Skip to main content

ปลายเดือนตุลาคม 2552 นี้ ผมได้มีโอกาสไปภาวนากับพี่ๆ ญาติธรรมเชียงใหม่ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งพวกเราไปกัน 4 คน ได้แก่ พี่เอ้ พี่ยา พี่นา และผม ซึ่งผมรู้จักพี่ๆ ผ่านทางการสนทนาในอินเตอร์เน็ตและทุกๆ คนก็ภาวนาในแนวดูจิตเหมือนๆ กัน

\\/--break--\>

ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสพบปะกับญาติธรรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มกัลยาณมิตรที่คอยช่วยเหลือดูแลกันและกันในการภาวนา มีการสอบถามปัญหา พูดคุยแลกเปลี่ยน แบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนาที่ทั้งถูกและผิดของแต่ละคน เล่าเรื่องการภาวนาในชีวิตประจำวันของกันและกันว่าแต่ละคนนำไปใช้อย่างไรบ้าง


มาครั้งนี้นอกจากผมจะได้รู้จักกับพี่ๆ ทั้งสามแล้ว ผมยังได้มาอยู่ในสถานที่ซึ่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และสงบอย่างยิ่ง แถมยังเป็นการเดินตามรอยครูบาอาจารย์ตั้งแต่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร เป็นต้นมา ที่ท่านได้มาบำเพ็ญภาวนาในละแวกถ้ำผาปล่องนี้


ในหนังสือหลายเล่มที่หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้เทศนาสั่งสอนลูกศิษย์นั้น ท่านเล่าว่าก่อนที่ท่านจะมาอยู่ที่ถ้ำผาปล่อง ท่านได้เริ่มต้นภาวนาที้ “ถ้ำผาเงิบ” ก่อนซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่ครูบาอาจารย์วัดป่าหลายๆ องค์ได้มาภาวนาที่นี้ และต่อมาไม่นานก็มีชาวบ้านพาท่านไปพบกับถ้ำผาปล่อง ซึ่งหลวงปู่สิม จึงเห็นว่าควรพัฒนาต่อให้เป็นสถานที่ภาวนา ท่านจึงเริ่มต้นพัฒนาถ้ำผาปล่องเรื่อยมานับแต่นั้น


ที่ถ้ำผาปล่องนี้ มีประวัติเล่าต่อมาว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าในอดีตหลายพระองค์ได้มาบำเพ็ญภาวนาที่นี้ และรวมถึงพระอรหัตสาวกทั้งหลาย มวลหมู่เทพยดา ทุกหมู่เหล่าก็มาร่วมภาวนาและอนุโมทนาด้วยเสมอๆ ฉะนี้แล้วจึงทำให้ที่ถ้ำผาปล่องเป็นสถานที่ที่มีพลังแห่งความสงบ สะอาด สว่าง และสัปปายะ เหมาะแก่การภาวนาอย่างยิ่ง


สำหรับพวกเราทั้งสี่คนแล้ว ถือว่าการมาที่นี่เป็นครั้งแรก และเมื่อมาถึงที่วัด เราจะเห็นสถูปอนุสรณ์สถานของหลวงปู่สิม และเมื่อเดินเข้ามาก็จะเป็นสำนักงานเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน และพวกเราต้องเดินทางเท้าเพื่อขึ้นไปยังถ้ำผาปล่องซึ่งอยู่บนภูเขาอีกหลายเมตร โดยทางที่ขึ้นไปนั้นเป็นบันไดจำนวนหลายร้อยขั้น ระหว่างสองข้างทางมีคำสอนของหลวงปู่สิม ที่ปรากฏเป็นข้อความสั้นๆ ติดอยู่ไว้สองข้างทาง เช่น ทุกข์ไม่ต้องบ่น ให้ทนเอา


เมื่อเดินมาเรื่อยๆ จนถึงยังบริเวณในถ้ำผาปล่อง ก็จะมีเจดีย์พระบรมสารีริกธาตุอยู่ข้างๆ เราทั้งหลายจึงเข้ากราบนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์และครูบาอาจารย์ และด้านหลังของถ้ำก็เป็นส่วนของกุฏิหลวงปู่สิม ซึ่งได้มีการประดิษฐ์รูปเหมือหลวงปู่ไว้ ให้สาธุชนได้เคารพกราบไหว้ ถัดมาจากนั้นด้านล่างลงมาอีกไม่ไกลจากปากถ้ำก็เป็นโรงครัว และที่พักของผู้มาปฏิบัติธรรมภาวนาที่วัด


แต่ละวันการภาวนาจะเริ่มต้นขึ้นโดยการทำวัตรเช้าตอนตี 3 กว่าๆ จะมีการสวดมนต์และฟังเทปธรรมเทศนาของหลวงปู่สิม เมื่อเสร็จศาสนกิจในประมาณตอนตี 5 กว่าๆ ทุกคนก็แยกย้ายกันไปตามอัธยาศัยและกลับมาพบกันอีกครั้งตอน 8 โมงเช้า เพื่อรับประทานอาหารเช้า และตอนเย็นหนึ่งทุ่มจึงเป็นช่วงทำวัตรเย็นและฟังธรรมเทศนาอีกครั้ง ทั้งนี้ในการฟังธรรมเทศนา หลวงปู่สิม ท่านมักย้ำเสมอว่าให้เรานั่งขัดสมาธิเพชร เพื่อดูความอดทนและดูจิตดูใจของตนไปด้วย ซึ่งหลังจากช่วงทำวัตรเย็นแต่ละคนก็แยกย้ายกันไปปฏิบัติภารกิจของแต่ละคนและเข้านอน


นอกจากนี้ในระหว่างวัน ใครที่ภาวนาแบบไหนก็สามารถที่จะแยกย้ายกันไปภาวนาได้ เพราะทุกๆ ที่ภายในถ้ำผาปล่องนี้เป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการนั่งสมาธิ เดินจงกรมอย่างยิ่ง ส่วนผมนั้นก็เลือกบริเวณถ้ำผาปล่อง หน้าพระประธาน บริเวณหน้ากุฏิหลวงปู่ และบริเวณเจดีย์พระบรมสาริกธาตุ เป็นสถานที่นั่งสมาธิภาวนา และก็เลือกพื้นที่ว่างๆ ด้านล่าง เป็นที่เดินจงกรม ทั้งนี้หลักสำคัญที่สุดคือการมีสติรู้กายรู้ใจในระหว่างวันที่มาอยู่ภายในวัด


นอกจากนี้ภายในวัดยังมีหนังสือเรื่องราวของครูบาอาจารย์วัดป่าหลายๆ องค์ที่ได้กล่าวถึงประวัติและปฏิปทาของท่าน ซึ่งผมได้ใช้เวลาว่างมาอ่านหนังสือเหล่านี้ ก็ถือว่าได้ประโยชน์และเข้าใจบรรยากาศ ตลอดจนความตั้งใจ ความอดทน ศรัทธา วิริยะ ของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้บำเพ็ญเพียรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ในการเดินทางมาภาวนาในวัดถ้ำผาปล่องครั้งนี้ ผมมีความรู้สึกได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์และได้มาเห็นสถานที่ที่ท่านได้บำเพ็ญภาวนา ทำให้เกิดกำลังใจและความตั้งใจที่จะน้อมนำเอาธรรมเป็นที่พึ่งเอกของชีวิตไม่ว่าจะอยู่ที่วัดหรืออยู่ในสถานที่ไหนๆ ธรรมะที่เป็นดั่งทางเอก ทางแห่งการเจริญในศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นดั่งเส้นทางที่จะทำให้เรารู้ทุกข์และพ้นจากความทุกข์ในที่สุด


การได้มีโอกาสอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร ใต้ร่มเงาของดอยเชียงดาวนี้ มีความเงียบ สัปปายะดำรงอยู่ในบรรยากาศแวดล้อมตัวเอง จึงทำให้จิตใจภายในได้รับความสงบ ร่มเย็นจากปัจจัยภายนอก เป็นใจที่ตั้งมั่นอยู่ภายใน และเป็นผู้รู้ ผู้เห็น การเคลื่อนไหวของกายและการเคลื่อนไหวของจิตใจอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วจิตใจของเรามีความจริงที่ถูกปิดบังซ่อนไว้โดยมีเมฆหมอกแห่งความไม่รู้ขวางอยู่ เราเพียงเฝ้ามองตามรู้ด้วยความเป็นกลาง ตามความเป็นจริง เมื่อเหตุปัจจัยทำงานเมฆหมอกเหล่านี้ก็ค่อยๆ จางหายไปกลายเป็นความรู้ตัวทั่วพร้อมที่ปรากฏออกมาให้เห็นความจริงภายในจิตใจ ดั่งเช่นขุนเขาที่สงบร่มเย็นที่ถูกก้อนเมฆบดบังและถูกเปิดออกให้ได้ยลตามความเป็นไปในความจริง

 

 

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์