Skip to main content

ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนรุ่นก่อนช่างกล้าหาญนัก กล้าเดินทางเข้ามาในดินแดนที่ไม่รู้จัก เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า

การเดินทางของมนุษย์เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ชีวิตยิ่งมหัศจรรย์กว่า ในความผันแปรเปลี่ยนของมนุษย์

บางทีคำว่าโชคชะตายังน้อยไปที่จะให้คำจำกัดความถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

พลัดพราก พบพาน หรือพบเพื่อจากลา ล้วนยากจะคาดเดา

ในดินแดนใหม่ที่เขาตั้งรกรากจะมีความท้าทายใดบ้าง

.....

ในพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา Peabody Museum ของฮาร์วาร์ดนับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเอาสิ่งของและวัตถุทางวัฒนธรรมไว้มากมาย บางอย่างไม่สามารถเอามาได้ก็จำลองมาไว้ให้ชมเป็นบุญตา บางอย่างเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาไปพบเห็นในยุคที่ไม่มีเทคโนโลยีการถ่ายภาพยนต์หรือวีดีโอก็บันทึกและเขียนเป็นรูปออกมา ที่ฮาร์วาร์ดทำมากกว่านั้น นักมานุษยวิทยาที่ฮาร์วาร์ดสร้างอันตรภาพ (diorama) ของชีวิตชาวอินเดียนแดงในที่ต่างๆ เช่น ชาวเผ่าซู ชาวเผ่าพื้นเมืองอื่นๆ ที่อยู่ในทวีปอเมริกาและดินแดนที่ไกลโพ้น 

การเก็บตัวอย่างทำอย่างเอาจริงเอาจังมาก จนเรียกได้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่นี่ในระดับมหาวิทยาลัยถือว่ามีของเยอะมากที่สุดแห่งหนึ่ง (จากคำยืนยันของ ผศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร) ไม่ว่าจะเป็นเสาโทเท็ม (totem) ที่มีรูปสัตว์และคน ที่อาจารย์ยุกติทักว่าแปลก บางชิ้นดูเหมือนจริงเอามากๆ อาจารย์ยุกติบอกผมว่าก็คงจะของจริงนั่นแหละ

มีการสร้างอันตรภาพจำลองการแต่งงาน งานเลี้ยงที่แจกจ่ายให้กับคนจำนวนมาก (potlatch) ของพวกทลิงกิต (Tlingit)

เมื่อต้นปีมีข่าวคึกโครมว่าลูกหลานของตระกูลร็อคกี้เฟลเลอร์คนหนึ่งอาจจะไม่ได้ตายหรือหายสาบสูญ ชายคนนี้คือริชาร์ด ร็อคกี้เฟลเลอร์ (Richard Rockefeller) ซึ่งว่ากันว่าหายตัวไปขณะออกสำรวจร่วมกับนักมานุษยวิทยาอีกคนหนึ่ง ริชาร์ดคนนี้เองที่ช่วยเก็บตัวอย่างจากเผ่าดานิ (Dani) ในปาปัวนิวกินีให้กับ Peabody Museum เขาหายไปที่ชายฝั่งของหมู่เกาะในปาปัวนิวกินีนี่เอง ข่าวเมื่อต้นปีเป็นข่าวดังเพราะคนสงสัยว่าเขาอาจจะไม่ได้หายตัวไป ไม่ว่าจะจมน้ำ (ตามประวัติว่าเขาว่ายน้ำแข็งทีเดียว) หรือถูกกิน เพราะแถวนั้นมีการล่ามนุษย์อยู่ บางคนสันนิษฐานว่าเขาอาจถูกจับตัวไปอยู่กับเผ่าอีกเผ่าหนึ่ง เพราะมีคนถ่ายภาพยนต์เห็นชายผิวขาวในหมู่มนุษย์กินคน

เขาอาจจะเบื่ออารยธรรมของโลกศิวิไลซ์...

ชั้นล่างมีนิทรรศการน่าสนใจ เป็นการสร้างนิทรรศการจากสมุดภาพที่ซื้อมาจากหลุมศพของนักรบอินเดียนแดง เผ่าลาโกต้า ที่สามารถเขียนภาพเป็นบันทึกลงสมุดขนาดเล็กด้วยสี ซึ่งเล่าชีวิตของเผ่าลาโกต้า การรบ ความเชื่อและพิธีกรรม การเผชิญหน้ากับคนผิวขาวและความตายของเขา

น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนักที่เรื่องเล่าของเขาถูกสร้างขึ้นว่าการบุกเบิกไปทางตะวันตกนั้นสร้างความสูญเสียให้กับอินเดียนแดงที่เป็นเจ้าของประเทศเดิมขนาดไหน

ผมยังจำได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่งเล่าถึงถนนเส้นหนึ่งย่านมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอนว่าตั้งชื่อตามคนที่เอาผ้าห่มใส่เชื้อฝีดาษไปให้ชาวอินเดียนจนตายไปทั้งเผ่า

บางคนอาจจะสำทับทันทีว่านี่ไง ugly american น่ารังเกียจ

แต่ในความน่ารังเกียจนี้ก็ถูกบันทึกให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และตัดสินด้วยตัวเขาเองว่าบรรพชนสร้างประเทศจากความอัปลักษณ์บนผืนดินนี้อย่างไร บนเลือดและน้ำตาของใคร (ดูรายละเอียดจากลิงค์นี้ได้ครับ https://www.peabody.harvard.edu/node/292)

 

น่าคิดนะครับว่า คนบางคนเพิ่งเป็นไทยเมื่อวานซืน เป็นไทยยิ่งกว่าคนไทยดั้งเดิมเสียอีก (เอ๊ะยังไงกันนะ?)

ชั้นเดียวกันยังมีการฝึกภาคสนามแบบใกล้ๆ คือการขุดค้นบนผืนดินของฮาร์วาร์ดว่านิคมมหาวิทยาลัยยุคแรกนั้นมีอะไรเหลือให้เรียนรู้บ้าง ที่น่าสนใจคือการขุดค้นสามารถอธิบายชีวิตของนิคมมหาวิทยาลัยได้น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ภาชนะอาหาร หัวลูกธนูของอินเดียนแดง เศษไปป์ เศษกระเบื้อง เป็นร่องรอยของอะไร เป็นต้น

ชั้นสองเป็นห้องทำงาน ส่วนชั้นสามและสี่เป็นชั้นแสดงที่น่าสนใจ ทั้งส่วนที่เป็นอารยธรรมจากส่วนอื่นๆ เช่น ชั้นสามเป็นนิทรรศการจากเม็กซิโกและอเมริกากลาง เชื่อมทะลุถึง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ผมเคยเล่าไปแล้ว

ส่วนชั้นสี่เป็นชั้นลอยที่เก็บตู้แสดงอันตรภาพของอินเดียนแดงกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีการเรียนการสอนโดยใช้อันตรภาพนี้ให้นักศึกษาปัจจุบันวิเคราะห์ว่าอันตรภาพเหล่านี้บอกอะไรกับเราบ้าง ช่างเป็นชั้นเรียนที่น่าตื่นเต้นจริงๆ เพราะมันพาเราไปถึงความพยายามอธิบายและจัดแสดงการตั้งถิ่นฐาน ชีวิตประจำวัน และวัตถุทางวัฒนธรรมจากหมู่เกาะโพลีนิเชียน และงานหัตถกรรมจากมุมอื่นๆ

 

ที่สำคัญยังมี collection ที่สามารถชมทางเน็ตได้อีกด้วย (ตามลิงค์นี้ครับ http://pmem.unix.fas.harvard.edu:8080/peabody/)

พิพิธภัณฑ์ Peabody Museum นี้อยู่ถัดจากออฟฟิศผมเอง ส่วนฝั่งตรงข้ามเป็น Harvard Semitic Museum ที่สามารถเดินไปอาคารที่ตั้งของสถาบันฮาร์วาร์ดเย็นชิงที่เพื่อนพี่น้องของผมมีห้องทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์อรัญญา สิริผล อาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และอาจารย์อภิวัฒน์ รัตนวราหะ 

ยามว่างเราก็จะนัดเจอกัน ไปกินข้าวตามโอกาส

และทุกวันพุธเย็น เราจะมีกิจกรรมของโครงการไทยศึกษาร่วมกันกับชุมชนวิชาการของที่นี่และเพื่อนจากต่างมหาวิทยาลัย

ผมถือว่าชีวิตแบบนี้ยากจะหาได้จริงๆ อาจจะมีไม่กี่ครั้งในชีวิตที่ได้รับเกียรติเช่นนี้

ในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ผมถือว่านี่คือโอกาสที่ผมจะได้ตักตวงความรู้จากที่นี่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และคงไม่ใช่ผมคนเดียวที่คิดอย่างนี้

ดัชนีชี้วัดง่ายๆ คงจะเป็นตำรับตำราที่พวกเราต่างซื้อไว้เพื่อขนเอากลับไปใช้ที่บ้านและเตรียมส่งกลับทางเรืออีกไม่น้อย

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
สมการทางคณิตศาสตร์ง่ายๆ น่าจะให้สติคนที่ออกไปเสี่ยงชีวิตและก่อความเดือดร้อนให่้คนที่เขาต้องการสันติสุขกลับคืนมา
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
            ในการเขียนรัฐธรรมนูญในชั้นหลังๆ มีการบันทึกเจตนารมณ์ไว้ชัดเจน เพื่อป้องกัน "ศรีธนญชัย" และ "เนติบริกร" ผู้ "ใช้" รัฐธรรมนูญสนองความต้องการตามอำเภอใจของพวกตนฝ่ายตน
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
         ผมเขียนบทบรรณาธิการ วิภาษา ฉบับที่ 34 (1 พฤษภาคม-15 มิถุนายน 2554) เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูผู้ไม่รู้จั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
มรณกรรมของคุณ ไม้หนึ่ง ก. กุนที ทำให้ผมอดนึกถึงมรณกรรมของเสธ. แดง ไม่ได้
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
มรณกรรมของกวีนาม ไม้หนึ่ง ก.
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อครั้งยังเด็ก ความบันเทิงหนึ่งของเด็กต่างจังหวัดที่อยู่ในตลาดจะได้ชมก็คือการมาเยือนของนักเล่นกล ที่ผมเรียกอย่างนี้นอกจากจะเพราะชินกับภาษาตลาดแล้ว คำว่านักมายากลดูจะรุ่มร่ามไปไม่น้อย สำหรับผมนักเล่นกลดูจะตรงไปตรงมามากกว่า 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ดำนอก ขาวใน ไม่ว่าดำใน ขาวนอก อวดอ่าดำใน ดำนอก ดำดีคนดี ดีออก ออกดี ถุยส์ 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เหตุการณ์เสียชีวิตบาดเจ็บข้อเรียกร้อง/ปมขัดแย้ง14 ตุลาคม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อวาน (16 กุมภาพันธ์) ไปด
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ศ. วรพจน์ ณ นคร เขียนในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2540 ในท่ามกลางวิกฤตการณ์ค่าเงินบาทในสมัยนั้น ในความเห็นของวรพจน์กล่าวอย่างชัดเจนว่าให้ พล.อ.