Skip to main content

200802061 ภาพทางขึ้นดอย

เมื่อวันก่อน เพื่อนนักเขียนสาวเมืองเหนือ นาม “สร้อยแก้ว คำมาลา” ส่งข่าวมาบอกว่า จะเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ที่ ‘ร้านเล่า’ เชียงใหม่ ในช่วงเย็น วันที่ 12 ก.พ.นี้ พร้อมกับชักชวนผมเข้าไปร่วมวงคุยกับศิลปินนักเขียนเมืองเหนือกันด้วย

“ชื่อหนังสือ... เพราะคิดถึง... เป็นรวมความเรียงที่เคยเขียนไว้ในนิตยสารสานใจคนรักป่าเมื่อปีก่อนๆ แต่เพิ่งเอามารวมเล่มเจ้า” เสียงหวานๆ ของเธอบอกเล่าให้ฟัง
“ปกสีชมพูอีกแม่นก่อ...” ผมแหย่เธอเล่น
“แม่นแล้ว...สีชมพูหวานแหววเลยแหละ...” เธอรีบบอกพร้อมเสียงหัวเราะเบาๆ

จริงสิ, จึงไม่แปลก ที่เธอจะชอบสีชมพูเป็นพิเศษ เพราะว่าเธอเป็นนักเขียนที่มีถ้อยคำภาษานุ่มนวล อ่อนหวานและจริงใจ ซึ่งเข้ากับบรรยากาศแบบเมืองเหนือ และนี่คือเสน่ห์แห่งถ้อยคำของเธอ

ในบางบทนำเสนอของหนังสือเล่มนี้ บอกไว้ว่า “เพราะคิดถึง...” เป็นรวมความเรียงว่าด้วยเรื่องของเด็ก ดวงดาว ท้องฟ้า ป่าเขา แม่น้ำ และความคิดถึง จากปลายปากกาของนักเขียนหญิงร่วมสมัย--สร้อยแก้ว คำมาลา ที่จะโน้มนำใจผู้อ่านให้ร่วมย้อนรำลึกถึงวันคืนยามเยาว์วัยในบ้านเมืองชนบทและป่าเขา ซึ่งคงกรุ่นกลิ่นอายความรัก ความอบอุ่น ความผูกพันระหว่างครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนบ้านร้านตลาด ตลอดจนธรรมชาติรายรอบตัว ประหนึ่งการเปิดลิ้นชักความทรงจำที่ไล่เรียงฤดูกาลแห่งชีวิตของผู้เขียน

"เพราะคิดถึง..." จะจับจูงผู้อ่านให้ร่วมดื่มด่ำบรรยากาศความน่ารัก ความใสซื่อบริสุทธิ์ ความสนุกสนาน และความคิดใคร่ครวญ ผ่านความเรียง 4 ภาค ได้แก่ ภาคดวงดาวและท้องฟ้า ภาคจากป่าเขา ภาคเปลี่ยนแปลงและเป็นไป และสุดท้าย ภาคการเดินทาง ความงามของภาษาเขียนที่ สร้อยแก้ว คำมาลา บรรจงเรียงร้อยภายในเล่ม นับเป็น "เสน่ห์" อย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้

ผมกลับมาพักบ้านสวนที่เชียงดาว ค้นหนังสือ ‘สานใจคนรักป่า’เล่มเก่าๆ ออกมาพลิกอ่านคอลัมน์ “เพราะคิดถึง” ของเธออีกครั้ง  เจอเรื่อง “ตลาดสด” อ่านแล้วพลอยให้หวนนึกถึงภาพเก่าๆ เมื่อครั้งยังเยาว์วัยไม่ได้...

...ยามนึกถึงบรรยากาศวันนั้น ฉันรู้สึกว่ามันอบอุ่นอ่อนหวานเสียจริงๆ
    แม่ค้าและลูกสาวที่ฉันเจอเมื่อครู่มีบางอย่างที่คล้ายคลึงฉันกับแม่ หรือจริงๆ แล้วแม่ลูกทุกคู่ในโลกนี้ย่อมมีบางอย่างคล้ายคลึงกันเหมือนในหนัง the joy luck club แรงทะเยอทะยาน มานะพยายามทั้งหมดของแม่ไม่ได้มีไว้เพื่ออะไรเลย นอกจากให้ลูกได้พบสิ่งที่ดีกว่า
    แม่ขายของไม่ได้ ย่อมหมายถึงปากท้องทุกคนในครอบครัว ถูกแม่ค้าเจ้าอื่นตัดราคา นั่นหมายถึงกำไรที่น้อยลงหรืออาจขาดทุน
    ชีวิตแม่ค้าตลาดสด หรือแม้กระทั่งแผงริมทางเท้าเป็นอาชีพที่เขาเรียกว่าหาเช้ากินค่ำจริงๆ รายได้วันต่อวันไม่มีอะไรมารับประกันได้เลยนอกจากต้องฝากไว้กับโชคชะตา เคล็ดความเชื่อบางอย่างจึงต้องถือปฏิบัติด้วยความศรัทธายิ่ง
    ห้ามเอาทัพพีหรือตะหลิวคากระทะ
    วันไหนกลับมาแล้วเห็นภาพนี้ แม่จะโวยวายลั่นบ้าน “ว่าแล้วเชียว วันนี้ขายปลาไม่ได้เลย” นี่เป็นสิ่งที่เราต้องจำกันแต่เล็กแต่น้อย
    ห้ามนับเงินถ้ายังไม่เลิกขาย
    ครั้งหนึ่งฉันไม่รู้ เห็นแม่ขายของดี อยากรู้ตอนนี้ได้เท่าไหร่แล้ว จึงหยิบเงินมานับ แม่ซัดเพียะที่มือให้ ฉันน้ำตาไหล แม่รู้สึกผิด แต่ฉันก็ไม่โกรธ แม่เครียดและจริงจังกับการขาย เพราะ...เราจน.



นี่เป็นบางบทตอนของความเรียงเรื่องเล่าของเธอที่ฉายให้เห็นภาพ บรรยากาศ ความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ใสซื่อและจริงใจอย่างยิ่งกับบทสะท้อนเรื่องราวความเชื่อของวัฒนธรรมท้องถิ่นกับความเปลี่ยนของสังคมสมัยใหม่

ซึ่งเห็นได้ชัดเจนกับตอนสุดท้ายของเรื่องนี้...


...ขณะที่เดินกลับห้องพักในวันที่ไกลบ้าน กลิ่นของความทรงจำคอยเล็ดลอดปะปนกับลมหายใจให้ฉันหวนคำนึงถึงเรื่องราวบางอย่าง ภาพบางภาพ
กลิ่นตลาดสด กลิ่นกะปิ กลิ่นกุ้งแห้งปลาหมึกแห้ง กลิ่นปลาร้า กลิ่นหมาก กลิ่นเส้นยาสูบแห้ง เสียงสับหมูโป๊ก โป๊ก เสียงตะโกนของพ่อค้าแม่ค้า แสงวอมแวมของเทียนไข ดวงไฟสีส้ม
ฉันเพิ่งนึกได้อีกอย่าง
ชาวลัวะแบกก๋วยขายใบตองตึง บุคคลสำคัญของตลาดสดที่นี่ แม่ค้าพ่อค้าทุกคน ไม่ว่าจะขายขนม ขายผัก ขายหมู ขายเนื้อ ขายปลา เราต้องใช้ใบตองตึงห่อ ฉันยังจำได้แม่นว่า แม่จะห่อปลาด้วยใบตองตึงห่อ แม่จะห่อปลาด้วยใบตองตึงเก่งมาก ห่อดีจนน้ำในตัวปลาไม่ไหลออก
ใบตองตึงมัดละ 50 สตางค์ มัดเป็นระเบียบเรียบร้อยใส่ก๋วยพาดสะพายกับหัวเดินให้ ขวักทั่วตลาด ดูคึกคัก
ตอนเย็นๆ ฉันมักจะเห็นพวกเขาเดินขึ้นภูเขา และขากลับจะหอบใบตองตึงกลับมาเป็นจุดสีเขียวไหวๆ คล้ายแมลงทับ โบกบินเป็นแถวๆ
แต่ปีไหนก็จำไม่ได้เหมือนกันที่ลุงคนหนึ่งโฆษณาผ่านไมโครโฟน ก้องดังไปทั้งตลาด
“ซื้อของที่ร้านเราวันนี้ แถมถุงก๊อบแก๊บฟรีหนึ่งถุง !”
นับจากนั้น ก๋วยใบตองตึงก็ค่อยทยอยจางจากไป...



เชิญร่วมงานเปิดตัวหนังสือ ‘เพราะคิดถึง...’ ของ ‘สร้อยแก้ว คำมาลา’ที่ ‘ร้านเล่า’ ถ.นิมมานฯ เชียงใหม่ วันที่ 12 ก.พ.นี้ เวลาหกโมงเย็น... ร่วมเสวนาโดย เทพศิริ สุขโสภา, มาลา คำจันทร์ นักเขียนซีไรต์แห่งล้านนา, สุวิชานนท์ รัตนภิมล (อดีตบรรณาธิการ เสียงภูเขา) แสงดาว ศรัทธามั่น, และ นันทา เบญจศิลารักษ์ (อดีตบรรณาธิการสารล้านนา) ดำเนินรายการโดย ภู เชียงดาว สอบถามได้ที่ ร้านเล่า 053 -214888


บล็อกของ ภู เชียงดาว

ภู เชียงดาว
ผมรู้ว่าสี่ห้าปีมานี้ ผมเขียนบทกวีได้ไม่กี่ชิ้น อาจเป็นเพราะต้องอยู่กับโลกข่าวสารที่จำเป็นต้องเร่งและเร็ว หรืออาจเป็นเพราะว่ามีบางสิ่งบางอย่างบดบัง จนหลงลืมมองสิ่งที่รอบข้าง มองเห็นอะไรพร่ามัวไปหมด หรือว่าเรากำลังหลงลืมความจริง...ผมเฝ้าถามตัวเอง...  อย่างไรก็ตามเถอะ...มาถึงตอนนี้ ผมกำลังพยายามฝึกใช้ชีวิต ให้อยู่กับความฝันและความจริงไปพร้อมๆ กัน ช่วงนี้ หลังพักจากงานสวน ผมจึงมีเวลาอยู่กับความเงียบลำพัง เพ่งมองภายในและสิ่งรายรอบมากยิ่งขี้น และผมเริ่มบันทึกบทกวีแคนโต้เหมือนสายน้ำ หลั่งไหล อย่างต่อเนื่อง ทุกวันๆ ตามดวงตาที่เห็น ตามหัวใจได้สัมผัสต้อง บ่อยครั้งมันมากระทบทันใด ไม่รู้ตัว…
ภู เชียงดาว
เกือบสามเดือนแล้วที่ผมพาตัวเองกลับมาอยู่ในหุบเขาบ้านเกิด ชีวิตส่วนใหญ่จึงขลุกอยู่แต่ในสวน ไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนไกล แต่ผมกลับไม่รู้สึกว่าเหงาหรือห่างไกลกับผู้คนเลย เพราะในแต่ละเดือนมักมีมิ่งมิตรเดินทางมาเยี่ยมเยือนหากันตลอด  และทำให้ผมรู้อีกอย่างหนึ่งว่า...บางทีการอยู่นิ่งก็หมายถึงการเดินทาง ใช่ ผมหมายถึงว่า ในขณะที่ผมอยู่ในสวน หากยังมีผู้คนเดินทางแวะเวียนมาหา และที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ผมยังมองเห็นเมล็ดพันธุ์เดินทางมายังสวนอย่างต่อเนื่อง “ผมเอาเมล็ดพันธุ์มาฝาก...” นักเดินทางคนหนึ่งเดินทางไกลมาจากสงขลา ล้วงเอาเมล็ดพันธุ์ที่ใส่ไว้ในกล่องฟิล์มยื่นให้ ขณะผมกำลังง่วนทำงานอยู่ในสวน
ภู เชียงดาว
หลังดินดำน้ำชุ่ม เขาหยิบเมล็ดพันธุ์หลากหลายมากองวางไว้ตรงหน้า มีทั้งเมล็ดผักกาดดอยที่พ่อนำมาให้ เมล็ดฟักทองที่พี่สาวฝากมา นั่นเมล็ดแตงกวา เมล็ดหัวผักกาด ถั่วพุ่ม ผักบุ้ง บวบหอม ผักชี ฯลฯ เขาค่อยๆ ทำไปช้าๆ ไม่เร่งรีบ ทั้งหว่านทั้งหยอดไปทั่วแปลง เสร็จแล้วเดินไปหอบใบหญ้าแฝกที่ตัดกองไว้ตามคันขอบรอบบ้านปีกไม้มาปูบนแปลงผักแทนฟางข้าว ให้ความชุ่มชื้นแก่ดินหลังจากนั้น เขามองไปรอบๆ แปลงริมรั้วยังมีพื้นที่ว่าง เขาเดินไปถอนกล้าตำลึง ผักปลัง ผักเชียงดา มะเขือ พริก อัญชัน ตะไคร้ ขิง ข่า กระเพรา โหระพา สาระแหน่ ฯลฯ มาปลูกเสริม หยิบลูกมะเขือเครือ(ที่หลายคนเรียกกันว่าฟักแม้วหรือซาโยเต้)…
ภู เชียงดาว
ในช่วงสองเดือน ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เกือบทุกเสาร์-อาทิตย์ เขาใช้เวลาเทียวขึ้นเทียวล่องระหว่างเมืองกับสวนในหุบเขาบ้านเกิด เพื่อวางแผนลงมือทำสวนผักหลังบ้าน แน่นอน- -เพราะเขาบอกกับตัวเองย้ำๆ ว่าหากคิดจะพามนุษย์เงินเดือน กลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นได้ จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีฐานที่มั่น และมีผักไม้ไซร้เครือเตรียมไว้ให้พร้อม ให้พออยู่พอกินเสียก่อน ใช่ เขาหมายถึงการสร้างฐานความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัวหลังบ้าน   หลายคนอาจบอกว่า งานทำสวนนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนกับงานสาขาอาชีพอื่น แต่ก็อีกนั่นแหละ เขากลับมองว่า งานสวนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย…
ภู เชียงดาว
1. ในชีวิตคนเรานั้นคงเคยตั้งคำถามที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก คำถามคลาสสิกหนึ่งนั้นคือ...“คนเราต้องการอะไรในชีวิต!?...” คำตอบส่วนใหญ่ก็คงหนีไม่พ้นต้องการปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ...อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หากปัจจุบัน ‘เงิน’ กลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของคนเรา แน่นอน, เมื่อเอาเงินเป็นตัวกำหนดชะตากรรม,ชีวิต จึงทำให้ทุกคนต้องดิ้นรนเพียงเพื่อให้ได้มาทุกสิ่งทุกอย่าง จนทำให้ชีวิตหลายชีวิตนั้นขวนขวายทำงานกันอย่างหน่วงหนัก ‘การงาน’ ได้กระชากลากเหวี่ยงเรากระเด็นกระดอนไปไกลและไกล ให้ออกไปเดินบนถนนของความโลภ ไปสู่เมืองของความอยาก ไปสู่กงล้อของการไขว่คว้าที่หมุนวนอยู่ไม่รู้จบ…
ภู เชียงดาว
ค่ำนั้น, ฟ้าเริ่มครึ้มมัวหม่นเมฆฝน ข้ายืนจดจ้องฝูงมดดำเคลื่อนขบวนมหึมา ไต่ไปบนปีกไม้ไปหารวงรังแตนเกาะริมขอบหน้าต่างบ้านปีกไม้ หมู่มดยื้อแย่งขนไข่แตนกันออกจากรัง อย่างต่อเนื่อง ขณะฝูงแตนบินว่อนไปมาด้วยสัญชาติญาณ คงตระหนกตกใจระคนโกรธขึ้งเคียดแค้น แต่มิอาจทำอะไรพวกมันได้ เหล่าฝูงมดอาศัยพลพรรคนับพันนับหมื่นชีวิต ใช้ความได้เปรียบเข้าปล้นรังไข่พวกมันไปหมดสิ้น ไม่นาน ขบวนมดจำนวนมหาศาลก็ถอยทัพกลับไป ฝูงแตนไม่รู้หายไปไหน เหลือเพียงรังแตนที่กลวง ว่างเปล่า
ภู เชียงดาว
ในที่สุด, ผมก็พาตัวเองกลับคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง หลังจากโชคชะตาชักชวนชีวิตลงไปอยู่ในโลกของเมืองตั้งหลายขวบปี การกลับบ้านครั้งนี้ ผมกะเอาไว้ว่า จะขอกลับไปพำนักอย่างถาวร หลังจากชีวิตเกือบค่อนนั้นระหกระเหินเดินทางไปหลายหนแห่ง ผ่านทุ่งนา ภูเขา แม่น้ำ ทางป่า ถนนเมือง... จนทำให้บ้านเกิดนั้นเป็นเพียงคนรู้จักที่ไม่คุ้นเคย เป็นเหมือนโรงเตี๊ยมพักผ่อนชั่วคราวก่อนออกเดินทางไกล อย่างไรก็ตามได้อะไรมากและหลากหลาย... สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาสู่,ชีวิตการกลับบ้านเกิดหนนี้, เหมือนกับว่าไปเริ่มสู่จุดเริ่มต้นและก่อเกิด ผมบอกกับหลายคนว่ากำลังเกิดใหม่เป็นหนที่สามจากบ้านเกิด เข้ามาเรียนในเวียง…
ภู เชียงดาว
‘ลุ่มน้ำแม่ป๋าม’ ถือว่าเป็นลุ่มน้ำสาขาหลักที่สำคัญของแม่น้ำปิงอีกสายหนึ่งของอำเภอเชียงดาว ที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย เมื่อย้อนทวนขึ้นไปบนความสลับซับซ้อนของต้นกำเนิดน้ำแม่ป๋าม หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ตาน้ำ จะพบว่าอยู่บริเวณชุมชนบ้านแม่ปาคี ต.สันทราย ของ อ.พร้าว ก่อนจะลัดเลาะไหลอ้อมตีนดอยผาแดง ลงสู่หุบห้วยบริเวณบ้านป่าตึงงาม โดยมีสายน้ำย่อยอีกสายหนึ่ง คือน้ำแม่ป๋อย ได้ไหลมารวมกับน้ำแม่ป๋ามตรงสบน้ำบ้านออน ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว นอกจากนั้นยังมีลำน้ำแม่มาดอีกสายหนึ่ง ซึ่งมีขุนน้ำอยู่บริเวณป่าเชิงดอยบ้านปางโม่ ก็ได้ไหลมาสมทบกับน้ำแม่ป๋าม แล้วค่อยไหลผ่านหมู่บ้านแม่ป๋าม…
ภู เชียงดาว
มองไปในความกว้างและเวิ้งว้าง ทำให้ผมอดครุ่นคิดไปลึกและไกล และพลอยให้อดนึกหวั่นไหวไม่ได้ หากภูเขา ทุ่งนาทุ่งไร่ สายน้ำ และวิถีชีวิตในหมู่บ้านเกิดของผมต้องเปลี่ยนไป เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่อยู่นอกเหนือธรรมชาติเข้ามาเยือน
ภู เชียงดาว
‘…เรารู้ซึ้งถึงสิ่งนี้ โลกนี้มิใช่ของมนุษย์ มนุษย์ต่างหากที่เป็นสมบัติของโลก สิ่งนี้เรารู้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเหมือนดังสายเลือดในครอบครัวเดียวกัน ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ สิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นแก่โลก ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรธิดาของโลกด้วย มนุษย์ไม่ใช่ผู้สานทอใยแห่งชีวิต เขาเป็นเพียงเส้นใยหนึ่งในนั้น สิ่งใดก็ตามที่เขาทำต่อข่ายใยนั้น ก็เท่ากับกระทำต่อตนเอง...’จดหมายโต้ตอบของหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงที่ซีแอตเติ้ลจากหนังสือ ‘ณ ที่ดวงตะวันฉายแสง ข้าจะไม่สู้รบอีกต่อไป’วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : แปล และเรียบเรียง
ภู เชียงดาว
  ผมยืนอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน จ้องมองภาพเคลื่อนไหวไปเบื้องหน้า... เป็นภาพที่คุ้นเคยที่ยังคงสวยสด งดงาม และเรียบง่ายในความรู้สึกผม ภาพชาวนาในท้องทุ่ง ภาพหุบเขาผาแดงที่มีป่าไม้กับลำน้ำแม่ป๋ามไหลผ่านคดโค้งเลียบเลาะระหว่างตีนดอยกับทุ่งนา ก่อนรี่ไหลลงไปสู่ลำน้ำปิง แม่น้ำในใจคนล้านนามานานนักนาน
ภู เชียงดาว
(1)ดอกฝนหล่นโปรยมาทายทักแล้ว,ในห้วงต้นฤดูหอมกลิ่นดินกลิ่นป่าอวลตรลบไปทั่วทุกหนแห่งหัวใจหลายดวงชื่นสดในชีวิตวิถีถูกปลุกฟื้นตื่นให้เริ่มต้นใหม่อีกคราครั้ง…ตีนเปลือยย่ำไปบนดินนุ่มชุ่มชื้น,เช้าวันใหม่ไต่ตามสันดอย ไปในไร่ด้วยกันนะน้องสาวผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน  ช่วยกันทำงานๆพี่ใช้เสียมลำไม้ไผ่กระทุ้งดิน  น้องหยิบเมล็ดข้าวหยอดใส่หลุมไม่เร่งรีบ ไม่บ่นท้อ ในความเหน็ดหน่ายเสร็จงานเราผ่อนคลาย  เอนกายผ่อนพักใต้เงาไม้ใหญ่แล้วพี่จะกล่อมให้, ด้วยเพลงพื้นบ้านโบราณขับขาน