Skip to main content

200802061 ภาพทางขึ้นดอย

เมื่อวันก่อน เพื่อนนักเขียนสาวเมืองเหนือ นาม “สร้อยแก้ว คำมาลา” ส่งข่าวมาบอกว่า จะเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ที่ ‘ร้านเล่า’ เชียงใหม่ ในช่วงเย็น วันที่ 12 ก.พ.นี้ พร้อมกับชักชวนผมเข้าไปร่วมวงคุยกับศิลปินนักเขียนเมืองเหนือกันด้วย

“ชื่อหนังสือ... เพราะคิดถึง... เป็นรวมความเรียงที่เคยเขียนไว้ในนิตยสารสานใจคนรักป่าเมื่อปีก่อนๆ แต่เพิ่งเอามารวมเล่มเจ้า” เสียงหวานๆ ของเธอบอกเล่าให้ฟัง
“ปกสีชมพูอีกแม่นก่อ...” ผมแหย่เธอเล่น
“แม่นแล้ว...สีชมพูหวานแหววเลยแหละ...” เธอรีบบอกพร้อมเสียงหัวเราะเบาๆ

จริงสิ, จึงไม่แปลก ที่เธอจะชอบสีชมพูเป็นพิเศษ เพราะว่าเธอเป็นนักเขียนที่มีถ้อยคำภาษานุ่มนวล อ่อนหวานและจริงใจ ซึ่งเข้ากับบรรยากาศแบบเมืองเหนือ และนี่คือเสน่ห์แห่งถ้อยคำของเธอ

ในบางบทนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ บอกไว้ว่า “เพราะคิดถึง...” เป็นรวมความเรียงว่าด้วยเรื่องของเด็ก ดวงดาว ท้องฟ้า ป่าเขา แม่น้ำ และความคิดถึง จากปลายปากกาของนักเขียนหญิงร่วมสมัย--สร้อยแก้ว คำมาลา ที่จะโน้มนำใจผู้อ่านให้ร่วมย้อนรำลึกถึงวันคืนยามเยาว์วัยในบ้านเมืองชนบทและป่าเขา ซึ่งคงกรุ่นกลิ่นอายความรัก ความอบอุ่น ความผูกพันระหว่างครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนบ้านร้านตลาด ตลอดจนธรรมชาติรายรอบตัว ประหนึ่งการเปิดลิ้นชักความทรงจำที่ไล่เรียงฤดูกาลแห่งชีวิตของผู้เขียน

"เพราะคิดถึง..." จะจับจูงผู้อ่านให้ร่วมดื่มด่ำบรรยากาศความน่ารัก ความใสซื่อบริสุทธิ์ ความสนุกสนาน และความคิดใคร่ครวญ ผ่านความเรียง 4 ภาค ได้แก่ ภาคดวงดาวและท้องฟ้า ภาคจากป่าเขา ภาคเปลี่ยนแปลงและเป็นไป และสุดท้าย ภาคการเดินทาง ความงามของภาษาเขียนที่ สร้อยแก้ว คำมาลา บรรจงเรียงร้อยภายในเล่ม นับเป็น "เสน่ห์" อย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้

ผมกลับมาพักบ้านสวนที่เชียงดาว ค้นหนังสือ ‘สานใจคนรักป่า’เล่มเก่าๆ ออกมาพลิกอ่านคอลัมน์ “เพราะคิดถึง” ของเธออีกครั้ง  เจอเรื่อง “ตลาดสด” อ่านแล้วพลอยให้หวนนึกถึงภาพเก่าๆ เมื่อครั้งยังเยาว์วัยไม่ได้...

...ยามนึกถึงบรรยากาศวันนั้น ฉันรู้สึกว่ามันอบอุ่นอ่อนหวานเสียจริงๆ
    แม่ค้าและลูกสาวที่ฉันเจอเมื่อครู่มีบางอย่างที่คล้ายคลึงฉันกับแม่ หรือจริงๆ แล้วแม่ลูกทุกคู่ในโลกนี้ย่อมมีบางอย่างคล้ายคลึงกันเหมือนในหนัง the joy luck club แรงทะเยอทะยาน มานะพยายามทั้งหมดของแม่ไม่ได้มีไว้เพื่ออะไรเลย นอกจากให้ลูกได้พบสิ่งที่ดีกว่า
    แม่ขายของไม่ได้ ย่อมหมายถึงปากท้องทุกคนในครอบครัว ถูกแม่ค้าเจ้าอื่นตัดราคา นั่นหมายถึงกำไรที่น้อยลงหรืออาจขาดทุน
    ชีวิตแม่ค้าตลาดสด หรือแม้กระทั่งแผงริมทางเท้าเป็นอาชีพที่เขาเรียกว่าหาเช้ากินค่ำจริงๆ รายได้วันต่อวันไม่มีอะไรมารับประกันได้เลยนอกจากต้องฝากไว้กับโชคชะตา เคล็ดความเชื่อบางอย่างจึงต้องถือปฏิบัติด้วยความศรัทธายิ่ง
    ห้ามเอาทัพพีหรือตะหลิวคากระทะ
    วันไหนกลับมาแล้วเห็นภาพนี้ แม่จะโวยวายลั่นบ้าน “ว่าแล้วเชียว วันนี้ขายปลาไม่ได้เลย” นี่เป็นสิ่งที่เราต้องจำกันแต่เล็กแต่น้อย
    ห้ามนับเงินถ้ายังไม่เลิกขาย
    ครั้งหนึ่งฉันไม่รู้ เห็นแม่ขายของดี อยากรู้ตอนนี้ได้เท่าไหร่แล้ว จึงหยิบเงินมานับ แม่ซัดเพียะที่มือให้ ฉันน้ำตาไหล แม่รู้สึกผิด แต่ฉันก็ไม่โกรธ แม่เครียดและจริงจังกับการขาย เพราะ...เราจน.



นี่เป็นบางบทตอนของความเรียงเรื่องเล่าของเธอที่ฉายให้เห็นภาพ บรรยากาศ ความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ใสซื่อและจริงใจอย่างยิ่งกับบทสะท้อนเรื่องราวความเชื่อของวัฒนธรรมท้องถิ่นกับความเปลี่ยนของสังคมสมัยใหม่

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกับตอนสุดท้ายของเรื่องนี้...


...ขณะที่เดินกลับห้องพักในวันที่ไกลบ้าน กลิ่นของความทรงจำคอยเล็ดลอดปะปนกับลมหายใจให้ฉันหวนคำนึงถึงเรื่องราวบางอย่าง ภาพบางภาพ
กลิ่นตลาดสด กลิ่นกะปิ กลิ่นกุ้งแห้งปลาหมึกแห้ง กลิ่นปลาร้า กลิ่นหมาก กลิ่นเส้นยาสูบแห้ง เสียงสับหมูโป๊ก โป๊ก เสียงตะโกนของพ่อค้าแม่ค้า แสงวอมแวมของเทียนไข ดวงไฟสีส้ม
ฉันเพิ่งนึกได้อีกอย่าง
ชาวลัวะแบกก๋วยขายใบตองตึง บุคคลสำคัญของตลาดสดที่นี่ แม่ค้าพ่อค้าทุกคน ไม่ว่าจะขายขนม ขายผัก ขายหมู ขายเนื้อ ขายปลา เราต้องใช้ใบตองตึงห่อ ฉันยังจำได้แม่นว่า แม่จะห่อปลาด้วยใบตองตึงห่อ แม่จะห่อปลาด้วยใบตองตึงเก่งมาก ห่อดีจนน้ำในตัวปลาไม่ไหลออก
ใบตองตึงมัดละ 50 สตางค์ มัดเป็นระเบียบเรียบร้อยใส่ก๋วยพาดสะพายกับหัวเดินให้ ขวักทั่วตลาด ดูคึกคัก
ตอนเย็นๆ ฉันมักจะเห็นพวกเขาเดินขึ้นภูเขา และขากลับจะหอบใบตองตึงกลับมาเป็นจุดสีเขียวไหวๆ คล้ายแมลงทับ โบกบินเป็นแถวๆ
แต่ปีไหนก็จำไม่ได้เหมือนกันที่ลุงคนหนึ่งโฆษณาผ่านไมโครโฟน ก้องดังไปทั้งตลาด
“ซื้อของที่ร้านเราวันนี้ แถมถุงก๊อบแก๊บฟรีหนึ่งถุง !”
นับจากนั้น ก๋วยใบตองตึงก็ค่อยทยอยจางจากไป...



เชิญร่วมงานเปิดตัวหนังสือ ‘เพราะคิดถึง...’ ของ ‘สร้อยแก้ว คำมาลา’ที่ ‘ร้านเล่า’ ถ.นิมมานฯ เชียงใหม่ วันที่ 12 ก.พ.นี้ เวลาหกโมงเย็น... ร่วมเสวนาโดย เทพศิริ สุขโสภา, มาลา คำจันทร์ นักเขียนซีไรต์แห่งล้านนา, สุวิชานนท์ รัตนภิมล (อดีตบรรณาธิการ เสียงภูเขา) แสงดาว ศรัทธามั่น, และ นันทา เบญจศิลารักษ์ (อดีตบรรณาธิการสารล้านนา) ดำเนินรายการโดย ภู เชียงดาว สอบถามได้ที่ ร้านเล่า 053 -214888


บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ผมกลับมานั่งในบ้านปีกไม้ในหุบผาแดง นิ่งมองภาพเก่าๆ ของพ้อเลป่า สลับกับภาพครั้งสุดท้ายของเขาก่อนจะละสังขารไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
ภู เชียงดาว
เดาะ บื่อ แหว่ ควา สี่ จื้อ เนอ มู้ โข่ ลอ ปก้อ เฉาะ ถ่อ เจอพี่น้องประสานนิ้วมือฟ้าถล่มช่วยกันค้ำไว้ โถ่ ศรี ซี้ เล้อ แหม่จอ ป่า ซี้ ด่า แคนกยูงตายเพราะขนหางขุนนางตายเพราะเชื่อคนยุยง
ภู เชียงดาว
  ที่มาภาพ : www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=308.105เมื่อเราพูดถึงเรื่อง การพัฒนาและความเจริญ ที่คนส่วนใหญ่ต่างมุ่งไปทางนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา และมันกำลังรุกคืบคลานเข้ามาในวิถีบนบ้านป่าบ้านดอยอย่างต่อเนื่อง
ภู เชียงดาว
ผมหยิบงานที่ผมเขียนถึง ‘พ้อเลป่า' ปราชญ์ปกากะญอขึ้นมาอ่านอีกครั้ง หลังทราบข่าวจาก ‘หญ้าน้ำ ทุ่งขุนหลวง' ว่า ‘พ้อเลป่า' เสียชีวิตอย่างสงบแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา... ก่อนที่ผมและเพื่อนกำลังออกเดินทางไปบนทางสายเก่า สายนั้น...
ภู เชียงดาว
                          (๑) หอมกลิ่นภูเขาล่องลอยโชยมาในห้วงยามเย็นฉันยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านปล่อยให้สายแดดสีทองส่องสาดกายมองไปเบื้องล่าง- -ท้องทุ่งแห่งชีวิตยังเคลื่อนไหวไปมา ไม่หยุดนิ่งในความหม่นมัว ในความบดเบลอฉันมองเห็นภาพซ้อนแจ่มชัด แล้วเลือนราง
ภู เชียงดาว
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตในเมืองนั้นคงเหน็ดหน่ายและเหนื่อยหนักจากการงาน ชีวิตหลายชีวิตอาจถูกทับถมด้วยภาระหน้าที่อันหนักอึ้ง ยังไม่นับนานาปัญหาที่เข้ารุมสุมแน่นหนาอีกหลายชั้น จนดูเหมือนว่าชั่วชีวิตนี้คงยากจะสลัดให้หลุดพ้นไปได้ ที่ผมพูดเช่นนี้เพราะครั้งหนึ่งตัวผมเองเคยเอาชีวิตไปวางไว้อยู่ในเมืองนานหลายปี แน่นอน ใครหลายคนในสังคมเมืองจึงชอบเอา ‘การเดินทาง' เป็นหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นออกจากกงล้อแห่งการงานนั้นได้ และมักเอาช่วงสิ้นปีหรือวันปีใหม่ เป็นวันแห่งการปลดปล่อย ในขณะที่ตัวผมนั้น กลับไม่ได้เดินทางไปไหนเลย ยังมีชีวิตแบบวันต่อวัน อยู่กับปัจจุบันขณะ ในหุบเขาผาแดงแห่งนี้
ภู เชียงดาว
ผมไม่รู้ว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา จะมีสักกี่คนสามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้กี่ครั้งกี่หนกันแน่นอน ความฝันใครบางคนอาจเกลื่อนกล่น ความฝันใครหลายคนอาจหล่นหาย ใครหลายใครอาจมองว่าความฝันคือความเพ้อฝัน ไกลจากความจริง แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ คน ไม่เคยละทิ้งความฝันพยายามฟูมฟักความฝัน กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู แม้บ่อยครั้งอาจอาจเหนื่อยหนัก เหน็ดหน่าย กว่าจะทำให้ความฝันนั้นกลายเป็นจริงได้...เหมือนชายคนนี้...ที่ทำให้ฝันหนึ่งนั้นกลายเป็น ความงาม และความจริง... ผมมีโอกาสเดินทางไปเยือน เวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ติดกับชายแดนไทย-พม่า ซึ่งผมเคยบันทึกไว้ว่า เป็นดินแดนหุบเขาที่มีชีวิต…
ภู เชียงดาว
ผมรู้แล้วว่า วิถีคนสวนกับคนเขียนกวีนั้นไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ต้องฝึก ทดลอง เรียนรู้ ลงมือทำ ทุกวัน ทุกวัน และแน่นอนว่า เมื่อลงมือทำแล้ว เราจำเป็นต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย เติมความรักความเอาใจใส่ลงไปอย่างต่อเนื่อง (ถ้าไม่อย่างนั้น พันธ์พืชที่เราหว่านลงไปอาจเฉาเหี่ยวแห้งไป หรือไม่ผืนดินอันอุดมก็อาจแข็งด้านดินดานไปหมด) หลังจากนั้น เรายังต้องอดทนและรอคอยให้มันออกดอกออกผล กระทั่งเราสามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตที่งอกเงยในบั้นปลายได้ ทุกวันนี้ ผมยังถือว่าตนเองเป็นเพียงคนสวนมือใหม่ และเป็นคนฝึกเขียนบทกวีอยู่เสมอ ทุกวัน หลังจากพักงานสวน ผมจะลงมือเขียนบทกวี โดยเฉพาะในยามนี้…