Skip to main content
ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบอยู่กับตัวเอง เพราะมีความรู้สึกไม่มั่นคง อีกทั้งยังคิดว่าเราควรที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ บ้าง ในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีในความสัมพันธ์

 

แต่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและเพื่อนๆ จำนวนหนึ่งที่ทำงานขับเคลื่อนทางสังคมในเรื่องชีวิตทางเพศได้เข้าร่วมภาวนา หรือ Retreat ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการภาวนาเพื่อติดตามเพื่อนๆ ที่ได้ภาวนาในรุ่นต่างๆ ก่อนหน้านี้ให้ได้พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน ซึ่งกันและกันว่าใครเป็นอย่างไร มีสุข มีทุกข์อย่างไรบ้าง


การภาวนาคือการพัฒนาจิตใจของตนเอง หรือ การถอยออกมามองชีวิตตัวเอง (Step back) มองเข้าไปเพื่อพิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งในสิ่งที่เราเป็นและดำรงอยู่ ซึ่งใน 5 วันที่ระหว่างที่ได้ภาวนา ทางอาจารย์ผู้ซึ่งเป็นกระบวนกรได้พาให้เราแต่ละคนกลับมาอยู่กับตัวเอง และเรียนรู้การโอบอุ้มสภาวะต่างๆ ที่เกิดในใจของตัวเรา

 

ใน 5 วันนี้ เรามีการภาวนา เจริญสติ เพื่อให้เกิดความรู้ตัวกับตนเอง การสนทนาแลกเปลี่ยน เพิ่มเติมเนื้อหาความรู้ การมองโลก มองตัวเอง การภาวนาในป่า ฯลฯ สิ่งหนึ่งที่ผู้ร่วมภาวนากว่า 30 คน เรียนรู้ตลอดระยะเวลา 5 วันนี้ คือ การอยู่กับตัวเอง เป็นการเรียนรู้ที่จะ โอบอุ้ม สภาวะจิตใจของตัวเอง มากกว่าจะตอบโต้ออกไปในรูปแบบต่างๆ

 

แม้ว่าหลายคนจะได้รับบาดแผลทางใจ ความเหนื่อยล้าทางกาย หรือสิ่งใดก็ตาม เราล้วนมีการแสดงออกมาโดยการตอบโต้สภาวะเหล่านั้น ด้วยการหาสิ่งอื่นมาทดแทน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เพื่อลืมความทุกข์ หรือ การโต้ตอบผู้ที่บอกว่าเราทำไม่ดี ทำไม่ถูกต้อง โดยการถกเถียง ปฏิเสธ หรือ ไม่ยอมรับ เป็นต้น

 

การตอบโต้ออกไปทำให้เราไม่ได้เรียนรู้จากสภาวะต่างๆ ที่เราเป็น ทำให้บางครั้งเวลาเราโกรธกับใครสักคนหนึ่ง ปฏิกิริยาของเราจึงแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัด ทว่าการอยู่กับตัวเองในการภาวนานี้ ถือเป็นการ "โอบอุ้ม" ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เป็นสุข ความโกรธ ความเหนื่อยล้า ความเหงา ความโดดเดี่ยว ความกลัว สำหรับโจทย์ชีวิตของแต่ละคน ที่ต่างก็มีสภาวะแตกต่างกันตามบริบทของชีวิต

 

ผมพบว่าการได้โอบอุ้มกับความรู้สึกต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเองนี้ เป็นการเรียนรู้ที่จะพบกับความจริงที่อยู่ในตัวตนของเรา เป็นความจริงที่เราต้องทักทาย พบปะ ทำความรู้จัก อย่างลึกซึ้ง และเมื่อเราโอบอุ้มความรู้สึกนี้แล้ว เราจะพบความจริงว่าเราจะมีการแสดงออกต่อสภาวะต่างๆ เหล่านี้อย่างไร

 

เพราะปัญญาที่มีในตัวของแต่ละคนจะเป็นผู้บอกเองว่าเราควรจะทำอย่างไร หรือ ไม่ควรทำอย่างไร

 

สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการภาวนานี้ในเบื้องต้นคือ หากวันนี้เราไม่เริ่มที่จะพึ่งพิงใจของตัวเองแล้ว วันหนึ่งเมื่อเราไม่มีใคร ไม่มีครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ไม่มีคนรักเคียงข้าง ไม่มีกัลยาณมิตร ไม่มีครูบาอาจารย์ หรือ ใครสักคนคอยโอบอุ้มความทุกข์ของเรา เราก็ต้องโอบอุ้มตัวเอง

 

ซึ่งหนทางนี้ หากเรามองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ณ ตอนนี้ผมว่าเตรียมตัวเสียแต่ตอนนี้ดีกว่า อย่างน้อยจะได้เป็นการสะสมปัญญา สะสมต้นทุนสำหรับชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าเราจะอยู่ใน สภาวะทุกข์หรือสุข เราจะได้เผชิญกับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเข็มแข็ง มั่นคง และเข้าใจมันอย่างที่มันเป็น

 

 

 

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์