Skip to main content

"ความฉาบฉวยและความสับสนอาจจะทำให้บางคนคิดว่ามันเวอร์ไปหรือเปล่า ยุคสมัยมันหม่นมืดขนาดนี้จริงๆ หรือ ต้องไม่ลืมว่าวง Porcupine Tree มาจากประเทศอังกฤษ มิวสิควีดิโอเพลง Fear of a Blank Planet เองก็อาจชวนให้นึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริง (หลายครั้ง) ในสหรัฐฯ และที่สำคัญคือการเล่าของพวกเขาก็ไม่ได้ตัดสินอะไรแทนเราว่าสิ่งที่บอกผ่านออกมานี้ดีหรือไม่ดี"

Fear of a Blank Planet 

วง Porcupine Tree อาจจะเป็นที่รู้จักน้อยมากสำหรับคนทั่วไป และอาจจะเป็นที่รู้จักบ้างพอสมควรสำหรับคนที่ชอบฟังเพลงแนว Progressive Rock ซึ่ง Porcupine Tree ถือเป็นวงที่มีแนวทางของ Psychedelic/Space อันหลอนและล่องลอยแบบ Pink Floyd เป็นหลัก โดยเจือความเป็น Metal เข้าไปผสมได้อย่างกลมกลืน

อัลบั้มล่าสุดของพวกเขาคือ Fear of a Blank Planet ก็ยังคงรักษาความหลอนล่องลอย มืดมน เอาไว้ได้เหมือนเดิมโดยไม่ได้ถูกท่วงทำนองกีต้าร์หนัก ๆ ทำลายไป ซึ่งต้องขอบคุณมือคีย์บอร์ดอย่าง Richard Barbieri ผู้สร้างเสียงสังเคราะห์เป็นพื้นผิว (Texture) ของดนตรีได้อย่างเยี่ยมยอดและความหม่นครึมที่แทรกอยู่แทบทุกอณูของอัลบั้มนี้ ก็ช่างเหมาะเจาะไปกันได้กับคอนเซปต์เนื้อหาของมันเหลือเกิน

Steve Wilson มือกีต้าร์และนักร้องนำของวง เป็นผู้วางคอนเซปต์อัลบั้มนี้ เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากอะไรหลาย ๆ อย่าง

อย่างแรกซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในอัลบั้มนี้เลยคือเรื่องของการที่คนเราเมื่ออายุมากขึ้นเริ่มรู้สึกแปลกแยกกับเด็กในยุคปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าช่องว่างระหว่างวัยเป็นปกติธรรมดาซึ่งอาจจะมาพร้อมกับช่องว่างระหว่างยุคสมัย แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าช่วงเปลี่ยนผ่านของ Generation มันหดสั้นลงกว่าเดิม จนอาจทำให้คนที่อายุมากกว่าอาจจะรู้สึกแปลกแยกแบบนี้กับเด็กอายุห่างกันสองสามปีได้เลยทีเดียว

แรงบันดาลใจที่สำคัญอีกอย่างซึ่งเจ้าตัวได้เปิดเผยออกมาเองคือนิยายเรื่อง Lunar Park ของ Bret Easton Ellis คนเดียวกับที่เขียนเรื่อง American Psycho (ซึ่งถูกทำเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา) สะท้อนภาพความเหลวไหลไร้สาระของ Yuppie อเมริกันชนยุค 80's ภายใต้เรื่องแนวเขย่าขวัญ

ขอโน๊ตไว้อีกว่าถ้าใครจำได้อัลบั้ม Weekend in the City ของวง Bloc Party เองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายอีกเรื่องของ Bret Easton Ellis เช่นกัน คงเป็นธรรมดาที่หนังสือของนายคนนี้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินหลายวง เพราะเนื้อเรื่อง จากนิยายของเขาเหมือนจะสามารถทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยแสนว่างเปล่าผ่านผันมาได้จนถึงยุคปัจจุบัน

Lunar Park เป็นนิยายกึ่งอัตชีวประวัติของตัว Ellis เอง ซึ่งเรื่องในนิยายจะถูกเล่าจากมุมมองของตัวละครผู้เป็นพ่อ ที่มีชื่อว่า Ellis เหมือนกัน ขณะที่ในอัลบั้ม Fear of a Blank Planet จะเปลี่ยนมาเล่าจากมุมมองของ Robby ผู้เป็นลูกแทน เว้นแต่ในเพลง My Ashes เพลงเดียว ที่เล่าผ่านมุมมองของ Ellis

Fear of a Blank Planet จึงเป็นเหมือนบทบอกเล่าจากเด็กชาย Robby และก็เป็นเหมือนเรื่องราวจากสายตาของเหล่าวัยรุ่นผู้ "หวาดกลัวดาวเคราะห์อันแสนว่างเปล่า" ในขณะเดียวกัน

ความประทับใจของผมอย่างหนึ่งที่มีต่อวงนี้ คือการที่พวกเขาพยายามทำอัลบั้มที่มีคอนเซปต์โดยอาศัยมุมมองจากผู้อื่นนอกจากตัวพวกเขาเอง ซึ่งหลายเพลงทำได้ลึกซึ้งทีเดียว แน่นอนว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่วง Porcupine Tree ทำคอนเซปต์แบบนี้ออกมา ในปี 2001 พวกเขาก็มีอัลบั้ม In Absentia ที่แทบทุกเพลง สื่อให้เห็นการมองโลกโดยใช้มุมมองของผู้คนที่ถูกสังคมเรียกว่า "ฆาตกรโรคจิต" ซึ่งไม่ได้เล่าอย่างตัดสินพิพากษาขณะเดียวกันก็ไม่ได้เชิดชู เว้นช่องว่างไว้ให้ผู้ฟังจะได้ตัดสินดีเลวด้วยตนเอง

แต่ขณะที่ In Absentia เป็นอัลบั้มที่หนักและสามารถสร้างความประทับใจได้เพียงแรกสดับ Fear of a Blank Planet กลับเป็นอัลบั้มที่ต้องยิ่งฟังมากครั้ง ถึงยิ่งรู้สึกถึงความลึกซึ้งของมัน อาจจะไม่ใช่เพราะเนื้อหาของมันอย่างเดียว (ซึ่งจะว่าไปเนื้อหาส่วนมากก็เป็นเชิงแสดงความรู้สึก ไม่ได้ตีความยากอะไร) แต่เป็นตัวดนตรีด้วยที่นักวิจารณ์บางคนถึงขั้นบอกว่า เจ้าพวกนี้พยายามจะทำ "Dark side of the Moon" (หนึ่งในอัลบั้มมาสเตอร์พีชของ Pink Floyd) แห่งสมัยปัจจุบันกาลขึ้นมา

เพลง Fear of a Blank Planet ที่เป็นไตเติ้ลแทรกเปิดอัลบั้มและเพลงยาวเหยียดอย่าง Anesthetize บอกเล่าชีวิต ความคิดอ่าน และความรู้สึกผ่านสายตาของวัยรุ่นผู้อยู่ในโลกแสนว่างเปล่า ไร้ความหมาย ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยสิ่งที่กระตุ้นเร้าต่างๆ นานา แต่เนื้อเพลงมันก็ไม่ได้ชวนให้จมกับความเศร้าอะไร ในบางช่วงมันฟังดูฮาดีด้วยซ้ำ (เป็นตลกร้ายที่บางคนอาจจะไม่ฮาด้วยก็เป็นได้)

I'm stoned in the mall again
Terminally bored
Shuffling around the stores
And shoplifting is getting so last year's thing

Xbox is a god to me
A finger on the switch
My mother is a bitch
My father gave up ever trying to talk to me

ฉันมึนงงอยู่ในห้างอีกแล้ว
เกิดเบื่อขึ้นมาเฉย ๆ
เลยหมุนผลัดไปตามร้านค้า
แล้วก็ฉกเอาไอ่ของที่ออกเมื่อปีที่แล้วมา

เอ็กบอกซ์เป็นพระเจ้าสำหรับฉันเลย
จิ้มนิ้วลงไปบนปุ่มสิ
แม่ฉันมันก็แค่นังตัวดี
พ่อฉันเลิกพยายามที่จะพูดกับฉันไปนานแล้ว

- Fear of a Blank Planet -

Fear of a Blank Planet เป็นเพลงจังหวะเร็ว มีการร้องแบบรีบเร่ง ขณะเดียวกันก็มีการสับจังหวะในบางจุด ซึ่งตรงนี้ช่วยขับความรู้สึกจากเนื้อเพลงที่พูดโลกที่ฉาบฉวย พร้อมจะทิ้งอะไรไปได้ทุกวินาทีออกมาได้เป็นอย่างดี ขณะที่เพลง Anesthetize ได้ Alex Lifeson (วง Rush) มาโซโล่กีต้าร์ โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าเพลงนี้มันยาวเกินความจำเป็นไปนิด ขณะที่ดนตรีในบางส่วนฟังดูซ้ำๆ ซากๆ แต่ถ้ามองในอีกแง่ ดนตรีซ้ำๆ ซากๆ มันช่วยสร้างความรู้สึกร่วมกับเนื้อเพลงที่พูดถึงชีวิตอันไร้ความหมายวนเวียนไปไม่รู้จบ ก่อนดนตรีจะคลี่คลายในช่วงท้ายเหมือนพบทางออก ...แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่แน่ใจว่านั่นเป็นทางออกที่แท้จริงหรือเปล่า

The water so warm that day
I was counting out the waves
And I followed their short life
As they broke on the shoreline
I could see you
But I couldn't hear you

ในวันนั้นห้วงน้ำช่างแสนอุ่น
ฉันกำลังนั่งนับกระแสคลื่น
และได้ลอยตามชีวิตอันแสนสั้นของมันไป
เช่นเดียวกับที่มันได้แตกซัดตามแนวหาด
ฉันเห็นคุณ
แต่ไม่ได้ยินคุณ

-  Anesthetize (ช่วงสุดท้าย)

Porcupine Tree

ความฉาบฉวยและความสับสนอาจจะทำให้บางคนคิดว่ามันเวอร์ไปหรือเปล่า ยุคสมัยมันหม่นมืดขนาดนี้จริงๆ หรือ ต้องไม่ลืมว่าวง Porcupine Tree มาจากประเทศอังกฤษ มิวสิควีดิโอเพลง Fear of a Blank Planet เองก็อาจชวนให้นึกถึงเหตุการณ์บางอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริง (หลายครั้ง) ในสหรัฐฯ และที่สำคัญคือการเล่าของพวกเขาก็ไม่ได้ตัดสินอะไรแทนเราว่าสิ่งที่บอกผ่านออกมานี้ดีหรือไม่ดี

นอกจากนั้นอัลบั้มนี้ก็ไม่ได้สื่อแต่ด้านความว่างเปล่าของโลกจากสายตาวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว เพลงอย่าง Sentimental ก็เปลี่ยนอารมณ์กลับมาสู่การครุ่นคิดและทบทวนความรู้สึก ซึ่งถึงมันจะเป็นการทบทวนที่ไม่ลึกซึ้งมาก แต่ก็ทำให้เห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่น่าจะทำให้เข้าใจความรู้สึกกันมากขึ้น เมื่อพวกเขาบอกว่าสับสนกับวัยและยุคสมัย ขณะเดียวกันก็ไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่มากไปกว่านี้ เสียงคอร์ดของเปียโนที่เล่นคลอในเพลงช้าๆ เพลงนี้ ทำให้บรรยากาศความหม่นมีความละมุนเจืออยู่บางๆ

I never want to be old
And I don't want dependants
It's no fun to be told
That you can't blame your parents anymore

ฉันไม่อยากจะเป็นผู้ใหญ่ไปกว่านี้
และขณะเดียวกันก็ไม่อยากเป็นภาระใคร
มันไม่สนุกเลยที่จะมีคนมาบอก
ว่าจะไม่สามารถโทษพ่อโทษแม่ได้เช่นเดิมอีกแล้ว

- Sentimental -

เพลงที่ใช้เสียงเปียโนได้อย่างเข้าท่าอีกเพลงหนึ่งคือ My Ashes ที่เป็นบัลลาดพลิ้วๆ และประดับด้วยเสียงเครื่องสายออเครสตร้าอย่างงดงาม เนิ้อเพลงเป็นมุมมองของตัวละครผู้เป็นพ่อ ที่แม้ตายไปแล้วเถ้าถ่านของตัวเองก็ยังคงตามดูความเป็นไปต่างๆ อยู่ ซึ่งเพลงนี้นับว่าใช้ภาษาได้สวยมาก

And my ashes drift beneath the silver sky
Where a boy rides on a bike and never smiles
And my ashes fall over all the things we've said
On a box of photographs under the bed

- My Ashes

บรรเลงมาจนถึงบทเพลงโกรธเศร้าอย่าง Way out of here ที่ได้ Robert Fripp แห่งวง King Crimson มาช่วยสร้าง Soundscapes เนื้อเพลงพูดถึงการหาทางออกท่ามกลางโลกที่ว่างเปล่า หลายต่อหลายคนพากันบอกว่าเพลงนี้พูดถึงการฆ่าตัวตาย ซึ่งถ่ายทอดผ่านไปถึงเพลงสุดท้ายคือ Sleep Together ที่ดนตรีออกเป็นอิเล็กโทรนิคแอมเบี้ยนเวิ้งๆ ชวนให้นึกถึงนักบินอวกาศที่กำลังเข้าสู่สภาวะจำศีล (Hibernation) ขณะที่กำลังเดินทาง (หนี) ออกจากโลกนี้ไป

I can't take the staring
And the sympathy
And I don't like the questions,
"How do you feel?
How's it going in school?
Do you want to talk about it?"

ฉันทนไม่ได้กับการถูกจ้องมอง
กับการที่คนอื่นเห็นอกเห็นใจ
แล้วฉันก็ไม่ชอบคำถามจำพวก
"รู้สึกยังไงบ้าง
เจออะไรที่โรงเรียนมาบ้าง
ต้องการพูดถึงมันไหม"

- Way Out of Here -

ชื่อเพลง Sleep Together ถ้าเป็นในบ้านเรามันคงต้องมีใครออกมาบอกว่าสองแง่สามง่ามสิบเ-ยน อะไรก็ว่าไป แต่ตามความเห็นของผู้ฟังส่วนใหญ่แล้ว กลับบอกว่ามันพูดถึงการฆ่าตัวตายที่ถ่ายทอดต่อมาจาก Way Out of Here อีกทีหนึ่งต่างหาก มีบางส่วนเท่านั้นที่บอกว่ามันพูดถึงเรื่องการมีเซ็กส์เพื่อหนีโลกความจริง และอีกส่วนก็ตีความว่ามันไม่ได้มีนัยแฝงอะไร ก็แค่พูดถึงการนอนหลับกันธรรมดาๆ เพื่อหนีเข้าไปในโลกความฝันนั่นแหละ

ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายนี้แหละคือเสน่ห์ของศิลปะ! น่าเศร้าที่ในบ้านเรายังคงมัวเอาแต่เป็นห่วงสถาบันนั่นนู่นนี้โน่น แล้วสั่งตรวจสอบ สั่งเก็บ สั่งแบน สั่งเซ็นเซอร์ หรือใช้วิธีใดๆ ก็ตามที่จะกำจัด สิ่งที่พวก "ท่าน" ไม่พึงปรารถนา ด้วยข้ออ้างเดิมๆ เรื่องสร้างความแตกแยกบ้าง พูดถึงแต่ในด้านร้ายๆ บ้าง (สันดานนกกระจอกเทศจริงๆ) ฯลฯ แทนที่จะทำให้คนในสังคมได้ทำความเข้าใจมัน ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมหรือปฏิเสธมันโดยไม่กระทบกับคนที่เห็นต่าง

ตราบใดที่ท่านทั้งหลายยังคงเห็นว่าคนในสังคมเป็นแค่ "เด็กโง่" ที่ต้องฟูมฟักแบบไข่ในหิน  คอยปิดบัง (สิ่งที่พวกท่านคิดว่าเป็น) ความเลวร้ายทั้งหลาย จนเมื่อความจริงกระแทกโครมเข้ามา มันคงยิ่งกว่าเจ็บปวด ยังไม่นับว่าความคิดแบบนี้ของท่านทั้งหลาย มันจะนำไปสู่การทำให้ให้เด็กๆ ในวันพรุ่งนี้เผชิญกับความมืดมิดตามลำพัง โดยไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ (สิ่งที่พวกท่านคิดว่าเป็น) อันตรายร่วมกันเลยแม้แต่น้อย

ทางออกของเด็ก ๆ ที่นอกเหนือจากการ "นอนหลับ(หลับนอน)ร่วมกัน" (เพื่อหนีโลกออกไป) นั้น

มันถูกพวกท่านขวางกั้นอยู่นั่นแหละ !

 

(ชื่อเต็มๆ ของเอนทรีนี้ - Fear of a Blank Planet โลกจากสายตาหนุ่มสาว ผู้หวาดกลัวดาวเคราะห์อันแสนว่างเปล่า)

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…