Skip to main content

200802061 ภาพทางขึ้นดอย

เมื่อวันก่อน เพื่อนนักเขียนสาวเมืองเหนือ นาม “สร้อยแก้ว คำมาลา” ส่งข่าวมาบอกว่า จะเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ที่ ‘ร้านเล่า’ เชียงใหม่ ในช่วงเย็น วันที่ 12 ก.พ.นี้ พร้อมกับชักชวนผมเข้าไปร่วมวงคุยกับศิลปินนักเขียนเมืองเหนือกันด้วย

“ชื่อหนังสือ... เพราะคิดถึง... เป็นรวมความเรียงที่เคยเขียนไว้ในนิตยสารสานใจคนรักป่าเมื่อปีก่อนๆ แต่เพิ่งเอามารวมเล่มเจ้า” เสียงหวานๆ ของเธอบอกเล่าให้ฟัง
“ปกสีชมพูอีกแม่นก่อ...” ผมแหย่เธอเล่น
“แม่นแล้ว...สีชมพูหวานแหววเลยแหละ...” เธอรีบบอกพร้อมเสียงหัวเราะเบาๆ

จริงสิ, จึงไม่แปลก ที่เธอจะชอบสีชมพูเป็นพิเศษ เพราะว่าเธอเป็นนักเขียนที่มีถ้อยคำภาษานุ่มนวล อ่อนหวานและจริงใจ ซึ่งเข้ากับบรรยากาศแบบเมืองเหนือ และนี่คือเสน่ห์แห่งถ้อยคำของเธอ

ในบางบทนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ บอกไว้ว่า “เพราะคิดถึง...” เป็นรวมความเรียงว่าด้วยเรื่องของเด็ก ดวงดาว ท้องฟ้า ป่าเขา แม่น้ำ และความคิดถึง จากปลายปากกาของนักเขียนหญิงร่วมสมัย--สร้อยแก้ว คำมาลา ที่จะโน้มนำใจผู้อ่านให้ร่วมย้อนรำลึกถึงวันคืนยามเยาว์วัยในบ้านเมืองชนบทและป่าเขา ซึ่งคงกรุ่นกลิ่นอายความรัก ความอบอุ่น ความผูกพันระหว่างครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนบ้านร้านตลาด ตลอดจนธรรมชาติรายรอบตัว ประหนึ่งการเปิดลิ้นชักความทรงจำที่ไล่เรียงฤดูกาลแห่งชีวิตของผู้เขียน

"เพราะคิดถึง..." จะจับจูงผู้อ่านให้ร่วมดื่มด่ำบรรยากาศความน่ารัก ความใสซื่อบริสุทธิ์ ความสนุกสนาน และความคิดใคร่ครวญ ผ่านความเรียง 4 ภาค ได้แก่ ภาคดวงดาวและท้องฟ้า ภาคจากป่าเขา ภาคเปลี่ยนแปลงและเป็นไป และสุดท้าย ภาคการเดินทาง ความงามของภาษาเขียนที่ สร้อยแก้ว คำมาลา บรรจงเรียงร้อยภายในเล่ม นับเป็น "เสน่ห์" อย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้

ผมกลับมาพักบ้านสวนที่เชียงดาว ค้นหนังสือ ‘สานใจคนรักป่า’เล่มเก่าๆ ออกมาพลิกอ่านคอลัมน์ “เพราะคิดถึง” ของเธออีกครั้ง  เจอเรื่อง “ตลาดสด” อ่านแล้วพลอยให้หวนนึกถึงภาพเก่าๆ เมื่อครั้งยังเยาว์วัยไม่ได้...

...ยามนึกถึงบรรยากาศวันนั้น ฉันรู้สึกว่ามันอบอุ่นอ่อนหวานเสียจริงๆ
    แม่ค้าและลูกสาวที่ฉันเจอเมื่อครู่มีบางอย่างที่คล้ายคลึงฉันกับแม่ หรือจริงๆ แล้วแม่ลูกทุกคู่ในโลกนี้ย่อมมีบางอย่างคล้ายคลึงกันเหมือนในหนัง the joy luck club แรงทะเยอทะยาน มานะพยายามทั้งหมดของแม่ไม่ได้มีไว้เพื่ออะไรเลย นอกจากให้ลูกได้พบสิ่งที่ดีกว่า
    แม่ขายของไม่ได้ ย่อมหมายถึงปากท้องทุกคนในครอบครัว ถูกแม่ค้าเจ้าอื่นตัดราคา นั่นหมายถึงกำไรที่น้อยลงหรืออาจขาดทุน
    ชีวิตแม่ค้าตลาดสด หรือแม้กระทั่งแผงริมทางเท้าเป็นอาชีพที่เขาเรียกว่าหาเช้ากินค่ำจริงๆ รายได้วันต่อวันไม่มีอะไรมารับประกันได้เลยนอกจากต้องฝากไว้กับโชคชะตา เคล็ดความเชื่อบางอย่างจึงต้องถือปฏิบัติด้วยความศรัทธายิ่ง
    ห้ามเอาทัพพีหรือตะหลิวคากระทะ
    วันไหนกลับมาแล้วเห็นภาพนี้ แม่จะโวยวายลั่นบ้าน “ว่าแล้วเชียว วันนี้ขายปลาไม่ได้เลย” นี่เป็นสิ่งที่เราต้องจำกันแต่เล็กแต่น้อย
    ห้ามนับเงินถ้ายังไม่เลิกขาย
    ครั้งหนึ่งฉันไม่รู้ เห็นแม่ขายของดี อยากรู้ตอนนี้ได้เท่าไหร่แล้ว จึงหยิบเงินมานับ แม่ซัดเพียะที่มือให้ ฉันน้ำตาไหล แม่รู้สึกผิด แต่ฉันก็ไม่โกรธ แม่เครียดและจริงจังกับการขาย เพราะ...เราจน.



นี่เป็นบางบทตอนของความเรียงเรื่องเล่าของเธอที่ฉายให้เห็นภาพ บรรยากาศ ความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ใสซื่อและจริงใจอย่างยิ่งกับบทสะท้อนเรื่องราวความเชื่อของวัฒนธรรมท้องถิ่นกับความเปลี่ยนของสังคมสมัยใหม่

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกับตอนสุดท้ายของเรื่องนี้...


...ขณะที่เดินกลับห้องพักในวันที่ไกลบ้าน กลิ่นของความทรงจำคอยเล็ดลอดปะปนกับลมหายใจให้ฉันหวนคำนึงถึงเรื่องราวบางอย่าง ภาพบางภาพ
กลิ่นตลาดสด กลิ่นกะปิ กลิ่นกุ้งแห้งปลาหมึกแห้ง กลิ่นปลาร้า กลิ่นหมาก กลิ่นเส้นยาสูบแห้ง เสียงสับหมูโป๊ก โป๊ก เสียงตะโกนของพ่อค้าแม่ค้า แสงวอมแวมของเทียนไข ดวงไฟสีส้ม
ฉันเพิ่งนึกได้อีกอย่าง
ชาวลัวะแบกก๋วยขายใบตองตึง บุคคลสำคัญของตลาดสดที่นี่ แม่ค้าพ่อค้าทุกคน ไม่ว่าจะขายขนม ขายผัก ขายหมู ขายเนื้อ ขายปลา เราต้องใช้ใบตองตึงห่อ ฉันยังจำได้แม่นว่า แม่จะห่อปลาด้วยใบตองตึงห่อ แม่จะห่อปลาด้วยใบตองตึงเก่งมาก ห่อดีจนน้ำในตัวปลาไม่ไหลออก
ใบตองตึงมัดละ 50 สตางค์ มัดเป็นระเบียบเรียบร้อยใส่ก๋วยพาดสะพายกับหัวเดินให้ ขวักทั่วตลาด ดูคึกคัก
ตอนเย็นๆ ฉันมักจะเห็นพวกเขาเดินขึ้นภูเขา และขากลับจะหอบใบตองตึงกลับมาเป็นจุดสีเขียวไหวๆ คล้ายแมลงทับ โบกบินเป็นแถวๆ
แต่ปีไหนก็จำไม่ได้เหมือนกันที่ลุงคนหนึ่งโฆษณาผ่านไมโครโฟน ก้องดังไปทั้งตลาด
“ซื้อของที่ร้านเราวันนี้ แถมถุงก๊อบแก๊บฟรีหนึ่งถุง !”
นับจากนั้น ก๋วยใบตองตึงก็ค่อยทยอยจางจากไป...



เชิญร่วมงานเปิดตัวหนังสือ ‘เพราะคิดถึง...’ ของ ‘สร้อยแก้ว คำมาลา’ที่ ‘ร้านเล่า’ ถ.นิมมานฯ เชียงใหม่ วันที่ 12 ก.พ.นี้ เวลาหกโมงเย็น... ร่วมเสวนาโดย เทพศิริ สุขโสภา, มาลา คำจันทร์ นักเขียนซีไรต์แห่งล้านนา, สุวิชานนท์ รัตนภิมล (อดีตบรรณาธิการ เสียงภูเขา) แสงดาว ศรัทธามั่น, และ นันทา เบญจศิลารักษ์ (อดีตบรรณาธิการสารล้านนา) ดำเนินรายการโดย ภู เชียงดาว สอบถามได้ที่ ร้านเล่า 053 -214888


บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
  เมื่อนั่งอยู่ในความเงียบ ในสวนบนเนินเขายามเช้าตรู่ เพ่งดูหมอกขาวคลี่คลุมดงดอยอยู่เบื้องหน้า ทุ่งนาเบื้องล่างลิบๆ นั้นเริ่มแปรเปลี่ยนสี จากทุ่งข้าวสีเขียวสดกลายเป็นสีเหลืองทองรอการเก็บเกี่ยว ใช่, ใครต่อใครเมื่อเห็นภาพเหล่านี้ คงรู้สึกชื่นชมภาพอันสดชื่นรื่นรมย์กันแบบนี้ทุกคนทว่าจริงๆ แล้ว พอค้นให้ลึกลงไป ก็จะพบว่า ในความงามนั้นมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่ให้รับรู้สึก เมื่อนึกถึงภาพเก่าๆ ของหมู่บ้าน ผ่านไปไม่กี่สิบปี  จะมองเห็นได้เลยว่าหมู่บ้านเกิดของผมมีความแปลกเปลี่ยนไปอย่างเร็วและแรง อย่างไม่น่าเชื่อ“ตอนนี้ อะหยังๆ มันก่อเปลี่ยนไปหมดแล้ว...” เสียงใครคนหนึ่งบ่นเหมือนรำพึงจริงสิ,…
ภู เชียงดาว
ผมเริ่มค้นพบว่าตัวเองนั้นไม่เหมาะกับเมือง หลังจากที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มานานหลายปี ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงคิดเช่นนี้- -อาจเป็นเพราะระยะหลังรู้สึกว่าชีวิตตัวเองแปลกและป่วย บางครั้งคล้ายยินเสียงจากข้างในกำลังบอกอะไรบางอย่าง ราวกับจะบอกว่า... ‘ที่สุดแล้ว,ชีวิตต้องกลับคืนสู่เส้นทางที่จากมา’ แหละนั่น ทำให้ผมเริ่มวางแผนกลับไปใช้ชีวิตในสวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากที่ปล่อยให้สวนรกร้างว่างเปล่ามานานเต็มทีจริงสิ, ผมปล่อยให้ต้นไม้ในสวนรกเรื้อและโตขึ้นตามลำพัง ไร้การดูแลเอาใจใส่ ไม่มีเวลารดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย คงเหมือนกับชีวิตตัวเองกระมัง ที่ต้องมาอยู่กับเมือง มัวแต่ไขว่คว้าบางสิ่ง…
ภู เชียงดาว
สิ่งดี ๆ ในชีวิต พ่อค้าแวะมาหาคนสวนที่เขากำลังพักผ่อนอยู่ตรงหน้ากระท่อม “สวัสดีครับคนสวน” พ่อค้าทักทาย “ผมมีข้อเสนอดีๆ มาให้ คุณคงสนใจเป็นแน่” และเมื่อเห็นทีท่าเฉยเมยของคนสวน พ่อค้าก็เริ่มพูดธุระที่เขาคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งคนสวนจะต้องขยายพื้นที่ปลูกกุหลาบเพิ่มขึ้นและพ่อค้าจะเป็นคนเอาไปขายในเมือง “คนสวน ด้วยความชำนาญของคุณ กุหลาบของเราจะสวยงามที่สุดในเมือง” พ่อค้าสรุปด้วยท่าทีกระหยิ่มยิ้มย่อง “ขอบคุณแต่เราไม่สนใจ” คนสวนตอบพร้อมยิ้มอย่างเคย “แต่คุณจะได้เงินเยอะ...” พ่อค้าว่า ท่าทางแปลกใจ “ผมไม่สนใจเงินทองหรอก” “ใครๆ ก็อยากได้เงินกันทั้งนั้น...” “แต่ไม่ใช่ผม…
ภู เชียงดาว
ความเรียบง่ายมีแรงดึงดูดที่ลี้ลับเพราะมันจะฉุดเราไปยังทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางที่คนส่วนใหญ่ในโลกไปกันไปจากการทำตัวให้เด่น ไปจากการสะสมไปจากการทะนงหลงตนและจากการเป็นเป้าสายตาของสาธารณะไปสู่ชีวิตสงบ อ่อนน้อมถ่อมตน กระจ่างใสยิ่งกว่าสิ่งใดๆที่วัฒนธรรมบริโภคอย่างฉาบฉวยรู้จักกัน.                                                        …
ภู เชียงดาว
ที่มาภาพ  www.salweennews.orgที่มาภาพ www.sarakadee.comที่มาภาพ www.salweennews.orgกอดกับความเย็นเยียบอยู่อย่างนั้น, กลางป่าเปลี่ยวอ้อมอกอันบอบบางของเธอมิเคยอบอุ่นอยู่กับความมืดดำในความรู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึง, ชีวิตความตายเหมือนมิเคยแยกจางห่างกันเลยโอ. เด็กๆ  ตามแนวชายแดนยามใดหนาวฤดูลมแล้งแห้งโหมพัดเข้ามาสู่,หัวใจเธอนั้นเหมือนจักรับรู้รสสัมผัสชีวิตวิถีที่จำต้องระเหเร่ร่อนนั่น,คือสัญญาณความขัดแย้งอันเลวร้ายที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบเขารอการอุบัติเสียงแม่กระซิบบอกพวกเธอเบาๆเร็วเข้า,…
ภู เชียงดาว
  “การถอยออกไปจากสนามรบของชีวิตทำงานเงียบๆ ด้วยเป้าหมายที่สร้างสรรค์คือคำตอบหนึ่งต่อคำถามที่ว่าจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่ทุกอย่างกำลังพังทลาย”จากหนังสือ “ความเงียบ”จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปลผมไม่รู้ว่า สวนของผมนั้นกลายเป็นสวนผสมผสานตั้งแต่เมื่อไหร่...แต่ผมรู้ว่า พักหลังมานี่ เมื่อเดินทางกลับบ้านไปสวนทีไร ผมมักติดกล้าไม้เข้าไปในสวนเกือบทุกครั้ง ไม่อย่างก็สองอย่าง แวะซื้อมาจากกาดคำเที่ยง บ้างได้มาจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่มอบให้มา พอไปถึง ก็ลงมือขุดหลุม เอาเศษฟางเศษหญ้าลงคลุกกับเนื้อดิน หย่อนต้นไม้ต้นเล็กลงไป กลบดิน รดน้ำให้ชุ่ม หรือรอให้น้ำฟ้าหล่นรดให้ฉ่ำชื้นเอง…
ภู เชียงดาว
    “...เมื่อมนุษย์จมอยู่กับฝูงชนที่ขาดความเป็นมนุษย์ ถูกผลักไปมาอย่างอัตโนมัติไปตามแรงเหวี่ยง บุคคลนั้นก็สูญเสียความเป็นมนุษย์ที่แท้ สูญเสียคุณธรรม หมดความสามารถที่จะรัก และศักยภาพที่จะกำหนดตนเอง เมื่อสังคมประกอบด้วยผู้คนที่ไม่รู้จักความวิเวกภายใน สังคมนั้นก็ไม่อาจรวมกันได้ด้วยความรัก แต่อยู่ได้ด้วยอำนาจครอบงำและความรุนแรง...” ถ้อยคำของ “โทมัส เมอร์ตัน” คัดมาจากหนังสือ “ความเงียบ” จอห์น เลน เขียน, สดใส ขันติวรพงศ์ แปล สวนบนเนินเขาเหนือหมู่บ้านเกิดของผม ตั้งอยู่ในเนื้อที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างและยาวราวสี่ห้าไร่…