Skip to main content

โดยปกติแล้ว ผมมักจะเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่กับที่ เป็นคนที่ชอบเคลื่อนไหวตัวเองไปๆ มาๆ ดังนั้นการเจริญสติด้วยการรู้สึกที่กายและใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปมานี้ จึงเป็นการภาวนาที่ทำให้ผมถนัดและสามารถรู้สึกตัวได้บ่อยที่สุด

ในการภาวนาแต่ละครั้ง นอกจากจะได้เห็นสภาวะทางกายที่เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปมา หรือบางครั้งก็มีเวทนาทางกาย ปวด เมื่อย เหนื่อย ล้า เข้ามาเยียมเยียนแล้ว ก็ยังเกิดสภาวะทางใจที่แปรเปลี่ยนไปอีกนับไม่ถ้วน ซึ่งในทางใจนี้ก็สามารถรู้ที่ "อารมณ์" ที่เกิดขึ้น เช่น ความโกรธ ความอยาก ความสุข ความทุกข์ ความพอใจ ความไม่พอใจ เป็นต้น และเราสามารถรู้ที่ "อาการ" ที่เกิดขึ้น เช่น เผลอ หลง เพ่ง ประคอง จ้อง ตั้งท่า เป็นต้น

สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและใจ เรานี่ แท้แล้วก็คือการแสดงตัวของ "ธาตุขันธุ์" ที่ไหลมารวมกัน และเราก็สำคัญมั่นหมายเอาว่าสิ่งนี้คือตัวเรา ไปยึดมั่นถือมั่นเห็นผิดว่าธาตุขันธุ์หรือกายใจนี้เป็นตัวเรา เป็นของเรา จนนำพาความทุกข์ต่างๆ เข้ามาเยือน

ยิ่งหากเป็นสภาวะที่ดีมีสุข เรามักจะมีลักษณะทางใจคือ "ชอบ" หรือ "โลภะ" ซึ่งมีลักษณะของการดึงเข้าหาตัวเองและอยากให้อยู่กับตัวเองมากๆ นานๆ ส่วนถ้าเป็นสภาวะที่ไม่ดีทุกข์ เรามักจีลักษณะทางใจคือ "ไม่ชอบ" หรือ "โทสะ" ซึ่งมีลักษณะเป็นการผลักไสออกจากตัวเองและไม่อยากให้อยู่กับตัวเองนานๆ หรือหากจะพูดง่ายก็คือ อัตตาตัวตนเรานี้ มักจะยินดีกับความสุข และยินร้ายกับความทุกข์ เสมอๆ

สิ่งที่จะช่วยเราได้คือ การยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ จะยินดีหรือไม่ยินดี จะพอใจหรือไม่พอใจ ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยใจที่เป็นกลางและเท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มองเห็นสัจธรรมของการเกิดดับ ที่เปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน บังคับควบคุมไม่ได้

ความเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นนี้แหละ เหมาะที่เราจะสามารถรู้สึกตัวได้ในชีวิตประจำวันแบบ "ที่นี่" "เดี๋ยวนี้" ได้เลย โดยไม่ต้องไปรื้อฟื้นจากอดีต หรือ แสวงหาจากอนาคต เพราะความจริงได้ปรากฏต่อหน้าเรา ณ ปัจจุบันขณะ ซึ่งการรู้สึกตัวอยู่แต่ละขณะๆ นี้จะทำให้เราเกิดสติรู้ตัวทั่วพร้อมและใจจะเป็นกลางต่อสภาวะทางกายและใจที่เกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนไป

การเห็นสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยใจเป็นกลาง จะทำให้จิตระลึกรู้ในสภาวะและจดจำสภาวะเมื่อนั้นก็จะคล้ายความยึดมั่นถือมั่น คลายความเห็นผิดว่ากายใจนี้เป็นอัตตาตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา ลดลงเบาบางลง ไปตามลำดับของปัญญา

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้รู้ทันความจริงทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะบวกหรือลบ เพียงเราเผชิญความจริงเหล่านี้ได้ และยอมรับการเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านั้น ก็ถือเป็นด้านแรกในการรู้ตัวทั่วพร้อม

และหากใจยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้แล้ว เราก็อาจต้องอาศัยความเพียรพยายาม ความอดทน ในการขยันรู้ ขยันภาวนา เพื่อให้มีเหตุแห่งปัญญาเพิ่มขึ้น และอดทนต่อความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเห็น อยากบรรลุ เพราะเมื่อมีความอยากเกิดขึ้น แล้วใจหลงเผลอไปด้วยความลืมตัว เมื่อนั้นก็เกิดกิเลสเข้ามาแทรก และทำให้เกิดทุกข์เพิ่มขึ้นอีก วิธีที่จะช่วยได้คือยอมรับ "ความจริง" ว่าอยาก และขอให้รู้ซื่อๆ และนับหนึ่งใหม่ในแต่ละครั้งที่รู้...ก็พอ

ปิดท้ายด้วยคลิปการเจริญสติ  

 

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์