั้ง ไม่อย่างก็สองอย่าง แวะซื้อมาจากกาดคำเที่ยง บ้างได้มาจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มอบให้มา พอไปถึง ก็ลงมือขุดหลุม เอาเศษฟางเศษหญ้าลงคลุกกับเนื้อดิน หย่อนต้นไม้ต้นเล็กลงไป กลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม หรือรอให้น้ำฟ้าหล่นรดให้ฉ่ำชื้นเอง…
ภู เชียงดาว
    “...เมื่อมนุษย์จมอยู่กับฝูงชนที่ขาดความเป็นมนุษย์ ถูกผลักไปมาอย่างอัตโนมัติไปตามแรงเหวี่ยง บุคคลนั้นก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ที่แท้ สูญเสียคุณธรรม หมดความสามารถที่จะรัก และศักยภาพที่จะกำหนดตนเอง เมื่อสังคมประกอบด้วยผู้คนที่ไม่รู้จักความวิเวกภายใน สังคมนั้นก็ไม่อาจรวมกันได้ด้วยความรัก แต่อยู่ได้ด้วยอำนาจครอบงำและความรุนแรง...” ถ้อยคำของ “โทมัส เมอร์ตัน” คัดมาจากหนังสือ “ความเงียบ” จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล สวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดของผม ตั้งอยู่ในเนื้อที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างและยาวราวสี่ห้าไร่…