Skip to main content
 

พันธกุมภา

ถึง มีนา

เมื่อฉบับที่แล้วพี่มีนาได้กล่าวถึงเรื่องการ "ปล่อยวาง" ซึ่งผมมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของการปฏิบัติธรรม เพราะหาไม่แล้วเราก็เป็นเพียงแค่ผู้เผชิญกับความสุขที่จิตใจเกิดขึ้นโดยที่หลงยึดติดอย่างไม่ทันรู้ตัวทั่วถ้วน

สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำในที่นี้ก็คือ เรื่องการปล่อยวาง หรือ การวางเฉย ซึ่งคล้ายกับภาษาธรรมที่เรียกว่า "อุเบกขา" นี้ ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง เพราะอย่างที่เราได้รู้กันมานั้นก็คือ ในการปฏิบัติธรรมนั้น ถือว่ามีด้วยกัน 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ การทำสมถะ และการทำวิปัสสนา

เท่าที่รู้, การทำสมถะ คือ การทำให้จิตสงบ ทำให้จิตนิ่ง อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์เดียว ซึ่งการปฏิบัติในสมถะกรรมฐานนี้จะช่วยให้ผู้ที่ปฏิบัติมีจิตที่ละเอียด และนิ่งแช่กับอารมณ์หนึ่งๆ โดยเหมาะแก่การพักจิต หรือการหยุดการคิดแล้วมาสงบจิตให้อยู่ในอารมณ์หนึ่งเดียวก่อน ซึ่งในวิถีนี้ สามารถทำได้หลายรูปแบบเช่น การนั่งสมาธิ ภาวนาพุท-โธ ดูท้องพองยุบ เป็นต้น

ส่วนการทำวิปัสสนานั้น เท่าที่ผมเรียนรู้มาก็คือการดู การรู้ การเห็น ทุกๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในกายและใจตามความเป็นจริงด้วยใจที่เป็นกลาง วางเฉย โดยการทำวิปัสสนาก็สามารถที่จะได้โดยการทำสมถะก่อน และค่อยเคลื่อนจิตไปสู่การทำวิปัสสนา หรือ จะทำวิปัสสนาโดยไม่ต้องทำสมถะก็ได้ หรืออีกอย่างคือทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป

การทำวิปัสสนา สามารถ ดูได้ทั้งทางกาย เวทนา จิต ธรรม หรือสรุปย่อๆ ก็คือ กายกับใจ เราดูกาย รู้กาย ผ่านลมหายใจ การเคลื่อนไหว การกระพริบตา กลืนน้ำลาย การเดิน ฯลฯ และส่วนใจนั้นก็ดูตรงที่ความคิด อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ จะไม่สุขไม่ทุกข์ ดีใจ เสียใจ โกรธ โมโห อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นมาได้ทุกเมื่อเชื่อขณะ ฉะนั้นการดูจิตนั้นก็คือการตามรู้อารมณ์ต่างๆ อย่างที่ปรากฏตามความเป็นจริง

ทั้งนี้ที่ผมเกริ่นมาว่า 2 ส่วนนี้ต่างกันอย่างไรนั้น ก็เพราะว่า ต้องการชี้ให้เห็นว่าสมถะนั้นทำเพื่ออะไร และวิปัสสนานั้นทำเพื่ออะไร เพราะไม่เช่นนั้นแล้วบางคนอาจคิดว่าที่ตัวเองกำลังทำอยู่นั้นคือวิปัสสนา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย แต่เป็นสมถะ ซึ่งผมคิดว่าจุดที่ต้องให้ความสำคัญมากหากเราปรารถนาที่จะพากายและใจไปสู่การพ้นทุกข์อย่างแท้จริง นั้นคือคงต้องเรียนรู้ที่จะทำวิปัสสนาให้ถูกวิธี หรือ ทำอะไรก็ตามแต่รู้จุดมุ่งหมายว่าทำอะไร เพื่ออะไร จะได้ไม่หลงทาง สับสน และติดอยู่กับอะไรบางอย่าง

อาการติดอยู่กับอะไรบางอย่าง ที่ผมเกิดกับผมตอนนี้คือ บ่อยครั้งเวลาที่ผมทุกข์ใจ โมโห หรือโกรธ ผมจะค่อยๆ รู้ไปทีละนิด จะรู้ได้บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งการรู้ของผมก็คือรู้โดยไม่ใช้สมองคิด รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ปรุงแต่งว่าไม่ชอบเพราะจะเกิดความโลภเพิ่มขึ้น แล้วเมื่อดูไปสักพักอารมณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้น ตั้งมา และก็ดับลงไปอย่างเห็นได้บ่อยครั้ง

แต่ในอีกมุมเมื่อเกิดอารมณ์อิ่มใจ มีปีติเกิดขึ้น ผมมักจะอยากให้จิตเป็นแบบนี้บ่อยๆ เกิดอารมณ์แบบนี้บ่อยๆ แล้วก็ "ประคอง" มันไปเรื่อยเพราะไม่อยากให้ความทุกข์ใจเข้ามาเยือน ซึ่งพอทำแบบนี้แล้วมันก็ไม่ค่อยจะดีต่อจิตเรานัก เพราะเราไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงด้วยใจที่เป็นกลาง แต่ดันอยากบังคับจิตให้จิตอยู่ในอารมณ์สุขเช่นนี้เพียงอย่างเดียว

วิธีการทำแบบข้างต้นนี้ ไม่ค่อยจะดีนัก ถ้ามัวหลงเพลินความความสุข ปีติ จนลืมอุเบกขา หรือการวางเฉย เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็สร้างความโลภให้กับตัวเองไปเรื่อยๆ และสิ่งที่เราทำอยู่แทนที่จะเป็นวิปัสสนา แต่กลับการเป็นสมถะเพราะมัวแต่ไปเพ่งอยู่กับอารมณ์เดียวอย่างนี้

ผมจำคำสอนของพระอาจารย์หลายท่าน ท่านกล่าวตรงๆ กันว่า การวิปัสสนานั้นต้องก้าวข้ามความเป็นตัวตน ว่านี่คือฉันของฉัน ต้องรู้ถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง เพราะเราทำวิปัสสนาเพื่อการเจริญสติตามความเป็นจริง ไม่ว่าจิตใจ ร่างกาย จะเป็นอย่างไร เรามีหน้าที่เพียงอย่างเดียวคือการตามรู้ ตามดู โดยไม่ปรุงแต่ง ไม่ต้องคิดอยากได้ความสงบ ความสมถะ อยากได้ฌาน อยากได้อภิญญา อยากบรรลุธรรม อยากได้นู้นนี่มากมาย

ถ้าเรายังไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นตัวตน หรือความไม่เที่ยง สัจธรรมอันแท้จริงในตัวเราก็ไม่เกิดขึ้น และการเกิดขึ้นนั้นใช่ว่าจะบังคับได้ ของแบบนี้ก็ต้องรอจังหวะ และเวลา ต้องดูพัฒนาการของการวางเฉย อุเบกขาได้มากน้อยเพียงใด และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกายหรือใจ เราก็ทำเพียงอย่างเดียวคือ "รู้"

รู้โดยไม่ใช้สมองคิด ไม่ปรุงแต่ง
รู้โดยไม่กด ไม่เพ่ง ไม่จ้อง ไม่ประคอง ไม่หนี
รู้โดยใจที่เป็นกลาง วางเฉย
รู้แล้วปล่อยวาง ไม่ยึดติด

สักว่า "รู้" เพียงตัวเดียว ทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะเห็นและพบด้วยตัวเองว่าเพียง "รู้" ตัวเดียวนั้นช่วยทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร....

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์